xs
xsm
sm
md
lg

นักการเมืองอาวุโสเมืองเบียร์ชี้ รบ.เยอรมันจ่อเลิกอุ้มกรีซ ระบุแบกรับ “ปัญหาของคนอื่น” ต่อไม่ไหว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มิชาเอล ฟุคส์
เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์-รัฐบาลเยอรมนีจะขัดขวางความช่วยเหลือทางการเงินรอบใหม่ต่อกรีซ หากพบว่ารัฐบาลเอเธนส์ไม่ยอมปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ผูกติดมากับแพ็คเกจเงินกู้รอบก่อนหน้านี้ โดยรัฐบาลเมืองเบียร์ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นชาติที่มีขนาดของเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรปจะใช้ “สิทธิยับยั้ง” ทันที หากชาติสมาชิก อื่นๆในกลุ่มยูโรโซนหรือ 17 ประเทศที่ใช้เงินยูโรเป็นเงินตราสกุลหลักจะเห็นชอบให้มีการช่วยเหลือกรีซรอบใหม่

รายงานข่าวเมื่อวันอาทิตย์ (12) ซึ่งอ้างนายมิชาเอล ฟุคส์ สมาชิกรัฐสภาอาวุโสสายอนุรักษ์นิยม ซึ่งเป็นพันธมิตรของนายกรัฐมนตรีหญิง อังเกลา แมร์เคิล ออกมาเปิดเผยผ่าน หนังสือพิมพ์ธุรกิจรายวัน “ฮันเดิลสบลัตต์” ว่ารัฐบาลเบอร์ลินพร้อมจะใช้ “สิทธิยับยั้ง” หรือ “วีโต” ทันที ถ้าหากรายงานของคณะผู้ตรวจสอบ 3 ฝ่าย(ทรอยกา)ที่คาดว่าจะออกมาช่วงกลางเดือนกันยายนนี้มีข้อสรุปว่า รัฐบาลกรีซล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการปฏิบัติตามเงื่อนไขด้านการรัดเข็มขัดและตัดลดค่าใช้จ่ายที่ผูกติดมากับเงินช่วยเหลือที่กรีซได้รับก่อนหน้านี้

ฟุคส์ระบุว่า ผลการตรวจสอบของคณะผู้แทน 3 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วยจากสหภาพยุโรป (อียู) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะเป็นปัจจัยชี้ขาดว่า ประเทศซึ่งมีหนี้สินล้นพ้นตัวและไร้วินัยทางการเงินการคลังอย่างกรีซ สมควรจะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินรอบใหม่อีก 31,500 ล้านยูโร (ราว 1.22 ล้านล้านบาท) หรือไม่

โดยฟุคส์ย้ำว่า หากรายงานของคณะทรอยกาดังกล่าวออกมาว่า กรีซไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข หรือ ล้มเหลวที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขในแพ็กเกจเงินช่วยเหลือครั้งก่อน เยอรมนีก็จะไม่ลังเลที่จะแสดงจุดยืนคัดค้านการปล่อยเงินช่วยเหลือกรีซรอบใหม่ในทันที ถึงแม้จะมีประเทศสมาชิกยูโรโซนอื่นๆ เรียกร้องให้ปล่อยเงินช่วยเหลือครั้งใหม่ต่อกรีซก็ตาม

“รัฐบาลเยอรมนีและชาวเยอรมัน ได้ก้าวเดินมาถึงจุดที่ไม่สามารถจะแบกรับภาระในเรื่องหนี้สิน ของกลุ่มยูโรโซนได้อีกต่อไป และถึงเวลาแล้วที่สมาชิกยูโรโซนทั้งหลายจะต้องตระหนักถึงปัญหาที่พวกเขาก่อขึ้น และรับผิดชอบตัวเอง แทนการหวังพึ่งเยอรมนี ดังเช่นที่ผ่านมา” ฟุคส์กล่าว

สมาชิกรัฐสภาอาวุโสของเยอรมนีรายนี้ยังระบุว่า คงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการบังคับขู่เข็ญให้ประเทศใดประเทศหนึ่งต้องก้าวออกไปพ้นจากความเป็นสมาชิกของกลุ่มยูโรโซน แต่เมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง เชื่อว่ารัฐบาลกรีซคงจะต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร ถ้าหากประเทศของตนไม่อยู่ในสถานะที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีต่างๆ เพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจและแก้วิกฤตหนี้สินได้อีกต่อไป
นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลแห่งเยอรมนี
กระแส ยี้ กรีซในยูโรโซนมีมากขึ้นทุกขณะ
กรีซอาจต้องออกจากยูโรโซนในไม่ช้า
อันโตนิส ซามาราส นายกรัฐมนตรีกรีซ อยากได้เงินช่วยก้อนใหม่ แต่ไม่อยากปฏิรูป
กำลังโหลดความคิดเห็น