xs
xsm
sm
md
lg

“คลัง” เปิดแผนกู้ปี 56 เล็งออกแยงกี้บอนด์ 3 หมื่นล้าน ปูทางตลาดเงินแกร่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คลัง” เดินหน้าแผนกู้ 3.5 แสนล้าน เตรียมออก “แยงกี้บอนด์” วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเป็นตลาดที่ต้องการสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ยอมรับไทยไม่ได้กู้มานานแล้ว ทำให้ไม่มีอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของประเทศ รัฐบาลต้องเป็นตัวนำร่องให้เอกชน ลุ้นเครดิตประเทศเพิ่มเป็น A กดต้นทุนดอกเบี้ย แย้มอัตราต้องต่ำกว่ากู้ในประเทศ เพื่อเลี่ยงการถูกโจมตี

นายสุวิชญ โรจนวานิช รองผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยถึงแผนการกู้เงินภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท โดยยอมรับว่า สบน.ได้กู้ไปแล้ว 1 หมื่นล้านบาท จึงเหลือวงเงินอีก 3.4 แสนล้านบาท ที่จะดำเนินการกู้เพิ่มเติมได้จนถึงกลางปีหน้า ตามที่กรอบกฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้มอบนโยบาย สบน. กู้เป็นเงินตราต่างประเทศส่วนหนึ่ง ประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ด้วยการออกพันธบัตรสกุลเงินตราต่างประเทศอายุ 3 ปี 5 ปี หรือ 7 ปี แล้วแต่ความเหมาะสมเพื่อให้เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงมาตรฐานของประเทศ

“หากมองในอดีต เราเคยกู้เงินตราต่างประเทศด้วยการออกพันธบัตรขายที่ตลาดนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา หรือแยงกี้บอนด์ แต่ไม่ได้กู้มานานแล้ว ทำให้ไม่มีอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของประเทศ ทำให้ภาคเอกชนเองไม่มีตัวอ้างอิง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอง จึงต้องการให้รัฐบาลเป็นตัวนำให้แก่เอกชนในการกู้เงินต่างประเทศ และยังเป็นการสร้างเครดิตให้แก่ประเทศ เพราะเมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยนั้นพบว่า ยังมีศักยภาพในการกู้เงิน โดยออกพันธบัตรในต่างประเทศได้อยู่ และคาดว่าจะกู้เงินจากตลาดนิวยอร์กเป็นตลาดหลัก เนื่องจากเป็นตลาดที่ต้องการสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ”

นายสุวิชญ กล่าวต่อว่า สบน. เองต้องประเมินผลตอบแทนที่เหมาะสมก่อนว่า เมื่อมีการออกเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศเทียบกับอัตราดอกเบี้ยที่เป็นต้นทุนแล้ว เมื่อรวมกับค่าธรรมเนียมในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (สวอป) แล้ว ต้นทุนรวมจะต้องต่ำกว่าการกู้ยืมในประเทศ ซึ่งก็ยังมีสภาพคล่องเหลือพอ เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะถูกโจมตีได้ แม้ว่าปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศอ้างอิงตลาดลอนดอน (ไลบอร์) จะต่ำมากไม่ถึงร้อยละ 1 แต่ยังมีต้นทุนอื่นๆ รวมด้วย อย่างอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศที่ปัจจุบันอยู่ในระดับน่าลงทุน (BBB+) หากถูกปรับขึ้นไปอยู่ในระดับ A ก็จะทำให้อัตราดอกเบี้ยถูกลง และทำให้กู้ได้ง่ายขึ้น และจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศได้

อย่างไรก็ตาม สำหรับกรอบระยะเวลาการกู้เงินที่จะต้องดำเนินการภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2556 นายสุวิชญ กล่าวว่า ในทางปฏิบัติน่าจะสามารถกู้เงินเพื่อใช้ได้จริงไม่เกิน 1 แสนล้านบาท เพราะกว่าที่โครงการจะเริ่มดำเนินการทำสัญญาผูกพันไว้ต้องใช้เวลานาน เพราะขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติคัดเลือกบริษัทที่จะเข้ามาดำเนินการ ทั้งที่ผ่านมาหลายเดือนแล้ว หลังจากที่ได้ปรับวิธีการคัดเลือกบริษัทเอกชนที่เข้ามาประมูลโครงการจากหลายรายให้เหลือรายเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น