xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจสิงคโปร์เวลานี้‘ยังพอไปได้’

เผยแพร่:   โดย: โรเบิร์ต เอ็ม คัตเลอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Singapore getting by, so far
By Robert M Cutler
03/07/2012

อัตราเงินเฟ้อที่กำลังลดต่ำลง และผลผลิตทางอุตสาหกรรมที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น คือสัญญาณในทางบวกสำหรับเศรษฐกิจสิงคโปร์ ซึ่งยังทวีความแข็งแกร่งมากขึ้นด้วยจากการที่สหรัฐฯยอมยกเลิกการคุกคามที่จะทำการลงโทษคว่ำบาตร สืบเนื่องจากการซื้อหาน้ำมันอิหร่าน อย่างไรก็ตาม ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่พุ่งสูง ยังคงเป็นปัจจัยที่เติมเชื้อโหมกระแสความไม่พอใจในคณะรัฐบาลของนครรัฐแห่งนี้

มอนทรีออล, แคนาดา
จีนก็ได้รับการประกาศยกเว้นในคราวนี้เช่นเดียวกัน ทว่าสำหรับชาติผู้นำเข้ารายเล็กๆ เป็นต้นว่า อัฟกานิสถาน และ ปากีสถาน มิได้รับการผ่อนผันเช่นนี้ด้วย ทำให้บรรดาธนาคารของประเทศเหล่านี้ตกอยู่ในความเสี่ยง ถ้าหากพวกเขาดำเนินธุรกรรมอันเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่การซื้อน้ำมันจากอิหร่าน

ในส่วนของข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจที่เพิ่งเผยแพร่ออกมาล่าสุดของสิงคโปร์นั้น ทำให้เกิดความรู้สึกโล่งอกโล่งใจกันได้ในบางระดับ ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจของนครรัฐแห่งนี้ สามารถที่จะใช้เป็นสัญญาณเตือนภัยสำหรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียและกระทั่งของโลกได้ด้วยซ้ำ สืบเนื่องจากแดนลอดช่องต้องพึ่งพาอาศัยการส่งออกอย่างสูงลิ่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกไปยังพวกประเทศเศรษฐกิจตลาดพัฒนาแล้ว

พวกบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ทั้งหลาย ต่างให้อันดับระดับดาวเด่นเจิดจ้าแก่สิงคโปร์ โดยที่ทั้ง สแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ (เอสแอนด์พี), มูดี้ส์, และ ฟิตซ์ ล้วนแต่จัดให้ตราสารหนี้ของแดนลอดช่องได้เรตติ้งความน่าเชื่อถือระดับสูงสุด ด้วยความมั่นคงหนักแน่นเช่นนี้เอง อัตราผลตอบแทน (ยีลด์) ต่อปีของพันธบัตรรัฐบาลสิงคโปร์จึงอยู่ในระดับต่ำมาก โดยเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ ระหว่างประมาณ 1.4% จนถึงเกิน 1.5%นิดๆ เท่านั้น

ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ จึงถือเป็นข่าวดีทีเดียว เมื่อปรากฏว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (purchasing managers' index หรือ PMI) ของแดนลอดช่องดีดกลับมาอยู่ในอาการเติบโตขยายตัวอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม ส่วนยอดการส่งออกก็เพิ่มสูงขึ้น, ขณะที่อัตราเงินเฟ้อลดต่ำลง, และผลผลิตทางอุตสาหกรรมทำได้ดีเกินกว่าที่คาดหมายกันโดยทั่วไป

ดัชนี PMI ในเดือนพฤษภาคมนั้น ขยับขึ้นไปอยู่ที่ 50.4 ซึ่งสูงเกินกว่าระดับ 50.0 ที่อ่านกันว่าเป็นสัญญาณแสดงถึงภาวะเศรษฐกิจที่อยู่กับที่ โดยที่หากต่ำกว่า 50.0 แปลว่าเศรษฐกิจจะหดตัว แต่ถ้าเกินกว่าขีดนี้ก็ส่อแสดงถึงการขยายตัว ทั้งนี้ตัวเลข PMI เดือนพฤษภาคมนี้ สูงขึ้นจากระดับ 49.7 ในเดือนเมษายน โดยที่สถาบันการบริหารจัดการด้านการจัดซื้อและการพัสดุ (Institute of Purchasing and Materials Management) ของสิงคโปร์ อธิบายว่าเป็นเพราะมีการเพิ่มสูงขึ้นของออร์เดอร์สั่งซื้อใหม่ๆ และออร์เดอร์ส่งออกใหม่ๆ

สำหรับภาวะเงินเฟ้อของสิงคโปร์ที่วัดจากดัชนีราคาผู้บริโภค (consumer price index หรือ CPI) ปรากฏว่าในเดือนพฤษภาคม CPI ทั่วไป (overall consumer price index) อยู่ที่ระดับ 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ตัวเลขนี้จัดว่าต่ำกว่าการคาดหมายกันโดยทั่วไป และก็อยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 3 เดือน รวมทั้งต่ำลงมาจากอัตรา 5.4% ในเดือนเมษายน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้ยังคงสูงขึ้นไปมากจากอัตราเงินเฟ้อของช่วงทศวรรษแรกของศตวรรษนี้ ซึ่งเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 1.6% ตลอดจนของ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งระดับเฉลี่ยอยู่ที่ 1.8% ในส่วนของความคาดหมายเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (core inflation expectation) ซึ่งหน่วยงานทำหน้าที่เป็นธนาคารกลางของสิงคโปร์เป็นผู้กำหนดนั้น ก็ปรากฏว่าได้มีการปรับตัวเลขของปี 2012 เพิ่มขึ้นจาก 1.5 – 2% เป็น 2.5 – 3% ขณะที่ผู้สังเกตการณ์บางคนคิดว่าตัวเลขสุดท้ายอาจจะสูงกว่านั้นอีก คือออกมาใกล้ๆ 3.5% ทีเดียว

ทางด้านผลผลิตทางอุตสาหกรรม ในเดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้นมา 6.6% จากเดือนเดียวกันของปี 2011 ตัวเลขนี้จัดว่าสูงโด่งมาก โดยเหตุผลสำคัญเนื่องมาจากในเดือนพฤษภาคม 2011 นั้น ผลผลิตทางอุตสาหกรรมของสิงคโปร์อยู่ในระดับต่ำผิดปกติ เพราะผลพวงจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิที่เกิดขึ้นในเดือนมีนาคมปีนั้นในญี่ปุ่น กระนั้นก็ตามที ตัวเลขเดือนต่อเดือน ซึ่งก็คือการนำตัวเลขเดือนพฤษภาคม 2012 ไปเทียบกับเดือนเมษายนปีเดียวกัน ก็ยังคงอยู่ในระดับที่ขยับเพิ่มขึ้น 1.8% ซึ่งสูงกว่าการคาดหมายกันโดยทั่วไปอยู่นั่นเอง

ผลผลิตทางอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคมนี้ เมื่อจำแนกออกเป็นรายภาคอุตสาหกรรม ปรากฏภาควิศวกรรมการขนส่ง (transport engineering sector) มีผลผลิตเพิ่มสูงขึ้นถึง 35.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สืบเนื่องจากมีกิจกรรมการต่อแท่นขุดเจาะน้ำมันและต่อเรือมากขึ้น 44% ทำให้ผลผลิตในด้านวิศวกรรมเดินเรือทะเลและกิจการนอกชายฝั่งสูงขึ้น 44.0% (เป็นไปได้ว่าเนื่องจากในเดือนพฤษภาคมปีนี้มีการส่งมอบเรือหรือแท่นขุดเจาะน้ำมันที่ต่อเสร็จ จึงทำให้ตัวเลขรายเดือนเหล่านี้เกิดการบิดเบือนเบี่ยงเบน)

ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีตัวเลขการเปลี่ยนแปลงโดดเด่นเป็นพิเศษ ได้แก่ ภาคชีวการแพทย์ (biomedical sector) ที่มีอัตราการเติบโตดีกว่าภาคอุตสาหกรรมอื่น โดยเพิ่มขึ้น 32.8% เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สืบเนื่องจากการขยายตัวทางด้านเวชภัณฑ์ และภาคอิเล็กทรอนิกส์ นั้นล้าหลังกว่าภาคอื่นๆ โดยมีผลผลิตลดต่ำลง 9.7% (ขณะที่เดือนเมษายนติดลบ 12.3%) เพราะการผลิตเซมิคอนดักเตอร์หดตัว หากไม่นำเอาภาคชีวการแพทย์มาคำนวณด้วยแล้ว ผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคมจะขยับสูงขึ้นเพียง 2% ดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนเมษายนซึ่งอยู่ที่ 0.7%

เดลี่ เบรกฟาสต์ สเปรด (Daily Breakfast Spread) เอกสารบทวิเคราะห์รายวันของธนาคารดีบีเอส ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความอ่อนแอลงเรื่อยๆ ของภาคอิเล็กทรอนิกส์เอาไว้ว่า “ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเวลานี้กำลังมีปัญหาว่า การฟื้นตัว (ของภาคอิเล็กทรอนิกส์ในสิงคโปร์) จะดำเนินไปอย่างยั่งยืนได้แค่ไหน” ทั้งนี้ PMI สำหรับภาคอิเล็กทรอนิกส์ในเดือนพฤษภาคม ไหลลงมาอยู่ที่ 50.8 จากระดับ 51.5 ในเดือนเมษายน นั่นก็คือ ยังคงอยู่ในภาวะขยายตัวทว่าอ่อนกำลังลง

กลุ่มธนาคารยูโอบี ก็มีความเห็นไปในทำนองเดียวกันว่า ภาคอิเล็กทรอนิกส์ของสิงคโปร์กำลังแสดงให้เห็น “การกระเตื้องขึ้นชนิดเป็นมื้อเป็นคราว” และ “ความปั่นป่วนวุ่นวายและมาตรการรัดเข็มขัดในยุโรป ตลอดจนการฟื้นตัวที่อยู่ในภาวะชะงักกับที่ของสหรัฐฯ” จะเป็นตัวกีดขวางอัตราการเติบโตของการส่งออกในภาคนี้

อาการแห่งการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสิงคโปร์ ยังสามารถมองเห็นได้จากการตัดสินใจของสโมสรฟุตบอล แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ที่เลิกล้มแผนการนำเอาหุ้นบางส่วนของตนเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดสิงคโปร์ ตลอดจนการตัดสินใจของ บริษัทผู้จัดการแข่งขันรถแข่งฟอร์มูลาวัน ซึ่งเลื่อนแผนการนำหุ้นของตนออกมาทำไอพีโอในตลาดหุ้นของนครรัฐแห่งนี้ไปอย่างไม่มีกำหนด

ยิ่งกว่านั้น การที่ในช่วงเดือนมิถุนายน มีเจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐบาลสิงคโปร์ 2 คนถูกตั้งข้อกล่าวหากระทำความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชั่น ก็เป็นการเพิ่มพูนความรู้สึกที่ว่านครรัฐแห่งนี้กำลังป่วยไข้ ทั้งนี้ อดีตผู้บัญชาการกองกำลังป้องกันฝ่ายพลเรือนของสิงคโปร์ และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานปราบปรามยาเสพติดของสิงคโปร์ ต่างก็กำลังถูกไต่สวนดำเนินคดีในการกระทำทุจริตอันเกี่ยวข้องกับเรื่องเซ็กส์กันทั้งคู่

ข้อกล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่เหล่านี้ นอกเหนือจากการเป็นตราบาปประทับลงในสังคมอารยะซึ่งภาคภูมิใจในตนเอง สืบเนื่องจากเกียรติภูมิสูงส่งในเรื่องประสิทธิภาพและความถูกต้องเที่ยงธรรมแล้ว มันยังอาจจะเป็นอันตรายในระยะยาวไกลต่อชื่อเสียงเรื่องความซื่อสัตย์และความยุติธรรมในภาคธุรกิจของ “แบรนด์” สิงคโปร์ อีกด้วย ก่อนหน้านี้ในปี 2011 องค์การเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศ (Transparency International) ให้คะแนนความน่าเชื่อถือ (ในสายตาของชาติอื่นๆ) ของสิงคโปร์ สูงถึง 9.2 จากคะแนนเต็ม 10 ติดอันดับสูงส่งเป็นที่ 5 ของทั่วโลก เป็นรองเพียงนิวซีแลนด์, เดนมาร์ก, ฟินแลนด์, และสวีเดน เท่านั้น

เวลานี้ ความหงุดหงิดไม่พอใจต่อรัฐบาลของประชาชน โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นหนุ่มสาว ก็กำลังเพิ่มสูงขึ้น เฉกเช่นเดียวกับราคาอสังหาริมทรัพย์ กระนั้นก็ตาม ปัจจุบันประชากรถึงหนึ่งในสาวของสิงคโปร์คือชาวต่างชาติ และพวกนักวิชาชีพผู้ได้รับเงินเดือนผลตอบแทนแพงๆ ซึ่งมักเป็นตัวขับดันเงินเฟ้อให้พุ่งสูงนั้น ก็ยังคงโยกย้ายเข้ามาพำนักอาศัยอยู่ในนครรัฐแห่งนี้กันไม่ขาดสาย ถึงแม้รัฐบาลมีความเคลื่อนไหวในทางกำหนดกฎเกณฑ์การรับผู้พำนักอาศัยและผู้ที่ต้องการโอนสัญชาติกันอย่างเข้มงวดกวดขันกว่าเดิม ทั้งนี้ราคาที่อยู่อาศัยในเดือนพฤษภาคมในสิงคโปร์ เพิ่มสูงขึ้น 8.2% จากเดือนเดียวกันของปี 2011

สภาพเช่นนี้ทำท่าจะกลายปัญหาอันต่อเนื่องและยืดเยื้อเรื้อรังสำหรับคณะรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีลีเซียนลุง บุตรชายคนโตของ ลีกวนยู นายกรัฐมนตรีคนแรกและเป็นผู้ครองตำแหน่งนี้มาอย่างยาวนานที่สุดของสิงคโปร์

ในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในสิงคโปร์ครั้งล่าสุดในปี 2011 พรรคกิจประชาชน (People's Action Party หรือ PAP) ซึ่ง ลีกวนยู เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง และเป็นพรรคที่ปกครองสิงคโปร์มาโดยตลอด ชนะได้ที่นั่ง 81 ที่นั่งจากจำนวนที่มีให้เลือกตั้งกันทั้งสิ้น 87 ที่นั่ง (สำหรับอีก 12 ที่นั่ง มีวิธีต่างๆ กันในการแต่งตั้งแบ่งสรร รวมแล้วทั้งสภาจึงมีกัน 99 ที่นั่ง)

อย่างไรก็ตาม แม้จะครองที่นั่งได้ในอัตราส่วนสูงลิ่วถึง 93.1% ของที่นั่งที่ให้มีการเลือกตั้ง พรรค PAP กลับได้รับคะแนนเสียงเพียงแค่ 60.1% ของผู้ที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมดในคราวนี้ ถือเป็นสัดส่วนต่ำที่สุดที่พรรคนี้ได้เคยรับ นับตั้งแต่ที่สิงคโปร์ได้เป็นเอกราชแยกตัวออกจากมาเลเซียในปี 1965

ดร. โรเบิร์ต เอ็ม คัตเลอร์ http://www.robertcutler.org) สำเร็จการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) และมหาวิทยามิชิแกน และได้ทำงานวิจัยกับเป็นผู้บรรยายให้แก่มหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และรัสเซีย ปัจจุบันเป็นนักวิจัยอาวุโสของสถาบันยุโรป รัสเซีย และ ยูเรเชียศึกษา (Institute of European, Russian and Eurasian Studies) ซึ่งสังกัดอยู่ในมหาวิทยาลัยคาร์ลตัน ( Carleton University) ประเทศแคนาดา พร้อมกับนี้เขายังให้คำปรึกษาเป็นการส่วนตัวในหลายสาขา
กำลังโหลดความคิดเห็น