xs
xsm
sm
md
lg

เครือค้าปลีกอเมริกันถูกกดดันให้เซ็นข้อตกลงโรงงานบังกลาเทศ

เผยแพร่:   โดย: เคตลีน ฟอสเซตต์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Pressure on US retailers to sign Bangladesh pact
By Katelyn Fossett
16/05/2013

พวกเครือข่ายค้าปลีกระดับท็อปของสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับแรงกดดันมากขึ้น ที่จะให้พวกเขาเข้าร่วมในข้อตกลงแบบมีผลผูกมัดเพื่อเร่งรัดบรรดาโรงงานในบังกลาเทศต้องดำเนินการเรื่องความปลอดภัยของอาคาร ทั้งนี้หลังจากที่เครือข่ายค้าปลีกชั้นนำของยุโรป 10 แห่งได้ลงนามในสัญญาข้อผูกพันอันมีความหมายสำคัญมากฉบับนี้แล้ว ในขณะเดียวกัน ยอดผู้เสียชีวิตจากอาคาร รานา พลาซา พังถล่ม ได้พุ่งผ่านหลัก 1,100 คน และทางการบังกลาเทศประกาศยุติการปฏิบัติการค้นหา

วอชิงตัน – กลุ่มแรงงานต่างๆ ในสหรัฐฯกำลังเพิ่มแรงกดดันเพื่อให้พวกบริษัทอเมริกันยอมร่วมลงนามในข้อตกลงแบบมีผลผูกมัดซึ่งจะเร่งรัดบรรดาโรงงานในบังกลาเทศต้องดำเนินการต่างๆ ในเรื่องความปลอดภัยของอาคาร หลังจากที่บริษัทเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายชั้นนำของยุโรป 10 แห่งได้เซ็นข้อตกลงอันมีความหมายสำคัญมากฉบับนี้แล้ว

เอชแอนด์เอ็ม (H&M) เครือข่ายเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายรายใหญ่รายหนึ่งของยุโรป ลงนามในข้อตกลงฉบับดังกล่าวในวันจันทร์ (13 พ.ค.) ส่วน เบเนตตอง (Benetton) ซึ่งถูกพวกนักเคลื่อนไหวเปิดโปงเล่นงานหนัก หลังจากที่ได้พบเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายแบรนด์ของพวกเขาอยู่ในกองสิ่งปรักหักพังของโรงงานในอาคาร รานา พลาซา (Rana Plaza) ซึ่งพังถล่มลงมาในตอนปลายเดือนเมษายน ก็ยอมเซ็นไปแล้วในวันอังคาร (14) ขณะที่การปฏิบัติการค้นหาเหยื่อเคราะห์ร้ายในกองอิฐปูนถมทับซึ่งเคยเป็นอาคารแห่งนี้ ได้สิ้นสุดลงแล้วในวันจันทร์ (13) ภายหลังดำเนินมาเกือบๆ 1 เดือน และยอดผู้เสียชีวิตซึ่งยืนยันแล้วอยู่ที่ 1,127 คน

“การที่เอชแอนด์เอ็น ตัดสินใจเซ็นสัญญาฉบับนี้นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง” สกอตต์ โนวา (Scott Nova) ผู้อำนวยการบริหารของ กลุ่ม “เวิร์กเกอร์ ไรต์ คอนซอร์เชียม” (Worker Rights Consortium ใช้อักษรย่อว่า WRC) ซึ่งเป็นกลุ่มอิสระทำหน้าที่เฝ้าระวังด้านสิทธิแรงงานที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ระบุเช่นนี้ในเอกสารข่าวเผยแพร่สื่อมวลชน “พวกเขาเป็นผู้สั่งผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายในบังกลาเทศรายใหญ่ที่สุด ถ้าหากจำแนกผู้สั่งผลิตออกเป็นแต่ละรายไป โดยใหญ่กว่า วอลมาร์ต (Walmart) ด้วยซ้ำ เวลานี้ข้อตกลงฉบับนี้จึงมีพลังขับดันอันมหาศาลทีเดียว”

บริษัทอื่นๆ ทางยุโรปที่ได้ลงนามในข้อตกลงฉบับนี้ ซึ่งมีชื่อเรียกขานกันว่า ข้อตกลงความปลอดภัยด้านอาคารและด้านอัคคีภัยในบังกลาเทศ (Bangladesh Building and Fire Safety Agreement) ยังมีดังเช่น อินดิเท็กซ์ (Inditex), ซีแอนด์เอ (C&A), พรีมาร์ก (Primark), และ เทสโก้ (Tesco) สำหรับทางฝ่ายอเมริกานั้น จนกระทั่งถึงคืนวันอังคาร (14) บริษัทสหรัฐฯเพียงรายเดียวที่ตกลงเซ็นข้อตกลงฉบับนี้ด้วย คือ พีวีเอช (PVH) ที่เป็นบริษัทแม่ของ แบรนด์ ทอมมี ฮิลฟีเกอร์ (Tommy Hilfiger) และ แคลวิน ไคลน์ (Calvin Klein) โดยที่ได้ลงนามไปตั้งแต่ปีที่แล้ว

ตามข้อมูลขององค์การรณรงค์เรียกร้องสิทธิแรงงาน “อินเตอร์เนชั่นแนล เลเบอร์ ไรต์ ฟอรั่ม” (International Labor Rights Forum ใช้อักษรย่อว่า ILRF) ข้อตกลงฉบับใหม่ฉบับนี้มีเนื้อหาครอบคลุมเรื่องสำคัญทุกๆ ด้านซึ่งจำเป็นสำหรับการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็น “การตรวจสอบความปลอดภัยโดยหน่วยงานอิสระพร้อมทั้งรายงานต่อสาธารณชน, การบังคับให้ทำการบูรณะซ่อมแซมอาคารโรงงาน, ความผูกพันของแบรนด์ต่างๆ และเครือข่ายค้าปลีกต่างๆ ที่จะค้ำประกันค่าใช้จ่ายในการบูรณะซ่อมแซม, และ การให้คนงานตลอดจนสหภาพของคนงานมีบทบาทอย่างสำคัญมากๆ”

สัญญาข้อตกลงฉบับนี้ยังเรียกร้องให้พวกบริษัทที่ร่วมลงนาม จ่ายเงินซึ่งอาจจะสูงถึงปีละ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อใช้ในเรื่องการบำรุงรักษาอาคารและความปลอดภัยของอาคาร ในโรงงานต่างๆ ของบังกลาเทศ ให้อยู่ในระดับมาตรฐานตามที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ตามคำแถลงของ ลิอานา ฟ็อกซ์ว็อก (Liana Foxvog) ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารของ ILRF เธอระบุว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าวนี้เมื่อคำนวณแล้วจะอยู่ในราวเท่ากับ 10 เซนต์ต่อเสื้อผ้า 1 ชิ้น

การที่พวกบริษัทใหญ่ๆ ของยุโรปจำนวนมากได้ลงนามในข้อตกลงฉบับนี้ ยังมีความสำคัญในแง่ที่ว่า มันทำให้แสงสปอตไลต์ในเวลานี้รวมศูนย์ฉายไปยังพวกบริษัทอเมริกันซึ่งจนถึงขณะนี้ยังค่อนข้างที่จะไม่ขยับเขยื้อนอะไรเลย และกลุ่มแรงงานทั้งหลายก็สามารถหดลดเป้าหมายลง หันมาเน้นหนักกดดันบริษัทในสหรัฐฯ

“ข้อเท็จจริงที่ว่าพวกแบรนด์ทางยุโรปได้เซ็นข้อตกลงแล้ว ถือเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายบังกลาเทศ” ฟ็อกซ์ว็อก แห่ง ILRF บอกกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter Press Service ใช้อักษรย่อว่า IPS) “มันถึงเวลาแล้วที่พวกบริษัทสหรัฐฯควรจะต้องเซ็นด้วย”

กลุ่มแรงงานต่างๆ กำลังเจาะจงเพ่งเล็งเป็นพิเศษไปที่ วอลมาร์ต และ แก็ป (Gap) 2 บริษัทอเมริกันขนาดใหญ่ที่สุดและทรงอิทธิพลที่สุด ในการสั่งผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายจากโรงงานต่างๆ ในบังกลาเทศ ฟ็อกซ์ว็อก บอกว่า “ถ้า แก็ป ยอมเปลี่ยนใจ เราก็คาดหมายว่าบริษัทสหรัฐฯอื่นๆ จะเซ็นด้วย”

แก็ป นั้นเกือบจะลงนามในข้อตกลงฉบับนี้อยู่แล้วตั้งแต่ปีที่แล้ว ก่อนที่จะเริ่มต้นจัดทำข้อตกลงของตัวเองซกับทางโรงงานต่างๆ ในบังกลาเทศเมื่อเดือนตุลาคม 2012 ทว่าข้อตกลงของ แก็ป ดังกล่าว เป็นสัญญาแบบสมัครใจและไม่มีผลผูกมัด บริษัทได้ออกมาแถลงในวันจันทร์ (13) ว่า แก็ป มีความกังวลว่าการร่วมลงนามในข้อตกลงความปลอดภัยด้านอาคารและด้านอัคคีภัยในบังกลาเทศ อาจทำให้มีประเด็นปัญหาในด้าน “ความรับผิดทางกฎหมาย” (legal liability) ขึ้นมา

ต่อมาในวันอังคาร (14) แก็ปแถลงอีกครั้งว่า บริษัทยัง “อยู่ห่างออกมา 6 ประโยค” จากการร่วมลงนามในข้อตกลง และบริษัทจะยอมตกลงด้วย ถ้าหากการเสนอขอแก้ไขพวกประโยคเหล่านี้ ซึ่งมุ่งหมายที่จะช่วยลดทอนความวิตกกังวลในประเด็นความรับผิด จะเป็นที่ยอมรับเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม โนวา แห่ง WRC กล่าวอย่างขุ่นเคืองว่า “พวกเขาช่างไร้สาระสิ้นดี” เขาแจกแจงกับสำนักข่าว IPS ว่า “ถาม แก็ป เลยว่าเจ้าความรับผิดทางกฎหมายที่พวกเขาว่านี่ มันอยู่ตรงไหนในข้อตกลง ขอให้พวกเขาชี้ออกมาเลยว่า ข้อความในข้อตกลงตรงไหนที่จะทำให้พวกเขามีความรับผิดทางกฎหมายขึ้นมา พวกเขาไม่สามารถชี้ออกมาได้หรอก จริงๆ แล้วสิ่งที่ แก็ป ต้องการก็คือข้อตกลงที่ไม่มีผลบังคับนั่นแหละ เรื่องที่พูดเกี่ยวกับความรับผิดตามกฎหมายจึงเป็นเพียงเล่ห์กลเท่านั้น”

ฟ็อกซ์ว็อก ก็แสดงอารมณ์ความรู้สึกทำนองเดียวกัน “แก็ป กำลังบอกว่าตนเองไม่ต้องการเป็นผู้รับผิดชอบอะไรทั้งนั้นในเรื่องเงื่อนไขการทำงาน (ในโรงงานของบังกลาเทศ) ตลอดจนข้อผูกพันอื่นๆ ของข้อตกลงความปลอดภัยฉบับนี้” เธอบอก

**ความเปลี่ยนแปลงที่นำโดยบริษัทธุรกิจ**

กระนั้น พวกกลุ่มสิทธิแรงงานทั้งหลายก็กำลังมองโลกในแง่ดีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในเมื่อบริษัทต่างๆ ดูเหมือนต้องเผชิญกับแรงกดดันมากขึ้นทุกที เพื่อให้กระทำตามข้อตกลงระหว่างผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียหลายๆ ฝ่ายในด้านความปลอดภัยของโรงงาน นอกจากนั้นรัฐบาลบังกลาเทศก็ได้แสดงสัญญาณหลายประการว่ามีความมุ่งมั่นจริงจังที่จะยกระดับมาตรฐานด้านแรงงานให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นเช่นกัน

เมื่อวันจันทร์ (13) คณะรัฐมนตรีของบังกลาเทศมีมติให้ดำเนินการยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ ในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงชนิดตรงกันข้ามจากกฎหมายที่ออกมาเมื่อปี 2006 ซึ่งจุดสำคัญเลยมีการกำหนดว่า ลูกจ้างต้องได้รับอนุญาตจากนายจ้างก่อน จึงจะทำการจัดตั้งสหภาพแรงงานได้

ก่อนหน้านั้น 1 วัน รัฐบาลบังกลาเทศได้จัดตั้งคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำชุดใหม่ ซึ่งจะมีทั้งตัวแทนเจ้าของโรงงาน, คนงาน, และเจ้าหน้าที่รัฐบาล และจะเป็นผู้เสนอแนะการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานใหม่ๆ เหล่านี้หลายๆ ประการ ยังจำเป็นต้องรอได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีอีกชั้นหนึ่งก่อน

แต่สำหรับการเปลี่ยนแปลงซึ่งมีขนาดขอบเขตอันกว้างขวางมากขึ้นกว่านี้ พวกนักรณรงค์มีความเห็นว่า การเข้าร่วมอย่างแข็งขันกระตือรือร้นของบรรดาบริษัทนานาชาติ คือกุญแจดอกสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของบังกลาเทศขึ้นมาได้ พวกที่ต่อสู้ผลักดันในเรื่องนี้ เวลานี้กำลังคาดหวังกันว่า จากการประกาศเข้าร่วมของบริษัทในยุโรป 10 ราย (และหวังว่ายังจะมีเพิ่มมากกว่านี้อีกในเวลาต่อไป) จะก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมที่สั่นสะเทือนไปถึงอีกฟากฝั่งหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติก

“นี่คือความคืบหน้าไปอย่างมากมายมหาศาลจริงๆ จากการที่มี ... พวกแบรนด์และเครือข่ายค้าปลีกระดับโลกเข้ามาร่วมทำข้อตกลงอย่างชนิดมีผลผูกมัดในเรื่องความปลอดภัยของคนงาน” จูดี้ เกียร์ฮาร์ต (Judy Gearhart) ผู้อำนวยการบริหารของ ILRF ระบุในคำแถลงฉบับหนึ่ง “ตอนนี้เราจำเป็นต้องทำให้พวกแบรนด์และเครือข่ายค้าปลีกรายใหญ่ๆ ของสหรัฐฯ เป็นต้นว่า วอลมาร์ต, แก็ป, และ เจ ซี เพนนีย์ (J C Penney) เข้ามาร่วมอยู่ในข้อตกลงเดียวกันนี้”

วอลมาร์ตนั้นแถลงว่า แผนการเรื่องความปลอดภัยของบริษัทเอง สามารถที่จะทำได้ตามมาตรฐาน หรือกระทั่งสูงเกินกว่ามาตรฐานของข้อบังคับความปลอดภัยด้านอาคารและด้านอัคคีภัยอยู่แล้ว แต่วอลมาร์ตก็เสริมว่า จะยังคงเจรจาหารือในเรื่องนี้ต่อไป

ขณะที่ ฮาวเวิร์ด รีฟส์ (Howard Riefs) ผู้ทำหน้าที่เป็นโฆษกให้บริษัทเซียส์ (Sears) ซึ่งก็เป็นผู้สั่งผลิตรายใหญ่รายหนึ่งในบังกลาเทศ แถลงในคืนวันอังคาร (14) ว่า ขณะนี้บริษัทยังคงอยู่ระหว่างการหารือเรื่องแผนการนี้อยู่ จึงยังไม่พร้อมที่จะร่วมลงนาม ทางด้าน เจ ซี เพนนีย์ และ เดอะ ชินเดรนส์ เพรซ (The Children's Place) ก็มีรายงานว่ากำลังอยู่ระหว่างการศึกษาประเมินแผนการนี้

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ILRF และกลุ่มรณรงค์เพื่อสิทธิแรงงานที่ใช้ชื่อว่า “ยูไนเต็ด สติวเดนส์ อะเกนสต์ สเวตช็อปส์” (United Students against Sweatshops) ได้เริ่มเปิดเว็บไซต์ใหม่ ซึ่งออกแบบขึ้นมาเพื่อโหมแรงกดดันเข้าใส่ แก็ป ให้ยอมลงนามใน ข้อตกลงความปลอดภัยด้านอาคารและด้านอัคคีภัยในบังกลาเทศ

"ผมพบว่าเป็นเรื่องยากที่จะเชื่อว่า แก็ป จะยังสามารถทำตัวแบบไม่รับผิดชอบ ถึงขนาดยังจะเดินหน้าในเส้นทางแห่งการ (หลีกเลี่ยง) ไม่ยอมทำอะไรเช่นนี้" โนวา บอกกับ ไอพีเอส

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น