ปัตตานี - เวทีเสวนา “สันติภาพ ประชาชน ปาตานี” ผู้เข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน ระบุต้องการกำหนดชะตากรรมของตัวเอง ด้านสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดน เผยเตรียมทำประชามติศึกษารูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกับท้องถิ่นต่อไป
เมื่อช่วงบ่ายวันนี้ (9 ธ.ค.) ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีเวทีการเสวนา “สงครามและสันติภาพ ประชาชนปาตานี” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง อดีต คตส. และผู้อำนวยการหลักสูตรเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ สถาบันพระปกเกล้าฯ นายอับดุลรอนิง เด็งสาแม เลขานุการศูนย์ประสานงานโรงเรียนตาดีกาจังหวัดชายแดนใต้ (PERKASA) นายตูแวดานียา ตูแวแมแง รองผู้อำนวยการสถาบันเยาวชนเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (YDA) นายฮัมซะห์ โฏมลซังลัยดายัน ประธานองค์กรเยาวชนเพื่อสันติภาพและการพัฒนา สาขาจังหวัดโนดกอตอบาตู บังซาโมโร ประเทศฟิลิปปินส์ (UNYPAD) นายสุพัฒน์ อาษาศรี เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) นายกริยา มูซอ เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) พร้อมประชาชนชาวปัตตานีได้เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง
โดยเนื้อหาสาระของการเสวานาในครั้งนี้ เป็นการชี้แจงในข้อกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิเสรีภาพในการที่จะให้ประชาชนร่วมกำหนดรูปแบบการปกครองของตัวเองได้ โดยมีการอธิบายรูปแบบการปกครองว่าปัจจุบันเป็นการปกครองรูปแบบใด ทำให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างไร แล้วรูปแบบการปกครองตัวเอง หรือมากไปกว่านั้นเป็นอย่างไร เราในฐานะพลเมืองนั้นเราทำได้หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องสร้างความเข้าใจให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่อีกมาก
นอกจากนั้น ในเวทีเสวานายังได้หยิบยกกรณีบังซาโมโร ประเทศฟิลิปปินส์ ที่สามารถยุติปัญหาความขัดแย้งได้หลังจากที่ได้มีการต่อสู่มายาวนานหลายปี ซึ่งมีความแตกต่างกับในส่วนของพื้นที่ชายแดนใต้เป็นอย่างมาก และการต่อสู่การบังซาโมโรไม่เพียงการจับอาวุธเพียงอย่างเดียว และดำเนินการในวิธีอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย ดังนั้น ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หากจะมีการผลักดันเพื่อให้ทำประชามติก็คงต้องใช้เวลาเตรียมความพร้อมอีกมาก เพราะนอกจากเหตุความไม่สงบแล้ว ยังเกิดปัญหาระบาดของยาเสพติดอย่างแรงในหมู่เยาวชน และปัญหาการศึกษาที่ยังเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนด้วย
นายกริยา มูซอ เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) กล่าวสรุปภาพรวมของกิจกรรมในครั้งนี้ว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นกิจกรรมแรกที่นักศึกษาในพื้นที่เริ่มนับหนึ่งในการผลักดันให้เกิดการทำประชามติ ส่วนการลงคะแนนจากแบบสอบถาม 3 ภาษา ทั้งไทย อังกฤษ มลายู ที่แจกให้ผู้ร่วมงานแสดงความเห็นว่าต้องการกำหนดชะตากรรมของตัวเองหรือไม่นั้น ผลปรากฏว่า มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด จำนวน 1,335 คน มีผู้ที่ประสงค์จะร่วมกำหนดชะตากรรมตนเอง จำนวน 1,184 คน ไม่ประสงค์ลงคะแนน จำนวน 8 คน บัตรเสีย จำนวน 16 ใบ และไม่หยอนบัตร จำนวน 327 ใบ
ซึ่งเสียงจาก 1,184 เสียงครั้งนี้ จะนำไปเป็นเสียงเริ่มต้นในการทำการสำรวจประชามติเกี่ยวกับรูปแบบการปกครองในพื้นที่ต่อไป เนื่องจากเชื่อว่า พลังจากประชาชนเท่านั้นที่จะส่งผลแห่งความสันติอย่างยั่งยืน