เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - ครอบครัวพลเมืองชาวอเมริกันที่จำคุกในอิหร่านแสดงท่าทีมีความหวังวานนี้ (7 ก.ค.) ว่าชายผู้นี้จะได้รับการปล่อยตัว โดยระบุว่าเจ้าหน้าที่อิหร่านอนุญาตให้เขาติดต่อกับโลกภายนอก โดยเฉพาะพ่อได้
อะมีร์ เฮกมะติ อดีตนาวิกโยธินอเมริกันผู้ซึ่งเกิดในครอบครัวชาวอิหร่านที่รัฐแอริโซนาถูกจับกุมเมื่อราว 2 ปีก่อนและเบื้องต้นถูกศาลตัดสินให้ประหารชีวิตในความผิดฐานจารกรรม
ครอบครัวของเขาและรัฐบาลสหรัฐฯ ต่างปฏิเสธข้อหาเป็นสายลับ ขณะที่บรรดาญาติต่างกล่าวว่าเฮกมะติ บุคคลสองสัญชาติที่กำลังย่างเข้าวัย 30 ผู้นี้เดินทางไปอิหร่านเพื่อไปเยี่ยมย่าเท่านั้น
เฮกมะติผู้ซึ่งได้รับการละเว้นโทษประหารชีวิต ได้ถูกขังเดี่ยวมานาน 16 เดือน ทว่าขณะนี้เขาได้รับอนุญาตให้ครอบครัวไปเยี่ยม รับหนังสือ และเขียนจดหมายได้แล้ว ครอบครัวของเขาระบุ
ในจดหมายฉบับล่าสุดที่เฮกมะติเขียนถึงพ่อผู้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งที่สมอง เขาขอร้องให้พ่อเลิกสูบบุหรี่ หยุดกินของหวานและเนื้อวัว
“ผมรู้สึกเสียใจว่าในขณะที่พ่อกำลังทำเพื่อผมมากมาย แต่ผมไม่สามารถอยู่ข้างๆ พ่อได้ในเวลาที่พ่อต้องการให้ผมช่วยมากที่สุด” เฮกมะติระบุในจดหมายที่เขียนถึงพ่อซึ่งได้รับการเปิดเผยต่อสำนักข่าวเอเอฟพี
ซาราห์ น้องสาวของเฮกมะติบอกว่าพี่ชายของเธอเป็นคนรักครอบครัวและกระฉับกระเฉง อีกทั้งกล่าวว่าสภาวะทางอารมณ์และจิตใจของเขาน่าจะ “ดีขึ้นแล้ว”
เธอหวังว่าการเลื่อนชั้นนักโทษจะหมายถึงการที่ทางการอิหร่านอาจพิจารณาการปล่อยตัวเขาเป็นพิเศษ
ความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับอิหร่านอยู่ในสภาวะตึงเครียดมาตั้งแต่การปฏิวัติอิสลามในปี 1979 แต่ประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานีขึ้นมาดำรงตำแหน่งเมื่อวันอาทิตย์ (4) ภายหลังที่ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นจากการให้คำมั่นว่าจะยึดแนวทางสายกลางในการบริหารงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นอกจากนี้ ซาราห์ได้ตั้งข้อสังเกตว่าทางการอิหร่านได้ปล่อยตัวนักโทษในช่วงวันตรุษอีดิลฟิฏรี หรือวันสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนซึ่งตรงกับสัปดาห์นี้
เมื่อเดือนที่แล้ว (ก.ค.) สมาชิกของรัฐสภาสหรัฐฯ 112 คนจากทุกพรรคได้ทำหนังสือตั้งความหวังให้มีการหาทางออกด้านการทูต ด้านสันติภาพ และด้านมนุษยธรรม ที่จะทำให้เฮกมะติได้รับการปล่อยตัว
“เราทราบกันดีว่านี่เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน แต่ทุกความเชื่อและทุกวัฒนธรรมต่างก็เห็นพ้องกันว่าในยามที่ครอบครัวกำลังประสบกับการเจ็บป่วยนั้นควรได้รับโอกาสให้ได้อยู่พร้อมหน้า” พวกเขาระบุในหนังสือที่ส่งถึงจอห์น เคร์รี รัฐมนตรีการต่างประเทศสหรัฐฯ