xs
xsm
sm
md
lg

วงเสวนาชี้ “บีอาร์เอ็น” ยึดแนวทาง “เหมาเจ๋อตุง” ผสมการเมืองอิสลาม “ชัยวัฒน์” แนะสันติสนทนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้ม
วงเสวานาสมาคมนักข่าวฯ กรณีบีอาร์เอ็น นักวิจัย สกว.ชี้บีอาร์เอ็นยึดแนวทาง “เหมาเจ๋อตุง” ผสมการเมืองอิสลาม ปลูกฝังเรื่องการล่าอาณานิคม พลีชีพเพื่อศาสนา อ้างอัลกุรอานแบบผิดๆ แนะทำความเข้าใจ ยึดหลักสิทธิมนุษยชน และไม่ละเมิดหลักการของศาสนา ด้าน ผอ.สันติวิธีพระปกเกล้าฯ ชี้มีการแจกลิสต์ตามฆ่า นักวิชาการธรรมศาสตร์เผยควรทำความเข้าใจเรื่อง สันติสนทนา

วันนี้ (25 ส.ค.) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดงาน ราชดำเนินเสวนา ในหัวข้อ “เป้าหมายสุดท้ายของกลุ่ม BRN กับ Peace Process” โดยมี น.ส.จิราพร งามเลิศศุภกร นักวิจัยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า และ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมเป็นวิทยากร พร้อมด้วยนายปกรณ์ พึ่งเนตร บรรณาธิการศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา และผู้สื่อข่าวสายการเมือง หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เป็นผู้ดำเนินรายการ

โดย น.ส.จิราพร กล่าวสรุปงานวิจัยในหัวข้อ “เป้าหมายสุดท้ายของกลุ่ม BRN กับ Peace Process” ว่า ไม่น่าเชื่อว่าความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีความยืดเยื้อยาวนานมาเป็นสิบปี ตลอดเวลาที่ผ่านมาเรามักได้ยินชื่อกลุ่มองค์กรบีอาร์เอ็น แต่เราก็ยังไม่ทราบว่าองค์กรเหล่านี้ โครงสร้างมีจุดยืนแนวคิดวิธีการต่อสู้อย่างไร เราจึงวางกรอบแนวคิดในการวิจัย โดยใช้กรอบมุสลิมศึกษา เพราะการต่อสู้ของกลุ่มบีอาร์เอ็นจะใช้ศาสนาเป็นทางนำสร้างความชอบธรรมในการสร้างความรุนแรง ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า บีอาร์เอ็น ยึดหลักแนวทางการปฏิวัติของเหมา เจ๋อตุง มาโดยตลอด ผนวกกับการดึงวิถีทางการเมืองทางอิสลามมาเป็นการต่อสู้ บีอาร์เอ็นจึงใช้แนวคิด มุสลิมศึกษา รวมตัวกัน เพื่อต่อสู้ได้มาในสิ่งที่เคยศูนย์เสียไป กระบวนการกู้ชาติปัตตานี กระบวนการแบ่งแยกดินแดน ญิฮาด นั้น ถูกจัดตั้งจากฐานความคิดเดียวกัน คือ อิสลามการเมือง ยึดหลัก อัลกุรอาน อัลหะดีษ และหลักชารัอะห์ เป็นทางนำในการต่อสู้

น.ส.จิราพร กล่าวต่อว่า บีอาร์เอ็น จัดตั้งเมื่อปี 2513 โดยมีการปลุกจิตสำนึกทางศาสนา ประวัติศาสตร์ เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งสิ่งสำคัญที่ยึดโยงบีอาร์เอ็น คือ เอกสารธรรมนูญ ปี 2518 ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่สุดคือ รากเหง้าของปัญหาที่ฝังลึกในการสร้างความรุนแรง บีอาร์เอ็น ถูกปลูกฝังในเรื่องการถูกล่าอาณานิคมจากสยาม ถูกยึดครองแผ่นดิน ถูกกดขี่ครอบงำ แนวทางต่อสู้จึงต้องการสิ่งที่เคยเป็นของตน กลับคืนมาจากรัฐไทยให้จงได้ ตั้งแต่ยุคแรกจนถึงปัจจุบัน มีแนวทางในการต่อสู้ ทางด้านศาสนา เชื้อชาติ และ อาณาเขต ผลการศึกษา จึงพบว่า รากเหง้าปัญหา บีอาร์เอ็น ถูกยึดครองทั้งด้านการเมือง การศึกษา วัฒนธรรม ศาสนา ฯลฯ จึงนำมาไปสู่การต่อสู้ ความรุนแรง เพื่อนำไปสู่การตั้งรัฐ แต่สิ่งที่แตกต่างคือ การนำอิสลามมาเป็นแนวทาง โดยการญิฮาด (พลีชีพเพื่อศาสนา) ซึ่งทำไปเพื่อเอกราช สังคมสงบสุข และความยุติธรรม ที่เคยประกาศไว้ว่า หากได้ดินแดนกลับคืนมา จะทำให้ทุกคนในพื้นที่มีความสุข

“อย่างไรก็ตามเป้าหมายสุดท้ายที่น่าสนใจของบีอาร์เอ็น คือเขตแดน ที่รวม 4 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเป็นอาณาเขตของเขาในอดีต คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลาตอนใต้ ซึ่งหากมองว่าบีอาร์เอ็น ต้องการปลดปล่อยดินแดนนั้น จะกลายเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะการที่บีอาร์เอ็นสามารถใช้แนวทางญิฮาดได้ ในการต่อสู้เพื่อความชอบธรรมในดินแดนปัตตานีอารุสลาม (4 จังหวัดชายแดนใต้) นี่คือปัญหาอย่างมาก” น.ส.จิราพร กล่าว

น.ส.จิราพร กล่าวว่า ขณะเดียวกัน ในพื้นที่ก็มีมุสลิมอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งใช้แนวทางการปฏิรูป ที่เห็นเป็นรูปธรรมในการดำเนินชีวิต โดยมีการร่วมกันอย่างสงบ มีการสร้างสหกรณ์อิสลาม มีธนาคารอิสลาม นี่จึงเป็นความแตกต่างระหว่างแนวทางปฏิรูปอิสลาม และการปฏิวัติอิสลาม และนี่ก็แสดงให้เห็นว่ารัฐไทยไม่ได้ปิดกั้นในเรื่องศาสนาแต่อย่างใด จุดเริ่มต้นการประกาศชัยชนะของบีอาร์เอ็น คือ เหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อปี 2547 จะเห็นได้ว่าหลังปี 47 บีอาร์เอ็นหยิบยกอัลกุรอานมาใช้ ถึง 137 โองการ ใน 38 อายะห์ โดยมักพูดว่า “จงสู้กับผู้ที่ปฏิเสธศรัทธา จงตัดคอ ไล่ศัตรูออกจากพื้นดิน” นี่คือหลักคำสอนของบีอาร์เอ็น

ทั้งที่หลักการของศาสนาอิสลามอย่างแท้จริงไม่ใช่แนวทางนี้ จึงอยากเสนอให้ผู้ที่ศึกษาทางด้านศาสนา ลงไปศึกษาในลึก พร้อมทำความเข้าใจกับแนวร่วม และประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามอย่างจริงจัง การต่อสู้โดยยึดหลักศาสนามักจะนำไปสู่ความรุนแรงอย่าสุดโต่ง ซึ่งขบวนการต่อสู้มีมาตั้งแต่รุ่นเก่า จึงปฏิเสธได้ยาก อย่างไรก็ตาม อยากเสนอแนะผู้ที่จะเข้าไปแก้ปัญหาในชายแดนใต้ต้องยึดหลักสิทธิมนุษยชน และไม่ละเมิดหลักการของศาสนา ทั้งนี้ข้อเรียกร้องของ บีอาร์เอ็น ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก เช่น โปรแกรมยูทิวบ์ ที่เสนอต่อมวลชนและสมาชิกของบีอาร์เอ็นนั้น คือ การต่อสู้ภายใต้รัฐธรรมนูญไทยไม่มีความชอบธรรม ข้อเสนอหลัก 5 ข้อ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือรัฐไทยต้องยอมรับกระบวนการปลดปล่อย และยอมรับในการเป็นเจ้าของ ทั้งในด้านศาสนา และแผ่นดิน

“วันนี้บีอาร์เอ็นเดินมาถึงทางแยก ทั้งในเรื่องของกระบวนการสันติภาพ อิสลามการเมือง และอาหรับสปริงส์ การเปิดโต๊ะเจรจา ก็คือจุดเสี่ยงขององค์กร ซึ่งนับได้ว่าการต่อสู้ของบีอาร์เอ็นยาวนานกว่า 30 ปี แนวทางที่จะเสนอนั้น คือ การปรับปรุงทั้งทหาร ตำรวจ และหน่วยข่าว โดยยึดถือหลักสิทธิมนุษยชน เชื่อว่าถ้ายึดหลักนี้จะทำให้การละเมิดสิทธิน้อยลง” น.ส.จิราพร กล่าว

ขณะที่ พล.อ.เอกชัย กล่าวว่า บีอาร์เอ็น มี 3 ระดับ คือ ระดับยุทธการ ระดับยุทธวิธี และระดับปฏิบัติการ ซึ่งมีการแบ่งแยกในการดำเนินการแยกส่วนอย่างชัดเจน จะเห็นได้ว่าการเจรจากับรัฐไทย ต้องมีการประชุมสภาของบีอาร์เอ็น และมีการมอบหมายตัวบุคคลที่ชัดเจน มาเป็นผู้เจรจา หลังจากนั้นจะต้องรายงานให้ทางกลุ่มรับทราบภายใน 24 ชั่วโมง ยกตัวอย่างในการเจรจาครั้งแรก คนลงนามไม่ใช่เป็นผู้สั่งการ ทั้งที่ความเป็นจริงระดับยุทธการที่มีบทบาทในการสร้างความรุนแรง ก็ไม่เห็นด้วยในการเปิดโต๊ะเจรจา ทั้งนี้ การเจรจามีมานานมากแล้ว แต่รัฐไทยไม่เคยนำผลเจรจากลับมาทำอย่างจริงจัง และไม่ได้มีการสร้างความมั่นใจให้กับบีอาร์เอ็นเลย แม้กระทั่งรัฐบาลปัจจุบันก็ตาม

พล.อ.เอกชัย กล่าวต่อว่า เป็นที่น่าสังเกตได้ว่า ทำไมบีอาร์เอ็นต้องเรียกร้องข้อเสนอต่างๆ ผ่านยุทูป เพราะการตั้งโต๊ะเจรจา ได้มีการตกลงกันไว้กับ พล.ท.ภารดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ว่า จะไม่มีการแถลงข่าว แต่ปรากฏว่า พล.ท.ภารดร กับมาแถลงข่าว ทำให้บีอาร์เอ็น ต้องแถลงการณ์ผ่านยูทิวบ์ อย่างไรก็ตามกระบวนการต่อสู้ของกลุ่มบีอาร์เอ็นนั้น ต่อสู้มากว่า 50 ปี ตั้งแต่ 2476 ต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดน และการต่อสู้ที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น น่าจะ 40 กว่าปี ในปี 2509 จนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ตนอยากจะเสนอรัฐบาลว่ามีแนวคิดอย่างไรในการนิรโทษกรรมกับผู้ที่หลงผิด ที่รัฐบาลได้จับกุมตัวผู้ก่อความรุนแรงไว้ พร้อมกันนี้แนวคิดในการปกครองตนเองของบีอาร์เอ็น โดยไม่มีการแบ่งแยกดินแดน พร้อมใช้กฎหมายท้องถิ่นในการปกครองตนเอง รัฐบาลมองเรื่องนี้อย่างไร เพราะวันนี้ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ เป็นฝ่ายของบีอาร์เอ็นมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์แล้ว ซึ่งเขาสามารถควบคุมมวลชน ให้สั่งการวางระเบิดได้หลายจุด

“จากที่ลงไปศึกษาในพื้นที่ ครูในพื้นที่บอกว่า บีอาร์เอ็น มีการแจกใบปลิวลิสต์รายชื่อครู เจ้าหน้าที่รัฐ ที่จะสั่งเก็บแต่ละวัน ซึ่งถ้าเขาเก็บได้ ก็จะประกาศชัยชนะอย่างกึกก้อง ว่ารัฐไทยอย่ามายุ่งให้มาก ยิ่งยุ่งก็จะตามฆ่าทันที สิ่งที่น่าเป็นห่วงและตกใจ คือ ขณะนี้มีครู เจ้าหน้าที่รัฐ หรือแม้กระทั่งโต๊ะอีหม่าม ที่ยอมเปลี่ยนใจไม่เข้าร่วมกับกลุ่มบีอาร์เอ็นก็จะถูกฆ่า ซึ่งน่ากลัวมาก” พล.อ.เอกชัย กล่าว

พล.อ.เอกชัย กล่าวต่อว่า การที่เราดำเนินคดีด้านความมั่นคงจากที่เราเคยยกฟ้อง 30 เปอร์เซ็นต์ มาจนถึงปี 2554 เรายกฟ้องถึง 70 เปอร์เซ็นต์ แสดงให้เห็นว่าหลักฐานไม่มีความชัดเจนและไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงอยากให้เราตระหนักว่า ถ้าเราดำเนินคดีกับกลุ่มก่อความไม่สงบไปในชั้นศาลก็จะถูกยกฟ้องอยู่ดี ดังนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้ามีการปล่อยตัวผู้หลงผิดโดยไม่มีเงื่อนไข น่าจะเป็นวิถีทางให้เกิดความสันติได้

ด้าน นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้ยังไม่สามารถลงลึกในการแยกรุ่นของบีอาร์เอ็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งขณะนี้ บีอาร์เอ็น ได้เปลี่ยนแปลงมาถึง 3 รุ่นแล้ว ซึ่งหากมีการแยกไว้อย่างชัดเจน สามารถนำมาสรุปเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ อีกทั้งยังได้เป็นการทำความเข้าใจ เพราะถ้ามีการเจรจาบรรยากาศก็จะดีมากยิ่งขึ้น การพูดคุยเจรจาในสถานการณ์ที่สุกงอม ถึงเวลาแล้วหรือไม่ในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ อย่างไรก็ตามของฝากไว้ว่า เหตุการณ์ของไทย และอาเจะห์ มีความแตกต่างกัน เพราะการต่อสู้ในอาเจะห์ มีความชัดเจน แต่ประเทศไทยไม่มีความชัดเจน ดังนั้นเราต้องรีบศึกษาในเรื่องนี้ และอยากฝากไว้ว่า การเจรจาก็ไม่ควรนำทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะจะทำให้เกิดเหตุการณ์บานปลาย ทั้งนี้ บีอาร์เอ็น มี 5 ยุทธศาสตร์ คือ 1.อยู่อย่างไร อยู่ที่ไหน 2.ยุทธศาสตร์สังคม 3.ยุทธศาสตร์การเงิน พึ่งตนเอง 4.ยุทธศาสตร์การข่าว และ 5.ยุทธศาสตร์ป้องกันมวลชน โดยการเข้าถึงมวลชน

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า หากย้อนกลับไป 5 ปีที่ผ่านมา จะมีการฆ่าตัดคอเยอะมาก แต่ในปัจจุบันนี้ มีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น เพราะเขาขยับเข้ามาในเมืองมากขึ้น การต่อสู้จึงเป็นในส่วนของการจัดตั้งม็อบ เพื่อเข้าถึงมวลชนให้มากขึ้น ดังนั้น สังคมไทยต้องทำความเข้าในเรื่องความขัดแย้ง เราจึงเห็นความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ มาเป็นร้อยปี ตั้งแต่ก่อตั้งรัฐชาติไทย พูดได้ว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างรัฐชาติไทยที่ยังไม่เสร็จ ดังนั้นการศึกษาเกี่ยวกับการต่อสู้ของบีอาร์เอ็นต้องมุ่งเน้นไปที่การต่อสู้ในพื้นที่มากกว่า ตนคิดว่ารัฐต้องทำความเข้าใจกับสิ่งที่จะทำ

“เราควรทำความเข้าใจเรื่อง สันติสนทนา ไม่ใช่การเจรจา เพราะถ้าเป็นการเจรจาสุดท้ายจะได้คือสนธิสัญญา แต่ถ้าเป็นสันติสนทนา สุดท้ายแล้วเราจะได้บรรยากาศและความไว้วางใจ ดังนั้นการเจรจาจึงแตกต่างจาการสันติสนทนาโดยสิ้นเชิง เพราะ สันติสนทนาคือการเมืองโดยความชอบธรรม ที่สามารถนำไปสู่ความรุนแรงได้ เพราะฝ่ายที่ไม่ยอมรับในแนวทางนี้ ก็พยายามที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้น” นายชัยวัฒน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายชัยวัฒน์กล่าวว่า ตนคิดว่าเรายังต้องพุดคุยกันต่อ เพราะการใช้ความรุนแรงไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหา แต่ต้องพูดคุยกันกี่ปีนั้น คงต้องติดตามกันไป เพราะเราต้องใช้เวลา แต่การสนทนาพูดคุยกันนั้น เราจะได้เห็นตัวตนของคนที่ร่วมพูดคุย โดยเราจะเป็นผู้เพิ่มความชอบธรรมในการสนทนา และลดความชอบธรรมในการสร้างความรุนแรง ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าจุดจบของเรื่องนี้จะสวยหรูเสมอไป แต่ตนเห็นว่า สันติสนทนา คือการสร้างความเข้าใจ และพร้อมที่จะร่วมมือกันแก้ไข ตนคิดว่ารัฐไทยมีจุดยืนที่ชัดเจน ในการสะท้อนให้เห็นถุงจุดอ่อนจากความรุนแรง ซึ่งเราคงต้องประคับประครองให้การพูดคุยกันอย่างสันติสนทนาดำเนินการต่อไปด้วยดี


กำลังโหลดความคิดเห็น