เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ ( FDI ) บนแดนมังกรลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลก ที่กำลังประสบปัญหาได้บั่นทอนความกระตือรือล้นของนักลงทุน ที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่
กระทรวงพาณิชย์ของจีนแถลงเมื่อวันพุธ ( 16 ม.ค.) ว่า FDI ในจีนประจำเดือนธ.ค. ลดลงร้อยละ 4.5 มาอยู่ที่ 11.7 พันล้านดอลลาร์ โดยบริษัทจากยุโรปและเอเชียลดการลงทุนบนแดนมังกรมากที่สุดอย่างไรก็ตาม เอเชียยังคงเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่สุดสำหรับจีน
FDI จากสหภาพยุโรป ที่กำลังประสบวิกฤตหนี้สาธารณะ ลดลงร้อยละ 3.8 ในปีที่แล้ว จากปีก่อนหน้า เหลือ 6.1 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่ FDI จากเศรษฐกิจ 10 ชาติชั้นนำของเอเชีย ซึ่งรวมทั้งฮ่องกง ญี่ปุ่น และสิงค์โปร์ ลดลงร้อยละ 4.8 ในปีที่แล้ว เป็น 95.7 พันล้านดอลลาร์ แตกต่างจากการลงทุนจากสหรัฐฯ ที่กลับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 เป็น 3.1 พันล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูในภาพรวม จีนยังสามารถดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติในปีที่แล้วได้ถึง 111.7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งลดลงเล็กน้อยจาก 116 พันล้านในปี 2554 และยังคงครองตำแหน่งจุดหมายการลงทุนระดับแถวหน้าชาติหนึ่งในโลกสำหรับการขยายกิจการของบริษัท
FDI เป็นเกณฑ์วัดสำคัญสำหรับภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของจีนต้องพึ่งพา อย่างไรก็ตาม FDI มีส่วนช่วยให้มีการไหลเข้าของเงินทุนทั้งหมดในจีนได้น้อยกว่าการส่งออก ซึ่งมีมูลค่าสูงถึงราว 2 ล้านล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว โดยรัฐบาลจนต้องการดึงดูด FDI เข้าประเทศให้ได้ 120 พันล้านดอลลาร์ในแต่ละปีตั้งแต่ปี 2555-2558 แต่ก็พลาดเป้าในปีที่แล้ว ซึ่งก็มิได้ออกมาชี้แจงอย่างใดต่อตัวเลขFDI ที่ตกลงเป็นครั้งแรกนี้
ขณะที่นักวิเคราะห์ระบุว่า FDI ที่ชะลอลงนี้มิได้เป็นสิ่งบ่งชี้ว่า นักลงทุนลดความเชื่อมั่นต่อตลาดในจีน แต่น่าจะบ่งชี้ว่า จีนจำเป็นต้องหาเครื่องกระตุ้นอื่น เพื่อผลักดันให้FDIไหลเข้ามา เช่นการปฏิรูปเศรษฐกิจ หลังจากได้รับแรงกระตุ้นจากการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก หรือ ดับเบิ้ลยูทีโอ เมื่อเดือนพ.ย. 2544 มาแล้ว ซึ่งทำให้ FDI เพิ่มมากกว่า 2 เท่านับจากนั้น
ขณะที่ข้อมูลของโออีซีดีระบุว่า จีนกำลังเป็นคู่แข่งของสหรัฐฯ ในการครองแชมป์จุดหมายปลายทางของFDI อันดับหนึ่งของโลก โดยFDI ที่เข้าสหรัฐฯ ในปี 2554 สูงกว่าจีนเล็กน้อย
นักลงทุนคาดหวังว่า รัฐบาลชุดใหม่ของจีนภายใต้การนำของนายสี จิ้นผิง ที่จะก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนมี.ค. นี้ จะดำเนินการปฏิรูปต่าง ๆ ที่ล่าช้า ซึ่งรวมทั้งการผ่อนคลายการควบคุมบัญชีทุน เพื่อผลักดันให้จีนก้าวสู่การเติบโตในอีกขั้นหนึ่ง
ทั้งนี้ ในการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจในวันศุกร์นี้คาดว่า การเติบโตของเศรษฐกิจจีนต่อปีจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7.8 ในไตรมาส 4 ของปี 2555 จากร้อยละ 7.4 ในไตรมาส 3 ซึ่งเป็นการเติบโต ที่อ่อนแอที่สุด นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินเมื่อต้นปี 2552