xs
xsm
sm
md
lg

“ยูโรโซน-IMF” อนุมัติเงินกู้ €10,000 ล้านช่วย “ไซปรัส” เลี่ยงวิกฤตล้มละลาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - กลุ่มประเทศเจ้าหนี้ยูโรโซนอนุมัติวงเงินช่วยเหลือ 10,000 ล้านยูโรแก่รัฐบาลไซปรัส วันนี้ (16) เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจของเกาะในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่กำลังเสี่ยงต่อภาวะล้มละลายเต็มทน เจ้าหน้าที่อาวุโสยูโรโซนเผย

ไซปรัส นับเป็นชาติที่ 5 ต่อจากกรีซ, ไอร์แลนด์, โปรตุเกส และสเปน ที่หันมาพึ่งความช่วยเหลือจากยูโรโซน หลังเผชิญวิกฤตหนี้สาธารณะเรื้อรังมาตั้งแต่ปี 2010

หลังผ่านการเจรจานานถึง 10 ชั่วโมง บรรดารัฐมนตรีคลังยูโรโซน และ คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการใหญ่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ตกลงอนุมัติความช่วยเหลือแก่รัฐบาลไซปรัสเป็นวงเงินต่ำกว่าที่คาดกันไว้ เพื่อนำไปเพิ่มทุน (recapitalise) แก่ธนาคารที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงจากการฟื้นฟูโครงสร้างหนี้ในกรีซเมื่อปีที่แล้ว

ภายใต้เงื่อนไขของวงเงินช่วยเหลือ ไซปรัสจะยอมปรับขึ้นภาษีเงินได้บริษัทจาก 2.5% เป็น 12.5% และจะเก็บภาษี 9.9% ต่อครั้งสำหรับการฝากเงินเกิน 100,000 ยูโรกับธนาคารไซปรัส ส่วนยอดเงินฝากที่น้อยลงมาจะเก็บภาษี 6.75% ต่อครั้ง

นอกจากนี้ ดอกเบี้ยที่ได้จากเงินฝากก็จะต้องถูกเก็บภาษีด้วยเช่นกัน

มาตรการเก็บภาษีเช่นนี้จะช่วยให้รัฐบาลไซปรัสมีรายได้เพิ่มขึ้น และจำเป็นต้องกู้ยืมต่างชาติน้อยลง

ไซปรัสซึ่งมีสัดส่วนจีดีพีเพียง 0.2% ของกลุ่มยูโรโซนรวมกัน ยื่นคำร้องขอความช่วยเหลือเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ทว่าการเจรจาเพื่ออนุมัติวงเงินกู้ต้องล่าช้ามาจนวันนี้ เนื่องจากติดการเลือกตั้งประธานาธิบดีไซปรัสเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

หากไม่ได้รับวงเงินกู้ดังกล่าว ไซปรัสอาจเข้าสู่ภาวะล้มละลาย ซึ่งจะยิ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อการคลังสาธารณะของยูโรโซน แม้ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะรับรองหนักแน่นว่าพร้อมทำทุกวิถีทางที่จะฉุดยูโรโซนให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้ก็ตาม

รัสเซียอาจช่วยสนับสนุนไซปรัสอีกทางหนึ่ง โดยขยายวงเงินกู้ 2,500 ล้านยูโรภายในระยะ 5 ปีจนถึงปี 2021 ที่ได้อนุมัติแก่ไซปรัสไปแล้วก่อนหน้านี้ และอาจยอมลดดอกเบี้ย 4.5% ลงอีก เจ้าหน้าที่เผย

เดิมทีรัฐบาลไซปรัสยื่นขอวงเงินช่วยเหลือไปถึง 17,000 ล้านยูโร หรือเกือบเท่าผลผลิตตลอดทั้งปีของประเทศ โดยวงเงิน 10,000 ล้านยูโรจะใช้สำหรับเพิ่มทุนแก่ธนาคารต่างๆ ส่วนอีก 7,000 ล้านยูโรจะนำไปจ่ายคืนหนี้ และเป็นงบสำหรับดำเนินกิจการต่างๆ ของรัฐ แต่เนื่องจากวงเงินก้อนโตดังกล่าวจะทำให้ระดับหนี้สินของไซปรัสสูงจนสภาพการคลังไม่ยั่งยืน ผู้วางนโยบายจึงได้คิดหาวิธีให้ไซปรัสสามารถสร้างรายได้ส่วนหนึ่งได้ด้วยตนเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น