xs
xsm
sm
md
lg

‘ธงอัลกออิดะห์’โบกสะบัดเหนือพื้นที่ยึดครองของกบฏซีเรีย

เผยแพร่:   โดย: จอห์น โรเซนธัล

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Al-Qaeda flags fly over rebel-held Syria
By John Rosenthal
13/08/2012

รายงานของผู้สื่อข่าวจากเมืองเล็กระดับตำบลหลายๆ แห่งที่พวกกบฏควบคุมอยู่ ในบริเวณใกล้ๆ กับเมืองอะเลปโป เมืองสำคัญอันดับสองของซีเรีย เปิดเผยให้เห็นว่า พวกทหารที่ภักดีต่อระบอบปกครองบาชาร์ อัล-อัสซาด มักถูกประหารชีวิตโดยไม่ได้มีการไต่สวนพิจารณาความผิด ในเวลาเดียวกันพวกผู้สนับสนุนระบอบปกครองนี้ก็ตกเป็นเป้าหมายของการถูกจับกุมคุมขังและถูกล่วงละเมิด นอกจากนั้น จากการที่กลุ่มก่อความไม่สงบในซีเรียบางหน่วย ต่างพากันชักธงสีดำอันมีรูปแบบลักษณะชัดเจนว่าเป็นแบบเดียวกับที่กองกำลังอาวุธของอัลกออิดะห์นิยมใช้ จึงทำให้เกิดข้อกังขาขึ้นมาว่า ทำไมฝ่ายตะวันตกยังคงคาดหมายวาดหวังไปได้ว่า กลุ่มกบฏเหล่านี้จะยึดมั่นปฏิบัติตามระบบยุติธรรม ซึ่งมีความถูกต้องชอบธรรมมากกว่าระบบของระบอบปกครองอัสซาด

เมื่อเร็วๆ นี้เอง ได้เกิดการกระเพื่อมสั่นไหวเล็กๆ ขึ้นในแวดวงสื่อมวลชนอเมริกัน โดยที่ในที่สุดแล้วพวกองค์การสื่ออเมริกันรายหลักๆ ตั้งแต่ นิวยอร์กไทมส์ ไปจนถึง วอลล์สตรีทเจอร์นัล และ สำนักข่าวเอพี ก็อ้อมๆ แอ้มๆ ยอมรับว่า มีพวกอัลกออิดะห์และกลุ่มนักรบญิฮัดที่มีความคิดอุดมการณ์ทำนองเดียวกัน “ปรากฏตัว” ปะปนอยู่ในหมู่กองกำลังกบฏซีเรีย ซึ่งกำลังพยายามโค่นล้มระบอบปกครองของบาชาร์ อัล-อัสซาด

เป็นเรื่องเข้าใจยากอยู่เหมือนกันว่า ทำไมเรื่องนี้จึงก่อให้เกิดความตื่นเต้นกันถึงขนาดที่เป็นอยู่ เพราะเอาเข้าจริงแล้วการปรากฏตัวดังกล่าวก็สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนมาเป็นแรมเดือนแล้ว ถ้าหากไม่เอาแต่หลับหูหลับตา ไม่ว่าจะดูจากผลงานการโจมตีแบบฆ่าตัวตายหลายสิบครั้งที่แพร่ระบาดอยู่ในซีเรีย หรือคลิปวิดิโอจำนวนมากซึ่งแสดงให้เห็นกองกำลังกบฎหรือพวกผู้สนับสนุน กำลังโอ่อวดภาคภูมิใจกับธงสีดำที่มีรูปร่างลักษณะเป็นธงของอัลกออิดะห์อย่างกระจ่างแจ่มแจ้ง

อย่างไรก็ตาม รายงานบันทึกการสังเกตการณ์ของนักหนังสือพิมพ์ชาวเยอรมันชื่อ ดานิเอล เอทเทอร์ (Daniel Etter) ระหว่างที่เขาไปเยือนตำบลเล็กๆ ที่พวกกบฏควบคุมอยู่ในบริเวณใกล้ๆ กับอะเลปโป (Aleppo) เมืองสำคัญอันดับสองของซีเรียซึ่งเกิดการสู้รบกันอย่างดุเดือด เมื่อเร็วๆ นี้นั้น บ่งบอกให้เห็นว่า พวกนักรบญิฮัดไม่ได้เพียงแค่ “ปรากฏตัว” อยู่ท่ามกลางพวกกบฏเท่านั้น หากแต่แท้ที่จริงแล้ว พวกกบฏเหล่านี้ก็คือนักรบมุญะฮิดีนผู้ได้รับแรงบันดาลใจจากความเชื่อมั่นศรัทธาในศาสนา คำถามอันแท้จริงจึงอยู่ที่ว่านอกจากมุญะฮิดีนแล้ว ยังมีการปรากฏตัวของพวกอื่นๆ อีกหรือไม่ รายงานของเอทเทอร์ ซึ่งได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ใน ดี ฟรังค์ฟูร์เทอร์ อัลล์เกไมเนอ ไซทุง (Die Frankfurter Allgemeine Zeitung) หนังสือพิมพ์รายวันภาษาเยอรมันชั้นนำ ยังให้หลักฐานอันถนัดชัดเจนด้วยว่า พวกผู้มีอำนาจของกลุ่มกบฏกำลังพุ่งเป้ามุ่งจับกุมพลเรือนมาคุมขังและทรมาน ตลอดจนจัดการประหารชีวิตทหารในกองทัพประจำการของซีเรียที่จับตัวมาได้โดยไม่มีการไต่สวนพิจารณาความผิด

ในตำบลมารา (Maraa) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของอะเลปโป เอทเทอร์เล่าว่าได้เห็นนักโทษประมาณ 120 คนซึ่งน่าจะเป็นพวกพลเรือน “ถูกไล่ต้อนเข้าไปอยู่ในห้องเรียนขนาดใหญ่ห้องหนึ่ง” ภายในสถานที่ซึ่งเคยเป็นโรงเรียนมาก่อน นักโทษเหล่านี้จำนวนมากมีร่องรอยของการถูกทำร้ายถูกล่วงละเมิด ผู้ควบคุมบัญชาการคุกแห่งนี้ ผู้ซึ่งเอทเทอร์เรียกขานให้ชื่อเพียงแค่ว่า “จัมโบ้” (Jumbo) ปฏิเสธไม่อนุญาตให้เอทเทอร์พูดจากับนักโทษพวกนี้ตามลำพัง เอทเทอร์ตั้งข้อสังเกตว่า จัมโบ้นั้น “มีรูปร่างเหมือนๆ กับชื่อของเขา” และ “จัมโบ้ไม่ใช่คนซึ่งคุณต้องการที่จะต่อสู้ด้วยแน่ๆ”

เอทเทอร์ยังเขียนต่อไปด้วยว่า จัมโบ้ “ไม่ใช่คนซึ่งถ้าหากคุณเป็นนักโทษแล้ว คุณปรารถนาที่จะให้เป็นผู้คุมของคุณหรอก ดังนั้นเอง พวกผู้ต้องขังเหล่านี้ต่างพากันพูดว่า บาดแผลและรอยฟกช้ำของพวกเขาเกิดขึ้นมาเพราะหกล้มหรือไม่ก็ถูกสะเก็ดระเบิด พวกเขาพากันพูดว่าได้รับการปฏิบัติอย่างดีแค่ไหนเมื่ออยู่ที่นี่ และพวกเขาต่างสาบานว่าจงรักภักดีต่อกองทัพซีเรียเสรี (Free Syrian Army กองกำลังอาวุธของพวกกบฎซีเรีย) แต่สิ่งที่พวกเขาพูดออกมานั้น มีมากมายทีเดียวที่ไม่น่าเชื่อถือ”

นักโทษคนที่มีบาดแผลซึ่งน่าสยดสยองที่สุดตามที่เอทเทอร์บรรยายเอาไว้นั้น เป็นบุคคลที่ถูกเรียกขานว่า “เทมเมอร์” (Tamer) ผู้มาจากเมืองอะเลปโป “ผู้ซึ่งจวบจนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้เองยังเป็นผู้สนับสนุนอัสซาดอย่างกระตือรือร้นยิ่ง เขากระตือรือร้นถึงขนาดสักภาพของประธานาธิบดีซีเรียผู้นี้เอาไว้บนหน้าอกของเขาทีเดียว” ในขณะที่เอทเทอร์พูดคุยกับเขานั้น รอยสักดังกล่าวนี้ได้ถูกตัดออกไปจากร่างกายของเทมเมอร์ด้วยใบมีดโกน ตัวเทมเมอร์ยืนยันว่าเขาทำเรื่องนี้ด้วยตัวเองหลังจากที่กองกำลังอาวุธของฝ่ายกบฏเคลื่อนเข้าไปในอะเลปโป เขาบอกว่าเขาวิ่งไปที่กองบัญชาการของพวกกบฏ และจัดการเฉือนรอยสักนี้ทิ้งขณะร้องตะโกนว่า “ผมขออุทิศเลือดเนื้อของผมเพื่อกองทัพซีเรียเสรี!”

ด้วยถ้อยคำซึ่งแสดงถึงความศรัทธาอันแรงกล้าของเอทเทอร์ในการรายงานข่าวตามแบบฉบับของนักหนังสือพิมพ์ผู้เคร่งครัด นักหนังสือพิมพ์เยอรมันผู้นี้เขียนเอาไว้ว่า “เรื่องราวของเทมเมอร์ก็ไม่สามารถที่จะหาการยืนยันอย่างเป็นอิสระได้เช่นเดียวกัน แต่จัมโบ้ย่อมไม่น่าที่จะปล่อยให้นักหนังสือพิมพ์ผู้หนึ่งพูดจากับเทมเมอร์หรอก ถ้าหากบาดแผลของเขาเป็นผลลัพธ์จากการถูกทำร้ายถูกล่วงละเมิด” ขณะที่เมื่อเราพิจารณาจากคำบรรยายของเอทเทอร์เองเกี่ยวกับสภาพการณ์ที่ทำให้เขาสามารถพูดจากับพวกนักโทษเหล่านี้ได้ มันก็เป็นเรื่องแน่นอนอยู่แล้วที่ว่าเทมเมอร์ยิ่งไม่น่าที่จะกล้ากล่าวหาผู้คุมของเขาเลย ในขณะที่ “จัมโบ้” ปรากฏตัวอยู่ตรงนั้นด้วย

ยิ่งกว่านั้น กระทั่งหากเรายอมรับข้อสมมุติฐานที่ว่าเทมเมอร์ได้เชือดเฉือนตัวเองจนกระทั่งเป็นบาดแผลอันสยดสยองจริงๆ ก็แล้วทำไมเขาถึงต้องปฏิบัติการทำร้ายตัวเองให้สาหัสสากรรจ์ขนาดนี้ ถ้าเขาไม่ได้คาดหมายว่าหากรอยสักของเขาถูกค้นพบโดย “พวกผู้มีอำนาจรายใหม่” ดังที่เอทเทอร์เรียกขาน เขาจะต้องประสบกับความเลวร้ายยิ่งกว่านี้เสียอีก ทั้งนี้กลุ่มกบฎในซีเรียได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนครั้งแล้วครั้งเล่าอยู่แล้วว่า พวกเขารู้สึกว่ามีหน้าที่จะต้องเล่นงานใครก็ตามที่พวกเขาเห็นว่าเป็นพวกผู้สนับสนุนระบอบเก่า

ตัวจัมโบ้บอกว่า เทมเมอร์เป็นสมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนิยมอัสซาด ซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในชื่อ “ชาบิฮา” (shabiha) ทว่าในข้อเขียนนี้ไม่ได้มีการระบุหลักฐานใดๆ มายืนยันเรื่องนี้เลย แม้แต่จัมโบ้เองก็ยอมรับว่า “ผมไม่มีข้อพิสูจน์อะไรหรอกว่าเขาเคยฆ่าใครหรือไม่”

นอกจากนั้นมันก็ไม่ชัดเจนพอๆ กันในเรื่องที่ว่า ผู้ถูกคุมขังคนอื่นๆ ได้ประกอบ “อาชญากรรม” อะไรกันบ้าง ทว่ากลับเป็นที่กระจ่างแจ้งทีเดียวว่ากิจวัตรประจำวันในระหว่างถูกขังของคนเหล่านี้ คือการที่ต้องน้อมรับอุดมการณ์ความเชื่อของเหล่าผู้คุม ไม่ว่าจะพิจารณากันในแง่ใดก็ตามที “พวกเขาทำละหมาดกันวันละ 5 ครั้ง” เอทเทอร์บอก และเขียนต่อไปว่า:

“และศึกษาเรียนรู้คัมภีร์อัลกุรอาน บางทีอาจจะออกมาจากความรู้สึกสำนักผิด, บางทีอาจจะเพื่อเอาอกเอาใจเหล่าผู้คุมของพวกเขา, บางทีอาจจะเป็นเพราะพวกเขาถูกบังคับให้ทำเช่นนั้นก็ได้ จัมโบ้นั้นดูเหมือนมีความมั่นอกมั่นใจว่าการที่คนเหล่านี้หันกลับมาหาพระเจ้า คือการทำความดี 'เวลานี้พวกเขาต่างมีความสุขมากขึ้น และพวกเขากำลังเปลี่ยนแปลงทัศนคติของพวกเขาเอง' จัมโบ้บอก”

ในตำบลที่อยู่ใกล้เคียงกันอย่างตำบลอาซัซ (Azaz) เอทเทอร์ได้ประสบกับรูปแบบของลัทธิอิสลามิสต์ซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องการสั่งสอนอบรมน้อยกว่าที่เขาพบเห็นที่ตำบลมารา โดยรูปแบบความเชื่ออิสลามเคร่งจารีตดังกล่าวนี้ เขาพบเห็นเป็นรูปธรรมอยู่ในตัวของหัวหน้ากลุ่มกบฏที่นั่น ผู้มีนามว่า อะบู อะนัส (Abu Anas) เอทเทอร์บรรยายสภาพของห้องทำงานของหัวหน้ากลุ่มกบฏผู้นี้เอาไว้ว่า “มีคัมภีร์อัลกุรอานเล่มหนึ่ง และ ‘ดาบสีเงิน’ เล่มหนึ่ง วางนอนอยู่บนโต๊ะของเขา และมีธงสีดำผืนหนึ่งแขวนอยู่เหนือโต๊ะทำงานตัวนั้น จารึกภาษาอาหรับบนธงผืนนี้ประกาศก้องว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลเลาะห์ มุฮัมหมัดคือศาสนทูตของพระองค์” “ธงผืนนี้เป็นธงแบบที่อัลกออิดะห์ก็เคยใช้นั่นเอง” เอทเทอร์ตั้งข้อสังเกต

อะบู อะนัส ดูเหมือนว่ากำลังมองเห็นสัญญาณเตือนจากพวกผู้สนับสนุนชาวตะวันตก –หรือบางทีอาจจะจากพวกที่ปรึกษาชาวตะวันตกเสียด้วยซ้ำ ดังนั้น เขาจึงกล่าวเน้นว่า ธงสีดำเช่นนี้เคยมีการนำมาใช้ก่อนพวกอัลกออิดะห์เสียอีก อย่างไรก็ดี ถ้าหากเป็นธงสีดำที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงแบบนี้ นั่นคือมี “ตราของมุฮัมหมัด” รูปวงกลมสีขาวอยู่ตรงกลางผืนธงแล้ว ก็ดูเหมือนจะไม่มีหลักฐานใดๆ เลยที่บ่งบอกว่าเคยมีผู้ใช้กันมาก่อนอัลกออิดะห์

ธงสีดำลักษณะพิเศษเช่นนี้ กลายเป็นที่รู้จักเลื่องลือกันขึ้นมาก็โดยฝีมือกลุ่มอัลกออิดะห์ ของ อะบู มูซาบ อัล-ซอร์กอวี (Abu Musab al-Zarqawi) ในอิรัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากบรรดาวิดีโออันสยดสยองฉาวโฉ่ซึ่งบันทึกการที่อัลกออิดะห์กลุ่มนี้ทำการประหารชีวิตพวกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงชาวอิรัก และชาวอเมริกัน ตลอดจนเชลยอื่นๆ ที่ถูกพวกเขาจับตัวไป แท้ที่จริงแล้ว แม้กระทั่งกลุ่มของซอว์กอวีเอง ก็มีการทำธงสีดำเช่นนั้นในอีกหลายๆ เวอร์ชั่น ก่อนที่จะมาสรุปลงตัวในเวอร์ชั่นดังกล่าว ซึ่งนับแต่นั้นมาก็กลายเป็นธงมาตรฐานของพวกเครือข่ายอัลกออิดะห์ในทั่วโลก

ไม่ว่าความเป็นจริงจะเป็นเช่นไรก็ตามที แต่ดูเหมือนว่าการเลือกใช้ธงไม่ใช่เป็นเรื่องเดียวที่ได้รับแรงบันดาลใจจากอัลกออิดะห์ในอิรัก อะบู อะนัส ผู้นำกบฏผู้นี้บอกกับเอทเทอร์ว่า กองกำลังของเขาสามารถจับกุมทหารรัฐบาลซีเรียได้หลายคนในสมรภูมิสู้รบแย่งชิงตำบลอาซัส เมื่อถูกถามว่าจัดการกับทหารรัฐบาลเหล่านี้อย่างไร อะบู อะนัส ก็ตอบว่า “เราไม่สามารถที่จะคอยดูแลคนเหล่านี้ได้ พวกเขาส่วนมากตายไปหมดแล้ว”

“ก่อนหน้านั้น” เอทเทอร์เขียนอธิบายขยายความ “เมื่อตอนที่ อะบู อะนัส ยังไม่ได้เข้ามาในห้องนั้น ลูกน้องผู้ยิ้มแย้มแจ่มใสคนหนึ่งของเขาได้แสดงกิริยาท่าทางให้ทราบว่า พวกเขาจัดแจงมัดพวกนักโทษกันอย่างไร และยิงคนเหล่านี้ทิ้งกันอย่างไร”

ขณะที่ไม่ค่อยมีอะไรเอาเลยที่เขาสามารถบิดผันแก้ต่างในทางบวกให้แก่พฤติการณ์เหล่านี้ของ อะบู อะนัส และคนของเขา แต่เอทเทอร์ก็ยังสู้อุตส่าห์ใช้ความพยายามอย่างมากมาย อย่างน้อยที่สุดก็ในการวาดภาพ “จัมโบ้” และคุกของเขาในตำบลมารา ให้มีสีสันไปในทางบวกให้มากขึ้น ในย่อหน้าที่เขาเขียนในแบบ “เหนือจริง” อยู่สักหน่อยนั้น เอทเทอร์ถึงขนาดยกย่องสรรเสริญพวกกบฏในมาราว่ากำลังพยายามที่จะสร้างระบบยุติธรรมซึ่ง “มีความเป็นธรรมมากกว่า” –หลังจากที่เขาเพิ่งหยิบยกระบุข้อน่ากังขาที่ว่าน่ามีการล่วงละเมิดนักโทษในคุกของจัมโบ้อยู่หยกๆ

จัมโบ้ยังเล่าให้เขาฟังถึงกรณีหนึ่งซึ่งพัวพันกับกลุ่มชาวอะลาวิต (Alawite) [1] กลุ่มหนึ่ง ซึ่งถูกกบฎเหล่านี้คุมขังเอาไว้ แต่แล้วก็ปล่อยตัวออกไปในเวลาต่อมา เนื่องจาก “เราไม่มีหลักฐานใดๆ ที่จะใช้เล่นงานพวกเขา” อย่างไรก็ดี เอทเทอร์ไม่ได้สอบถามจัมโบ้ให้ชัดเจนว่า หลักฐานที่พูดถึงนี้คือหลักฐานเกี่ยวกับอะไร แต่แม้กระทั่งหากเราเชื่อถือการกล่าวอ้างของจัมโบ้ว่าเป็นความจริง คำพูดของเขาก็ยังคงมีค่าเท่ากับการยอมรับว่าชาวอะลาวิตกำลังถูกจับกุมคุมขังอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ที่ควบคุมโดยพวกกบฏ เพียงด้วยเหตุผลที่ว่าคนเหล่านั้นเป็นชาวอะลาวิตเท่านั้นเอง

ในภาษาของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศแล้ว สิ่งที่เอทเทอร์บรรยายเอาไว้ในข้อเขียนของเขาเหล่านี้ เห็นได้อย่างชัดเจนว่าคือการก่ออาชญากรรมสงคราม และกระทั่งบางกรณียังเข้าข่ายเป็นการก่ออาชญกรรมต่อมนุษยชาติอีกด้วย ทว่าในเมื่อมันเป็นเรื่องการก่ออาชญากรรมของพวกกบฏซีเรีย ฝ่ายตะวันตกซึ่งในกรณีอื่นๆ เคยทึกทักอวดอ้างตนเองว่าเป็นพวกที่มีความรู้สึกละเอียดอ่อนเกี่ยวกับเรื่องศีลธรรมเสียเหลือเกิน ก็ดูเหมือนจะกลับกลายเป็นพวกโง่เง่าหนวกบอดใบ้กันไปหมด

**หมายเหตุผู้แปล**
[1] ชาวอะลาวิต (Alawite) กลุ่มมุสลิมกลุ่มหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่พำนักอาศัยอยู่ในซีเรีย โดยที่มีจำนวนเท่ากับประมาณ 11-12% ของประชากรซีเรียทั้งประเทศ แนวคิดความเชื่อของกลุ่มนี้มักถูกจัดให้เป็นแนวคิดแบบมุสลิมนิกายชิอะห์ ทั้งนี้ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ตลอดจนบุคคลวงในซึ่งกุมอำนาจในซีเรีย เป็นพวกอะลาวิต ขณะที่ประชาชนราว 74% ของประเทศเป็นมุสลิมนิกายสุหนี่ (ข้อมูลจาก Wikipedia และ CIA’s The World Fact Book)

จอห์น โรเซนธัล เป็นนักหนังสือพิมพ์ซึ่งชำนาญเป็นพิเศษในเรื่องการเมืองยุโรปและประเด็นด้านความมั่นคงของสองฟากฝั่งแอตแลนติก สามารถติดตามผลงานของเขาได้ที่เว็บไซต์ของเขา Transatlantic Intelligencer (http://trans-int.com)
กำลังโหลดความคิดเห็น