xs
xsm
sm
md
lg

“เสรีพิศุทธ์” วีรบุรุษนาเกรียน อิสระไร้สังกัดพรรค พร้อมจัดหนักทุกปัญหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อีกหนึ่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครไร้สังกัดพรรคที่ถูกจับตามอง “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส” อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่หลายคนคงรู้จักกันดีในฐานะเจ้าของฉายา "วีรบุรุษนาแก" และ "มือปราบตงฉิน" โดยในช่วงหาเสียงที่ผ่านมาเรียกได้ว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์โชว์ลีลาทั้งบู๊และบุ๊นอย่างเต็มที่ กล้าพูด กล้าปะทะ และด้วยภาพลักษณ์ดุดัน โผงผาง ขวานผ่าซาก วีรบุรุษผู้นี้จึงสมควรได้รับตำแหน่งผู้สมัครผู้ว่าฯ สุดเกรียนในสังเวียนครั้งนี้ไปอย่างไร้ข้อกังขา

สุภาพบุรุษ“นาเกรียน”

เกือบทุกครั้งที่การเลือกตั้งในทุกระดับ ทั้งระดับประเทศ หรือระดับท้องถิ่น จะต้องมีคนคอยสร้างสีสัน หรือคนมีเอกลักษณ์ชวนจดจำ มาลงสมัครให้ได้พูดถึงกันอยู่เสมอ อย่างศึกชิงผู้ว่าฯ กทม. เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว คงจำ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง กันได้ด้วยภาพใส่ชุดม่อฮ่อม กินมังสวิรัติ ไม่มีเงินหาเสียงจนมีคนทำป้ายหาเสียงให้ หรือ นายสมัคร สุนทรเวช ที่ยืนกรานไม่ร่วมดีเบตกับใคร เวทีไหนทั้งนั้น

ครั้งนี้ก็เช่นกัน ที่มีผู้สมัครชิงผู้ว่าฯ กทม. มาในแนวทางแบบเกรียนๆ คล้ายคลึงกับในครั้งก่อนๆ อย่าง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ที่หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมทีมงาน Live จึงขอมอบอีกฉายาหนึ่งว่า “วีรบรุษนาเกรียน” จาก “วีรบุรุษนาแก” ให้กับพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ที่มาลงสู้ศึกในสังเวียนผู้ว่าฯ กทม. ครั้งล่าสุดนี้

โดยเมื่อพูดถึงคำว่า “เกรียน” หลายคนคงต้องนึกถึง ทรงผมเกรียน สั้นติดหนังหัว แต่ ณ ที่นี่ คำว่าเกรียน กลายเป็นศัพท์แสลงแบบวัยรุ่นขำๆ ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งคาดว่าเกิดจากพฤติกรรมของเด็กนักเรียนวัยหัวเกรียนที่บ้าคลั่งเกมออนไลน์นั่นเอง คำว่า “เกรียน” จึงมีความหมายประมาณว่า การทำอะไรแบบผลีผลาม ตรงไปตรงมา โผงผาง คิดแล้วทำเลย จึงอาจไม่ทันคิดไปบ้าง และมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง ซึ่งเป็นคำที่สื่อถึงพฤติกรรมทางความคิด ไม่ใช่เรื่องกายภาพเหมือนเมื่อก่อนแต่อย่างใด

ใครจะกล้าทำ (เกรียน) ถ้าไม่ใช่เสรีพิศุทธ์

กล้าทำ กล้าลุย ภาพลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นตัวตนของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งความโผงผาง ดุดัน คิดเร็วทำเลยนี่เอง เลยกลายเป็นผู้สมัครวีรบุรุษสุดเกรียน แต่ถึงจะเกรียนขนาดไหน คะแนนนิยมก็จี้ตามหลัง ผู้สมัครรายอื่นมาแบบติดๆ โดยชูสโลแกน “ไม่สังกัดพรรค จัดหนักได้ทุกเรื่อง” พร้อมนโยบาย 4G 5ปราบ 6โครงการสร้างสรรค์ แต่เรื่องไม่สร้างสรรค์อย่างป้ายหาเสียงที่โดนวิจารณ์สับเละว่ากำลังโจมตีผู้สมัครรายอื่นอยู่หรือไม่

“หนึ่งเสียงของท่าน ต้านคอรัปชั่นแบบไร้รอยต่อ...ได้!”
“หนึ่งเสียงของท่าน หยุดคอรัปชั่นกทม. หยุดกินรวบประเทศไทย..ได้!”
“กรุงเทพฯ 231 ปี ต้องการคนดี เก่ง กล้า เร่งแก้ไข หมดเวลาให้ใครแก้ตัว”
“ไม่สร้างภาพ ไม่รับใช้นักการเมือง เน้น ทำงานจริง เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน”
“เปิดตัวอาสาก่อนใคร ไม่มีวาระซ่อนเร้น ย้ำความจริงใจ มุ่งมั่นทำงานรับใช้ชาวกทม.”

นอกไปจากป้ายหาเสียงที่เหมือนเหน็บผู้สมัครคนอื่นแล้ว ตั้งแต่ลงพื้นที่หาเสียง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ก็ปรากฏอาการเกรียนแตกอยู่หลายครั้ง แต่อย่างไรก็ตามพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ก็ไม่กังวลกับภาพลักษณ์ดุดันเช่นนี้ เพราะตนเองเป็นบุคคลที่มีความจริงจังในการทำงาน ซึ่งทีมงาน Live รวบรวมบันทึกเกรียนครั้งสำคัญๆ เอาไว้ ดังนี้

19 กุมภาพันธ์

เกิดการปะทะคารมเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์กับบรรดาพ่อค้า-แม่ค้า ระหว่างการลงพื้นที่หาเสียงบริเวณโรงงานยาสูบ ซึ่งมีนโยบายจะนำพื้นที่บริเวณนี้ สร้างสวนสาธารณะขนาดใหญ่ (ตามมติ ครม. เดิม ปี 2554 ที่กำหนดให้ย้ายโรงงานยาสูบไปก่อสร้างที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ) พร้อมทั้งโครงการก่อสร้างลานจอดรถใต้ดิน ซึ่งก็มีบรรดาพ่อค้า-แม่ค้า แสดงความไม่พอใจตลอดเส้นทาง อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ระบุว่าพร้อมจัดสรรที่ทำกินสำหรับคนค้าขายในพื้นที่ดังกล่าวแน่นอน

14 กุมภาพันธ์

ถึงขั้นออกอาการไม่ปลื้ม หลังเจอผู้จัดดีเบต 2 มาตรฐานขณะร่วมงาน “โครงการ ปลุก ปั่น เปลี่ยน การสัญจรเพื่อเมืองน่าอยู่” ที่สวนสันติชัยปราการ ถนนพระอาทิตย์ ซึ่งวันนั้นพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้เดินทางมาถึงก่อนเวลานัดหมายราว 15 นาที จึงต้องการขึ้นกล่าวแสดงวิสัยทัศน์ก่อน เพื่อเดินทางไปทำภารกิจหาเสียงต่อ ซึ่งทางคณะผู้จัดงานก็ยินยอม แต่ก็กล่าวในทำนองขอร้องว่า หากเป็นไปได้ก็ขอให้รอผู้สมัครรายอื่นๆ เดินทางมาถึงก่อน

และนั่นทำให้พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์มีสีหน้าไม่พอใจขึ้นมาทันที เพราะก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. อีกคนที่เดินทางมาถึงก่อนหน้า ได้ขอขึ้นกล่าวแสดงวิสัยทัศน์ก่อนเวลานัดหมายได้โดยไม่มีปัญหาแต่อย่างใด จากนั้นในช่วงบ่าย ระหว่างหาเสียงที่ศูนย์การค้าสยามสแควร์ แขวงและเขตปทุมวัน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ก็ได้ชี้แจงถึงเหตุการณ์เมื่อช่วงเช้าว่า

“ตนถามว่าทำไมพล.ต.อ.พงศพัศ ได้แสดงวิสัยทัศน์ก่อน ทางผู้ดำเนินรายการก็ตอบว่าพล.ต.อ.พงศพัศ ติดภารกิจจึงขอก่อน ตนก็บอกว่าเป็นผู้สมัครเหมือนกัน ถ้าไม่มีเวลาจะต้องไปหาเสียงต่อเช่นเดียวกัน ทางผู้จัดงานจะให้ขึ้นเวทีก่อนเวลาหรือไม่ ทางคณะผู้จัดงานกลับไม่ยินยอมโดยอ้างว่าต้องดำเนินตามกำหนดรายการ ตนเห็นว่าการทำแบบนี้เสียชื่อสถาบัน ความจริงต้องเอากำหนดการเป็นหลัก ไม่ใช่ทำตามใจชอบ”

จากนั้นพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยังเหน็บทิ้งท้ายผู้สมัครรายเดิมว่า “วันนี้ตอนออกรายการก็มีผู้สมัครฯรายหนึ่งกล่าวว่า ถ้าได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.จะขี่จักรยานไปทำงาน ตนถามหน่อยมันทำได้หรือไม่ ความจริงทำไม่ได้ยังหน้าด้านพูด ต้องพูดความจริงกับพี่น้องประชาชน ไม่ใช่อะไรก็ได้ทุกอย่างเพื่อให้ได้คะแนน”

รวมพลผู้ว่าฯ สร้างกระแส

จากผลการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร 9 ครั้งที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งคือกระแส ที่สามารถเป็นที่จดจำของผู้คนและโกยคะแนนเสียงไปได้อย่างล้นหลาม ซึ่งการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ปีนี้ จะเห็นว่าผู้สมัครหลายคนต่างมีแนวของตัวเองอย่างเห็นได้ชัด อย่างพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ แนวเด็กเกรียนที่ชูตัวเองว่าเป็น “ผู้ว่าฯ ฅนจริง” ก็คงเกรียนได้ใจคนกทม. ไปได้ส่วนหนึ่ง

ผู้ว่าฯ สร้างกระแสที่หลายๆ คนคงยังจำกันได้กับภาพของชายที่แต่งกายด้วยชุดม่อฮ่อม ละเว้นการรับประทานเนื้อสัตว์ ดูสมถะ ธรรมะ ธัมโม อย่าง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 8 ในนาม “กลุ่มรวมพลัง” เมื่อปี พ.ศ. 2528 และได้ชัยชนะจากคะแนนเสียงถึง 408,233 คะแนน ขนาดที่ว่าวงคาราบาว ต้องแต่งเพลงให้ในชื่อ “มหาจำลองรุ่น 7” และตอนนั้นก็เกิดความนิยมในตัว พล.ต.จำลองในฐานะนักการเมืองผู้สมถะ พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดเป็นกระแส “จำลองฟีเวอร์”

นอกจากภาพลักษณ์ของคนธรรมะ ธัมโม แล้ว อีกประการหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการที่พล.ต.จำลองประกาศ ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามกลุ่มอิสระ ไม่สังกัดพรรคการเมืองใด ประชาชนจึงชูสองแขนเลือกมหาจำลองเข้ามานั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ เพราะหมดหวังและเบื่อหน่ายปัญหาซ้ำซากอย่างการคอร์รัปชัน และการบริหารประเทศที่มีแต่ดิ่งลงเหว โดยมองว่าการเลือกผู้สมัครไร้พรรคจะได้คนซื่อมือสะอาด โปร่งใส ไม่คดโกง เข้ามาทำงานนั่นเอง

แม้กระทั่ง นายสมัคร สุนทรเวช ผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในนามพรรคประชากรไทย เมื่อปี พ.ศ. 2543 ที่ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า นายสมัครชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนถล่มทลายถึง 1,016,096 คะแนน ซึ่งแนวทางการหาเสียงของนายสมัครนั้น ชูสโลแกนง่ายๆ ว่า “ถ้าจะใช้ผม กรุณาเลือกผม” และการหาเสียงที่แปลกประหลาดของนายสมัครนั้นคือเขาไม่เคยเข้าร่วมประชันวิสัยทัศน์กับผู้สมัครคนอื่นๆ ไม่ว่ารายการไหนก็ตาม ด้วยถือว่ามีอาวุโสทางการเมืองสูงกว่ามาก แต่ใช้นโยบายหลักเอาใจพ่อค้า-แม่ค้าแผงลอยว่า จะให้การค้าขายแผงลอยบนทางเท้าเป็นไปโดยเสรีตลอดสัปดาห์ ทั้งนี้ด้วยลีลาการพูด และน้ำเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนจดจำนายสมัครได้

ประวัติศาสตร์การได้ผู้ว่าฯ พ่อเมืองกรุงเทพฯ ที่มาจากกลุ่มอิสระ ไร้สังกัดพรรค จะซ้ำรอยอีกครั้งในการเลือกตั้งครั้งที่ 10 หรือไม่ พลังเงียบของคนเมืองกรุงฯ จะเปลี่ยนแปลงการเมืองแบบเดิมๆ ได้หรือเปล่า ไม่มีใครสามารถตอบได้ แต่ที่แน่ๆ ความเกรียนของเสรีพิศุทธ์อาจจะเตะตา เตะใจคนกรุงเทพฯ บางกลุ่มก็เป็นได้

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live






กำลังโหลดความคิดเห็น