xs
xsm
sm
md
lg

ยังไม่ลืมรักที่เซี่ยงไฮ้ หวังพบเธออีกสักครั้งก่อนตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แกรี่ มัตซ์ดอร์ฟฟ์  วัย 92 ปี ขณะสนทนากับผู้สื่อข่าวเอเอฟพีในห้องพักโรงแรมที่นครเซี่ยงไฮ้ ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2556 – เอเอฟพี
เอเอฟพี - นครเซี่ยงไฮ้เก็บความหลังของใครต่อใครไว้มากมาย

เด็กหนุ่มชาวยิว ที่หนีตายจากเงื้อมมือนาซีเยอรมัน มาหลบภัยในดินแดน ซึ่งอยู่ไกลกันครึ่งค่อนโลกเมื่อกว่า 70 ปีก่อน มาวันนี้ เขามีโอกาสกลับมาเยือนที่นี่อีกครั้งในฐานะเศรษฐี พร้อมอดีตรัก ที่ยังอยู่ในหัวใจ

คุณปู่แกรี่ มัตซ์ดอร์ฟฟ์ วัย 92 ปี ได้หวนกลับมายังบ้านแต่เก่าก่อนในเซี่ยงไฮ้ด้วยความหวังว่า เขาอาจได้พบกับหญิงสาวชาวจีน ที่ปิ๊งโดยบังเอิญในห้องโถงเต้นรำเมื่อนานมาแล้วอีกสักครั้ง

ปัจจุบันชายชราผู้นี้เป็นพลเมืองชาวอเมริกัน และเกษียณตัวเองจากการประกอบธุรกิจเครื่องหนัง ซึ่งประสบความเร็จ จนมีฐานะร่ำรวย

ความหลังของนายมัตซ์ดอร์ฟฟเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนในจีน ซึ่งได้รายงานเรื่องราวของเขา โดยแม้ความทรงจำของคุณปู่เกี่ยวกับนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งได้รับสมญานามในอดีตว่า "ปารีสแห่งตะวันออก" เลือน ๆ ไปหลายเรื่องแล้ว ทว่าภาพของหญิงสาวผู้หนึ่ง สวมชุดกี่เพ้า ชายกระโปรงผ่าข้าง ยังแจ่มชัดอยู่ในใจ

"เธอแลดูคล้ายกับเจ้าหญิง" ผู้เฒ่าเล่า " เธอสวยจริง ๆ "

หนุ่มมัตซ์ดอร์ฟฟ์ในเวลานั้นได้เขียนข้อความสั้น ๆ บนผ้าเช็ดมือ ขอนัดพบสาวในตอนเย็น และก็ได้รับคำตอบตกลง

เขาพบผู้หญิงคนนี้ในปีพ.ศ. 2484 เธอมีชื่อว่า คลีโอ หว่อง เปิดร้านขายเสื้อผ้าปักลูกไม้ และยังรับจ้างเป็นคู่เต้นรำในห้องเต้นรำของห้างสรรพสินค้าวิงออน (Wing On Department Store) อีกด้วย
คุณปู่แกรี่ มัตซ์ด อดีตผู้อพยพชาวยิว ซึ่งกลับมาเซี่ยงไฮ้  เพื่อตามหาหญิงที่เคยรักกัน – เอเอฟพี
ครอบครัวของมัตซ์ดอร์ฟฟ์ ซึ่งประกอบด้วยพ่อแม่ และยาย พยายามสร้างชีวิตใหม่ หลังจากลงเรือเดินทางรอนแรมมาจนถึงเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นเมืองที่เขารู้จักก็แต่ในภาพยนตร์ ที่เคยดูเมื่อยังเป็นเด็กชายอาศัยในกรุงเบอร์ลินเท่านั้น

คุณปู่ชาวยิวยังเล่าย้อนอดีตไปเมื่อครั้งที่พวกนาซีเยอรมันฆ่าล้างผลาญชาวยิวอย่างสยดสยองในเหตุการณ์ ที่เรียกกันว่า "คืนกระจกแตก" หรือ คริสทัลนัชท์ (Kristallnacht) มัตซ์ดอร์ฟ และเพื่อนในกองลูกเสือชาวยิว ถูกทุบตี บ้านเรือนห้างร้านของชาวยิวในกรุงเบอร์ลินถูกทำลาย ถนนหนทางในเมืองเกลื่อนกลาดไปด้วยเศษกระจก

" ในตอนเช้า ขณะนั่งอยู่บนรถโดยสารประจำทาง ผมเห็นกลุ่มคนเที่ยวไล่ทุบกระจกหน้าต่างร้านค้า บางคนใช้สีเขียนเป็นคำว่า "ยิว" บนหน้าต่าง" คุณปู่เคยเล่าเหตุการณ์ตอนนี้ให้มูลนิธิโชอาห์ ( Shoah Foundation) ของมหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย ฟัง

พ่อของมัตซ์ดอร์ฟฟ์ ซึ่งประกอบอาชีพเป็นพ่อค้าขนสัตว์ ส่วนแม่ ซึ่งทำที่บังตะเกียงขาย ได้ร่วมเดินทางมากับผู้อพยพชาวยิวอีกหลายหมื่นคน ซึ่งพบว่า นครเซี่ยงไฮ้เป็นที่ปลอดภัยจากการเข่นฆ่าของพวกนาซีในยุโรป

แต่ปู่กับย่าของเขาสิ้นใจตายในค่ายกักกันไปเสียก่อน

"เซี่ยงไฮ้เป็นร่มไม้ชายคาสำหรับผม" เขาเอ่ยกับผู้สื่อข่าวเอเอฟพีด้วยบุคลิก ที่กระฉับกระเฉงและน้ำเสียงหนักแน่นผิดวัย

เมื่อเดินทางมาถึงเซี่ยงไฮ้ ครอบครัวของมัตซ์ดอร์ฟฟ์ย้ายมายังเขตหงโขว่ ซึ่งต่อมากองทัพญี่ปุ่น ที่เข้ายึดครองจีนในเวลานั้น ได้กำหนดให้เป็นถิ่นอาศัยของชาวยิวในปีพ.ศ. 2486 ผู้อพยพชาวยิว 2 หมื่นคนไม่ตกเป็นเป้าถูกทำลายล้าง แม้มีคำขอจากผู้แทนของนาซีเยอรมัน ซึ่งเป็นพันธมิตรในยามสงครามของญี่ปุ่นก็ตาม อย่างไรก็ดี ชีวิตดำเนินไปอย่างยากลำบาก และขาดแคลนอาหาร เนื่องจากภาวะสงคราม

ความสัมพันธ์ของหนุ่มสาวคู่นี้ยืดยาวเพียง 1 ปี มัตซ์ดอร์ฟฟ์ได้พาคลีโอ หว่องไปพบพ่อแม่ ซึ่งอาศัยอยู่ในห้องเช่าเล็ก ๆ ในเขตหงโขว่

" พ่อของผมท่านมีความหวั่นวิตก เพราะสมัยนั้นการที่คนต่างชาติจะมาแต่งงานกับหญิงชาวจีน มันอาจทำให้ผู้คนไม่เข้าใจ มันไม่เคยมีธรรมเนียมมาก่อน" เขาอธิบาย

ทว่าความคิดเรื่องการแต่งงานพลันหายไป เพราะคลีโอ หว่องเป็นฝ่ายทิ้งเขาไปหากะลาสีกองทัพเรืออเมริกันอย่างไม่ไยดี

มัตซ์ดอร์ฟฟ์มีโอกาสพบเธออีกครั้งถบนถนนย่านธุรกิจพลุกพล่านในเมืองนานกิง หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงแล้ว

"วันหนึ่งมีใครมาตบที่บ่าผม เธอพยายามจะเล่าให้ผมฟังว่า เกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ผมไม่สนเธออีกแล้วละ" คุณปู่นึกทบทวนเรื่องแต่หนหลัง

ทว่าหลังจากย้ายไปอาศัยในอเมริกา มาวันนี้เขาคิดอยากจะตามหาเธอให้พบอีกสักครั้ง ก่อนต้องตายไปจากโลกนี้

แนนซี่ ภรรยาของมัตซ์ดอร์ฟฟ์ มาเซี่ยงไฮ้กับเขาด้วย เพื่อช่วยสามีตามหาหญิงคนรักเก่า

"ดิฉันนึกถึงภาพยนตร์สักเรื่องหนึ่งอยู่ในหัว เด็กหนุ่มผู้อพยพย้ายมาอยู่ที่อเมริกา สร้างเนื้อสร้างตัวจนร่ำรวย แล้วกลับมาเซี่ยงไฮ้ เขาเดินไปเข้าในร้านแห่งหนึ่ง ซึ่งมีสุภาพสตรีชราอยู่หลังเคาน์เตอร์ ฉันเห็นเรื่องราวอยู่ในใจ" ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากกล่าว

ในสมุดรายนามของนครเซี่ยงไฮ้ฉบับปีพ.ศ. 2491 ปรากฏชื่อของนางคลีโอ หว่องแห่งบริษัทคลีโอ โครเชต์ ซึ่งลงโฆษณาว่า “เนคไทและงานโครเชต์ทำด้วยมือ”

แต่ก็สืบไม่ได้เรื่องราวอะไร รวมทั้งการเสนอข่าวของสื่อมวลชนก็ไม่ช่วยทำให้ได้ข้อมูล ที่มีประโยชน์ใด ๆ

“ถ้าเธอมีอายุถึง 90 ปี และยังมีชีวิตอยู่ แต่นั่นแหละใครจะไปรู้ได้เล่า” คุณปู่เอ่ย นัยน์ตาระยับด้วยหยาดน้ำใส

“ทั้งหมดที่ผมจะถามก็คือ ‘คุณยังจำผมได้ไหม’”
หนุ่มน้อยชาวยิวอพยพเมื่อกว่า 70 ปีก่อนเอ่ยถึงคำพูด ที่เขาปรารถนาจะบอกกับคลีโอ หว่อง ผู้ซึ่งเขาคงไม่มีวันรู้ได้เลยว่า เธอจะยังมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น