xs
xsm
sm
md
lg

มรดกของ‘แธตเชอร์’ในเอเชีย

เผยแพร่:   โดย: เอเชียไทมส์ออนไลน์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Thatcher leaves legacy of division
By Asia Times Online
09/04/2013

อสัญกรรมของ มาร์กาเรต แธตเชอร์ ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรในช่วงระหว่างปี 1979 ถึง 1990 ก่อให้เกิดปฏิกิริยาจากทั่วโลกคละเคล้าปนเปกัน ทั้งในรูปของการยกย่องสรรเสริญและทั้งในลักษณ์ของความรังเกียจซึ่งใกล้เคียงมากกับความชิงชัง ทำนองเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในยุคสมัยที่เธออยู่ในตำแหน่งครองอำนาจ สำหรับในเอเชียนั้น เธอเป็นที่จดจำได้เป็นอย่างดีจากบทบาทของเธอในการส่งมอบฮ่องกงคืนให้แก่จีน โดยที่ปักกิ่งเชิดชูเธอว่าเป็น “นักการเมืองผู้ดีเด่น” ทว่าในฮ่องกงเองกลับมีความคิดเห็นอันคลุมเครือกำกวมมากกว่านั้น

อสัญกรรมของ มาร์กาเรต แธตเชอร์ ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรในช่วงระหว่างปี 1979 ถึง 1990 ก่อให้เกิดปฏิกิริยาจากทั่วโลกคละเคล้าปนเปกัน ทั้งในรูปของการยกย่องสรรเสริญและทั้งในลักษณ์ของความรังเกียจซึ่งใกล้เคียงมากกับความชิงชัง ทำนองเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในยุคสมัยที่เธออยู่ในตำแหน่งครองอำนาจ

การปฏิรูปภายในประเทศประการต่างๆ ที่ก่อให้เกิดการโต้แย้งและการแตกแยกกันอย่างหนัก แต่เธอก็ริเริ่มเดินหน้าดำเนินการอย่างเด็ดเดี่ยวด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อพลิกฟื้นชุบชีวิตเศรษฐกิจที่กำลังใกล้จะตาย โดยประการที่โดดเด่นมีชื่อเสียงย่อมได้แก่การนำเอาสินทรัพย์ต่างๆ ที่รัฐบาลถือครองอยู่ออกมาขายนั้น ในเวลาต่อมาก็มีประเทศจำนวนมากลอกเลียนแบบนำไปใช้บ้าง กระนั้นก็ตามที วิกฤตภาคการเงินที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปี 2008 ก็ทำให้ต้องมีการประเมินคุณค่าของการดำเนินการปฏิรูปภาคการเงินและการธนาคารกันเสียใหม่ หลังจากที่ได้เคยยอมรับนับถือกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นนโยบายที่ประสบความสำเร็จในการกระตุ้นส่งเสริมให้เกิดทั้งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและให้เกิดทั้งการสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยของภาคเอกชน

ตามการแถลงของครอบครัวของเธอ แธตเชอร์สิ้นชีวิตไปอย่างสงบในวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา สิริอายุ 87 ปี ภายหลังล้มป่วยด้วยอาการเส้นเลือดในสมอง เธอคือนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรในยุคศตวรรษที่ 20 ซึ่งอยู่ในตำแหน่งอย่างยาวนานที่สุด อีกทั้งยังคงเป็นสตรีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ได้ขึ้นครองเก้าอี้ตัวนี้ สำหรับในเอเชีย เรื่องใหญ่ซึ่งทำให้แธตเชอร์เป็นที่จดจำกันได้มาก ย่อมได้แก่บทบาทของเธอในการส่งมอบฮ่องกงคืนให้แก่จีนภายหลังที่สหราชอาณาจักรเข้าปกครองดินแดนนี้มายาวนานกว่า 100 ปี

หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ระบุเอาไว้ในข่าวนำของตนว่า “การตั้งคำถามมุ่งเสาะแสวงหาหนทางใหม่ของแธตเชอร์ได้ทิ้ง ‘แผลเป็นอันถาวร’ เอาไว้ในเศรษฐกิจ (ของสหราชอาณาจักร)” ถึงแม้ความเปลี่ยนแปลงประการต่างๆ ที่เธอก่อให้เกิดขึ้นมาได้ช่วย “ปรับยกให้สหราชอาณาจักรหลุดพ้นออกจากภาวะแห่งการเสื่อมสลายโดยเปรียบเทียบ” ทั้งนี้นโยบายต่างๆ ของเธอได้ทำลายอุตสาหกรรมการผลิตจำนวนมากของประเทศที่ตั้งอยู่ทางภาคเหนือของเขตการปกครองอังกฤษ (England) และทำให้อัตราการว่างงานพุ่งพรวดสูงลิ่ว โดยที่ในเวลาเดียวกันนั้น เธอก็ได้ทำลายอำนาจของพวกสหภาพแรงงาน การเปิดกว้างต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นของเธอ ยังกระตุ้นจูงใจอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกผู้ผลิตรถยนต์ ให้เข้ามาจัดตั้งโรงงานต่างๆ ขึ้นในพื้นที่ที่เป็นฐานอุตสาหกรรมเก่า หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ตั้งข้อสังเกต

ทางด้านนโยบายการต่างประเทศของเธอนั้น มีจุดเด่นในเรื่องการมีความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งกับสหรัฐอเมริกาภายใต้ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน, การแสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อพวกรัฐยุโรปเกี่ยวกับการให้เงินทุนแก่องค์การที่ในปัจจุบันนี้ก็คือสหภาพยุโรป, ตลอดจนการเข้าทำสงครามอย่างกล้าหาญและประสบความสำเร็จกับอาร์เจนตินา ภายหลังที่ประเทศนั้นเข้ารุกรานและยึดครองหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ (อันที่จริงมีนักวิเคราะห์บางคนที่บอกว่า เธอเองกระตุ้นส่งเสริมให้อาร์เจนตินารุกรานฟอล์กแลนด์ ด้วยการลดความสนับสนุนที่ให้แก่หมู่เกาะแห่งนี้ลงจนแทบจะเหลือเพียงการสนับสนุนในนามเท่านั้น ถึงแม้การลดทอนดังกล่าวจะมาจากเหตุผลต่างๆ ในทางการเงิน)

ในเอเชียนั้น เธอน่าจะเป็นที่รู้จักจดจำกันได้มากที่สุดจากการส่งมอบฮ่องกงกลับคืนให้แก่จีน โดยหลังจากทำการเจรจาต่อรองกันอยู่ 2 ปี จีนกับอังกฤษก็ได้ออกคำประกาศร่วมจีน-อังกฤษ (Sino-British Joint Declaration) ในปี 1984 ซึ่งเป็นการแผ้วถางทางให้มีการส่งคืนฮ่องกงในปี 1997

การเจรจาดังกล่าวซึ่งเป็นเธอเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 1982 ในการพบปะหารือกับ เติ้ง เสี่ยวผิง และ เจ้า จื่อหยาง ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจีนในเวลานั้น เป็นเครื่องหมายซึ่งแสดงให้เห็นว่ามันเป็นไปไม่ได้อีกแล้วที่สหราชอาณาจักรจะครอบครองฮ่องกงเอาไว้ต่อไป ทั้งนี้เฉพาะตัวเกาะฮ่องกง แดนมังกรในอดีตได้เคยยอมยกให้สหราชอาณาจักรครอบครองไป “ตลอดกาล” ขณะที่พื้นที่ “นิว เทอร์ริทอรีส์” ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าและตั้งอยู่บนแผ่นดินใหญ่ อังกฤษจะต้องส่งคืนตามสนธิสัญญาเช่าที่มีกำหนดหมดอายุลงในปี 1997 อย่างไรก็ตาม ฝ่ายจีนแทบมองไม่เห็นความจำเป็นอะไรที่จะต้องทำการเจรจาต่อรองด้วย ในขณะที่แธตเชอร์มองเห็นอยู่ว่าหากล้มเหลวไม่สามารถทำข้อตกลงสักฉบับหนึ่งซึ่งจะเป็นที่ยอมรับได้ของสาธารณชนชาวสหราชอาณาจักรแล้ว ก็อาจทำให้เธอเผชิญกับความหายนะในทางการเมือง

โรเบิร์ต คอนเทรลล์ (Robert Cottrell) เขียนเล่าเรื่องราวการเจรจาคราวนั้นเอาไว้อย่างมีเสน่ห์ในข้อเขียนซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี 1992 โดยเขาบรรยายเอาไว้ว่า ในการเดินทางเยือนจีนเที่ยวแรกของเธอ “เธอพบว่าประเทศจีนออกจะเป็นสถานที่อันไม่น่ารื่นรมย์ซึ่งปกครองโดยบุคคลที่ค่อนข้างไม่เป็นมิตร” (ดู http://www.independent.co.uk/arts-entertainment/how-mrs-thatcher-lost-hong-kong-ten-years-ago-fired-up-by-her-triumph-in-the-falklands-war-margaret-thatcher-flew-to-peking-for-a-lastditch-attempt-to-keep-hong-kong-under-british-rule--only-to-meet-her-match-in-deng-xiaoping-two-years-later-she-signed-the-agreement-handing-the-territory-to-china-1543375.html)

อย่างไรก็ดี สื่อของทางการจีนในวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา ได้กล่าวยอมรับถึงอิทธิพลของเธอที่มีต่อความสัมพันธ์ของโลกตะวันตกกับประเทศจีน “การเยือนจีนของเธอ และการที่เธอตัดสินใจส่งเสริมสนับสนุนสายสัมพันธ์แบบทวิภาคีในด้านเศรษฐกิจและการค้า ได้กลายเป็นตัวอย่างสาธิตให้โลกตะวันตกมองเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องติดต่อสื่อสารกับจีนในช่วงสมัยสงครามเย็น และความสัมพันธ์จีน-สหราชอาณาจักรก็อยู่ในสภาวการณ์อันดีนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา” หนังสือพิมพ์เหรินหมินรึเป้า ระบุเอาไว้เช่นนี้ โดยอ้างความคิดเห็นของ เถียน เต๋อเหวิน (Tian Dewen) ผู้เชี่ยวชาญด้านยุโรปศึกษา แห่งบัณฑิตยสถานทางสังคมศาสตร์ของจีน (Chinese Academy of Social Sciences)

เถียนแจกแจงว่า แธตเชอร์เป็นผู้ตระหนักถึงความสำคัญของประเทศจีนที่กำลังก้าวผงาดเข้มแข็งขึ้นมา “เธอเรียกร้องให้มีการสนทนาแทนการประจันหน้ากับจีนในการแก้ไขปัญหาฮ่องกง แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของเธอในฐานะที่เป็นนักการเมืองผู้ดีเด่น”

ทว่าในความทรงจำของผู้คนหลายๆ คนในฮ่องกงแล้ว มีความคลุมเครือกำกวมมากกว่านั้น

“ดิฉันไม่คิดว่าเธอทำอย่างดีที่สุดแล้วเพื่อพิทักษ์คุ้มครองผลประโยชน์ของชาวฮ่องกงในระหว่างการเจรจาจีน-สหราชอาณาจักร” เอมิลี เหลา (Emily Lau) ประธานที่เป็นสตรีของพรรคเดโมเครติก ปาร์ตี้ (Democratic Party) ของฮ่องกง แสดงความคิดเห็น “มันช่วยไม่ได้เลยที่เราจะรู้สึกขุ่นเคืองขึ้นมา สหราชอาณาจักรได้ปกครองฮ่องกงมาเป็นเวลากว่า 100 แล้วแล้ว แต่ไม่ได้ให้ประชาธิปไตยแก่ฮ่องกงเลยแม้กระทั่งเมื่อตอนที่กำลังวางแผนการส่งมอบคืนฮ่องกงให้แก่จีน” เธอพูดเช่นนี้กับหนังสือพิมพ์เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์

ทางด้าน เซลินา โจว (Selina Chow) อดีตสมาชิกนิติบัญญัติซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลงนามในคำประกาศร่วมจีน-อังกฤษ ที่ออกมาภายหลังจากการเจรจาต่อรองกัน ให้ความเห็นว่า แธตเชอร์ใช้ความพยายามอย่างมาก “ในการหาความสมดุลให้แก่ทั้งผลประโยชน์ของสหราชอาณาจักรและของฮ่องกง” สแตนดาร์ด (Standard) หนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษที่ออกในฮ่องกงอีกฉบับหนึ่ง รายงานคำพูดของเธอ

ขณะที่ตัวแธตเชอร์เอง ซึ่งสุขภาพเลวร้ายย่ำแย่ลงเรื่อยๆ มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ได้เคยพูดอธิบายเอาไว้ด้วยตัวเองเมื่อปี 2007 ว่าเธอมีความเสียใจอยู่บางอย่างบางประการเกี่ยวกับการเจรจาต่อรองเรื่องฮ่องกง

“สิ่งที่ดิฉันต้องการก็คือการที่สหราชอาณาจักรได้เป็นผู้บริหารฮ่องกงต่อไป แต่เมื่อสิ่งนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นไปไม่ได้ ดิฉันก็มองหาโอกาสที่จะสงวนรักษาสิ่งซึ่งเป็นความโดดเด่นเฉพาะตัวของฮ่องกงเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ด้วยวิธีประยุกต์แนวความคิดของมิสเตอร์เติ้ง (หนึ่งประเทศ สองระบบ) มาใช้ในสภาวการณ์ของเรา” หนังสือพิมพ์เดลีเทเลกราฟ ซึ่งถูกมองอย่างกว้างขวางว่าเป็นสื่อที่สนับสนุนนโยบายต่างๆ ตามแนวทางของแธตเชอร์ รายงานเอาไว้เช่นนี้ในปี 2007 โดยบอกว่าเป็นคำให้สัมภาษณ์ทางวิทยุครั้งหนึ่งของเธอในปีดังกล่าว

สำหรับ ฉวง ฉือคง (Cheung Chi-kong) ผู้อำนวยการบริหารของสถาบันวิจัยหนึ่งประเทศสองระบบ (One Country Two Systems Research Institute) ในฮ่องกง หนังสือพิมพ์ไชน่าเดลี่ฉบับ 9 เมษายน ได้อ้างอิงคำพูดของเธอที่บอกว่า แธตเชอร์น่าที่จะวินิจฉัยผิดพลาดไปตั้งแต่วันแรกที่เธอตัดสินใจเข้าเจรจากับปักกิ่งในเรื่องนี้แล้ว “เธอประเมินต่ำเกินไปเกี่ยวกับการยืนหยัดของจีนในเรื่องอธิปไตยและศักดิ์ศรีของประเทศชาติ”

ฉวงชี้ว่า ปักกิ่งมีความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวที่จะกลับมีอำนาจอธิปไตยเหนือฮ่องกงให้จงได้

ความเห็นเช่นนี้ สอดคล้องกับเนื้อหาในข้อเขียนของ คอตเทรลล์ ซึ่งระบุว่าสำหรับเติ้งแล้ว ไม่เคยลังเลสงสัยเลยว่าผลลัพธ์ที่ออกมาจะต้องเป็นเช่นไร โดยในการพบปะเจรจากันหนแรกระหว่าง เติ้ง กับ แธตเชอร์ นั้น

“เติ้งแสดงท่าทีตรงไปตรงมาแบบขวานผ่าซาก เขาบอกว่า ประเทศจีน “... ไม่สามารถที่จะยอมรับอย่างอื่นได้ นอกเหนือจากการได้ฟื้นฟูอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนทั่วทั้งหมดของฮ่องกงเมื่อถึงปี 1997 ในการฟื้นฟูอำนาจอธิปไตยดังกล่าวนี้ รัฐบาลจีนจะทำการพิจารณาคำนึงถึงอย่างเต็มที่เกี่ยวกับสภาวการณ์พิเศษของดินแดนแห่งนี้ และประยุกต์ใช้นโยบายพิเศษต่างๆ เพื่อประคับประคองรักษาความเจริญรุ่งเรืองของฮ่องกงเอาไว้”

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ จีนมีความตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวที่จะเอาฮ่องกงทั้งหมดคืนไป และจีนไม่ได้รู้สึกเลยว่าจำเป็นที่จะต้องได้รับความเห็นดีเห็นงามจากสหราชอาณาจักรเสียก่อนในเรื่องนี้”

เรื่องราวรายละเอียดนอกเหนือจากนี้ ก็เป็นประวัติศาสตร์ที่ทราบกันดีอยู่แล้ว


(รวบรวมโดยเอเชียไทมส์ออนไลน์)
กำลังโหลดความคิดเห็น