เอเจนซีส์ - ชี้ผู้นำยุโรปควรสำเหนียกว่า กำลังเดิมพันสูงกับไซปรัส เนื่องจากกฎเหล็กรีดภาษีผู้ฝากเงินแบบไม่มีข้อยกเว้นในประเทศดังกล่าวอาจทำให้ผู้ฝากเงินในประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ มองว่าเป็น “ลางร้าย” จนเกิดปรากฏการณ์แห่ถอนเงินออก ซึ่งอาจส่งผลให้วิกฤตยูโรโซนเลวร้ายยิ่งกว่าเดิม
บรรดาผู้มีอำนาจในสหภาพยุโรป(อียู)ผู้อยู่เบื้องหลังแผนปล่อยกู้แก่ไซปรัสต่างเชื่อว่าความเสี่ยงที่ปัญหาในประเทศเกาะขนาดเล็กแห่งนี้จะลุกลามมีน้อยมาก เนื่องจากตอนนี้วิกฤตแบงก์ในสเปนได้คลี่คลายลงแล้ว ส่วนกรีซก็พ้นจากขอบเหวแห่งการล้มละลายแล้วเช่นกัน จึงไม่มีเหตุผลที่ผู้บรรดาฝากเงินในกลุ่มยูโรโซน หรือกลุ่ม 17 ประเทศที่ใช้เงินยูโรเป็นเงินตราสกุลหลัก จะตื่นตูมกับเงื่อนไขการเก็บภาษีเงินฝากในภาคธนาคารของไซปรัส ซึ่งในความเป็นจริงแล้วอัดแน่นไปด้วยเงินสดจากรัสเซียเสียมากกว่า
นักวิเคราะห์เชื่อว่าเหตุผลที่ผู้นำยุโรปยอมเดิมพันกับไซปรัส คงหนีไม่พ้นการที่ผู้นำเหล่านี้หมดเครดิตทางการเมือง กล่าวคือสำหรับผู้นำเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และฟินแลนด์นั้น รับรู้ว่า ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงและสภาจะไม่ยอมให้ลงขันอุ้มประเทศอื่นใดอีก เว้นแต่มาตรการช่วยเหลือนั้น จะพ่วงด้วย “บทลงโทษอันแสนสาหัส”เพื่อให้บรรดาประเทศลูกหนี้ที่ไร้วินัย หลาบจำ
ไซปรัสนั้นเป็นเพียงประเทศเล็กๆ และเงินกู้ที่ต้องการก็ถือว่าน้อยมากเพียง 17,000 ล้านยูโร แต่ทว่า ประเทศแห่งนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการขาดดุลด้านความไว้ใจระหว่างยุโรปเหนือกับยุโรปใต้ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤต เห็นได้จากสื่อเมืองเบียร์มักเล่นข่าวคอร์รัปชั่นของยุโรปใต้ และผู้มีสิทธิ์ออกเสียงถูกโน้มน้าวให้เชื่อว่า เงินทองที่หามาอย่างยากลำบากของตนกำลังจะถูกนำไปค้ำจุนประเทศที่มีรากฐานผุพังทางตอนใต้ของทวีป ขณะที่ไซปรัสเองยังมีปัญหาใหญ่จากการได้ชื่อว่า เป็นแหล่งหลบเลี่ยงภาษีและ “สวรรค์แห่งการฟอกเงิน” สำหรับเศรษฐีจากรัสเซีย
นอกจากนี้ ไซปรัสยังมีเครดิตการเมืองในยุโรปเหลืออยู่น้อยมาก ผู้นำยุโรปหลายคนลังเลที่จะรับประเทศนี้ร่วมสหภาพยุโรป (อียู) ในปี 2004 เว้นแต่ไซปรัสยอมรับแผนสันติภาพ แต่สุดท้ายก็ต้องยอมจำนนเมื่อกรีซขู่วีโต้การขยายสมาชิกอียูครอบคลุมโปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก ฯลฯ หากอียูไม่ยอมรับไซปรัส
สถานการณ์ในไซปรัสล่าสุดนั้น รัฐสภาของดินแดนเกาะแห่งนี้ ได้เลื่อนการลงมติรับรองข้อเสนอเก็บภาษีเงินฝากจากวันอาทิตย์ (17) เป็นวันจันทร์ (18) ก่อนผ่อนผันขอเป็นวันอังคาร (19) เนื่องจากมีแนวโน้มว่ามตินี้จะถูกค้าน อย่างหนักซึ่งทางประธานาธิบดีนิคอส อนาสตาเซียเดส ผู้นำไซปรัสที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งออกโรงเตือนว่า หากสภาไม่ยอมรับเงื่อนไขนี้ที่พ่วงมากับข้อเสนอเงินกู้จากอียูและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) อาจส่งผลให้ประเทศหลุดจากยูโรโซนและล้มละลาย โดยขณะที่มีการเจรจาต่อรองกันนี้ อนาสตาเชียเดสตัดสินใจขยายวันหยุดธนาคารออกไปจนถึงวันพฤหัสฯ (21) เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแห่ถอนเงิน
ทั้งนี้ ภายใต้มาตรการที่ไซปรัสตกลงกับอียูและไอเอ็มเอฟนั้น เงินฝากที่มีมูลค่าไม่เกิน 100,000 ยูโร จะถูกเก็บภาษี 6.7 เปอร์เซ็นต์ และเรียกเก็บในอัตรา 9.9 เปอร์เซ็นต์ สำหรับเงินฝากตั้งแต่ 100,000 ยูโรขึ้นไป จนทางที่ประชุมรัฐมนตรีคลังยูโรโซน (ยูโรกรุ๊ป) ต้องรีบออกแถลงการณ์ยืนยันความสำคัญในการรับประกันเงินฝาก จำนวนต่ำกว่า 100,000 ยูโร และขอให้ไซปรัสโอนภาระของผู้ฝากเงินรายย่อยไปให้ผู้ฝากเงินรายใหญ่ ภายใต้เงื่อนไขในการจัดเก็บภาษีให้ได้ 5,800 ล้านยูโร
ล่าสุด มีรายงานว่า อนาสตาเซียเดสได้ซุ่มหารือกับคณะรัฐมนตรีของตน รวมถึงสมาชิกรัฐสภาเมื่อวันจันทร์ (18) โดยมีแนวโน้มว่า รัฐบาลอาจลดเงื่อนไขการเก็บภาษีเงินฝากมูลค่าต่ำกว่า 100,000 ยูโรเหลือเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ แต่อาจไปเรียกเก็บเพิ่มกับเงินฝากมูลค่า 100,000 ยูโรขึ้นไปเป็น 12.5 เปอร์เซ็นต์