xs
xsm
sm
md
lg

‘เลือกตั้งมาเลเซีย’สุดคู่คี่อาจชี้ขาดกันที่‘ซาบาห์-ซาราวัก’ (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: อานิล เนตโต

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Swing states to decide Malaysian polls
By Anil Netto
03/05/2013

ผู้มีสิทธิออกเสียงชาวมาเลเซีย เดินหน้าเข้าคูหาลงคะแนนกันในวันอาทิตย์นี้ (5 พ.ค.) ภายหลังช่วงเวลาแห่งการรณรงค์หาเสียงเพื่อการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งแข่งขันเฉือดเชือนกันอย่างระอุดุเดือด เป็นไปได้ทีเดียวว่า เกาะบอร์เนียวจะเป็นพื้นที่สำคัญที่สุดในการตัดสินชัยชนะ ทั้งนี้ดินแดน 2 รัฐของมาเลเซียที่ตั้งอยู่บนเกาะใหญ่แห่งนี้ อันได้แก่ ซาบาห์ กับ ซาราวัก กำลังกลายเป็น “รัฐช่วงชิง” (swing state) ซึ่งโอนเอนโยกคลอนอาจจะตกเป็นของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ได้ และเงื่อนไขสภาวการณ์หลายๆ ประการใน 2 รัฐดังกล่าว ก็ดูสุกงอมพอที่จะช่วยให้ฝ่ายค้านซึ่งนำโดย อันวาร์ อิบรอฮิม เป็นฝ่ายคว้าชัยได้ที่นั่งจนเพียงพอที่จะยุติการกุมอำนาจปกครองประเทศอย่างยาวนานหลายสิบปีของแนวร่วมรัฐบาลอันมีพรรคอัมโนของนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก เป็นแกนนำ

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

**“ซาบาห์”สลับซับซ้อนมากกว่า**

สำหรับสภาพภูมิทัศน์ทางการเลือกตั้งในรัฐซาบาห์นั้น มีความสลับซับซ้อนยิ่งกว่าในซาราวัก โดยที่ในเขตเลือกตั้งจำนวนมากทั่วทั้งรัฐ มีการแข่งขันระหว่างผู้สมัครหลายราย ในส่วนของ BN และ PR แล้ว พวกเขาต่างส่งผู้สมัครลงแข่งขันช่วงชิงที่นั่ง ส.ส. ที่มีอยู่ในซาบาห์ทั้ง 25 ที่นั่ง ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มพันธมิตรอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นพวกระดับท้องถิ่น ใช้ชื่อว่า แนวร่วมสหบอร์เนียว (United Borneo Front) กำลังรณรงค์หาเสียงโดยชูหลักนโยบายเรื่องการต่อสู้เพื่อสิทธิพิเศษของซาบาห์และซาราวัก อันเป็น 2 รัฐที่ตั้งอยู่ในบริเวณตอนเหนือของเกาะบอร์เนียว แนวร่วมนี้ซึ่งประกอบด้วย 2 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคปฏิรูปรัฐซาบาห์ (State Reform Party) และพรรคก้าวหน้าของประชาชนซาบาห์ (Sabah People's Progressive Party) จัดส่งผู้สมัครรวมทั้งสิ้น 29 คน นั่นก็คือในบางเขตมีผู้สมัครของ 2 พรรคนี้แข่งขันกันเองด้วย โดยที่พรรคปฏิรูปรัฐซาบาห์ส่งผู้สมัครรวม 21 คน ส่วนพรรคก้าวหน้าของประชาชนซาบาห์ส่ง 8 คน

นอกจากนั้นยังมีพรรคการเมืองเล็กๆ อีกพรรคหนึ่งชื่อ คีตา (Kita) จัดส่งผู้สมัครเพียงคนเดียว และมีผู้ที่สมัครแบบอิสระไม่สังกัดพรรคใดเป็นจำนวน 15 คน นักวิเคราะห์การเมืองบางรายเชื่อว่า การแข่งขันแบบที่ในแต่ละเขตเลือกตั้งมีผู้สมัครลงชิงชัยกันมากรายเช่นนี้ จะทำให้เสียงซึ่งจะลงให้ฝ่ายค้านแตกเป็นเสี่ยง อันเป็นผลดีสำหรับ BN

ขณะที่คะแนนความนิยมของนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ในหมู่ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงชาวซาบาห์ ยังอยู่ในระดับที่สูงมาก โดยผลการสำรวจของสำนักโพล เมอร์เดกา เซนเตอร์ (Merdeka Center) เมื่อไม่นานมานี้แสดงให้เห็นว่า เขาได้รับคะแนนความยอมรับในผลงานเกินกว่า 70% แต่พวก ส.ส. ของซาบาห์ในสังกัดของ BN ไม่สามารถกล่าวอ้างว่าได้รับความนิยมในระดับสูงเช่นนั้นได้ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าชาวซาบาห์จำนวนมากรู้สึกไม่พอใจต่อสภาวการณ์ที่ว่า นับตั้งแน่ช่วงทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา มีชาวต่างชาติจำนวนหลายแสนคน ส่วนใหญ่ที่สุดมาจากชาติเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย พากันได้รับสิทธิความเป็นพลเมืองมาเลเซียหรือได้รับฐานะการเป็นผู้มีถิ่นพำนักถาวรในซาบาห์ โดยสิ่งที่ทางการเรียกร้องจากคนเหล่านี้เป็นเครื่องแลกเปลี่ยน ดูเหมือนจะเป็นการที่พวกเขาจะสนับสนุนและลงคะแนนให้แก่ BN ในการเลือกตั้ง

แรงขับดันให้เกิดการอพยพเข้ามาของชาวต่างชาติ โดยที่มี BN เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงนี้ ได้รับการเปิดโปงให้เห็นอย่างชัดเจนเมื่อเร็วๆ นี้ จากการให้ปากคำของพวกพยานหลายต่อหลายราย ต่อคณะกรรมการสอบสวนระดับชาติซึ่งมุ่งสืบสาวกรณีที่มีกลุ่มติดอาวุธจากหมู่เกาะซูลูของฟิลิปปินส์ที่อยู่ใกล้ๆ รุกล้ำเข้ามาในรัฐซาบาห์ในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา การที่ในตอนแรกๆ รัฐบาลแสดงความลังเลรีรอที่จะดำเนินการตอบโต้จัดการกับการรุกล้ำคราวนี้ และต่อมาในระหว่างที่มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ก็ได้สั่งเลื่อนการสอบสวนออกไปก่อน แทบไม่ทำให้ชาวซาบาห์จำนวนมากเกิดความเชื่อมั่นอะไรในพันธมิตร BN เลย

ตัวเลขสถิติของทางการมาเลเซียแสดงให้เห้นว่า ซาบาห์เป็นรัฐที่มีอัตราการขยายตัวของประชาชนสูงที่สุดของประเทศ โดยที่พวกผู้อพยพซึ่งเข้ามาในระยะหลังๆ นี้ ในเวลานี้มีจำนวนเท่ากับเกือบๆ 30% ของประชากรในรัฐ ส่งผลทำให้กลุ่มชาติพันธุ์คาดาซาน-ดูซุน (Kadazan-Dusun) ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมาเคยเป็นประชากรกลุ่มหลักในซาบาห์ ขณะนี้มีจำนวนเท่ากับเพียงแค่ 18% ของผู้คนทั้งหมดในรัฐ ลดลงอย่างฮวบฮาบจากที่เคยอยู่ในระดับ 32% ในการสำรวจเมื่อปี 1960 นอกจากนั้น เนื่องจากนโยบายต่างๆ ของ BN ที่มุ่งทำให้ผู้คนในซาบาห์หันมานับถือศาสนาอิสลาม ตลอดจนการไหลบ่าเข้ามาของผู้อพยพจากพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นเขตที่อยู่ของผู้นับถืออิสลาม เหล่านี้ทำให้อัตราส่วนจำนวนประชากรชาวมุสลิมของรัฐนี้ทะยานขึ้นสู่ระดับ 65% ในปี 2010 จากที่เคยมีเพียง 38% ในปี 1960

ในท้องที่จำนวนมากของชาวคาดาซาน-ดูซุน มีอารมณ์ความรู้สึกอันชัดเจนที่ว่า ชุมชนของพวกเขาที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นชุมชนหลักของซาบาห์ กำลังถูกทำให้ด้อยฐานะลงไปทุกที และมาถึงเวลานี้พวกเขาก็ดูพรักพร้อมแล้วสำหรับความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อาร์โนลด์ ปูย็อก (Arnold Puyok) นักวิเคราะห์การเมืองซึ่งตั้งฐานอยู่ในซาบาห์ แจกแจงให้ฟังดังนี้ “พวกเขาโอดครวญว่า พวกเขากำลังถูกครอบงำโดยพรรคอัมโนสาขาซาบาห์ และพวกเขาไม่มีตัวแทนอยู่ในหน่วยงานราชการไม่ว่าในระดับสหพันธรัฐหรือระดับรัฐ พวกเขารู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้เป็นชนส่วนใหญ่ของซาบาห์อีกต่อไปแล้ว”

ส่วนตามท้องที่ที่เป็นเขตเมืองในซาบาห์ ซึ่งมีคนเชื้อสายจีนพำนักอาศัยเป็นจำนวนมากพอดู ก็มีความไม่พอใจปรากฏอยู่ตามวงการธุรกิจต่างๆ เช่นกัน จากการที่พวกซึ่งมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชนชั้นปกครองมีอำนาจผูกขาดกิจการต่างๆ “มันไม่ได้เป็นสนามแข่งขันที่เท่าเทียมกันเสียเลย” ปูย็อกกล่าวบรรยายความรู้สึกของนักธุรกิจเชื้อจีนเหล่านี้

พวกพรรคการเมืองท้องถิ่นกำลังพยายามที่จะหาประโยชน์จากการที่ประชาชนรากหญ้า มีความรู้สึกขุ่นเคืองในระดับต่างๆ ต่อฐานะครอบงำของพวกพรรคการเมืองที่มีฐานอยู่บนแผ่นดินใหญ่มาเลเซีย ไม่ว่าจะเป็นพรรคที่อยู่ในแนวร่วม BN หรือ แนวร่วม PN ก็ตามที รวมทั้งการที่ซาบาห์และซาราวักมีฐานะที่เสื่อมทรุดลงมาภายในสหพันธรัฐแห่งมาเลเซีย พวกเขากำลังชู “วาระแห่งบอร์เนียว” (Borneo Agenda) ซึ่งมุ่งผลักดันให้มีการรื้อฟื้นสิทธิพิเศษต่างๆ ที่ซาบาห์และซาราวักเคยได้รับ เมื่อตอนที่พวกเขาจับมือกับ มลายา และสิงคโปร์ เพื่อก่อตั้งมาเลเซียขึ้นมาในปี 1963 (โดยที่สิงคโปร์ได้ถอนตัวออกไปประกาศตนเป็นประเทศเอกราชในอีก 2 ปีต่อมา)

ในวาระแห่งบอร์เนียวนี้ พรรคการเมืองท้องถิ่นเหล่านี้เรียกร้องว่า ในฐานะที่ซาบาห์กับซาราวักเป็นผู้ร่วมก่อตั้งประเทศ 2 รัฐนี้จึงควรมีสิทธิปกครองตนเองมากกว่าอีก 11 รัฐอื่นๆ ที่ตั้งอยู่บนแผ่นดินใหญ่ ทั้งนี้เสียงโหวตของผู้ออกเสียงที่ให้แก่ 2 พรรคฝ่ายค้านที่ตั้งฐานอยู่ในซาบาห์ น่าที่จะเป็นการตัดคะแนนสนับสนุน ซึ่งไม่เช่นนั้นแล้ว คงจะมอบให้แก่ทางแนวร่วม PR

ปูย็อกนั้น คาดคะเนว่า หากคะแนนของพวกที่ไม่ต้องการเลือก BN ไม่เกิดแตกออกมาเช่นนี้แล้ว มีความเป็นไปได้ทีเดียวที่ PR จะชนะได้ที่นั่ง ส.ส.ในซาบาห์ระหว่าง 5 ถึง 6 ที่นั่ง ถ้าเป็นเช่นนั้นเมื่อรวมกับที่นักเวิคราะห์คาดหมายกันว่าฝ่ายค้านเหล่านี้ยังจะได้จากซาราวัก 7 ถึง 9 ที่นั่งแล้ว หมายความว่า PR อาจจะมีที่นั่งเพิ่มขึ้นมาอีก 10 ถึง 13 ที่นั่ง จาก 2 ที่นั่งซึ่งยึดครองเอาไว้อยู่ในปัจจุบัน

ยิ่งถ้าหากพร้อมๆ กันนี้ PR สามารถที่จะแทรกตัวเข้าไปในที่มั่นอันแข็งแกร่งต่างๆ ของ BN เป็นต้นว่าในรัฐปะหัง ที่ซึ่งนักวิเคราะห์บางคนคิดว่าแนวร่วมฝ่ายค้านมีโอกาสที่จะคว้าชัยได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นมาอีก 4 ที่นั่ง และในรัฐยะโฮร์ ซึ่งเห็นกันว่ามีที่นั่งของฝ่าย BN จำนวนมากถึง 9 ที่นั่งทีเดียวอยู่ในอาการคลอนแคลน ฉับพลันนั้นจำนวนที่นั่ง 112 ที่นั่งซึ่งจะทำให้ครองเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎรก็ดูจะเรื่องที่เป็นไปได้ และทำให้มาเลเซียดูเหมือนกับกำลังอยู่บนปลายขอบแห่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ

อานิล เนตโต เป็นนักเขียนที่พำนักอยู่ในปีนัง
กำลังโหลดความคิดเห็น