xs
xsm
sm
md
lg

บอสใหญ่ “ไอเอ็มเอฟ” ชี้ วิกฤตหนี้สิน “กรีซ”ต้องแก้โดยยึดหลักความจริง มิใช่ยึดความปรารถนาของพวกเจ้าหนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - กริสตีน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการใหญ่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ชาวฝรั่งเศส ระบุ ข้อตกลงใดๆ ระหว่างบรรดาเจ้าหนี้ ของประเทศที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวอย่างกรีซควรเป็นข้อตกลงที่พิจารณาจากหลักความเป็นจริง มิใช่การยึดถือเอาความคาดหวังหรือความปรารถนาของเจ้าหนี้ที่อยู่เหนือหลักเหตุผล

ท่าทีล่าสุดของลาการ์ด วัย 56 ปีมีขึ้นที่กรุงมะนิลา เมืองหลวงของฟิลิปปินส์ ซึ่งลาการ์ดประกาศยกเลิกแผนการเข้าร่วมประชุมสุดยอดของกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกที่กัมพูชา เพื่อมุ่งหน้าไปยังกรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยียมแทนเพื่อเตรียมหารือกับที่ประชุมรัฐมนตรีคลังยูโรโซน (ยูโรกรุ๊ป) ว่าด้วยปัญหากรีซในวันอังคาร (20) นี้ โดยกรรมการผู้จัดการใหญ่ไอเอ็มเอฟ ยืนยันจะผลักดันให้เกิดข้อสรุปที่ถาวรเกี่ยวกับปัญหาหนี้สินของกรีซ เพื่อป้องกันมิให้ “ความไม่แน่นอนต่างๆ” ยืดเยื้อยาวนานต่อไป และเพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจของกรีซต้องบอบช้ำไปมากกว่าที่เป็นอยู่ พร้อมยืนยันการแก้ปัญหาของกรีซนั้น บรรดาเจ้าหนี้ควรพิจารณาจากหลักความเป็นจริงของภาวะเศรษฐกิจกรีซเป็นสำคัญ

ลาการ์ดชี้ว่า ประเทศต่างๆในกลุ่มยูโรโซน หรือกลุ่ม 17 ประเทศที่ใช้เงินยูโร เป็นเงินตราสกุลหลักควรส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าจะยังคงยืนหยัดอยู่เคียงข้างกรีซต่อไป ซึ่งหนทางหนึ่งก็คือ ควรมีการเห็นชอบข้อตกลงในการลดหนี้สินให้กับรัฐบาลเอเธนส์นั่นเอง

ท่าทีล่าสุดของลาการ์ดมีขึ้น ในขณะที่กรีซกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน และมรสุมทางเศรษฐกิจที่กรีซต้องเผชิญตลอดหลายปีที่ผ่านมา ได้ทำลายผลิตผลทางเศรษฐกิจของกรีซไปกว่า 1 ใน 5 นอกจากนั้นยังทำให้อัตราการว่างงานของกรีซพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดย 1 ใน 4 ของประชากรไม่มีงานทำในขณะนี้

ด้านฌอง โคล้ด ยุงค์เกอร์ ประธานยูโรกรุ๊ปออกมาให้ความเห็นที่กรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียมว่าเป้าหมายในการลดจำนวนหนี้สินของกรีซให้เหลือ 120 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีภายในปี ค.ศ.2020 ควรได้รับการขยายออกไปอีก 2 ปี เป็นในปี ค.ศ.2022 ซึ่งสวนทางกับจุดยืนของลาการ์ดและไอเอ็มเอฟ ที่ต้องการให้บรรดาเจ้าหนี้พิจารณาตัดลดหนี้สินแก่กรีซภายใต้กรอบเวลาเดิม คือใน ปี 2020 และความขัดแย้งระหว่างยูโรกรุ๊ปและไอเอ็มเอฟที่เกิดขึ้น อาจส่งผลให้การพิจารณามอบเงินช่วยเหลือรอบใหม่จำนวน 31.5 พันล้านยูโร (ราว 1.23 ล้านล้านบาท) ต้องชะลอไปอีก และหากเป็นเช่นนั้น โอกาสที่กรีซจะต้องก้าวเข้าสู่ภาวะล้มละลายก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟเป็นหนึ่งในกลุ่ม “ทรอยกา” หรือ “เจ้าหนี้ 3 ฝ่าย” ร่วมกับสหภาพยุโรป (อียู) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการอนุมัติเงินกู้ฉุกเฉินแก่ประเทศที่กำลังประสบวิกฤตในกลุ่มยูโรโซนทั้งกรีซ โปรตุเกส และสาธารณรัฐไอร์แลนด์
กำลังโหลดความคิดเห็น