(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
China’s stunning setback to reform
By Willy Lam
19/11/2012
นายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า ผู้กำลังจะก้าวลงจากอำนาจ ได้ออกมาเรียกร้องให้ดำเนินการปฏิรูประบบผู้นำของจีน ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ช่างตรงกันข้ามกับคำรายงานปิดฉากยุคแห่งการครองอำนาจของเขาและหู จิ่นเทา ซึ่งเต็มไปด้วยแนวความคิดแบบอนุรักษนิยม อีกทั้งยังขัดแย้งเป็นคนละเรื่องกับวิธีการใช้กโลบายช่วงชิงและต่อรองกันอย่างลับๆ อยู่เบื้องหลังการคัดเลือกสมาชิกกรมการเมือง ณ มหาศาลาประชาชน เมื่อนำเอาสิ่งเหล่านี้มาปะติดปะต่อเป็นภาพรวมแล้ว มันบ่งชี้ให้เห็นว่าคณะผู้นำชุดใหม่ของจีนคงจะไม่ผลักดันเดินหน้าสู่เป้าหมายและนโยบายต่างๆ ตามที่พวกนักปฏิรูปเรียกร้องต้องการ
*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*
(ต่อจากตอนแรก)
การต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งคำรายงานทางการเมืองของ หู จิ่นเทา ต่อสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 18 ในปีนี้ ดูจะไม่ได้ให้น้ำหนักเท่าที่ควรจะเป็น ทั้งนี้ หู ได้หยิบยกคำเตือนต่างๆ ของอดีตประธานาธิบดีเจียง ซึ่งกล่าวเอาไว้ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ที่ว่า ถ้าหากพรรคประสบความล้มเหลวในการกำจัดโรคระบาดแห่งการคอร์รัปชั่นแล้ว “พรรคก็อาจจะเผชิญกับการถูกตีกระหน่ำอย่างรุนแรง และกระทั่งนำไปสู่การพังครืนของพรรคและของรัฐ” เขาเตือนด้วยว่า “เราจักต้องไม่ย่อหย่อนเพลามือการต่อสู้กับการทุจริต ตลอดจนไม่ย่อหย่อนเพลามือในการสร้างการบริหารปกครองที่ใสสะอาด เสียงระฆังลายเตือนให้ระแวดระวังภัย จักต้องดังก้องไปเรื่อยๆ ไม่ยอมหยุด”
กระนั้นก็ตามที หู กลับล้มเหลวไม่ได้เสนอแนะมาตรการใหม่ๆ เป็นต้นว่า กฎระเบียบของพรรคที่กำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานระดับอาวุโสทุกคนต้องแจ้งให้สาธารณชนทราบว่าบรรดาญาติใกล้ชิดของพวกเขามีทรัพย์สินอะไรบ้าง ตลอดจนเปิดเผยว่ามีญาติใกล้ชิดของเขาคนไหนที่ได้รับฐานะเป็นผู้พำนักอาศัยถาวรในต่างประเทศ นอกจากนั้นยังมีข้อสังเกตซึ่งสำคัญทีเดียวว่า ในขณะที่อ่านร่างคำรายงานของเขานั้น หู ได้ข้ามข้อความตอนหนึ่งซึ่งปรากฏอยู่ในเวอร์ชั่นที่เป็นฉบับตีพิมพ์ ข้อความดังกล่าวคือ “ผู้ปฏิบัติงานระดับอาวุโสไม่เพียงตนเองต้องปฏิบัติตามวินัยพรรคอย่างเข้มงวดกวดขันเท่านั้น แต่ยังต้องเพิ่มทวีการให้การศึกษาแก่ญาติพี่น้องและเพื่อนมิตรผู้ร่วมงานใกล้ชิดของพวกเขา ตลอดจนคอยหน่วงเหนี่ยวดึงรั้งบุคคลเหล่านี้ด้วย”
ทั้งนี้ก่อนหน้าการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 18 จะเปิดขึ้นไม่กี่วัน สำนักข่าวบลูมเบิร์ก และหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ต่างได้เสนอรายงานข่าวที่ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับกิจกรรมทางธุรกิจต่างๆ ของพวกญาติใกล้ชิดของรองประธานาธิบดีสี และนายกรัฐมนตรีเวิน ถึงแม้หน่วยงานเซ็นเซอร์ของรัฐมีปฏิบัติการตอบโต้ในทันทีด้วยการสกัดกั้นไม่ให้รายงานข่าวเหล่านี้เข้าสู่ไซเบอร์สเปซของจีนได้ แต่ก็เชื่อกันว่าชาวเน็ตจำนวนเป็นล้านๆ คนในแดนมังกรต่างก็สามารถหามาอ่านได้อยู่ดี
ขณะที่การส่งเสียงย้ำเตือนของ หู เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นซึ่งกำลังเกิดขึ้นอย่างกำเริบเสิบสาน สามารถถือเป็นการตอบสนองของทางพรรคต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ที่ก้องกระหึ่มขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับความละโมบโลภมากในหมู่ผู้ปฏิบัติงานระดับสูงก็จริงอยู่ แต่ก็เป็นที่เชื่อกันว่ายังคงไม่มีการลงมือสืบสวนสอบสวนเรื่องกิจกรรมทางธุรกิจของพวกญาติวงศ์ใกล้ชิดของเจ้าหน้าที่ระดับท็อปซึ่งได้ถูกเปิดโปงเผยแพร่อย่างกว้างขวางแล้ว สภาพการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ถึงแม้มีข้อเท็จจริงในอีกด้านหนึ่งเช่นกัน กล่าวคือ ในขณะที่เข้าร่วมการอภิปรายของพวกผู้แทนระดับมณฑลและมหานครซึ่งมาร่วมประชุมสมัชชา 18 ผู้ปฏิบัติงานระดับท็อปอย่างเช่น วัง หยาง และ เลขาธิการพรรคสาขาเซี่ยงไฮ้ อี๋ว์ เจิ้งเซิง (Yu Zhengsheng) ได้กล่าวอ้างว่า มีการดำเนินขั้นตอนต่างๆ อันทรงประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้ญาติสนิทของพวกเขาเข้าไปหาเงินหาทองอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสมกันแล้ว
ในคำรายงานการเมืองครั้งล่าสุดนี้ หู ยังได้พาดพิงถึงหนทางต่างๆ ในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจกันใหม่ ประธานาธิบดีจีนผู้นี้เน้นย้ำว่า ความเจริญเติบโตของจีนในปัจจุบันยังคงอยู่ในสภาพที่ “ไม่สมดุล, ไม่มีการประสานกัน, และไม่มีความยั่งยืน” เขาประกาศว่าจะต้อง “ดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้านยิ่งขึ้นอีก” เขาเรียกร้องให้บรรดาผู้ปฏิบัติงานของพรรคให้ความใส่ใจเพิ่มขึ้นกับพวกนวัตกรรมที่เป็นของจีนเอง และที่ต้องเน้นย้ำกันเป็นพิเศษก็คือ ต้องหาทางทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคกลายเป็นเสาหลักต้นใหม่อีกเสาหนึ่งของการเติบโตขยายตัวของจีดีพี
บางทีอาจจะสืบเนื่องจากมีความเชื่อมั่นกันแล้วว่า ฐานะการเป็น “พรรคผู้ปกครองประเทศเป็นเวลายาวนาน” ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินไปด้วยกันกับการใช้กลไกพรรค-รัฐ มาควบคุมส่วนใหญ่ๆ ของระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น หู จึงระบุว่าปักกิ่งจำเป็นต้อง “รวมศูนย์และพัฒนาภาคสาธารณะของระบบเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ไม่มีการลังเล” หู ยังกล่าวต่อไปด้วยว่า “(เรายังควรที่จะ) นำเอาเงินทุนของรัฐมาลงทุนให้มากขึ้นอีกในอุตสาหกรรมสำคัญๆ ในภาคส่วนหลักๆ ซึ่งสมทบประกอบกันเป็นเส้นชีวิตของเศรษฐกิจ และมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อความมั่นคงแห่งชาติ”
สิ่งที่กล่าวอยู่ในคำรายงานนี้ ขัดแย้งกับความวิตกห่วงใยของพวกนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังหลายต่อหลายคน เป็นต้นว่า เหมา อีว์สือ (Mao Yushi) แห่งสถาบันวิจัยยูนิรูล (Unirule Research Institute) ในกรุงปักกิ่ง ผู้ซึ่งกล่าวตำหนิติเตียนแนวโน้มของการที่ “ภาครัฐยังคงรุกคืบขยายตัว ทั้งๆ ที่ภาคเอกชนอยู่ในภาวะหดตัว” นอกจากนั้น มันยังไม่สอดคล้องกับคำมั่นสัญญาที่นายกรัฐมนตรีเวิน เพิ่งให้ไว้เมื่อเร็วๆ นี้ที่ว่า จะให้การสนับสนุนเพิ่มมากขึ้นแก่พวกบริษัทภาคเอกชนที่กำลังลำบากย่ำแย่ โดยเขาบอกว่า “เราต้องจัดทำและปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการต่างๆ ที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนาของเศรษฐกิจนอกภาครัฐ, ยกเลิกการผูกขาดกิจการของภาครัฐ, และลดเงื่อนไขแรกเข้าของอุตสาหกรรมต่างๆ ลงมาเพื่อต้อนรับกิจการใหม่ๆ”
ไม่กี่วันก่อนที่สมัชชาคราวนี้จะเปิดการประชุมขึ้นมา มีผู้สังเกตการณ์บางรายคาดเดาว่า คณะผู้นำที่นำโดย หู อาจพร้อมส่งสัญญาณแสดงเจตนารมณ์ที่จะพิจารณาดำเนินกระบวนการก้าวไปสู่เสรีนิยม ด้วยการถอดเอา “ความคิดเหมา เจ๋อตง” (Mao Zedong Thought) ออกจากธรรมนูญของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทั้งนี้ ความคิดเหมา เจ๋อตง ถูกมองว่าคือสิ่งเดียวกันกับอนุรักษนิยมนั่นเอง สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการคาดเดากันเช่นนี้ เนื่องจากดูจะเป็นที่แน่นอนแล้วว่า โป๋ ซีไหล (Bo Xilai) สมาชิกกรมการเมืองผู้ตกจากอำนาจ จะถูกลงโทษจำคุกกันยาว ภายหลังจากที่เขาถูกขับออกจากการเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อไม่นานมานี้ ทั้งนี้ โป๋ คือหัวหอกในการรณรงค์ฟื้นฟูลัทธิเหมา
แต่แล้วปรากฏว่าข้อแก้ไขเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ในธรรมนูญพรรค ซึ่งได้รับอนุมัติรับรองจากที่ประชุมสมัชชาคราวนี้ มีเพียงประการเดียวเท่านั้น นั่นคือ การยกเอา “แนวคิดการพัฒนาตามหลักวิทยาศาสตร์” (Scientific Development Concept" kexue fazhan guan) ซึ่งถือเป็นผลงานทางทฤษฎีของ หู จิ่นเทา มาบรรจุเอาไว้เป็นส่วนหนึ่งของหลักทฤษฎีชี้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐจีนด้วย เรื่องนี้หมายความว่า “แนวคิดการพัฒนาตามหลักวิทยาศาสตร์” ได้รับการจัดชั้นให้อยู่ในระดับเดียวกันกับ “ความคิดสำคัญว่าด้วย 3 ตัวแทน” (Important Thinking of the Three Represents san ge daibiao zhongyao sixiang) ของอดีตประธานาธิบดีเจียง
ในคำรายงานของเขา หูได้เรียกร้องให้ผู้ปฏิบัติงานและสมาชิกของพรรคทำงานให้หนักยิ่งขึ้นในการสร้าง “นวัตกรรมของการนำเอานโยบายต่างๆ ไปดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิวัติ, นวัตกรรมต่างๆ ในเชิงทฤษฎี, และนวัตกรรมในทางสถาบัน” กระนั้นเขาก็กล่าวย้ำประเด็นเดิมที่เขาเคยพูดไว้ใน สมัชชา 17 เมื่อ 5 ปีก่อน นั่นคือ “ในขณะที่ (พรรค) จะไม่ถอยหลังลงไปสู่หนทางสายเก่าแห่งการแข็งทื่อไร้ความยืดหยุ่น แต่พรรคก็จะหลีกเลี่ยงเส้นทางแห่งความหลอกลวงทั้งหลาย ซึ่งจะเปลี่ยนสีแปรธาตุพรรค”
พิจารณาจากแนวความคิดอนุรักษนิยมที่ครอบงำเต็มไปหมดในคำรายงานทางการเมือง ตลอดจนวิธีการอันซับซ้อนขาดความโปร่งใสในการคัดเลือกเหล่าผู้นำชุดใหม่ จึงดูไม่น่าเป็นไปได้ที่คณะผู้นำใหม่ภายใต้เลขาธิการใหญ่ สี จิ้นผิง จะเดินหน้าสู่เป้าหมายและนโยบายต่างๆ ตามที่พวกนักปฏิรูปเรียกร้องต้องการ ในอนาคตอันใกล้นี้
ดร.วิลลี โว-ลัป ลัม (Dr Willy Wo-Lap Lam) เป็นนักวิจัยอาวุโส ณ มูลนิธิเจมส์ทาวน์ (The Jamestown Foundation) และเคยทำงานในระดับบรรณาธิการอาวุโสของสื่อระหว่างประเทศหลายเจ้า เช่น นิตยสารเอเชียวีก, หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์, และในสำนักงานใหญ่ภาคเอเชีย-แปซิฟิก ของ ซีเอ็นเอ็น เขาเขียนหนังสือเกี่ยวกับประเทศจีนมาแล้ว 5 เล่ม โดยเล่มที่เพิ่งตีพิมพ์จำหน่ายเมื่อเร็วๆ นี้คือ “Chinese Politics in the Hu Jintao Era: New Leaders, New Challenges” เขายังเป็นศาสตราจารย์วุฒิคุณ (Adjunct Professor) ในด้านจีนศึกษา ณ มหาวิทยาลัยนานาชาติอะคิตะ (Akita International University) ประเทศญี่ปุ่น และที่ มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง (Chinese University of Hong Kong)
China’s stunning setback to reform
By Willy Lam
19/11/2012
นายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า ผู้กำลังจะก้าวลงจากอำนาจ ได้ออกมาเรียกร้องให้ดำเนินการปฏิรูประบบผู้นำของจีน ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ช่างตรงกันข้ามกับคำรายงานปิดฉากยุคแห่งการครองอำนาจของเขาและหู จิ่นเทา ซึ่งเต็มไปด้วยแนวความคิดแบบอนุรักษนิยม อีกทั้งยังขัดแย้งเป็นคนละเรื่องกับวิธีการใช้กโลบายช่วงชิงและต่อรองกันอย่างลับๆ อยู่เบื้องหลังการคัดเลือกสมาชิกกรมการเมือง ณ มหาศาลาประชาชน เมื่อนำเอาสิ่งเหล่านี้มาปะติดปะต่อเป็นภาพรวมแล้ว มันบ่งชี้ให้เห็นว่าคณะผู้นำชุดใหม่ของจีนคงจะไม่ผลักดันเดินหน้าสู่เป้าหมายและนโยบายต่างๆ ตามที่พวกนักปฏิรูปเรียกร้องต้องการ
*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*
(ต่อจากตอนแรก)
การต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งคำรายงานทางการเมืองของ หู จิ่นเทา ต่อสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 18 ในปีนี้ ดูจะไม่ได้ให้น้ำหนักเท่าที่ควรจะเป็น ทั้งนี้ หู ได้หยิบยกคำเตือนต่างๆ ของอดีตประธานาธิบดีเจียง ซึ่งกล่าวเอาไว้ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ที่ว่า ถ้าหากพรรคประสบความล้มเหลวในการกำจัดโรคระบาดแห่งการคอร์รัปชั่นแล้ว “พรรคก็อาจจะเผชิญกับการถูกตีกระหน่ำอย่างรุนแรง และกระทั่งนำไปสู่การพังครืนของพรรคและของรัฐ” เขาเตือนด้วยว่า “เราจักต้องไม่ย่อหย่อนเพลามือการต่อสู้กับการทุจริต ตลอดจนไม่ย่อหย่อนเพลามือในการสร้างการบริหารปกครองที่ใสสะอาด เสียงระฆังลายเตือนให้ระแวดระวังภัย จักต้องดังก้องไปเรื่อยๆ ไม่ยอมหยุด”
กระนั้นก็ตามที หู กลับล้มเหลวไม่ได้เสนอแนะมาตรการใหม่ๆ เป็นต้นว่า กฎระเบียบของพรรคที่กำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานระดับอาวุโสทุกคนต้องแจ้งให้สาธารณชนทราบว่าบรรดาญาติใกล้ชิดของพวกเขามีทรัพย์สินอะไรบ้าง ตลอดจนเปิดเผยว่ามีญาติใกล้ชิดของเขาคนไหนที่ได้รับฐานะเป็นผู้พำนักอาศัยถาวรในต่างประเทศ นอกจากนั้นยังมีข้อสังเกตซึ่งสำคัญทีเดียวว่า ในขณะที่อ่านร่างคำรายงานของเขานั้น หู ได้ข้ามข้อความตอนหนึ่งซึ่งปรากฏอยู่ในเวอร์ชั่นที่เป็นฉบับตีพิมพ์ ข้อความดังกล่าวคือ “ผู้ปฏิบัติงานระดับอาวุโสไม่เพียงตนเองต้องปฏิบัติตามวินัยพรรคอย่างเข้มงวดกวดขันเท่านั้น แต่ยังต้องเพิ่มทวีการให้การศึกษาแก่ญาติพี่น้องและเพื่อนมิตรผู้ร่วมงานใกล้ชิดของพวกเขา ตลอดจนคอยหน่วงเหนี่ยวดึงรั้งบุคคลเหล่านี้ด้วย”
ทั้งนี้ก่อนหน้าการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 18 จะเปิดขึ้นไม่กี่วัน สำนักข่าวบลูมเบิร์ก และหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ต่างได้เสนอรายงานข่าวที่ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับกิจกรรมทางธุรกิจต่างๆ ของพวกญาติใกล้ชิดของรองประธานาธิบดีสี และนายกรัฐมนตรีเวิน ถึงแม้หน่วยงานเซ็นเซอร์ของรัฐมีปฏิบัติการตอบโต้ในทันทีด้วยการสกัดกั้นไม่ให้รายงานข่าวเหล่านี้เข้าสู่ไซเบอร์สเปซของจีนได้ แต่ก็เชื่อกันว่าชาวเน็ตจำนวนเป็นล้านๆ คนในแดนมังกรต่างก็สามารถหามาอ่านได้อยู่ดี
ขณะที่การส่งเสียงย้ำเตือนของ หู เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นซึ่งกำลังเกิดขึ้นอย่างกำเริบเสิบสาน สามารถถือเป็นการตอบสนองของทางพรรคต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ที่ก้องกระหึ่มขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับความละโมบโลภมากในหมู่ผู้ปฏิบัติงานระดับสูงก็จริงอยู่ แต่ก็เป็นที่เชื่อกันว่ายังคงไม่มีการลงมือสืบสวนสอบสวนเรื่องกิจกรรมทางธุรกิจของพวกญาติวงศ์ใกล้ชิดของเจ้าหน้าที่ระดับท็อปซึ่งได้ถูกเปิดโปงเผยแพร่อย่างกว้างขวางแล้ว สภาพการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ถึงแม้มีข้อเท็จจริงในอีกด้านหนึ่งเช่นกัน กล่าวคือ ในขณะที่เข้าร่วมการอภิปรายของพวกผู้แทนระดับมณฑลและมหานครซึ่งมาร่วมประชุมสมัชชา 18 ผู้ปฏิบัติงานระดับท็อปอย่างเช่น วัง หยาง และ เลขาธิการพรรคสาขาเซี่ยงไฮ้ อี๋ว์ เจิ้งเซิง (Yu Zhengsheng) ได้กล่าวอ้างว่า มีการดำเนินขั้นตอนต่างๆ อันทรงประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้ญาติสนิทของพวกเขาเข้าไปหาเงินหาทองอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสมกันแล้ว
ในคำรายงานการเมืองครั้งล่าสุดนี้ หู ยังได้พาดพิงถึงหนทางต่างๆ ในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจกันใหม่ ประธานาธิบดีจีนผู้นี้เน้นย้ำว่า ความเจริญเติบโตของจีนในปัจจุบันยังคงอยู่ในสภาพที่ “ไม่สมดุล, ไม่มีการประสานกัน, และไม่มีความยั่งยืน” เขาประกาศว่าจะต้อง “ดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้านยิ่งขึ้นอีก” เขาเรียกร้องให้บรรดาผู้ปฏิบัติงานของพรรคให้ความใส่ใจเพิ่มขึ้นกับพวกนวัตกรรมที่เป็นของจีนเอง และที่ต้องเน้นย้ำกันเป็นพิเศษก็คือ ต้องหาทางทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคกลายเป็นเสาหลักต้นใหม่อีกเสาหนึ่งของการเติบโตขยายตัวของจีดีพี
บางทีอาจจะสืบเนื่องจากมีความเชื่อมั่นกันแล้วว่า ฐานะการเป็น “พรรคผู้ปกครองประเทศเป็นเวลายาวนาน” ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินไปด้วยกันกับการใช้กลไกพรรค-รัฐ มาควบคุมส่วนใหญ่ๆ ของระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น หู จึงระบุว่าปักกิ่งจำเป็นต้อง “รวมศูนย์และพัฒนาภาคสาธารณะของระบบเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ไม่มีการลังเล” หู ยังกล่าวต่อไปด้วยว่า “(เรายังควรที่จะ) นำเอาเงินทุนของรัฐมาลงทุนให้มากขึ้นอีกในอุตสาหกรรมสำคัญๆ ในภาคส่วนหลักๆ ซึ่งสมทบประกอบกันเป็นเส้นชีวิตของเศรษฐกิจ และมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อความมั่นคงแห่งชาติ”
สิ่งที่กล่าวอยู่ในคำรายงานนี้ ขัดแย้งกับความวิตกห่วงใยของพวกนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังหลายต่อหลายคน เป็นต้นว่า เหมา อีว์สือ (Mao Yushi) แห่งสถาบันวิจัยยูนิรูล (Unirule Research Institute) ในกรุงปักกิ่ง ผู้ซึ่งกล่าวตำหนิติเตียนแนวโน้มของการที่ “ภาครัฐยังคงรุกคืบขยายตัว ทั้งๆ ที่ภาคเอกชนอยู่ในภาวะหดตัว” นอกจากนั้น มันยังไม่สอดคล้องกับคำมั่นสัญญาที่นายกรัฐมนตรีเวิน เพิ่งให้ไว้เมื่อเร็วๆ นี้ที่ว่า จะให้การสนับสนุนเพิ่มมากขึ้นแก่พวกบริษัทภาคเอกชนที่กำลังลำบากย่ำแย่ โดยเขาบอกว่า “เราต้องจัดทำและปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการต่างๆ ที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนาของเศรษฐกิจนอกภาครัฐ, ยกเลิกการผูกขาดกิจการของภาครัฐ, และลดเงื่อนไขแรกเข้าของอุตสาหกรรมต่างๆ ลงมาเพื่อต้อนรับกิจการใหม่ๆ”
ไม่กี่วันก่อนที่สมัชชาคราวนี้จะเปิดการประชุมขึ้นมา มีผู้สังเกตการณ์บางรายคาดเดาว่า คณะผู้นำที่นำโดย หู อาจพร้อมส่งสัญญาณแสดงเจตนารมณ์ที่จะพิจารณาดำเนินกระบวนการก้าวไปสู่เสรีนิยม ด้วยการถอดเอา “ความคิดเหมา เจ๋อตง” (Mao Zedong Thought) ออกจากธรรมนูญของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทั้งนี้ ความคิดเหมา เจ๋อตง ถูกมองว่าคือสิ่งเดียวกันกับอนุรักษนิยมนั่นเอง สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการคาดเดากันเช่นนี้ เนื่องจากดูจะเป็นที่แน่นอนแล้วว่า โป๋ ซีไหล (Bo Xilai) สมาชิกกรมการเมืองผู้ตกจากอำนาจ จะถูกลงโทษจำคุกกันยาว ภายหลังจากที่เขาถูกขับออกจากการเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อไม่นานมานี้ ทั้งนี้ โป๋ คือหัวหอกในการรณรงค์ฟื้นฟูลัทธิเหมา
แต่แล้วปรากฏว่าข้อแก้ไขเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ในธรรมนูญพรรค ซึ่งได้รับอนุมัติรับรองจากที่ประชุมสมัชชาคราวนี้ มีเพียงประการเดียวเท่านั้น นั่นคือ การยกเอา “แนวคิดการพัฒนาตามหลักวิทยาศาสตร์” (Scientific Development Concept" kexue fazhan guan) ซึ่งถือเป็นผลงานทางทฤษฎีของ หู จิ่นเทา มาบรรจุเอาไว้เป็นส่วนหนึ่งของหลักทฤษฎีชี้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐจีนด้วย เรื่องนี้หมายความว่า “แนวคิดการพัฒนาตามหลักวิทยาศาสตร์” ได้รับการจัดชั้นให้อยู่ในระดับเดียวกันกับ “ความคิดสำคัญว่าด้วย 3 ตัวแทน” (Important Thinking of the Three Represents san ge daibiao zhongyao sixiang) ของอดีตประธานาธิบดีเจียง
ในคำรายงานของเขา หูได้เรียกร้องให้ผู้ปฏิบัติงานและสมาชิกของพรรคทำงานให้หนักยิ่งขึ้นในการสร้าง “นวัตกรรมของการนำเอานโยบายต่างๆ ไปดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิวัติ, นวัตกรรมต่างๆ ในเชิงทฤษฎี, และนวัตกรรมในทางสถาบัน” กระนั้นเขาก็กล่าวย้ำประเด็นเดิมที่เขาเคยพูดไว้ใน สมัชชา 17 เมื่อ 5 ปีก่อน นั่นคือ “ในขณะที่ (พรรค) จะไม่ถอยหลังลงไปสู่หนทางสายเก่าแห่งการแข็งทื่อไร้ความยืดหยุ่น แต่พรรคก็จะหลีกเลี่ยงเส้นทางแห่งความหลอกลวงทั้งหลาย ซึ่งจะเปลี่ยนสีแปรธาตุพรรค”
พิจารณาจากแนวความคิดอนุรักษนิยมที่ครอบงำเต็มไปหมดในคำรายงานทางการเมือง ตลอดจนวิธีการอันซับซ้อนขาดความโปร่งใสในการคัดเลือกเหล่าผู้นำชุดใหม่ จึงดูไม่น่าเป็นไปได้ที่คณะผู้นำใหม่ภายใต้เลขาธิการใหญ่ สี จิ้นผิง จะเดินหน้าสู่เป้าหมายและนโยบายต่างๆ ตามที่พวกนักปฏิรูปเรียกร้องต้องการ ในอนาคตอันใกล้นี้
ดร.วิลลี โว-ลัป ลัม (Dr Willy Wo-Lap Lam) เป็นนักวิจัยอาวุโส ณ มูลนิธิเจมส์ทาวน์ (The Jamestown Foundation) และเคยทำงานในระดับบรรณาธิการอาวุโสของสื่อระหว่างประเทศหลายเจ้า เช่น นิตยสารเอเชียวีก, หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์, และในสำนักงานใหญ่ภาคเอเชีย-แปซิฟิก ของ ซีเอ็นเอ็น เขาเขียนหนังสือเกี่ยวกับประเทศจีนมาแล้ว 5 เล่ม โดยเล่มที่เพิ่งตีพิมพ์จำหน่ายเมื่อเร็วๆ นี้คือ “Chinese Politics in the Hu Jintao Era: New Leaders, New Challenges” เขายังเป็นศาสตราจารย์วุฒิคุณ (Adjunct Professor) ในด้านจีนศึกษา ณ มหาวิทยาลัยนานาชาติอะคิตะ (Akita International University) ประเทศญี่ปุ่น และที่ มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง (Chinese University of Hong Kong)