xs
xsm
sm
md
lg

โรงงานนรกที่บังคลาเทศ เบื้องหลังแฟชั่นสวยงามคือเลือดและชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปีนี้เป็นวาระครบรอบ 20 ปีของโศกนาฏกรรมครั้งร้ายแรงที่สุดที่เกิดขึ้นกับแรงงานราคาถูกของประเทศไทย คือเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ที่ถนนพุทธมณฑลสาย 4 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 เวลา 4 โมงเย็นสิบห้านาที หลังจากไฟลุกไหม้อาคาร 5 ชั้นก็พังถล่มลงมาทับร่างของคนงานพันกว่าชีวิตที่กำลังหนีตายจากไฟไหม้

โศกนาฏกรรมครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตถึง 188 ราย ผู้บาดเจ็บ 469 ราย หลายรายบาดเจ็บสาหัส บางรายต้องกลายเป็นคนพิการหรือเป็นอัมพาตตลอดชีวิต เด็กๆ อีกกว่า 50-60 คน ต้องกลายเป็นเด็กกำพร้า เพราะสูญเสียแม่ หรือพ่อ

สาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ เกิดจากความประมาทของพนักงานที่สูบบุหรี่ในโรงงาน ทำให้เกิดไฟลุกไหม้วัสดุผ้าที่ใช้ผลิตตุ๊กตา แต่เมื่อตรวจสอบในเชิงลึกพบว่าโรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยหลายประการ เช่น ไม่มีบันไดหนีไฟ ประตูทางออกฉุกเฉินกว้างไม่ได้มาตรฐาน และยังน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับจำนวนของพนักงาน อีกทั้งโรงงานไม่เคยซักซ้อมการหนีไฟอย่างเป็นระบบให้กับพนักงาน

เมื่อสาวลึกลงไป ก็พบอีกว่า สาเหตุที่อาคารพังถล่มลงมาอย่างรวดเร็วหลังเกิดเพลิงไหม้เพียง 15 นาที เป็นเพราะโครงสร้างของอาคารไม่ได้มาตรฐาน เนื่องจากนายทุนชาวไต้หวัน ต้องการประหยัดต้นทุน จึงก่อสร้างด้วยโครงเหล็กสำเร็จรูป ซึ่งไม่ทนไฟ

เหตุการณ์ครั้งนั้นได้ผลักดันให้ภาคแรงงาน และพนักงานจากโรงงานหลาย ๆ แห่ง ผนึกกำลังกันออกมารณรงค์และเรียกร้องให้ผู้ประกอบการปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยภายในโรงงานมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดเหตุสลดซ้ำรอยโรงงานตุ๊กตาเคเดอร์อีก

เวลาผ่านไปสองทศวรรษ ระบบทุนนิยมเติบโ เข้มแข็ง มีนวตกรรมมากมาย ในการแสวงหากำไรสูงสุด แต่ก็ยังอยู่บนพื้นฐานเดิม คือ เอากำไรให้มากที่สุด ด้วยการลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำเท่าที่จะต่ำได้ เพราะการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ทำให้ราคาสินค้า เป็นหัวใจสำคัญของการแข่งขัน ที่จะเอาชนะคู่แข่งเมื่อไม่สามารถตั้งราคาสูงๆ แต่ยังต้องการกำไรมากๆ วิธีเดียวคือ ลดต้นทุนการผลิต โดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย ลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง และ ลดต้นทุนค่าแรง สุดแท้แต่ว่า จะอยู่ในอุตสาหกรรมประเภทไหน

อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ด้วยเทคโนยีการผลิตที่ก้าวหน้าขึ้น ทำให้สินค้าที่ผลิตออกมามีความสวยงาม ใส่สบาย ทันสมัย เพราะความรวดเร็วในการผลิต และ ราคาถูกลง แต่ที่ไม่เคยเปลี่ยนไปเลยคือ ต้องพึ่งพาแรงงานราคาถูกในการตัดเย็บ

ในขณะที่ผู้บริโภคได้ใส่เสื้อผ้าที่มีคุณภาพ สวยงาม ทันสมัย ราคาไม่สูงเกินไป ผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตข้อสุดท้าย คือ แรงงานในการตัดเย็บ ไม่ได้มีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม อาจจะเลวร้ายขึ้นด้วยซ้ำ เพราะผู้ที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่การผลิต คือ เจ้าของแบรนด์ยี่ห้อดังๆ ระดับโลก และเครือข่ายร้านค้าปลีกข้ามชาติ ต้องการผลิตเสื้อผ้าในราคาต้นทุนที่ต่ำที่สุด

แบรนด์เสื้อผ้าระดับโลก คือ ผู้กำหนดว่าจะตัดเย็บเสื้อผ้าของตัวเองที่ไหน ใช้ผ้า เส้นด้าย กระดุมจากใคร ในราคาเท่าไร ฐานการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปของโลก จึงเคลื่อนย้ายไปเรื่อยๆ ไปยังแหล่งผลิตที่มีแรงงานราคาถูกที่สุด มีสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรดีที่สุด ประเทศไทยเคยเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญแห่งหนึ่ง แต่ปัจจุบัน เนื่องจากค่าแรงแพงขึ้น ผู้ซื้อ หรือผู้ว่าจ้าง ซึ่งหมายถึงแบรนด์เสื้อผ้าระดับโลก และเครือข่ายร้านค้าปลีกในสหรัฐฯ และยุโรป จึงเปลี่ยนไปสั่งซื้อ ว่าจ้างผลิต จากโรงงานในประเทศอื่นที่ค่าแรงยังต่ำ เช่น จีน เวียดนาม กัมพูชา และบังคลาเทศ ฯลฯ

บังคลาเทศ ได้ชื่อว่า เป็นฐานการผลิตเสื้อผ้าที่มีค่าแรงถูกที่สุดในโลก คนงานในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ ตามกฎหมายเดือนละ 38 เหรียญสหรัฐ ฯ หรือ ประมาณ 1,140 บาท ซึ่งไม่พอต่อการยังชีพ ต้องทำงานล่วงเวลาอีกวันละ 2 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อยทุกวัน จึงจะมีรายได้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน

อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของบังคลาเทศ เพราะมีมูลค่าการส่งออกถึง 80% และจ้างแรงงานกว่า 4 ล้านคน ซึ่ง เป็นแรงงานสตรีถึง 4 ใน 5 อุตสาหกรรมนี้จึงได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากรัฐ เพราะนอกจากจะเป็นอุตสาหกรรมสร้างรายได้และงานแล้ว บรรดาผู้ประกอบการ เจ้าของโรงงาน ซึ่งรวมตัวกันเป็นสมาคมผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปแห่งบังคลาเทศ (Bangladesh Garments Manufactures and Exporters Association –BGMEA) ยังมีอิทธิพลในทางการเมือง เพราะเป็นทั้งผู้สนับสนุนทางการเงินรายใหญ่ให้พรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน และยังเล่นการเมืองเอง โดยมีสมาชิกของ BGMEA เป็น ส.ส.ถึง 25คน

บังคลาเทศ ผลิตเสื้อผ้าให้กับแบรนด์ดังๆของโลก อย่างเช่น GAP , Benetton ,Zara ,Lobrow, H&M ,Mango , Mark@Spencer ฯลฯ และเครือข่ายค้าปลีกยักษ์ใหญ่อย่าง วอล มาร์ท, เจซี เพนนี ฯลฯ โดยสินค้าทั้งหมดส่งไปขายในสหรัฐฯ และยุโรป

การไล่ล่าหาแรงงานราคาถูกที่สุดในโลกของธุรกิจเสื้อผ้าระดับโลก ที่หลั่งไหลเข้ามาในบังคลาเทศ ทำให้นายทุน ผู้ประกอบการ ของบังคลาเทศ พากันตั้งโรงงานรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้ากันเป็นจำนวนมาก โรงงานเหล่านี้ ส่วนใหญ่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีระบบความปลอดภัย ก่อสร้างไม่ถูกแบบ ใช้วัสดุที่ไม่มีคุณภาพ เพราะถึงแม้ว่า ค่าแรงงานในอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าขอบังคลาเทศจะต่ำที่สุดในโลก แต่กำไรที่นายจ้างหรือผู้ประกอบการต่ำมาก เพราะผู้กำหนดราคาคือ ธุรกิจเสื้อผ้าระดับโลกที่กดราคาให้ต่ำที่สุด เพื่อจะได้แข่งขันได้ในตลาดค้าปลีก

เจ้าของโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในบังคลาเทศ จึงไม่ยอมลงทุนในเรื่องความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน อุบัติเหตุเพลิงไหม้โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า ซึ่งมีคนตายครั้งละหลายๆ คน จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อย และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ไม่เคยมีเจ้าของโรงงานคนใดถูกดำเนินคดีเลย นอกจากนั้น ผู้ว่าจ้างซึ่งเป็นธุรกิจเสื้อผ้าระดับโลก ก็ไม่ให้ความสนใจในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นก็มักจะอ้างว่า ตนไม่ได้ว่าจ้างโรงงานที่ไฟไหม้ เป็นเรืองของซัปพลายเออร์ที่เป็นคู่สัญญาไปว่าจ้างกันเอง

ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2012 ถึงเมษายนปีนี้ เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ๆ ถึง 4 ครั้ง วันที่ 24 พฤศจิกายน 2012 เกิดไฟไหม้ที่โรงงาน Tazreen Fashion ในเมือง ธากา มีคนตาย 117 คน บาดเจ็บ 200 คน เป็นไฟไหม้ครั้งร้ายแรงที่สุดของบังคลาเทศ หลังเหตุการณ์ หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ รายงานว่า วอลล์มาร์ท ปฏิเสธไม่ให้มีการเก็บเงินค่าจ้างผลิตเพิ่มจากผู้ค้าปลีกเพื่อช่วยผู้ประกอบการปรับปรุงมาตรฐานโรงงาน โดยอ้างว่า เป็นการลงทุนที่สูง ไม่คุ้มค่าสำหรับวอลล์มาร์ท

การพังถล่มของอาคารรานา พลาซา (Rana Plaza) ความสูง 8 ชั้น ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชานกรุงธากา ทำให้มีคนงานเสียชีวิตไปกว่า 1,200 คน เมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา นับเป็นอุบัติเหตุในโรงงานอุตสาหกรรมครั้งร้ายแรงที่สุดของโลกครั้งหนึ่ง ที่สะท้อนถึง เบื้องหลังภาพที่สวยงามของระบบทุนนิยม และเหรียญอีกด้านหนึ่งของคำว่า ผลประโยชน์ของผู้บริโภค

อาคารแห่งนี้ มีโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า 5 โรงตั้งอยู่ รับจ้างผลิตให้กับแบรนด์ Loblow, Primark , Joe Fresh, Benetton และ Bonmarcheฯ ซึ่งวางขายในอังกฤษ เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน ไอร์แลนด์ แคนาดา และสหรัฐฯ นายโมฮัมหมัด โซเฮส รานา เจ้าของตึก เป็นผู้มีอิทธิพลซึ่งพัวพันกับแก๊งอาชญากร และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับนักการเมืองท่องถิ่น อาคารนี้ก่อสร้างบนที่ดินซึ่งเดิมเป็นหนองน้ำ ในแบบก่อสร้างมีเพียง 5 ชั้นแต่สร้างถึง 8 ชั้น และใช้วัสดุที่ไม่มีคุณภาพ แต่หน่วยงานท้องถิ่นออกใบอนุญาตให้ก่อสร้างได้ เพราะอิทธิพลของนายรานา

ก่อนหน้าที่ตึกจะพังลงมาไม่กี่วัน เกิดรอยร้าวเสียงดังสนั่นขึ้นทำให้คนงานแตกตื่นวิ่งหนีลงมา และไม่ยอมกลับขึ้นไปทำงาน แต่ถูกนายจ้างบังคับ เพราะจะต้องเร่งส่งออร์เดอร์ให้ทันตามกำหนด

ความรุนแรงและความสูญเสียครั้งนี้ ทำให้ทางการบังคลาเทศ และประเทศผู้นำเข้าเสื้อผ้าจากบังคลาเทศ รวมทั้งผู้สั่งซื้อไม่อาจนิ่งเฉยต่อไปได้ นายรานาเจ้าของตึกถูกจับกุมตัวขณะจะหลบหนีออกนอกประเทศ เช่นเดียวกับ เจ้าของโรงงานที่บังคับให้คนงานกลับไปทำงาน โรงตัดเย็บจำนวนมากทั่วประเทศ หยุดทำงานชั่วคราว เพื่อตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัย รัฐบาลต้องยอมให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานในอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า หลังจาก คนงานจำนวนมากเดินขบวนประท้วงเหตุการณ์ครั้งนี้

สหภาพยุโรป แถลงเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมว่า กำลังพิจารณาที่จะดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยปรับปรุงเงื่อนไขสภาพการทำงานในโรงงานของบังกลาเทศ ในขณะที่ผู้ค้าปลีกค่ายยุโรปหลายรายประกาศแผนการปรับปรุงคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัย ของโรงงานในบังคลาเทศ

กลุ่ม Worker Rights Consortium ประเมินว่า โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าซึ่งมีอยู่ประมาณ 5,000 แห่ง แต่ละแห่งจะต้องใช้จ่ายเงิน 600,000 ดอลลาร์โดยเฉลี่ยในการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยให้ขึ้นสู่มาตรฐานของโลกตะวันตก หรือรวมทั้งหมดแล้วเท่ากับ 3,000 ล้านดอลลาร์ ถ้าหากกระจายค่าใช้จ่าย 3,000 ล้านดอลลาร์นี้ออกไปเป็นระยะเวลา 5 ปี ก็จะเพิ่มต้นทุนของเสื้อผ้าไม่ถึง 10 เซนต์ต่อชิ้น แต่ละปี บังกลาเทศรับจ้าง ผลิตเสื้อผ้าให้พวกแบรนด์ตะวันตกกว่า 7,000 ล้านชิ้น ถ้าหากเจ้าของโรงงานผลักภาระค่าใช้จ่ายนี้ไปให้กิจการขายปลีก ซึ่งจะผลักภาระต่อไปให้แก่ผู้บริโภค ด้วยวิธีขึ้นราคาของเสื้อผ้าสำเร็จรูปแล้ว นั่นก็อาจทำให้ผู้ซื้อคนสุดท้ายต้องจ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 25 เซนต์ต่อชิ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น