xs
xsm
sm
md
lg

ประชุมเหลว! รมว.คลัง “ยูโรกรุ๊ป” ยังไม่อาจปลดล็อกเงินกู้งวดใหม่ให้ “กรีซ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ที่ประชุมรัฐมนตรีคลังยูโรโซนยังคงไม่เห็นพ้องที่จะปลดล็อกเงินช่วยเหลือเพื่อพยุงเศรษฐกิจกรีซ วานนี้ (20) โดยจะนัดประชุมอีกครั้งในสัปดาห์หน้า

ถ้อยแถลงหลังการประชุมระบุว่า บรรดารัฐมนตรียังไม่สามารถสรุปข้อตกลงอนุมัติเงินกู้งวดใหม่แก่เอเธนส์ และจะเรียกประชุมกันอีกครั้งในสัปดาห์หน้า “เพื่อดำเนินการทางเทคนิคเกี่ยวกับรายละเอียดบางประการของแพกเกจเงินช่วยเหลือ”

ก่อนหน้านี้ เหล่ารัฐมนตรีต่างแสดงความมั่นใจว่าเงินกู้จำนวน 31,200 ล้านยูโร (ราว 1.22 ล้านล้านบาท) จะถูกเบิกจ่ายให้แก่กรีซได้สำเร็จ และจะสามารถแก้ปมขัดแย้งกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เกี่ยวกับวิธีที่จะทำให้เศรษฐกิจกรีซกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การประชุมซึ่งใช้เวลาราว 12 ชั่วโมงกลับจบลงด้วยถ้อยแถลงสั้นๆ ว่า “มีความคืบหน้าในการกำหนดชุดความริเริ่ม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนความสามารถในการชำระหนี้อย่างยั่งยืนของกรีซ”

คริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ แถลงต่อสื่อมวลชนหลังออกจากห้องประชุมว่า “แม้จะมีความคืบหน้า แต่เรายังต้องดำเนินการต่อไปอีกเล็กน้อย”

ถ้อยแถลงดังกล่าวส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินยูโรในตลาดเอเชียอ่อนยวบลงแตะระดับ 1.2751 ดอลลาร์สหรัฐ และ 104.30 เยนต่อ 1 ยูโร หลังจากที่ปรับขึ้นไปถึง 1.2820 ดอลลาร์สหรัฐ และ 105.07 เยนต่อ 1 ยูโร ก่อนหน้านั้น

สิ่งที่บรรดาเจ้าหนี้ “ทรอยกา” ซึ่งประกอบด้วยสหภาพยุโรป, ธนาคารกลางแห่งยุโรป (อีซีบี) และไอเอ็มเอฟ ยังตกลงกันไม่ได้ก็คือ การขยายเวลาให้กรีซเพิ่มเติมอีก 2 ปีจนถึงปี 2022 ในการลดยอดขาดดุลงบประมาณให้ลงมาเหลือไม่เกิน 120% ของจีดีพี

ฌอง โคลด-ยุงเกอร์ นายกรัฐมนตรีลักเซมเบิร์กในฐานะประธานยูโรกรุ๊ป ซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีคลังจาก 17 ประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร สนับสนุนทางเลือกดังกล่าว ขณะที่ ลาการ์ด ประกาศคัดค้านอย่างชัดเจน ซึ่งทำให้ ยุงเกอร์ ออกมาแถลงหลังการประชุมว่า รู้สึก “ผิดหวังเล็กน้อย”

อย่างไรก็ดี ยุงเกอร์ชี้ว่ารู้สึกพอใจกับแนวทางปฏิรูปของกรีซเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขรับเงินช่วยเหลือจากทรอยกา และเมื่อกรีซได้ “สนอง” ข้อเรียกร้องมาแล้ว ก็ถึงเวลาที่ทรอยกาจะต้องเป็นฝ่าย “สนองตอบ” กรีซบ้าง

ไอเอ็มเอฟยืนยันว่า กรีซจะฟื้นฟูความสามารถในการชำระหนี้อย่างยั่งยืน หากลดยอดขาดดุลงบประมาณให้เหลือไม่เกิน 120% ของจีดีพีภายในปี 2020 และหากปฏิบัติไม่ได้ตามนั้น ไอเอ็มเอฟก็จำเป็นที่จะต้องถอนตัวจากการค้ำจุนเศรษฐกิจของเอเธนส์ เพื่อที่จะคงระดับหนี้สินขององค์กรให้ยั่งยืนพอจะปล่อยกู้แก่ประเทศอื่นๆ ต่อไปได้

ปัจจุบันกรีซมีหนี้สาธารณะอยู่ที่ราว 180% ของจีดีพี และคาดว่าจะขยับเป็น 190% ภายในปี 2014 ซึ่งสูงกว่าเพดาน 60% ที่สหภาพยุโรปตั้งเป็นกฎเหล็กไว้สำหรับชาติสมาชิกถึง 3 เท่าตัว
กำลังโหลดความคิดเห็น