xs
xsm
sm
md
lg

รบ.ปินส์บรรลุข้อตกลงยุติสงครามกับ “กบฎโมโร” เสนอตั้งเขตกึ่งปกครองตนเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี เบนิโญ อากิโน แถลงข่าวการทำข้อตกลงยุติสงครามกับกลุ่มกบฎมุสลิม โมโร อิสลามิก ลิเบอรัล ฟรอนต์ ที่ทำเนียบมาลากันยัง วันนี้(7)
เอเอฟพี - รัฐบาลฟิลิปปินส์และกบฎโมโรซึ่งเป็นกลุ่มมุสลิมแบ่งแยกดินแดนกลุ่มใหญ่ที่สุดในประเทศ ประกาศข้อตกลงยุติการก่อความไม่สงบที่ยืดเยื้อมานานหลายสิบปีและคร่าชีวิตพลเมืองไปแล้วกว่า 150,000 คน วันนี้(7)

ข้อตกลงฉบับนี้กำหนดให้จัดตั้งเขตกึ่งปกครองตนเองบังสาโมโร (Bangsamoro) สำหรับชาวมุสลิมบนเกาะมินดาเนา ซึ่งกลุ่มกบฎ โมโร อิสลามิก ลิเบอเรชัน ฟรอนต์ (MILF) ถือว่าเป็นแผ่นดินเกิดที่พวกเขาอาศัยอยู่มาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ

ประธานาธิบดี เบนิโญ อากิโน ออกแถลงการณ์ซึ่งถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศว่า “ข้อตกลงฉบับนี้จะนำไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืนบนเกาะมินดาเนา... มันจะช่วยสร้างความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างกลุ่มแบ่งแยกดินแดนต่างๆ และนับจากวันนี้ กกองกำลัง โมโร อิสลามิก ลิเบอเรชัน ฟรอนต์ ทั้ง 12,000 คน จะไม่เรียกร้องขอแยกตัวเป็นรัฐอีกต่อไป”

“ข้อตกลงฉบับนี้จะก่อให้เกิดองค์กรทางการเมืองใหม่ ซึ่งคู่ควรใช้ชื่ออันเป็นสัญลักษณ์และเป็นการยกย่องการต่อสู้ของบรรพบุรุษบนเกาะมินดาเนา ตลอดจนเชิดชูประวัติศาสตร์และลักษณะอันเป็นส่วนหนึ่งของชาติเรา ชื่อนั้นก็คือ บังสาโมโร”

ด้านผู้นำกบฎโมโรก็แสดงความชื่นชมความสำเร็จที่ได้จากการเจรจาครั้งล่าสุดที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย เมื่อวานนี้(6)

“เราพอใจมาก และขอขอบคุณท่านประธานาธิบดีที่ทำเช่นนี้” ฆอซาลี จาฟาร์ รองประธานฝ่ายการเมืองของกบฎโมโร ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากฐานที่มั่นบนเกาะมินดาเนา

แม้ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์จะยังไม่ระบุวันประกาศใช้ข้อตกลงสันติภาพฉบับสมบูรณ์ แต่ จาฟาร์ เผยว่า ทั้ง 2 ฝ่ายวางกรอบเวลาไว้ในช่วงกลางปี 2016 ซึ่งรัฐบาล อากิโน จะหมดวาระลง

อากิโน และ จาฟาร์ ต่างชี้ถึงอุปสรรคสำคัญที่ต้องแก้ไขก่อนจะมีการทำข้อตกลงสันติภาพ ซึ่งต้องผ่านการทำประชามติเพื่อขอความเห็นชอบจากสาธารณชนด้วย

ทั้งนี้ ยังไม่แน่นักว่าสังคมฟิลิปปินส์จะเห็นชอบกับข้อตกลงเช่นนี้หรือไม่ เพราะร่างข้อตกลงสันติภาพในสมัยอดีตประธานาธิบดี กลอเรีย อาร์โรโย ก็ต้องพับไปในขั้นตอนสุดท้าย หลังมีเสียงต่อต้านจากประชาชน

จาฟาร์ ย้ำว่า ข้อตกลงที่เจรจากับ อากิโน เมื่อวานนี้(6)ยังเป็นเพียง “โรดแม็ป” และยังไม่มีการพูดคุยประเด็นสำคัญๆ เช่น ขอบเขตของพื้นที่ที่จะประกาศเป็นเขตกึ่งปกครองตนเอง หรือช่วงเวลาที่กลุ่มกบฎโมโรจะยอมวางอาวุธอย่างเป็นทางการ

เกาะมินดาเนามีประชากรมุสลิมอาศัยอยู่กว่า 4 ล้านคน โดยชนเหล่านี้ตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายเมื่อครั้งที่ฟิลิปปินส์ยังเป็นรัฐสุลต่าน ก่อนที่สเปนจะเข้ายึดครองและเผยแผ่คริสตศาสนาในทศวรรษที่ 1500

การอพยพย้ายเข้าของผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ทำให้ชาวมุสลิมกลายเป็นชนกลุ่มน้อยบนเกาะมินดาเนา แต่พวกเขายังยืนกรานขอสิทธิในการปกครองตนเอง และบริหารจัดการทรัพยากรในภูมิภาคนี้

เกาะมินดาเนาอุดมไปด้วยทรัพยากรที่มีค่าเชิงเศรษฐกิจ เช่น ทองคำ, ทองแดง และแร่ธาตุอื่นๆ และยังเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่สำคัญของฟิลิปปินส์ด้วย

นักวิเคราะห์ชี้ว่า หลังผ่านการต่อสู้มานาน 4 ทศวรรษ ผู้นำกบฎโมโรที่เริ่มชราภาพคงปรารถนาที่จะเห็นผลสัมฤทธิ์ของการเจรจาสันติภาพ และยังหวังประโยชน์จากสัมปทานแหล่งน้ำมัน, ก๊าซธรรมชาติ และแร่ธาตุที่มีอยู่มหาศาล โดยมีการประเมินว่า ทรัพยากรแร่ธาตุบนเกาะมินดาเนานั้นอาจมีมูลค่าสูงถึง 312,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเลยทีเดียว

กบฎโมโรและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนอื่นๆเริ่มจับอาวุธต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชหรือสิทธิในการปกครองตนเองมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1970 เหตุความไม่สงบที่ยืดเยื้อคร่าชีวิตชาวฟิลิปปินส์ไปกว่า 150,000 คน และทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะมินดาเนาต้องเผชิญปัญหาความยากจนซ้ำซาก

กบฎโมโรเปิดเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลมะนิลาครั้งแรกในปี 1997 ซึ่งก็ต้องล้มเหลว เมื่ออดีตประธานาธิบดี โจเซฟ เอสตราดา ประกาศทำสงครามกวาดล้างกบฎแบ่งแยกดินแดนในปี 1998

ฟิลิปปินส์ทำข้อตกลงหยุดยิงกับกบฎโมโรอีกครั้งในสมัยของอดีตประธานาธิบดี อาร์โรโย เมื่อปี 2003 แต่หลังจากการเจรจาไม่สัมฤทธิ์ผลในปี 2008 ผู้บัญชาการกบฎ 2 รายก็นำกำลังเข้าโจมตีหมู่บ้านชาวคริสต์บนเกาะมินดาเนา จนมีผู้เสียชีวิตไป 400 ราย และชาวบ้านอีก 750,000 คนต้องหลบหนีไปอาศัยอยู่ที่อื่น

การเจรจาสันติภาพเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว โดยประธานาธิบดี อากิโน ได้เดินทางไปพบกับ มูราด เอบราฮิม ประธานกบฎโมโร ที่ญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นการเจรจาแบบตัวต่อตัวครั้งแรกระหว่างประธานาธิบดีฟิลิปปินส์กับผู้นำกบฎโมโร
กำลังโหลดความคิดเห็น