xs
xsm
sm
md
lg

คดี‘ภรรยาป๋อซีไหล’กับการปฏิรูปทางการเมืองในจีน

เผยแพร่:   โดย: ฟรานเชสโก ซิสซี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Silence in court gives wind of reform
By Francesco Sisci
14/08/2012

มีเรื่องราวเล่าขานกันในปักกิ่งอยู่เวอร์ชั่นหนึ่ง เกี่ยวกับมูลเหตุจูงใจที่ทำให้ กู่ ไคไหล ลงมือสังหาร นีล เฮย์วูด ชาวอังกฤษผู้ต้องสงสัยว่าน่าจะเป็นสายลับ เรื่องเล่านี้มิได้มีความขัดแย้งใดๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างการพิจารณาคดีของเธอเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทว่ามันจะทำให้ ป๋อ ซีไหล ผู้เป็นสามีของเธอ ตกอยู่ในฐานะของการเป็นนักชาตินิยมต่อต้านตะวันตกในตอนกลางวัน แต่กลับเป็นสมัครพรรคพวกของสายลับตะวันตกในตอนกลางคืน ไม่ว่าเรื่องราวในเวอร์ชั่นนี้จะเป็นจริงหรือเป็นเท็จ แต่สมมุติฐานของมันก็เพียงพอที่จะลดทอนความน่าเชื่อถือของพวกนักชาตินิยม และบ่งชี้ว่าต่อจากนี้ไปการถกเถียงอภิปรายทางการเมืองในแดนมังกรจะเปลี่ยนแปลงผิดแผกไปจากเดิม ด้วยเหตุนี้ คำพิพากษาที่ออกมาว่า กู่ ไคไหล กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา จึงอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการตัดสินใจที่จะเปิดฉากการปฏิรูปทางการเมืองด้านต่างๆ ซึ่งเป็นที่เฝ้ารอคอยกันมานานก็ได้

ปักกิ่ง – กระบวนการที่เปิดขึ้นมาและปิดฉากลงไปอย่างรวดเร็วเมื่อสัปดาห์ที่แล้วในเมืองเหอเฟย ซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลที่อยู่ดินแดนตอนในอย่างอานฮุย ทั้งห่างไกลจากสื่อมวลชนระหว่างประเทศ และทั้งห่างออกไป 1,000 ไมล์จากกรุงปักกิ่ง คือสิ่งที่สามารถบ่งบอกหลักหมายแห่งอนาคตของจีนได้อย่างมากมายมหาศาล ชนิดที่คงจะมีสิ่งอื่นๆ น้อยนักที่จะกระทำได้เทียบเท่า กระบวนการดังกล่าวก็คือการพิจารณาคดีในศาลซึ่งจำเลยได้แก่ กู่ ไคไหล ภริยาของ ป๋อ ซีไหล บุรุษผู้ต้องการนำพาประเทศจีนเข้าสู่เส้นทางแห่งลัทธินีโอเหมาอิสต์ (neo-Maoism)

หลังการถึงแก่มรณกรรมของ เหมา ในปี 1981 การไต่สวนดำเนินคดีพวกที่จงรักภักดีต่อเขา อันได้แก่ “แก๊ง 4 คน” ผู้มีชื่อฉาวโฉ่ ได้กลายเป็นหลักหมายบ่งบอกการตัดสินใจทางการเมืองของแดนมังกรที่จะต้อนรับนโยบายในการดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจด้านต่างๆ ในทำนองเดียวกัน การพิพากษาความผิดของ กู่ ไคไหล ก็อาจจะ เป็นการตีตราผนึกรับรองการตัดสินใจของพรรคที่จะเปิดฉากการปฏิรูปทางการเมืองด้านต่างๆ ภายหลังที่ได้ชะลอเนิ่นช้ามานาน (แน่นอนทีเดียวว่า การตัดสินใจเช่นว่านี้คงจะเกิดขึ้นมาภายหลังจากที่มีการโต้แย้งและการถกเถียงอภิปรายกันอย่างมากมายแล้ว)

การพูดเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการลดค่าราคาของบรรดาข้อกล่าวหาต่อตัว กู่ ซึ่งโดยสาระสำคัญแล้วน่าที่จะเป็นข้อกล่าวหาที่มีมูล เนื่องจากเป็นแน่นอนอยู่แล้วว่าข้อกล่าวหาเหล่านี้ต้องผ่านการตรวจสอบอย่างพินิจพิเคราะห์จากประดาพันธมิตรทางการเมืองจำนวนมากของ ป๋อ ซีไหล แล้วพวกเขาก็เถียงไม่ขึ้นโต้แย้งไม่ออกเมื่อเผชิญกับหลักฐานอันมากมายหนักแน่น ข้อเท็จจริงที่วางแบออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนก็คือ กู่ ถูกกล่าวหาและถูกตัดสินว่ากระทำอาชญากรรมอันร้ายแรงยิ่งจริงๆ –ซึ่งได้แก่การฆ่าพลเมืองอังกฤษนาม นีล เฮย์วูด (Neil Heywood)

แรงจูงใจของการฆาตกรรมคราวนี้ยังคงไม่เป็นที่ชัดเจน ถึงแม้ได้มีการอธิบายเรื่องนี้เป็นอย่างแรกๆ ในระหว่างการพิจารณาคดีในศาลที่เมืองเหอเฟยก็ตามที การพูดคุยเล่าขานกันในปักกิ่งเวลานี้บ่งชี้ให้เห็นว่า มันเป็นปัญหาเรื่องเงินๆ ทองๆ กล่าวคือ เฮย์วูดซึ่งเป็นผู้จัดส่งเงินทองของ กู่ ไปซุกซ่อนในต่างประเทศ เรียกร้องต้องการเปอร์เซ็นต์ที่สูงขึ้นจากเธอ และคำตอบที่เฮย์วูดได้รับก็คือการถูกฆ่าตาย เรื่องที่เล่ากันเวอร์ชั่นนี้ มีร่องรอยของความไม่สมดุลทางจิตใจตลอดจนความหยิ่งผยองแฝงฝังอยู่ เป็นต้นว่า ทำไม กู่ ถึงต้องฆ่าคนในเมื่อคุณเพียงแค่จ่ายเงินให้ไปก็หมดปัญหาแล้ว เป็นที่รู้ๆ กันอยู่แล้วว่าเมื่อคุณทำการฟอกเงิน บริการอย่างนี้ไม่ใช่บริการฟรีๆ อย่างแน่นอน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เธอจึงต้องบ้าหรือไม่ก็หยิ่งผยองเอามากๆ หรืออาจจะมีทั้งสองส่วนนี้ผสมผสานกัน

แน่นอนทีเดียวว่า ถ้าหากเรื่องราวไม่ใช่อย่างที่กล่าวมานี้ หากแต่เป็นจริงตามเวอร์ชั่นที่สองที่เล่าขานกันแล้ว มันก็ดูจะสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นไปอีก เป็นที่สงสัยกันอยู่แล้วว่าแท้ที่จริง เฮย์วูด เป็นคนที่ทำงานด้านจารกรรม เรื่องนี้ดูจะสามารถใช้มาอธิบายได้ว่า ทำไมจึงมีการปิดปากเงียบกันอย่างรีบร้อนอย่างผิดสังเกต เมื่อตอนที่กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษรับมอบอัฐิของเฮย์วูด ผู้ซึ่งเป็นชายวัย 41 ปีที่มีสุขภาพดี ทว่าศพของเขากลับถูกนำไปฌาปนกิจในเวลาเพียง 48 ชั่วโมงหลังเสียชีวิต

ในระบบอย่างของจีนนั้น เต็มไปด้วยความไม่ชัดเจนและความระแวงสงสัย แม้กระทั่งเมื่อมีกลิ่นอันคลุมเครือเกี่ยวกับการจารกรรมปรากฏขึ้นมา ก็อาจจะเพียงพอแล้วที่จะทำให้กลไกทางการเมืองอันสลับซับซ้อนของแดนมังกรเกิดการเคลื่อนไหวเพื่อดำเนินการถอดถอน ป๋อ และริเริ่มดำเนินการปฏิรูปทางการเมืองด้านต่างๆ ขึ้นมา ทั้งนี้ ถ้าหาก เฮย์วูด ถูกสงสัยว่าเป็นสายลับ ถ้าเช่นนั้นแล้ว ป๋อ ก็เข้าข่ายต้องสงสัยว่าจะเป็นคนทรยศขายชาติด้วยเหมือนกัน การเป็นคนทรยศขายชาตินั้นเป็นสิ่งที่ชาวจีนคนไหนก็ไม่มีทางอภัยให้เลย –โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นกรณีของคนเฉกเช่น ป๋อ ผู้ซึ่งส่งเสริมสนับสนุนความคิดอุดมการณ์แบบชาตินิยมและแบบประชานิยมอย่างแข็งขัน

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ป๋อ ย่อมกลายเป็นบุคคลที่วางท่าเป็นนักชาตินิยมและต่อต้านตะวันตกในตอนกลางวัน แต่แล้วในตอนกลางคืนกลับกลายเป็นสมัครพรรคพวกของประดาสายลับตะวันตก และดังนั้นจึงมีความผิดฐานทรยศกบฏชาติอย่างชัดเจน

ไม่ว่ามันจะจริงหรือมันจะเท็จ แต่เรื่องราวในเวอร์ชั่นหลังนี้ก็ยิ่งกว่าเพียงพอเสียอีก ที่จะผลักดันให้รัฐบาลแดนมังกรเคลื่อนไปบนเส้นทางสู่การปฏิรูปทางการเมืองและการเปิดเสรีกับฝ่ายตะวันตก เพราะเรื่องของป๋อในเวอร์ชั่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นแล้วว่าคนทรยศขายชาติตัวจริงนั้น น่าจะเป็นพวกที่แสดงตัวเป็นนักชาตินิยมอยู่ปาวๆ นั่นแหละ กล่าวอีกอย่างหนึ่ง เรื่องนี้กำลังลดทอนเกียรติภูมิความน่าเชื่อถือของฝักฝ่ายในพรรคที่เป็นพวกนิยมสนับสนุนวาระแบบนักชาตินิยมกันไปทั้งฝ่ายทีเดียว อีกทั้งเรื่องนี้ยังกำลังทำให้จุดสมดุลแห่งการถกเถียงอภิปรายทางการเมืองของจีนเคลื่อนตัวเปลี่ยนแปลงไปสู่ทิศทางที่แตกต่างออกไปจากเดิม ในเมื่อเรื่องนี้บ่งบอกให้ทราบโดยปริยายแล้วว่าผลประโยชน์แห่งชาติของจริงของแท้นั้น อยู่ที่การอ้าแขนต้อนรับโลกต่างหาก หาใช่การกอดอกคัดค้านโลกไม่

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงเหล่านี้ยังคงละเอียดอ่อนเกินกว่าที่จะเปิดเผยต่อสาธารณชนในห้องพิจารณาคดีของศาล หรือในสื่อมวลชน เรื่องราวในเวอร์ชั่นนี้สามารถปะติดปะต่อขึ้นมาได้ก็เพียงด้วยการตั้งข้อระแวงสงสัย, การอนุมานหาเหตุผลแบบลางๆ เลือนๆ , และแน่นอนทีเดียวว่ายังไม่ค่อยมีข้อเท็จจริงอันหนักแน่นใดๆ มาสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราสามารถแน่ใจได้เลยว่า หลักฐานที่หนักแน่นที่สุด ซึ่งได้แก่หนังสือยอมรับเป็นลายลักษณ์อักษรจากลอนดอนระบุยืนยันว่าเฮย์วูดเป็นสายลับจริงๆ นั้น ปักกิ่งไม่มีทางได้รับมาหรอก และแม้กระทั่งสมมุติว่าเกิดมีหนังสือดังกล่าวขึ้นมาจริงๆ พวกพันธมิตรของ ป๋อ ก็อาจจะไม่เชื่อถือเอาเสียอีก เหล่าเพื่อนมิตรของ ป๋อ อาจจะโต้แย้งว่ามันเป็นเพียงแผนกโลบายสกปรกอีกอย่างหนึ่งที่ใช้มาเล่นงานคนของพวกเขาเท่านั้นเอง ยิ่งกว่านั้น การเปิดเผยออกมาว่า ป๋อ ให้ความร่วมมือกับองค์กรหน่วยงานต่างชาติ ก็อาจเท่ากับเป็นการตั้งข้อระแวงสงสัยอย่างเปิดเผยต่อกลไกของพรรคไปพร้อมๆ กันด้วย

ถ้าหากสภาพการณ์เป็นอย่างที่กล่าวมาแล้วนี้ ก็ควรต้องมีความพยายามอย่างแรงกล้าภายในกระบวนการในศาล และความพยายามอย่างแรงกล้าในทางการเมือง ที่จะทำให้ความจริงในเรื่องนี้ถูกปิดเงียบสนิทเอาไว้ ในเวลาเดียวกัน ก็น่าจะด้วยเหตุผลเดียวกันนี้เช่นกัน ซึ่งทำให้แม้ กู่ ยอมรับสารภาพว่าเป็นฆาตกร แต่เธอก็จะไม่ถึงขั้นถูกลงโทษประหารชีวิต อย่างที่มีการปูทางเอาไว้แล้วว่า ศาลเห็นว่าเธอมีส่วนในการช่วย “ทำให้ได้ทราบถึงประกอบอาชญากรรมของคนอื่นๆ” ทั้งนี้หากเธอจะถูกตัดสินโทษประหารชีวิตแล้ว โทษนี้ก็อาจจะขยายมาถึง ป๋อ ผู้เป็นสามีของเธอโดยอัตโนมัติด้วย เนื่องจากอย่างน้อยที่สุดเขาก็มีความผิดฐานพยายามปกปิดซุกซ่อนฆาตกร

ฐานอำนาจของคอมมิวนิสต์ในประเทศจีนนั้น ไม่เหมือนกับในประเทศคอมมิวนิสต์อื่นๆ ตรงที่ไม่ค่อยมีความเต็มใจเอาเลยที่จะใช้วิธีการกวาดล้างอย่างนองเลือดเพื่อกำจัดพวกผู้นำระดับท็อปคนอื่นๆ ของพรรคที่เป็นปรปักษ์กับฝ่ายกุมอำนาจ แม้กระทั่งในยุคของเหมา และยุคแห่งการปฏิวัติทางวัฒนธรรมก็เป็นเช่นนี้แล้ว ยิ่งเมื่อ เติ้ง ขึ้นครองอำนาจ ความไม่เต็มใจนี้ก็ยิ่งเพิ่มดีกรีมากขึ้นอีก เติ้งนั้นไม่เคยสั่งประหารชีวิตศัตรูของเขาเลย อย่างมากที่สุดก็คุมขังคนเหล่านี้เอาไว้ให้อยู่แต่ภายในบ้านพักจนตลอดชีวิต แม้กระทั่งในปี 1981 ในการพิจารณาคดีพวกเหมาอิสต์ชื่อเหม็นโฉ่อย่าง แก๊ง 4 คน ( ซึ่งถ้าหากพวกเขามีโอกาสแล้ว พวกเขาคงจะสั่งประหารชีวิต เติ้ง อย่างไม่ต้องสงสัย ) โทษประหารชีวิตของคนเหล่านี้ก็ถูกลดหย่อนให้กลายเป็นโทษจำคุก เมื่อเป็นเช่นนี้ในทุกวันนี้ซึ่งเป็นเวลาห่างจากตอนนั้น 30 ปี ก็ยิ่งมีเหตุผลเพิ่มขึ้นอีกมากที่จะคาดหมายว่าจะมีการลงโทษแบบผ่อนปรน นั่นก็คือ ป๋อ กับ กู่ น่าที่จะใช้ชีวิตที่เหลือของพวกเขาในที่คุมขัง อาจจะในตะรางหรือในบ้านของพวกเขาเอง ภายใต้การเฝ้าจับตาระแวดระวังอย่างกวดขัน และไม่ได้รับอนุญาตให้พบปะกับผู้ใด

อย่างไรก็ดี นี่ยังไม่ได้หมายความว่าเรื่องนี้ยุติปิดฉากลงแล้ว ข้อเท็จจริงที่ว่าคำวินิจฉัยของศาลได้เน้นย้ำด้วยว่า ยังมี “อาชญากรรมอื่นๆ” บ่งชี้ให้เห็นว่า ความทุกข์ยากเดือดร้อนของ ป๋อ ซีไหล ยังห่างไกลจากการจบเรื่องปิดเกมนัก

ฟรานเชสโก ซิสซี เป็นคอลัมนิสต์ให้กับ อิล โซเล 24 โอเร (Il Sole 24 Ore) หนังสือพิมพ์รายวันในอิตาลี สามารถที่จะติดต่อเขาทางอีเมล์ได้ที่ fsisci@gmail
กำลังโหลดความคิดเห็น