xs
xsm
sm
md
lg

โลกก้าวย่างสู่ยุคภาวะช็อกด้านทรัพยากร (ตอนสาม)

เผยแพร่:   โดย: ไมเคิล ที แคลร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

World enters a resource-shock era
By Michael T Klare
26/04/2013

ท่านอาจยังไม่กล้าฟันธง แต่ตามการวินิจฉัยของผู้เชี่ยวชาญระดับโลก และประชาคมข่าวกรองของสหรัฐอเมริกานั้น โลกได้เข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าท่านจะทราบหรือไม่ ท่านได้อยู่บนดาวเคราะห์โลกดวงใหม่ อันเป็นดาวเคราะห์ที่สะท้านด้วยภาวะช็อกทางด้านทรัพยากรอย่างแสนสาหัสชนิดที่มนุษยชาติไม่เคยประสบพบเจอกันมาก่อน

*ข้อเขียนนี้แบ่งเป็น 3 ตอน นี่คือตอนที่ 3 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนที่ 2)

**มุ่งสู่โลกที่สะท้านด้วยภาวะช็อกทางด้านทรัพยากร**

ความตึงเครียดเหล่านี้ถูกกำหนดชะตากรรมไว้แล้วว่าจะทวีตัวขึ้นมา เพราะในพื้นที่ต่างๆ มากมาย อุปทานจากแหล่งทรัพยากรสำคัญทั้งหลาย จะไม่สามารถทวีจำนวนขึ้นมาทันกันกับระดับของอุปสงค์

ในท่ามกลางแนวโน้มที่เล็งเห็นได้เหล่านี้ โลกนพเคราะห์ของเราใบนี้ ยังมีปัจจัยอีกหนึ่งรายการที่จะมากระหน่ำซ้ำเติม นั่นคือ ปัญหาความเปลี่ยนแปลงในสภาพดินฟ้าอากาศที่ทวีความรุนแรง และจะทำให้สถานการณ์ทุกสิ่งอย่างน่าหวาดผวามากขึ้นอย่างมหาศาล

โดยปกติแล้ว เมื่อเราพิจารณาผลกระทบจากปัญหาสภาพดินฟ้าอากาศเปลี่ยนแปลง เราจะคิดถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นด้านหลัก อาทิ น้ำแข็งในอาร์ติกละลายตัว เกราะกำบังน้ำแข็งในกรีนแลนด์ละลายตัว ระดับน้ำทะเลของโลกขยับสูงขึ้น พายุที่ทวีความรุนแรง พื้นที่ทะเลทรายขยายตัว ไปจนถึงการสูญพันธุ์ของหมีขั้วโลก อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหันมาตระหนักกันมากขึ้นว่า ผลกระทบที่น่าจะหนักหน่วงที่สุดจากปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง อันจะต่อชีวิตมนุษย์นั้น คือการเสื่อมโทรมของบรรดาพื้นถิ่นที่เราพึ่งพิงเพื่อผลิตอาหาร เพื่อกิจกรรมทางอุตสาหกรรม และเพื่อการดำรงชีวิต

โดยสาระสำคัญแล้ว การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจะสร้างความวิบัติให้แก่เรา ด้วยการจำกัดบีบคั้นมิให้เราเข้าถึงสิ่งพื้นฐานต่างๆ ของชีวิต เป็นต้นว่า ทรัพยากรอันจำเป็นยิ่งยวด ดังเช่น อาหาร น้ำ ที่ดิน และพลังงาน สภาวการณ์เช่นนี้จะสร้างความหายนะต่อชีวิตมนุษย์ และที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้นด้วยซ้ำก็คือ มันทำให้มีอันตรายเพิ่มขึ้นอีกมากที่ความขัดแย้งเกี่ยวกับทรัพยากรในทุกๆ ประเภทจะปะทุระเบิดออกมา

ปัจจุบันเรามีความรู้มากเพียงพอแล้วเกี่ยวกับผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ จนกระทั่งสามารถพยากรณ์สิ่งต่างๆ ต่อไปนี้ด้วยความมั่นอกมั่นใจอย่างสมเหตุสมผล กล่าวคือ

****ระดับน้ำทะเลที่กำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อถึงครึ่งศตวรรษหน้าก็จะถึงขั้นท่วมท้นกลืนกินอาณาบริเวณชายฝั่งจำนวนมาก ทำลายทั้งนครขนาดใหญ่หลายๆ แห่ง โครงสร้างพื้นฐานอันจำเป็นยิ่งยวด (เป็นต้นว่า ถนน ทางรถไฟ ท่าเรือ สนามบิน สายท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน และโรงไฟฟ้า) ตลอดจนที่ดินเพื่อทำการเกษตรชั้นยอดเยี่ยม

****ระดับน้ำฝนที่ลดน้อยหดหายและภาวะแห้งแล้งอันยืดเยื้อ จะเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกซึ่งครั้งหนึ่งเคยชุ่มชะอุ่มเขียวขจี ให้กลายเป็นชามอ่างยักษ์ไร้พืชปกคลุมมีแต่ฝุ่นฟุ้งกระจาย ผลผลิตด้านอาหารลดน้อยลงไปเรื่อยๆ และทำให้ผู้คนเป็นล้านๆ ต้องกลายเป็น “ผู้ลี้ภัยเนื่องจากภูมิอากาศ” (climate refugees)

****พายุที่รุนแรงมากขึ้นและคลื่นความร้อนที่ระอุเข้มข้นยิ่งขึ้น จะเข่นฆ่าสังหารพืชผลต่างๆ ก่อให้เกิดไฟป่า เป็นสาเหตุให้เกิดอุทกภัย และทำลายโครงสร้างพื้นฐานอันสำคัญยิ่งยวด

ไม่มีใครหรอกที่สามารถพยากรณ์ได้อย่างชัดเจนว่า การโจมตีเที่ยวนี้จะก่อให้เกิดความสูญเสียในด้านอาหาร ที่ดิน น้ำ และพลังงาน มากมายมหาศาลแค่ไหน (เช่นเดียวกับที่ไม่มีใครสามารถทำนายผลลัพธ์อื่นๆ ของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งเป็นสิ่งที่พยากรณ์ได้ยากยิ่งกว่านี้อีก หรือกระทั่งจินตนาการวาดภาพได้ยากยิ่งกว่านี้อีก) อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อสงสัยเลยว่า ผลโดยรวมของมันจะต้องชวนให้ตื่นตะลึงไปกันไม่เป็นเอาทีเดียว ในรายงานเรื่อง “Resources Futures” (อนาคตของทรัพยากร) ชาธัม เฮาส์ ให้คำเตือนอันเลวร้ายมากเป็นพิเศษ เมื่อกล่าวถึงภัยคุกคามจากการที่น้ำจากฟากฟ้าจะลดน้อยหดหายไม่ตกลงมาบำรุงเลี้ยงเกษตรกรรมซึ่งพึ่งพาอาศัยน้ำฝน

รายงานระบุว่า “เมื่อถึงปี 2020 ผลผลิตของเกษตรกรรมซึ่งพึ่งพาอาศัยน้ำฝน อาจจะลดน้อยลงไปถึง 50% ทีเดียว”ในบางอาณาบริเวณ โดยที่คาดหมายกันว่าพื้นที่ซึ่งจะประสบกับอัตราความเสียหายสูงที่สุดจะอยู่ในแอฟริกา ซึ่งเป็นดินแดนที่พึ่งพิงการทำการเกษตรแบบอาศัยน้ำฝนมากที่สุด ทว่าเกษตรกรรมในอาณาบริเวณอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น จีน, อินเดีย, ปากีสถาน, และเอเชียกลาง ก็น่าที่จะได้รับผลกระทบกระเทือนอย่างแสนสาหัสเช่นเดียวกัน

คลื่นความร้อน ภัยแล้ง และผลอื่นๆ ของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ยังจะทำให้กระแสน้ำของแม่น้ำสายสำคัญยิ่งจำนวนมากมีระดับลดน้อยลงไปด้วย ทำให้อุปทานน้ำสำหรับใช้ในการชลประทาน การป้อนให้แก่โรงไฟฟ้าพลังงาน และกระทั่งป้อนให้แก่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ (ซึ่งจำเป็นต้องใช้น้ำปริมาณมหาศาลเพื่อวัตถุประสงค์ในการหล่อเย็น) หดหายไปอย่างฮวบฮาบ ขณะเดียวกัน การละลายตัวของพวกธารน้ำแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่อยู่ในแถบเทือกเขาแอนดีสในละตินอเมริกา และเทือกเขาหิมาลัยในเอเชียใต้ ก็จะส่งผลเสมือนการริบเอาอุปทานน้ำที่จำเป็นแก่การใช้สอยเหลือเกินจากชุมชนและนครต่างๆ ส่วนพายุเฮอร์ริเคนและพายุไต้ฝุ่นซึ่งคาดกันว่าจะเกิดถี่ขึ้น ก็จะเป็นภัยคุกคามมากยิ่งขึ้นต่อฐานขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่ง โรงกลั่นน้ำมันตามชายฝั่งทะเล สายท่อส่งต่างๆ ตลอดจนส่วนประกอบอื่นๆ ของระบบพลังงานของโลก

การที่น้ำแข็งซึ่งปกคลุมทวีปอาร์ติกกำลังละลายตัว จะเท่ากับการเปิดพื้นที่ของอาณาบริเวณแถบนี้ให้แก่การสำรวจขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติก็จริงอยู่ ทว่ากิจกรรมความแปรปรวนของภูเขาน้ำแข็งซึ่งจะต้องเพิ่มทวีขึ้นด้วย ก็จะทำให้ความพยายามทั้งหลายทั้งปวงที่จะแสวงหาประโยชน์จากอุปทานพลังงานของอาณาบริเวณนี้ มีอันตรายและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ในภูมิภาคทางแถบเหนือของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไซบีเรีย และพวกรัฐทางภาคเหนือของแคนาดา อากาศที่อุ่นขึ้นจะทำให้มีฤดูกาลสำหรับเพาะปลูกพืชผลยาวนานมากขึ้น ซึ่งอาจจะช่วยชดเชยทดแทนในบางระดับ ให้แก่การที่พื้นที่เพาะปลูกในบริเวณตอนใต้ๆ ลงมาต้องตกอยู่ในภาวะแห้งแล้งสูญเสียความชุ่มชื้น

อย่างไรก็ตาม การที่จะโยกย้ายระบบการเกษตรของโลก (รวมทั้งบรรดาเกษตรของโลกด้วย) ขึ้นไปทางเหนือ จากที่ดินเพาะปลูกที่ถูกทอดทิ้งปล่อยร้างในสหรัฐฯ เม็กซิโก บราซิล อินเดีย จีน อาร์เจนตินา และออสเตรเลีย ย่อมเป็นความมุ่งหวังที่น่าประหวั่นพรั่นพรึงอย่างยิ่ง

ย่อมเป็นเรื่องปลอดภัยไร้ข้อโต้แย้งที่เราจะตั้งสมมุติฐานว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผสมผสานกับภาวะการขาดแคลนอุปทานที่กำลังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยแล้ว มันจะส่งผลให้ปริมาณของทรัพยากรอันสำคัญยิ่งยวดทั้งหลายของดาวนพเคราะห์ดวงนี้ลดต่ำลงอย่างน่าใจหายทีเดียว มิหนำซ้ำยังจะไปขยายเพิ่มพูนแรงกดดันบีบคั้นประเภทต่างๆ ซึ่งในประวัติศาสตร์ได้เคยนำไปสู่ความขัดแย้งเกิดการสู้รบกันมาแล้ว แม้กระทั่งภายใต้สภาวการณ์ที่ดีกว่านี้ด้วยซ้ำไป รายงานของ ชาธัม เฮาส์ เสนอว่า เมื่อพิจารณาจากแง่มุมนี้แล้ว วิธีที่จะทำความเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้ดีที่สุด ก็คือ มองว่ามันเป็น “ตัวคูณที่ทวีภัยคุกคาม (threat multiplier) … เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดประการหนึ่งซึ่งเพิ่มขยายความอ่อนเปราะทางด้านทรัพยากรที่เกิดขึ้นอยู่ก่อนแล้ว” ในบรรดารัฐซึ่งมีจุดบอบบางสามารถที่จะจ่อมจมลงสู่ภาวะไม่สงบเช่นนั้นได้ง่ายๆ อยู่ก่อนแล้ว

เหล่านักวิเคราะห์ของ ชาธัม เฮาส์ ก็เสนอภาพสถานการณ์ในอนาคต ละม้ายคล้ายคลึงกับผู้เชี่ยวชาญรายอื่นๆ ในหัวข้อนี้ ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจะทำให้พื้นที่จำนวนมากมีผลผลิตด้านพืชผลลดต่ำลง ส่งผลให้ราคาอาหารของโลกพุ่งลิ่ว และจุดชนวนให้เกิดความวุ่นวายขึ้นมาในหมู่บรรดาผู้ทีรู้สึกย่ำแย่จนถึงที่สุดอยู่แล้วภายใต้เงื่อนไขในปัจจุบัน

“การเกิดเหตุการณ์สภาพอากาศเลวร้ายสุดๆ เป็นต้นว่า ภัยแล้ง คลื่นความร้อน ตลอดจนอุทกภัย กันบ่อยครั้งขึ้นและหนักหน่วงสาหัสยิ่งขึ้น ยังจะส่งผลให้เกิดภาวะช็อกในเรื่องผลเก็บเกี่ยวในระดับท้องถิ่น (local harvest shocks) กันถี่ขึ้นและมีขนาดขอบเขตใหญ่โตขึ้นมาก อีกทั้งยังบังเกิดขึ้นในทั่วโลกด้วย … ภาวะช็อกเหล่านี้จะกระทบกระเทือนราคาอาหารของโลกอย่างแน่นอน เมื่อใดก็ตามที่พวกศูนย์สำคัญๆ ของพื้นที่การผลิตทางการเกษตรได้รับความกระทบกระเทือน และนั่นก็ยิ่งทำให้ราคาอาหารโลกเกิดเปลี่ยนแปลงขึ้นลงวูบวาบอย่างรุนแรง” สภาวการณ์เช่นนี้ ยังน่าที่จะทำให้สังคมเกิดความไม่สงบปั่นป่วนวุ่นวายกันมากขึ้นเช่นกัน

ตัวอย่างเช่น เมื่อตอนที่คลื่นความร้อนอันโหดร้ายทารุณได้ทำลายนาข้าวสาลีของรัสเซียจนย่อยยับในช่วงฤดูร้อนของปี 2010 นั้น ราคาข้าวสาลีในตลาดโลก (รวมทั้งอาหารจำเป็นสำหรับชีวิตจำนวนมาก ที่ทำมาจากข้าวสาลี อย่างเช่น ขนมปัง) ก็เริ่มต้นไต่สูงขึ้นไปอย่างไม่มีทีท่าหยุดยั้ง จนกระทั่งอยู่ในระดับสูงลิ่วเป็นพิเศษทั้งในแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง แล้วจากการที่พวกรัฐบาลในพื้นที่เหล่านั้นไม่ได้มีเจตนารมณ์หรือไม่ได้มีความสามารถที่จะช่วยเหลือประชากรผู้จนตรอกหมดหวัง ความโกรธเกรี้ยวในเรื่องราคาอาหารที่แพงลิ่วจนซื้อหาไม่ไหว ก็บวกกับความเคืองแค้นซึ่งมีต่อระบอบปกครองอันเป็นเผด็จการ จนกระทั่งจุดระเบิดการประท้วงคัดค้านของประชามหาชน ซึ่งเรารู้จักกันในนามว่า “อาหรับ สปริง” (Arab Spring) ขึ้นมา

ชาธัม เฮาส์ เสนอแนะว่า การระเบิดตูมตามออกมาในทำนองนี้อีกมากมายนัก น่าที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ถ้าหากแนวโน้มต่างๆ ในปัจจุบันยังคงดำเนินต่อไป ในเมื่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และภาวะการขาดแคลนทรัพยากร ได้หลอมรวมกันเข้าเป็นความเป็นจริงหนึ่งเดียวในโลกของเราไปแล้ว สถาบันคลังสมองแห่งนี้ยังได้ตั้งคำถามหนึ่งคำถามเดียว ซึ่งมุ่งยั่วยุให้เกิดการโต้แย้งและก็สมควรทำให้พวกเราทั้งผองรู้สึกเหมือนตกอยู่ในฝันร้ายที่คอยตามหลอกหลอนทีเดียว คำถามดังกล่าวก็คือ “ใช่หรือไม่ว่าเราทั้งหลายกำลังยืนอยู่บนหน่ออ่อนแห่งระเบียบใหม่ของโลก ซึ่งเป็นระเบียบใหม่ของโลกที่ครอบงำด้วยการต่อสู้ช่วงชิงกันเพื่อเข้าให้ถึงทรัพยากรต่างๆ ที่ยังพอจะหามาใช้สอยได้?”

สำหรับประชาคมข่าวกรองของสหรัฐฯ ซึ่งดูเหมือนได้รับอิทธิพลจากรายงานฉบับนี้ คำตอบของคำถามนี้เป็นไปอย่างโต้งๆ ชัดเจน ทั้งนี้ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่ เจมส์ อาร์ แคลปเปอร์ (James R Clapper) ผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติของสหรัฐฯ (Director of National Intelligence) ซึ่งก็คือประธานของประชาคมข่าวกรองของอเมริกา ได้ระบุออกมาว่า “การแข่งขันช่วงชิงกันและความหายากความขาดแคลนในเรื่องเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ” คือหนึ่งในภัยคุกคามความมั่นคงแห่งชาติ พอๆ กับการก่อการร้ายระดับโลก สงครามไซเบอร์ และการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์ ทีเดียว

“ประเทศจำนวนมากที่มีความสำคัญต่อสหรัฐฯนั้น อยู่ในภาวะอ่อนแอบอบบางหากต้องเผชิญกับภาวะช็อกทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งสามารถที่จะลดระดับการพัฒนาของเศรษฐกิจ สร้างความผิดหวังให้แก่ความพยายามในการเป็นประชาธิปไตย เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะไร้เสถียรภาพชนิดซึ่งคุกคามระบอบปกครอง และเพิ่มความเลวร้ายให้แก่ความขัดแย้งระดับภูมิภาคทั้งหลาย” เขาเขียนเอาไว้ในเช่นนี้ในคำแถลงที่เขาจัดเตรียมไว้เพื่อแถลงต่อคณะกรรมาธิการคัดสรรว่าด้วยการข่าวกรอง (Select Committee on Intelligence) ของวุฒิสภาสหรัฐฯ เขาระบุต่อไปในคำแถลงนี้ว่า “เหตุการณ์สภาพอากาศเลวร้ายสุดๆ (อุทกภัย ภัยแล้ง คลื่นความร้อน) จะก่อให้เกิดความวุ่นวายเพิ่มมากขึ้นในตลาดอาหารและตลาดพลังงาน เพิ่มขยายความอ่อนแอของรัฐ บีบบังคับให้เกิดการอพยพโยกย้ายถิ่นของมนุษย์ และจุดชนวนให้เกิดการจลาจล อารยะขัดขืน และการทำลายทรัพย์สิน”

น่าสังเกตว่ามีวลีใหม่วลีหนึ่งแฝงฝังอยู่ในความคิดเห็นของเขา ได้แก่ วลีที่ว่า “ภาวะช็อกทางด้านทรัพยากร (resource shocks) วลีนี้ช่างสอดคล้องกับอะไรบางอย่างในโลกใบนี้ที่พวกเรากำลังเคลื่อนคว้างไปประสบพบเจออย่างรวดเร็ว และก็เป็นการใช้ภาษาอย่างโดดเด่นน่าประทับใจสำหรับประชาคมข่าวกรอง ซึ่งก็ละม้ายคล้ายคลึงกับรัฐบาลที่พวกเขารับใช้อยู่ นั่นคือส่วนใหญ่แล้วชมชอบที่จะลดทอนความสำคัญหรือกระทั่งเพิกเฉยละเลยถึงอันตรายต่างๆ ของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่พวกนักวิเคราะห์ระดับอาวุโสของฝ่ายรัฐบาล อาจจะกำลังบังเกิดความเข้าใจอย่างซาบซึ้งในสิ่งซึ่งพวกผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน เหล่านักวิเคราะห์ด้านทรัพยากร และนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย ได้ออกมาเตือนภัยนานแสนนานแล้วว่า การบริโภคทรัพยากรธรรมชาติของโลกอย่างไร้บันยะบันยัง เมื่อผสมผสานกับการปรากฏขึ้นของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอันร้ายแรงสุดโต่งแล้ว ก็สามารถที่จะก่อให้เกิดการระเบิดตูมตามขึ้นมาของความปั่นป่วนวุ่นวายในหมู่มนุษย์และความขัดแย้งต่อสู้กันในระดับทั่วโลกได้ทีเดียว โดยที่ในเวลานี้เราก็กำลังบ่ายหน้าดุ่มเดินตรงเข้าสู่โลกที่สะท้านด้วยภาวะช็อกทางด้านทรัพยากรเสียด้วย



ไมเคิล แคลร์ เป็นอาจารย์ทางด้านการศึกษาสันติภาพและความมั่นคงของโลก (peace and world security studies) อยู่ที่ วิทยาลัยแฮมป์เชียร์ (Hampshire College) เป็นผู้เขียนบทความให้เว็บไซต์ ทอมดิสแพตช์ (www.tomdispatch.com) อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งเป็นผู้เขียนหนังสือหลายเล่ม โดยเล่มล่าสุดคือเรื่อง The Race for What's Left ซึ่งเพิ่งตีพิมพ์เป็นหนังสือปกอ่อนโดยสำนักพิมพ์ Picador นอกจากนั้นภาพยนตร์สารคดีที่สร้างขึ้นโดยอิงอาศัยหนังสือเรื่อง Blood and Oil ของเขา สามารถที่จะชมตัวอย่างและสั่งซื้อได้ที่เว็บไซต์ www.bloodandoilmovie.com. สามารถติดตามเขาบนเฟซบุ๊กได้ที่ https://www.facebook.com/pages/Michael-Klare/316344375093469

(ข้อเขียนนี้เอเชียไทมส์ออนไลน์นำมาเผยแพร่โดยได้รับอนุญาตจาก TomDispatch)
กำลังโหลดความคิดเห็น