xs
xsm
sm
md
lg

โอกาสทำการปฏิรูปจีนของ‘สี จิ้นผิง’

เผยแพร่:   โดย: ฟรานเชสโก ซิสซี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Xi opens generation gap
By Francesco Sisci
20/11/2012

ส่วนที่ทรงความสำคัญที่สุดในการเปลี่ยนถ่ายอำนาจของจีนคราวนี้ ไม่ได้อยู่ที่การส่งมอบตำแหน่งไปให้แก่ผู้นำคนใหม่ หากแต่อยู่ที่ผู้นำคนก่อนยินยอมลาออกจากเก้าอี้ทรงอิทธิพลทุกๆ ตัวที่ครอบครองอยู่ สภาพเช่นนี้ควรที่จะทำให้ สี จิ้นผิง เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนคนล่าสุด มีโอกาสที่จะทำการปกครองไปโดยลำพัง ปลอดพ้นจากเงาทอทาบของพวกผู้นำรุ่นก่อนๆ อันที่จริงมีการดำเนินการเพื่อทำให้เป็นที่มั่นใจว่าส่วนประกอบต่างๆ ของยุคอดีตยังจะอยู่รอดมีชีวิตสืบต่อไป ทว่าสิ่งเหล่านี้ไม่น่าที่จะมีพลังยื้อยุดฉุดการปฏิรูปให้ถอยหลัง

ปักกิ่ง - เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เปิดตัวนำเสนอให้ทั่วประเทศและทั่วโลก ได้ยลโฉมหน้าตาของคณะผู้นำชุดใหม่ที่ผ่านการเลือกสรรเสร็จสิ้นแล้ว ในฐานะที่พรรคเป็นผู้ปกครองประเทศที่ดำรงฐานะเป็นอภิมหาอำนาจอันดับ 2 ของโลก ผู้คนคณะนี้จึงย่อมจะร่วมส่วนย่อมจะร่วมมีบทบาทเป็นอันมากต่อการปกครองของโลก อย่างไรก็ดี เรื่องที่ทรงความสำคัญที่สุดของการเปิดตัวในคราวนี้ ไม่ได้อยู่ที่การระบุนามของผู้นำสูงสุดคนใหม่ ซึ่งก็คือ เลขาธิการใหญ่ สี จิ้นผิง ถึงแม้เขาผู้นี้จะต้องมีหน้าที่ในการรับมือกับผู้นำของอภิมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก อันได้แก่ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ทว่าอยู่ที่ตัวกระบวนการเปลี่ยนถ่ายอำนาจในคราวนี้เอง

การประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 18 (สมัชชา 18) สิ้นสุดลง ด้วยการส่งมอบอำนาจให้แก่ผู้นำรุ่นต่อไปในลักษณะที่ผิดแผกแตกต่างออกไปจากแบบอย่างที่เคยปรากฏในอดีต ไม่เหมือนกับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน ตอนที่ เจียง เจ๋อหมิน ผู้กำลังก้าวลงจากตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรค ยังคงนั่งครองเก้าอี้ประธานของคณะกรรมการการทหารส่วนกลาง (Central Military Commission) อันทรงอำนาจอย่างยิ่งเอาไว้ต่อไป โดยในคราวนี้ หู จิ่นเทา ลาออกจากทุกๆ ตำแหน่งภายในพรรคอย่างหมดจด เหลือเพียงฐานะการเป็นประธานาธิบดีที่เป็นตำแหน่งในทางรัฐ ซึ่งเขามีกำหนดจะส่งคืนเมื่อถึงวาระการประชุมเต็มคณะประจำปีของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ (รัฐสภาจีน) ในช่วงประมาณเดือนมีนาคมปีหน้า

ความสำคัญของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ว่า มันทำให้ สี สามารถที่จะทำการปกครองประเทศไปได้โดยลำพัง ไม่ต้องอยู่ใต้เงาทอทาบของพวกผู้นำในรุ่นก่อนๆ และเรื่องนี้ก็ได้รับการตอกเน้นในวันต่อมา จากรายงานของสำนักข่าวซินหวาของทางการจีน ที่แสดงความขอบคุณ หู สำหรับความสำนึกในหน้าที่อย่างชนิดปลอดจากความเห็นแก่ตัวของเขา

เงาทอทาบจากพวกผู้นำรุ่นก่อนๆ นี้แหละ นับเป็นปัจจัยอันสำคัญประการหนึ่งในช่วงระยะเวลาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โดยที่มีความเป็นไปได้ว่า บ่อยครั้งทีเดียวที่มันทำให้คณะผู้นำรุ่นปัจจุบันมีความยุ่งยากใจมากเกินไป ในเวลาที่จะต้องตัดสินใจลงมติในเรื่องที่มีผลระยะยาวไกล หรือในเรื่องการลงมือดำเนินการปฏิรูปใหม่ๆ ที่จำเป็นทั้งหลาย ความคล่องแคล่วกระฉับกระเฉงและศักยภาพในการตัดสินใจที่เพิ่มพูนขึ้นมาใหม่เช่นนี้ ยิ่งได้รับการเติมเต็มขึ้นไปอีก ด้วยขนาดที่ลดลงไปขององค์กรทรงอำนาจสูงสุด ซึ่งก็คือ คณะกรรมการประจำของกรมการเมือง (Standing Committee of the Politburo) ซึ่งเหลือจำนวนเพียง 7 คน จากชุดก่อนที่มีสมาชิก 9 คน

ย่างก้าวนี้มีราคาค่างวดของมัน กล่าวคือ สมาชิกหน้าใหม่ 5 คนของคณะกรรมการประจำกรมการเมือง (อีก 2 คนคือ สี จิ้นผิง และ หลี่ เค่อเฉียง นั่งอยู่ในองค์กรทรงอำนาจสูงสุดนี้ตั้งแต่ชุดที่แล้ว) ล้วนแต่เป็นผู้ที่เคยอยู่ในกรมการเมืองชุดเดิม และต่างมีอายุมากกว่า สี และ หลี่ เค่อเฉียง ผู้เป็นหมายเลข 2 ของเขา สภาพเช่นนี้จะกลายเป็นอุปสรรคประการหนึ่งสำหรับ สี ยิ่งกว่านั้นตามข่าวลือที่แพร่หลายอยู่ในกรุงปักกิ่ง ใน 5 สมาชิกหน้าใหม่นี้ หลายๆ คนทีเดียวน่าจะเป็นผู้ที่จงรักภักดีต่อ เจียง ขณะที่พวกที่หนุ่มๆ กว่าเป็นผู้ที่จงรักภักดีต่อ หู

กระนั้น เมื่อพิจารณาจากรูปโฉมของสมาชิกกรมการเมืองทั้งหมด นั่นคือทั้งที่อยู่ในคณะกรรมการประจำและทั้งที่เป็นสมาชิกธรรมดาของกรมการเมือง ก็จะพบคนหน้าใหม่ๆ หลายคนทีเดียว ซุน เจิ้งไฉ (Sun Zhengcai) และ หู ชุนหวา (Hu Chunhua) ทั้งคู่ต่างเกิดในปี 1963 และน่าที่จะกลายเป็นผู้สืบทอดคณะผู้นำจีนรุ่นต่อไปเมื่อถึงการประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 20 ในปี 2022 นอกจากนั้นเรายังสามารถมองเห็นกระแสของการเริ่มต้นใหม่ได้มากขึ้นไปอีกเมื่อพิจารณาไปที่คณะกรรมการกลาง ซึ่งปรากฏว่าในชุดที่ 18 นี้ 80% ของสมาชิกสมบูรณ์ทั้ง 205 คน เป็นผู้ที่เกิดหลังจากปี 1950 และมีอยู่ 9 คนเป็นผู้ที่เกิดหลังจากปี 1960 ด้วยซ้ำ

เราจึงกำลังมองเห็นสายโซ่แห่งการเปลี่ยนถ่ายอำนาจ ซึ่งคนรุ่นใหม่ได้รับการเลือกเลื่อนตำแหน่งให้ขึ้นไปรับผิดชอบ ทว่ายังคงถูกถ่วงรั้งจากพวกส่วนประกอบที่เป็นของอดีต เรามี สี แต่เราก็มีคนของ หู และคนของ เจียง นั่นคือมีทั้งนวัตกรรมใหม่ๆ และมีทั้งความต่อเนื่องเชื่อมโยงกับอดีต สภาพเช่นนี้ควรที่จะทำให้สายโซ่แห่งการเปลี่ยนถ่ายอำนาจมีความแข็งแรงและปราศจากปัญหาการขาดหายไปของรุ่นอายุและของกลุ่มผลประโยชน์

จิตวิญญาณแห่งการ “ก้าวไปข้างหน้า ทว่าด้วยความระมัดระวัง” เช่นนี้ เป็นสิ่งที่มองเห็นได้อย่างเด่นชัด และนอกจากนั้นมันยังเป็นจิตวิญญาณในคำปราศรัยครั้งปฐมฤกษ์ที่ขึ้นครองตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ของ สี จิ้นผิง อีกด้วย เขากล่าวแสดงความขอบคุณบรรดาสื่อมวลชน และบอกว่าในอนาคตนั้น มันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับจีนที่จะต้องเข้าใจโลก และสำหรับโลกที่จะต้องเข้าใจจีน เขาเน้นย้ำว่าความทะเยอทะยานของจีนนั้นอยู่ที่การมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม และด้วยเหตุนี้ จึงจะต้องไม่มีการทำสงคราม หรือการเข้าไปติดแหง็กอยู่ในเหตุการณ์ระหว่างประเทศ

ถ้อยคำเหล่านี้ ถึงแม้จะทำให้เกิดความกังวลน้อยลง แต่ก็ไม่ได้มีร่องรอยของสิ่งซึ่งได้รับการคาดหวังมากที่สุดจากการประชุมคราวนี้ นั่นก็คือ การปฏิรูปทางการเมือง มันเป็นประเด็นร้อนซึ่งเป็นไปได้ว่าเป็นที่สนใจของคนส่วนข้างน้อยในประเทศจีน แต่น่าที่จะเป็นความสนใจของคนส่วนข้างมากซึ่งอยู่นอกประเทศจีน

กระบวนการเปลี่ยนถ่ายอำนาจทางการเมืองของจีนนี้ ยังคงมีความคลุมเครือไม่โปร่งใสเป็นอย่างยิ่ง ยังไม่เป็นที่ทราบกันว่าการคัดเลือกคณะผู้นำสูงสุดนั้นกระทำกันอย่างไรจริงๆ และเบื้องหลังของการลงคะแนนอย่างเป็นพิธีการในห้องประชุมนั้น เราก็ไม่ทราบเลยว่าผู้เลือกตั้งทรงอำนาจอิทธิพลทั้งหลายเขาลงคะแนนโดยตรง หรือพวกผู้นำให้โผให้โพยแก่คนสนิทผู้ติดตามของพวกเขา เราไม่ทราบเลยว่าการลงคะแนนกระทำกันอย่างไร? ใครเป็นผู้ลงคะแนน? และในบัตรเลือกตั้งนั้นเขียนเอาไว้ว่าอย่างไรบ้าง?

มีสียงพูดจากันอยู่ไม่น้อยเกี่ยวกับอิทธิพลที่ยืดเยื้อไม่ยอมหยุดของ เจียง เจ๋อหมิน และผู้คนในรุ่นอายุของเขา จอโทรทัศน์แสดงภาพให้เราได้เห็นคนรุ่นเก่ากึ๊กอย่าง ซ่ง ผิง (Song Ping) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในวัย 95 ปีและโดดเด่นเป็นเอกอยู่ในที่ประชุมสมัชชาจากเสื้อนอกชุดประธานเหมาของเขา ทว่าอนาคตต่อจากนี้ไปจะเป็นอย่างไรไม่เป็นที่กระจ่างชัดเจน หลังจากการเกษียณอายุของ หู, เจียง, และคนอื่นๆ แล้ว พวกเขายังคงมีอิทธิพลอยู่หรือไม่? แต่หากยังมีอยู่ มีมากน้อยแค่ไหน? ในกรณีที่คนรุ่นก่อนๆ ยังมีอิทธิพลอยู่มาก จะทำให้ระบบการคัดเลือกผู้นำบังเกิดความเปลี่ยนแปลงหรือไม่?

เหล่านี้คือคำถามที่ยังคงไร้คำตอบซึ่งอยู่ภายในสมองของพวกนักยุทธศาสตร์อเมริกันผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย อย่างไรก็ดี ภายหลังการประชุมสมัชชา หนังสือพิมพ์ลงแต่ภาพที่ หู กับ สี จับมือกันเท่านั้น

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา สามารถที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนโยบายของอเมริกาที่มีต่อจีน ด้วยการเร่งรัดหรือด้วยการชะลอนโยบายแห่งการหวนกลับมาให้ความสำคัญทั้งทางการเมืองและทางการทหารต่อเอเชีย กระบวนการดังกล่าวนี้กำลังดำเนินอยู่ และองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งในการประเมินสถานการณ์เพื่อทำการตัดสินใจต่อไป ก็คือความโปร่งใส่ของระบบการเมืองของฝ่ายจีน

ระบบแห่งการปิดลับแบบจักรวรรดิจีนผสมผสมกับลัทธิเลนินซึ่งได้รับการบ่มเพาะขึ้นมาอย่างระแวดระวัง จะสามารถต้านทานแรงบีบคั้นของกระบวนการแห่งการกลบกลืนเข้ากับการเมืองในระดับโลกได้หรือไม่?

ในสถานการณ์เช่นนี้ รูปแบบการประนีประนอมอย่างระมัดระวังในลักษณะของสายโซ่ที่สืบทอดจากรุ่นอายุหนึ่งสู่รุ่นอายุหนึ่ง และภาวะสมดุลในปัจจุบันระหว่างพวกนักปฏิรูปกับพวกอนุรักษนิยม อาจจะพังครืนไป หรือไม่ก็กลายเป็นตัวขัดขวางการเจริญเติบโตในประเทศจีนก็ได้ บางทีนี่แหละคือความท้าทายใหญ่หลวงที่สุดสำหรับ สี จิ้นผิง
ฟรานเชสโก ซิสซี เป็นคอลัมนิสต์ให้กับ อิล โซเล 24 โอเร (Il Sole 24 Ore) หนังสือพิมพ์รายวันในอิตาลี สามารถที่จะติดต่อเขาทางอีเมล์ได้ที่ fsisci@gmail
กำลังโหลดความคิดเห็น