xs
xsm
sm
md
lg

“รบ.ปินส์-กบฎโมโร” เซ็นสัญญายุติสู้รบ เล็งทำข้อตกลงสันติภาพได้ในปี 2016

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สตรีชาวมุสลิมในฟิลิปปินส์ชูป้ายสนับสนุนข้อตกลงสันติภาพระหว่างกบฎโมโรกับรัฐบาลมะนิลา
เอเอฟพี - ผู้นำกบฎมุสลิมซึ่งก่อเหตุความไม่สงบในภาคใต้ของฟิลิปปินส์มานานกว่า 4 ทศวรรษ ลงนามในข้อตกลงยุติการสู้รบกับรัฐบาลมะนิลา วันนี้(15) ขณะที่ทั้งสองฝ่ายเตือนว่าหนทางสู่สันติภาพเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น

ประธานาธิบดี เบนิโญ อากิโน แห่งฟิลิปปินส์ และ มูราด เอบราฮิม ผู้นำขบวนการ โมโร อิสลามิก ลิเบอเรชัน ฟรอนท์ (MILF) หรือกบฎโมโร ร่วมพิธีลงนามข้อตกลงยุติการต่อสู้ที่ทำเนียบมาลากันยัง กรุงมะนิลา ซึ่งคาดว่าจะนำไปสู่การทำข้อตกลงสันติภาพฉบับสมบูรณ์ได้ภายในปี 2016

“ผมเดินทางมาอย่างสันติ เพื่อร่วมเป็นหุ้นส่วนสันติภาพบนพื้นฐานข้อตกลงระหว่างกลุ่ม MILF กับรัฐบาลฟิลิปปินส์” เอบราฮิม กล่าวสุนทรพจน์ที่ทำเนียบประธานาธิบดี ก่อนจะเข้าสู่พิธีลงนามข้อตกลง

“เราขอหยิบยื่นมิตรภาพและความเป็นหุ้นส่วนต่อท่านประธานาธิบดี รวมถึงชาวฟิลิปปินส์ทุกคน”

ประธานาธิบดี อากิโน ซึ่งผลักดันการเจรจาสันติภาพกับกบฎโมโรมาตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศเมื่อปี 2010 ยกย่องข้อตกลงฉบับนี้ว่าเป็นโอกาส “ที่จะนำไปสู่สันติภาพอย่างแท้จริงและยั่งยืน”

เอบราฮิม เป็นผู้นำกบฎโมโรคนแรกที่เหยียบย่างเข้าสู่ทำเนียบมาลากันยัง ซึ่งทำให้ทุกฝ่ายมีความหวังว่าจะสามารถยุติความขัดแย้งที่คร่าชีวิตพลเมืองไปแล้วไม่น้อยกว่า 150,000 คน และตอกย้ำถึงกระบวนการสร้างสันติภาพที่ อากิโน ยกให้เป็นนโยบายสำคัญลำดับต้นๆของรัฐบาล

ตามข้อตกลงในวันนี้(15) สมาชิกกบฎโมโร 12,000 คนจะยุติการเรียกร้องเอกราชบนเกาะมินดาเนา เพื่อแลกกับอำนาจปกครองและผลประโยชน์จากการบริหารทรัพยากรในเขตกึ่งปกครองตนเอง ซึ่งประกอบด้วย 5 จังหวัด, 2 เมืองใหญ่, 6 เมืองรอง และอีกหลายหมู่บ้าน คิดเป็นพื้นที่ราว 10% ของดินแดนฟิลิปปินส์

รัฐบาลปกครองตนเองจะมีสิทธิ์เก็บภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆจากพลเมือง และจะปันผลประโยชน์ที่ได้จากทรัพยากรธรรมชาติแก่รัฐบาลกลาง “อย่างยุติธรรมและเท่าเทียม” โดยรัฐบาลยังคงมีอำนาจสิทธิ์ขาดด้านกลาโหม, นโยบายต่างประเทศ, นโยบายทางการเงิน และกิจการเกี่ยวกับพลเมือง

กฎหมายอิสลามหรือ “ชารีอะห์” จะบังคับใช้กับชาวมุสลิมและใช้ในคดีแพ่งเท่านั้น ประชากรทุกกลุ่มจะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีพ, อพยพโยกย้าย, ความเป็นส่วนตัว, เสรีภาพในการนับถือศาสนา และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

อย่างไรก็ตาม ผู้นำกบฎโมโร, รัฐบาล และผู้สังเกตการณ์อิสระ ยังเตือนว่า หนทางไปสู่สันติภาพยังต้องเผชิญอุปสรรคอีกมาก และการลงนามข้อตกลงในวันนี้(15)ก็ไม่สามารถการันตีได้ว่า เหตุรุนแรงจะไม่เกิดขึ้นอีก

ฆอชาลี จาฟาร์ รองผู้นำกบฎโมโรฝ่ายกิจการการเมือง ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางมายังกรุงมะนิลาว่า “เรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับการต้อนรับจากรัฐบาล แต่ผมต้องย้ำอีกครั้งว่า นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการสันติภาพเท่านั้น”

นับตั้งแต่ทศวรรษ1970 กบฎโมโรพยายามต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราช หรือขอสิทธิในการปกครองตนเองบนเกาะมินดาเนา ซึ่งพวกเขาถือว่าเป็นแผ่นดินที่บรรพบุรุษอาศัยอยู่มาหลายชั่วอายุคน ก่อนจะถูกสเปนยึดครองเป็นอาณานิคมเมื่อทศวรรษ 1500

การอพยพย้ายเข้าของผู้นับถือศาสนาคริสต์ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาทำให้ชาวมุสลิม 4-9 ล้านคนกลายเป็นเพียงชนกลุ่มน้อยบนเกาะมินดาเนา ทว่าเขตกึ่งปกครองตนเอง “บังสาโมโร” ที่จะตั้งขึ้นใหม่จะมีชาวมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่
กำลังโหลดความคิดเห็น