xs
xsm
sm
md
lg

แมร์เคิล-ออลลองด์ยังเสียงแข็ง ย้ำกรีซต้องยึดมั่นแนวทางปฏิรูป หากยังหวังอยู่ร่วม “ยูโรโซน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฟรองซัวส์ ออลลองด์-อังเกลา แมร์เคิล
เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ผู้นำเยอรมนีและฝรั่งเศสย้ำชัด รัฐบาลกรีซไม่ควรคาดหวังการผ่อนปรนใดๆ จากข้อกำหนดในมาตรการรัดเข็มขัด หากกรีซไม่ยอมยึดถือการปฏิรูปตามแนวทางอันเข้มงวด

ท่าทีล่าสุดของเยอรมนี และฝรั่งเศส มีขึ้นหลังการพบหารือกันของนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงของเยอรมนี กับประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ ผู้นำฝรั่งเศส ในประเด็นที่ว่ารัฐบาลเอเธนส์สมควรได้รับการขยายระยะเวลาเพิ่มขึ้นในการตัดลดการใช้จ่ายเพื่อลดการขาดดุลงบประมาณให้ได้ตามเป้าหมายหรือไม่ ก่อนที่ผู้นำทั้งสองจะมีกำหนดต้อนรับการมาเยือนของอันโตนิส ซามาราส นายกรัฐมนตรีของกรีซในช่วงสุดสัปดาห์นี้ทั้งที่กรุงเบอร์ลิน และกรุงปารีส ตามลำดับ

“สำหรับดิฉันแล้วมันสำคัญมากที่พวกเราจะต้องยึดมั่นต่อพันธสัญญาร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เรารอคอยผลของการตรวจสอบจากรายงานของทรอยกา” นายกรัฐมนตรีแมร์เคิลกล่าว พร้อมยืนยันจะสนับสนุนให้รัฐบาลกรีซเดินตามแนวทางแห่งการปฏิรูปอันเข้มงวดต่อไป

ขณะที่ ประธานาธิบดีออลลองด์ ผู้นำฝรั่งเศส แสดงความหวังว่าจะได้เห็นกรีซเป็นส่วนหนึ่งของยูโรโซน หรือกลุ่ม 17 ประเทศที่ใช้เงินยูโรเป็นเงินตราสกุลหลักต่อไป แต่ทั้งนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลกรีซต้องใช้ความพยายามอย่างสำคัญ เพื่อให้ตนเองยังคงเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มการเงินแห่งนี้ด้วยเช่นกัน

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันพุธ (22) ที่ผ่านมา ฌอง โคลด ยุงค์เกอร์ ประธานที่ประชุมรัฐมนตรีคลังยูโรโซน หรือ “ยูโรกรุ๊ป” ออกมาเปิดเผยหลังพบหารือกับนายกรัฐมนตรีอันโตนิส ซามาราสของกรีซโดยระบุ ยังอาจจะพอมีความเป็นไปได้ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขบางอย่างที่ผูกติดไว้กับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กรีซ ซึ่งมีหนี้สินล้นพ้นตัว และประสบกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจนาน 5 ปีติดต่อกันแล้ว

ทั้งนี้ รายงานของคณะผู้ตรวจสอบ 3 ฝ่าย (ทรอยกา) ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้แทนจากคณะกรรมาธิการยุโรป กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารกลางยุโรป มีกำหนดจะเสร็จสิ้นและถูกเผยแพร่ในเดือนหน้า ซึ่งรายงานดังกล่าวจะเป็นตัวตัดสินอนาคตว่ากรีซสมควรจะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินรอบใหม่อีก 33,500 ล้านยูโรหรือไม่ โดยเป็นที่คาดกันว่า หากผลการตรวจสอบพบว่ากรีซไม่สามารถตัดลดการใช้จ่ายได้ตามเป้าหมายที่ 11,500 ล้านยูโรภายในระยะเวลา 2 ปีจากนี้ กรีซก็จะไม่ได้รับอนุมัติความช่วยเหลือครั้งใหม่ ซึ่งจะทำให้กรีซต้องล้มละลายอย่างสิ้นเชิงและต้องออกจากกลุ่มยูโรโซนในที่สุด
อันโตนิส ซามาราส นายกรัฐมนตรีกรีซ
กำลังโหลดความคิดเห็น