xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนราคาแพงจากเหตุตึกถล่มที่บังกลาเทศ

เผยแพร่:   โดย: หิมายา กออาเซม

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Bangladesh disaster can be costly lesson
By Himaya Quasem
02/05/2013

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อกรณีภัยพิบัติอาคารโรงงานบังกลาเทศพังถล่มครั้งล่าสุด มักเพิกเฉยละเลยข้อเท็จจริงในอีกด้านหนึ่งที่ว่า อุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายได้สร้างผลประโยชน์อันแท้จริงให้แก่ประชากรชาวท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม พวกเจ้าของธุรกิจชาวบังกลาเทศก็ต้องลงมือดำเนินการปฏิรูปในเรื่องความปลอดภัยในการทำงานเสียที ไม่เช่นนั้นก็จะต้องสูญเสียงานให้แก่ประเทศอื่นๆ อย่างแน่นอน

ผู้คนเป็นร้อยๆ ที่วายวางสิ้นชีพไปในเหตุภัยพิบัติทางด้านอุตสาหกรรมครั้งที่มีคนตายมากที่สุดของบังกลาเทศเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นเพียงคนงานในอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายเท่านั้น พวกเธอจำนวนมากยังมีฐานะเป็นคุณแม่วัยสาว ที่กำลังทำงานหาอาหารมาป้อนคนอีกหลายๆ ปากในครอบครัว บางทีตรงนี้นี่เองอาจจะเป็นส่วนที่น่าเศร้าสะเทือนใจที่สุดของโศกนาฏกรรมคราวนี้

หลังจากภาพของกองคอนกรีตที่ถล่มแตกหัก, เหล็กเส้นที่บิดเบี้ยว, และเจ้าหน้าที่กู้ภัยซึ่งมีแต่มือเปล่ากำลังคลานเล็ดลอดไปซากปรักหักพัง เลือนหายจางไปจากความทรงจำของโลกแล้ว เด็กๆ ที่กลายเป็นลูกกำพร้าเหล่านั้นจะยังคงถูกปล่อยทิ้งให้จมอยู่กับความเจ็บปวดที่กัดแทะมิรู้คลายไปอีกนานเท่านาน จากการต้องสูญเสียบุพการีผู้คอยสนับสนุนอุ้มชู เนื่องจากอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของบังกลาเทศ เป็นตัวป้อนตำแหน่งงานให้แก่ผู้หญิงจำนวนนับไม่ถ้วนในวัฒนธรรมที่มีผู้ชายเป็นใหญ่เป็นผู้ครอบงำ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้อย่างสูงว่า คนที่เป็นตัวหลักในการหาเลี้ยงครอบครัวก็คือผู้เป็นแม่นั่นเอง

การพังถล่มของอาคารรานา พลาซา (Rana Plaza) ความสูง 8 ชั้นซึ่งตั้งอยู่บริเวณชานกรุงธากา และทำให้มีคนงานผลิตเสื้อผ้าเสียชีวิตไปกว่า 400 คน (หมายเหตุผู้แปล - ในวันอาทิตย์ที่ 12 พ.ค. ทางการบังกลาเทศได้ปรับเพิ่มยอดผู้เสียชีวิตคราวนี้เป็นกว่า 1,100 คนแล้ว) คราวนี้ กลายเป็นการตัดตรงเข้าไปถึงหัวใจของคำถามอันเร่งด่วนแห่งยุคสมัยใหม่ทีเดียว คำถามดังกล่าวก็คือ จากการที่พวกบรรษัทนานาชาติทำการค้าขายและว่าจ้างโรงงานต่างๆ ในประเทศกำลังพัฒนาเฉกเช่นบังกลาเทศ ทำการผลิตสินค้าต่างๆ นั้น พวกเขาช่วยเหลือหรือว่าขูดรีดเอาเปรียบประเทศกำลังพัฒนากันแน่? สำหรับบังกลาเทศ ซึ่งประชากรเกือบครึ่งหนึ่งทีเดียวมีชีวิตอยู่ด้วยรายได้ไม่ถึง 1 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อวันแล้ว คำตอบจะออกมาว่า ถูกทั้งคู่ ทั้งนี้พวกบริษัทใหญ่ๆ ในโลกตะวันตกซึ่งสั่งซื้อสั่งผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ผลิตโดยโรงงานต่างๆ ในอาคารหลังนั้น ก็มีดังเช่น กลุ่มเบนเนตอง (Benneton), เดอะ ชิลเดรนส์ เพลซ (The Children's Place), และกิจการแห่งหนึ่งในเครือของแอสโซซิเอเต็ด บริติช ฟูดส์ (Associated British Foods)

ระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ซึ่งเป็นผู้มีส่วนอยู่ในสินค้าส่งออกของประเทศเอเชียใต้รายนี้ถึงร่วมๆ 80% ทีเดียวนั้น ได้จุนเจือให้ประชาชนชาวบังกลาเทศนับล้านๆ คนหลุดพ้นจากภาวะยากจน อีกทั้งทำให้สตรีในชาติที่ผู้คนส่วนใหญ่เป็นมุสลิมแห่งนี้ มีอำนาจในทางเศรษฐกิจและทางสังคมเพิ่มขึ้นอย่างมากมายในระดับที่มารดาของพวกเธอได้เคยแต่ใฝ่ฝันถึง

แต่ก็ดังที่ภัยพิบัติในปลายเดือนที่แล้วได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ความก้าวหน้าเป็นสิ่งที่มีต้นทุนมีราคาค่างวดของมัน อุตสาหกรรมที่กำลังเจริญรุ่งเรืองมีมูลค่าสูงถึงราว 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯนี้ ถูกอาบทาด้วยเลือดเนื้อของคนงานนับร้อยนับพันที่ต้องสิ้นชีพปลิดปลงไปอย่างไม่จำเป็นเลย ถ้าหากพวกเจ้าของโรงงานและเจ้าของอาคารไม่บกพร่องไม่ละเลยการให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกแก่ความปลอดภัยของคนงานเหล่านี้

ขณะเดียวกัน ภัยพิบัติที่กลายเป็นข่าวใหญ่เกรียวกราวไปทั่วโลกเช่นการพังถล่มของอาคารรานา พลาซา นี้ ก็กำลังแสดงให้เห็นด้วยว่า การคุ้มครองให้ความปลอดภัยแก่คนงานนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องฟุ่มเฟือย หรือเป็นเรื่องความมีมนุษยธรรมพิเศษเพิ่มเติมที่จะเลือกทำหรือไม่ทำก็ได้ หากแต่เป็นเรื่องจำเป็นอย่างที่สุดที่จะต้องทำ ถ้าต้องการจะให้อุตสาหกรรมนี้ยังสามารถอยู่รอดต่อไปได้

การที่พวกแบรนด์สินค้าทรงอำนาจระดับโลกทั้งหลาย พากันแห่แหนเข้าสู่บังกลาเทศ ก็เนื่องจากประเทศนี้มีต้นทุนด้านแรงงานที่ต่ำสุดๆ และมีความสามารถที่จะผลิตสินค้าให้ได้ตามออร์เดอร์ปริมาณบิ๊กเบิ้ม แต่ถ้าประเทศนี้ต้องประสบกับภัยพิบัติทางอุตสาหกรรมในระดับกลายเป็นข่าวพาดหัวมากขึ้นๆ ประดากิจการค้าปลีกระดับโลก ซึ่งย่อมเหน็ดหน่ายจากการต้องพัวพันกับข่าวในเชิงลบไม่หยุดไม่หย่อน ก็คงเริ่มคิดที่เอาธุรกิจของพวกเขาไปผลิตที่อื่น ดร.โคนดาเกอร์ โกลัม โมอัซเซม (Dr Khondaker Golam Moazzem) นักวิจัยอาวุโสแห่งศูนย์เพื่อการสนทนาทางนโยบาย (Centre for Policy Dialogue) หน่วยงานคลังสมองที่ตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงธากา วิเคราะห์วิจารณ์ให้เห็น

ถึงแม้การโยกย้ายออกไปจากบังกลาเทศคงจะไม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเพียงชั่วเวลาข้ามคืน แต่ความเป็นจริงอันโหดเหี้ยมของระบบทุนนิยมโลกย่อมหมายความว่า พวกบรรษัทนานาชาติไม่ได้รู้สึกว่าพวกตนมีภาระผูกพันใดๆ ที่จะต้องตรึงติดอยู่กับประเทศใดประเทศหนึ่ง นี่แหละคือเหตุผลที่ว่าทำไมมันจึงขึ้นอยู่กับพวกเจ้าของโรงงานของประเทศนี้เองที่จะต้องปกป้องพิทักษ์ชื่อเสียงของป้าย “เมด อิน บังกลาเทศ” (Made in Bangladesh) เอาไว้ เนื่องจากพวกเขาคือผู้ที่จะต้องสูญเสียอย่างหนักหนาสาหัสที่สุด

สำหรับเหล่าเจ้าของเครือข่ายโรงงานประมาณ 4,500 แห่งของบังกลาเทศ การที่จะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมแห่งการไม่แยแสสนใจกับเรื่องความปลอดภัยนี้ให้สำเร็จได้นั้น พวกเขาจำเป็นที่จะต้องเริ่มต้นมองบรรดาคนงานในฐานะเที่เป็นทรัพย์สิน แทนที่จะเป็นเพียงสินค้าโภคภัณฑ์ราคาถูกๆ ที่ไม่สลักสำคัญอะไร พวกโรงงานผลิตเสื้อผ้าของบังกลาเทศนั้นประมาณครึ่งหนึ่งทีเดียวที่ยังบกพร่องไม่ได้มีมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานตามที่กฎหมายกำหนด สำนักข่าวบลูมเบิร์ก นิวส์ รายงานเมื่อสิ้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยอ้างคำพูดของ คัลโปนา อัคเตอร์ (Kalpona Akter) ผู้อำนวยการบริหารขององค์กรนอกภาครัฐบาล (เอ็นจีโอ) ที่ปฏิบัติงานเพื่อสิทธิของคนงานซึ่งมีชื่อว่า ศูนย์เพื่อความสมานฉันท์ของคนงานแห่งบังกลาเทศ (Bangladesh Center for Worker Solidarity)

ภาคอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของประเทศนี้ ว่าจ้างคนเข้าทำงานราวๆ 4 ล้านคน ส่วนใหญ่ที่สุดเป็นผู้หญิง ซึ่งต่างมีแรงจูงใจที่จะทำงานหนักพื่อให้ได้เงินทองมาช่วยเหลือยกระดับชะตาชีวิตของพวกเธอเอง ทว่าแม้อุตสาหกรรมนี้เติบโตขยายตัวไปอย่างมั่นคงในรอบระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งทำให้บังเกลาเทศกลายเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายรายใหญ่ที่สุดของโลก แต่การให้โอกาสแก่พนักงานสตรีในการไต่บันไดทางอาชีพให้สูงขึ้นและมีบทบาทในการเป็นผู้นำของกิจการ กลับดำเนินไปอย่างล่าช้ามาก

นอกจากนั้น อุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของประเทศนี้ยังควรต้องเริ่มต้นมองหาหนทางอื่นๆ ที่จะเพิ่มพูนความสามารถในการแข่งขันกันได้แล้ว แทนที่จะพึ่งพาเรื่องต้นทุนต่ำเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ดร.อาเหม็ด มัชฟิก โมบารัค (Dr Ahmed Mushfiq Mobarak) รองศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยเยล, สหรัฐอเมริกา เสนอแนะว่า บังกลาเทศควรต้องพยายามที่จะขยับตัวไต่สูงขึ้นไปตามห่วงโซ่แห่งมูลค่า (value chain) นั่นคือ ต้องหาทางผลิตพวกเสื้อผ้าระดับกลางซึ่งราคาแพงกว่าสิ่งที่ผลิตกันอยู่ในปัจจุบัน แต่ให้ส่วนต่างสูงยิ่งขึ้น

การที่จะทำเช่นนี้ได้จำเป็นที่จะต้องมีการฝึกอบรมลูกจ้างพนักงานที่ดีขึ้นกว่าในปัจจุบัน และหมายความว่าบังกลาเทศจะต้องมีความสามารถในการหาประโยชน์จากการแข่งขันแย่งชิงกันของกระบวนการโลกาภิวัตน์ แทนที่จะยังคงตกเป็นเชลยของกรอบโครงแห่งการขูดรีดที่ทำให้ประเทศนี้กลายเป็นจุดหมายปลายทางระดับท็อปสำหรับแบรนด์สินค้าต่างๆ เพียงเพราะว่าราคาถูกเท่านั้นเอง

เท่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้ การที่คนงานในอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของบังกลาเทศได้รับการคุ้มครองสิทธิต่างๆ มากขึ้น เป็นต้นว่า มีการลดการใช้แรงงานเด็ก เป็นเพราะแรงบีบคั้นกดดันจากพวกผู้ซื้อชาวตะวันตก ดร.โคนดาเกอร์ บอก

สหภาพยุโรป (อียู) ก็ออกมาแถลงเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมว่า กำลังพิจารณาที่จะดำเนินมาตรการต่างๆเพื่อช่วยปรับปรุงเงื่อนไขสภาพการทำงานในโรงงานของบังกลาเทศ ดังนั้น แทนที่จะรอคอยให้บริษัทนานาชาติหรือรัฐบาลต่างประเทศมาดุด่าว่ากล่าว พวกเจ้าของโรงงานชาวบังกลาเทศเอง ซึ่งก็เป็นพวกที่มีอิทธิพลทางการเมืองอยู่ในระดับสูงกันทั้งนั้นอยู่แล้ว ควรที่จะเริ่มต้นดำเนินจังหวะก้าวต่างๆ ที่จะเพิ่มพูนยกระดับความปลอดภัยในโรงงานด้วยความสมัครใจของพวกเขาเอง

ดร.โคนดาเกอร์แจกแจงต่อไปว่า ในประเทศที่มีผู้คนมากมายแต่ที่ดินกลับขาดแคลน โรงงงานต่างๆ จึงขยายตัวขึ้นไปบนฟ้า โดยที่บางครั้งบางคราวก็สร้างอาคารสูงเหล่านั้นบนที่ดินที่ไม่มีความมั่นคงเอาเลย ถึงแม้การปรับปรุงเพิ่มการเดินสายไฟฟ้าติดตั้งอุปกรณ์ให้แสงสว่าง ตลอดจนการเสริมเติมโครงสร้างของโรงงานให้ถูกต้องเหมาะสมจะมีราคาที่ต้องควักกระเป๋าจ่าย ทว่าหากพวกนายจ้างแค่ยอมปลี่ยนแปลงทัศนคติซึ่งมีต่อลูกจ้างพนักงาน ก็เพียงพอแล้วที่จะรักษาชีวิตจำนวนมากให้ปลอดภัย

บลูกเบิร์ก นิวส์ รายงานเมื่อสิ้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า “กลุ่มอิสระคอยเฝ้าติดตามเรื่องสิทธิแรงงาน ซึ่งมีชื่อว่า ‘สหกิจสิทธิแรงงาน’ (Worker Rights Consortium) ประมาณการออกมาว่า โรงงานต่างๆ ที่มีอยู่ราว 5,000 แห่งทั่วทั้งบังกลาเทศ แต่ละแห่งจะต้องใช้จ่ายเงิน 600,000 ดอลลาร์โดยเฉลี่ย ในการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยให้ขึ้นสู่มาตรฐานของโลกตะวันตก หรือรวมทั้งหมดแล้วเท่ากับ 3,000 ล้านดอลลาร์ ถ้าหากกระจายค่าใช้จ่าย 3,000 ล้านดอลลาร์นี้ออกไปเป็นระยะเวลา 5 ปี มันก็จะเพิ่มต้นทุนไม่ถึง 10 เซนต์ให้แก่ราคาโรงงานของเสื้อผ้าสำเร็จรูปแต่ละชิ้นซึ่งบังกลาเทศกำลังขายให้แก่พวกแบรนด์ตะวันตกที่แต่ละปีมีจำนวนกว่า 7,000 ล้านชิ้น ถ้าหากพวกเจ้าของโรงงานผลักภาระค่าใช้จ่ายนี้ไปให้แก่พวกกิจการขายปลีก และพวกกิจการขยายปลีกก็ผลักภาระต่อไปให้แก่ผู้บริโภค ด้วยวิธีขึ้นราคาของเสื้อผ้าสำเร็จรูปแล้ว นั่นก็อาจทำให้ผู้ซื้อคนสุดท้ายต้องจ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 25 เซ็นต์ต่อชิ้น”[1]

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของ รานา พลาซา นั้น มันจะไม่กลายเป็นสุสานคอนกรีตขนาดมหึมาเหมือนอย่างทุกวันนี้เลย ถ้าหากเพียงแต่พวกนายจ้างไม่บังคับบรรดาคนงานให้กลับเข้าไปในอาคาร หลังจากที่มีหลักฐานแสดงถึงความไม่มั่นคงอย่างชัดเจนออกมาแล้ว เมื่อปรากฏรอยร้าวจำนวนหนึ่งตามฝาผนังตั้งแต่วันก่อนหน้าที่จะเกิดภัยพิบัติคราวนี้ขึ้น

เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว มีคนงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป 112 คนเสียชีวิตหลังจากเกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่โรงงานทาซรีน (Tazreen) ซึ่งตั้งอยู่ชานกรุงธากา การสูญเสียชีวิตของผู้คนเหล่านี้สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ ถ้าหากบรรดาทางออกของโรงงานจะไม่ถูกปิดตายลั่นกุญแจ และถ้าหากพวกหัวหน้าคนงานไม่สั่งให้คนงานอยู่เฉยๆ อย่าสนใจสัญญาณเตือนไฟไหม้ แล้วกลับไปประจำยังที่ทำงานของพวกตน

“มันไม่ใช่กระทั่งเรื่องที่จะต้องเสียเงินด้วยซ้ำไป มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนลำดับความสำคัญของเรื่องต่างๆ ในหัวของพวกผู้จัดการและพนักงานในโรงงานเหล่านี้ เพื่อที่ว่าเมื่อเกิดมีความเสี่ยงขึ้นมา ก็จะได้มีการอพยพโยกย้ายพนักงานเหล่านี้ไปยังที่ปลอดภัย” แกเรต ไพรซ์-โจนส์ (Gareth Price-Jones) เป็นคำกล่าวของผู้อำนวยการระดับประเทศประจำบังกลาเทศ ขององค์การเอ็นจีโอ “ออกซ์แฟม” (Oxfam) ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในสหราชอาณาจักร

การจับกุมตัว โมฮัมหมัด โซเฮล รานา (Mohammad Sohel Rana) เจ้าของรานา พลาซา และเสียงเรียกร้องที่ติดตามมาหลังจากนั้นของเหล่าผู้ประท้วงซึ่งโกรธแค้นที่ต้องการให้เขาถูกลงโทษประหารชีวิต อาจทำให้พวกเจ้าของธุรกิจคนอื่นๆ ต้องคิดทบทวนอย่างหนักก่อนที่จะเพิกเฉยไร้น้ำใจต่อคำเตือนเรื่องความปลอดภัย ทั้งนี้นอกจากเจ้าของอาคารผู้นี้แล้ว พวกผู้บริหารอีกหลายคนของบริษัทที่เชื่อมโยงพัวพันกับโรงงานต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในอาคารหลังนี้ ก็ได้ถูกจับกุมด้วยเช่นกัน

อุปสงค์ความต้องการเสื้อผ้าราคาถูกๆ ของทั่วโลก ทำให้เกิดสายชูชีพทางเศรษฐกิจสายหนึ่งซึ่งชาติยากจนอย่างบังกลาเทศได้พึ่งพาอาศัย แต่ขณะเดียวกันมันก็ส่งเสริมให้มีโรงงานที่ไร้ความปลอดภัยเพิ่มพรวดขึ้นมาจำนวนมากด้วยเช่นกัน

บรรดาผู้บริโภคและกิจการขายปลีกชาติตะวันตก มีภาระหน้าที่ทางศีลธรรมที่จะต้องผลักดันให้เกิดการปรับปรุงยกระดับเงื่อนไขสภาพการทำงานของคนงาน ในเวลาเดียวกันพวกเจ้าของโรงงานของบังกลาเทศก็มีแรงจูงใจทางเศรษฐกิจให้ทำเช่นนั้นด้วย

เจ้าของโรงงานเหล่านี้ ซึ่งนั่งอยู่ตรงหัวใจของภาคอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของชาติ จะต้องไม่ลืมเลือนความสำคัญของกองทัพคนงานของพวกเขาที่ส่วนใหญ่เป็นสตรีและได้รับค่าจ้างต่ำ เพราะความขยันขันแข็งของคนงานเหล่านี้นี่เองเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สร้างแรงดึงดูดบรรดาแบรนด์ระดับโลก

มิฉะนั้นแล้ว บังกลาเทศก็ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะกลายเป็นผู้พร่าผลาญช่องทางโอกาสซึ่งโลกาภิวัตน์อุตส่าห์นำพามาให้แล้ว

**หมายเหตุ**
[1] ดูเรื่อง For 25 Cents, Consumers Can Wash Blood Off Their T-Shirts, Bloomberg News, May 1, 2013.

หิมายา กออาเซม เป็นอดีตผู้สื่อข่าวให้แก่ ซันเดย์ เมล (Sunday Mail) ปัจจุบันเป็นนักหนังสือพิมพ์ซึ่งพำนักอยู่ในสิงคโปร์
กำลังโหลดความคิดเห็น