ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ออกแถลงการณ์แจงจุดยืนที่มีนักวิชาการยกกรณีรัฐบาลฟิลิปปินส์เจรจาตกลงสันติภาพกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนโมโร แล้วเสนอให้ไทยใช้เป็นต้นแบบเพื่อดับไฟใต้ ยันรัฐบาลไทยจะไม่ให้มีการนำคนกลางมาเจรจา และจะไม่มีการเจรจากับกลุ่มก่อเหตุรุนแรงใดๆ ในพื้นที่ชายแดนใต้
ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์การก่อความไม่สงบขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2547 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งตลอดระยะเวลา 8 ปีที่เกิดปัญหา รัฐบาลไทยโดยฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายพัฒนาได้ใช้ความพยายามในการแก้ปัญหาจนพัฒนาไปในทางที่ดีตามลำดับ
แต่ทั้งนี้เนื่องจากในห้วงตั้งแต่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2555 อันเป็นห้วงที่ได้มีการลงนามข้อตกลงสันติภาพระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์ กับขบวนการแบ่งแยกดินแดนโมโร หรือ MILF กรณียุติการสู้รบในพื้นที่เกาะมินดาเนา ที่เรียกว่า “บังซาโมโร” ครอบคลุมพื้นที่บนเกาะมินดาเนาทางภาคใต้ของประเทศฟิลิปปินส์ และได้มีนักวิชาการบางส่วนได้ออกมาแสดงความเห็น ตลอดจนพยายามผลักดันให้รัฐบาลไทยพิจารณารับการเจรจาตกลงสันติภาพ เช่นเดียวกับที่รัฐบาลประเทศฟิลิปปินส์ได้ดำเนินการกับขบวนการโมโร หรือ MILF นั้น
เพื่อให้ประชาชน ส่วนราชการ และภาครัฐวิสาหกิจได้มีความเข้าใจที่ชัดเจนถึงเหตุผลที่รัฐบาลไทย โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จะยังไม่มีการเจรจากับกลุ่มก่อเหตุรุนแรงใดๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนี้
ประการที่ 1 รัฐบาลไทยยังถือว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ล้วนเป็นประชาชนชาวไทยที่มีสิทธิเสรีภาพ และได้รับการคุ้มครอง ตลอดจนได้รับการแก้ไขปัญหาเช่นเดียวกับประชาชนชาวไทยในภาคอื่นๆ ที่มีวิถีชีวิตอยู่ร่วมกัน เช่น ประชาชนชาวไทยเชื้อสายจีน, ลาว, กัมพูชา, พม่า, เย้า, ม้ง, ลีซอ, กะเหรี่ยง และชนกลุ่มน้อยอีกหลายเผ่าพันธุ์หลายพื้นที่ ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงเป็นปัญหาภายในของประเทศไทย
ประการที่ 2 รัฐบาลไทยมีความมั่นใจที่จะยืนยันอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลไทยได้ทำการปกครองดูแลประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้หลักการของสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และการเคารพซึ่งหลักสิทธิมนุษยชนอย่างสมบูรณ์ ดังนั้น ประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงมีสิทธิในการดำรงอยู่ ประกอบอาชีพ และนับถือศาสนาได้ทุกศาสนาตามที่ตนต้องการ ดังนั้น ที่ผ่านมาจึงไม่ปรากฏพฤติกรรมใดๆ ที่แสดงถึงการที่รัฐบาลไทยมีการกีดกันด้านศาสนา นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมกิจกรรมในด้านการรักษาความปลอดภัยในชีวิต-ทรัพย์สิน และการพัฒนากิจการทางด้านศาสนาอย่างเต็มขีดความสามารถ
จึงไม่เห็นความจำเป็นที่รัฐบาลประเทศใด ประเทศหนึ่งจะถือเป็นเงื่อนไข และยกเหตุการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เป็นปัญหาระดับสากลที่จำเป็นต้องมีการเจรจาในระดับรัฐบาลกับกลุ่มบุคคล ที่แม้แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ปรากฏตัวแทนอันแน่ชัด และพร้อมจะเจรจากับรัฐบาลไทยแต่อย่างใด
ประการที่ 3 สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐบาลไทยปัจจุบัน รัฐบาลยังคงยึด และเคารพในหลักการแห่งมนุษยธรรม และสิทธิมนุษยชน โดยเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง หรือเรียกว่าผู้มีความเห็นต่างจากรัฐ ได้เดินทางออกมาพูดคุยเพื่อกลับออกมาใช้ชีวิตตามปกติกับครอบครัว โดยรัฐบาลไทยสามารถยืนยันให้ความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัย สวัสดิภาพ รวมถึงการช่วยเหลือในด้านการกระบวนการยุติธรรม ซึ่งผู้ก่อเหตุรุนแรงอาจงมีประวัติภูมิหลังของการเกี่ยวข้องกับคดีที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบันได้มีผู้มีความเห็นต่างจากรัฐได้สมัครใจเดินทางออกมาแสดงตน และได้รับการช่วยเหลือจากรัฐแล้วจำนวนหลายราย