xs
xsm
sm
md
lg

การเติบโตของเศรษฐกิจจีนยังคง‘เปราะบาง’

เผยแพร่:   โดย: โรเบิร์ต เอ็ม คัตเลอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

China growth fragile
By Robert M Cutler
11/04/2012

อุปสงค์จากสหรัฐฯและยุโรปในเดือนมีนาคม ช่วยให้จีนสามารถบันทึกว่าตนเองได้เปรียบดุลการค้าเล็กน้อยในช่วงไตรมาสแรก (ม.ค.-มีค.) ของปีนี้ อย่างไรก็ดี การนำเข้าที่ต่ำกว่าระดับคาดหมาย ตลอดจนทิศทางแนวโน้มในทางลบของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของจีน บ่งบอกให้เห็นว่า การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมกำลังอยู่ในภาวะที่ลำบากทีเดียว

มอนทรีออล, แคนาดา – ทิศทางแนวโน้มของเศรษฐกิจประเทศจีน ซึ่งรัฐบาลแดนมังกรคาดการณ์เอาไว้เมื่อเร็วๆ นี้ว่าจะมีอัตราการเจริญเติบโตลดต่ำลงนั้น ยังคงอยู่ในสภาพคลุมเครือสับสน โดยที่ตัวเลขข้อมูลทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่ประกาศกันออกมามีความขัดแย้งกันอยู่ ตัวอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นล่าสุด ได้แก่การที่ตัวเลขการส่งออกพุ่งขึ้นมาเกินคาดหมาย ขณะที่ข้อมูลจากพวกผู้ผลิต ที่ออกมาก่อนหน้าในเดือนนี้ อยู่ในภาวะที่ไร้ความชัดเจน

การที่สหรัฐฯและยุโรปมีความต้องการสินค้าที่ผลิตในจีนเพิ่มมากขึ้น ได้ช่วยขับดันให้ดุลการค้าของแดนมังกรเข้าสู่แดนบวกอย่างเข้มข้นในเดือนมีนาคม ภายหลังเกิดการเสียเปรียบดุลมา 2 เดือน จนเพียงพอที่จะทำให้ตลอดทั้งไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) ปีนี้ จีนอยู่ในฐานะได้เปรียบดุลการค้าเป็นจำนวน 670 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ดุลการค้าในเดือนมีนาคมของจีนอยู่ในภาวะได้เปรียบ 5,350 ลานดอลลาร์ โดยปัจจัยสำคัญคือการส่งออกซึ่งเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน 8.9% จนขึ้นสู่ระดับ 165,700 ล้านดอลลาร์ สูงขึ้นไปมากจากเสียงคาดการณ์ของพวกนักเศรษฐศาสตร์ที่อยู่ในระดับ 7% เท่านั้น ในเวลาเดียวกัน การนำเข้าของจีนในเดือนมีนาคมกลับเติบโตเพียง 4.6% หรือประมาณครึ่งหนึ่งของระดับ 9% ที่นักเศรษฐศาสตร์ทำนายกันไว้โดยทั่วไป แถมสัดส่วนไม่ใช่น้อยๆ ของตัวเลขการนำเข้านี้ ยังมาจากการนำเข้าธัญญาหารอย่างมากมายเป็นประวัติการณ์ในช่วงเดือนดังกล่าว

การส่งออกสินค้าจีนไปยังสหรัฐฯในเดือนมีนาคม อยู่ในระดับสูงที่สุดเท่าที่ผ่านมาในปีนี้ ขณะที่การส่งออกไปยังยุโรปในเดือนดังกล่าว ก็เหนือกว่าระดับเฉลี่ยที่ทำได้ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ทั้งนี้ตามการรวบรวมของ มาร์เก็ต นิวส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (Market News International) เมื่อดูจากปริมาณการค้าโดยรวมทั้งหมด ไตรมาสแรกปีนี้ทำได้ 859.400 ล้านดอลลาร์ สูงกว่าระยะเดียวกันของปีที่แล้วอยู่ 7.3% ทั้งนี้ตามตัวเลขข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรจีน (General Administration of Customs)

เฉา หยวนเซิง (Cao Yuanzheng) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร แบงก์ ออฟ ไชน่า (Bank of China) บอกกับหนังสือพิมพ์ไชน่า เดลี่ (China Daily) ว่า การส่งออกที่มีอัตราเติบโตสูงเกินคาดหมายเช่นนี้ อาจจะเป็นตัวหนุนให้ตัวเลขการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาสสอง (เม.ย.-มิ.ย.) กระเตื้องขึ้นจากระดับ 8.2% ที่คาดหมายว่าจะทำได้ในไตรมาสแรก ซึ่งเท่ากับเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 2 ปีทีเดียว ทั้งนี้ เฉา พยากรณ์ว่าจีดีพีในไตรมาสสองอาจจะเติบโตได้ 8.4%

ขณะเดียวกัน ความพยายามของรัฐบาลที่จะรั้งบังเหียนอัตราเงินเฟ้อก็ดูเหมือนว่ากำลังประสบความสำเร็จ ถ้าหากวัดจากตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิต (producer price index หรือ PPI) กล่าวคือ ดัชนีตัวนี้ในเดือนมีนาคมได้ลดต่ำลงมา 0.3% การถอยลงของ PPI ซึ่งนับเป็นเดือนแรกในรอบระยะเวลากว่า 2 ปี บ่งบอกให้เห็นว่า “อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในเส้นทางที่จะถอยลงมาอีก และดังนั้นในอนาคตอันใกล้นี้ จึงไม่น่าที่จะกลายเป็นปัจจัยอันน่าห่วงกังวลสำคัญในทางนโยบาย” ชีว์ หงปิน (Qu Hongbin) แห่งเอชเอสบีซี ให้ทัศนะ

อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อถ้าหากพิจารณาจากดัชนีราคาผู้บริโภค (consumer price index หรือ CPI) กลับเพิ่มสูงขึ้น 3.6% ในเดือนมีนาคม ซึ่งสูงกว่าที่พวกนักเศรษฐศาสตร์คาดหมายกันไว้ ทั้งนี้ตามการสำรวจความเห็นที่กระทำโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ตัวเลขประมาณการที่เห็นต้องต้องกันนั้นอยู่ที่ 3.4% เท่านั้น ตัวการสำคัญที่ทำให้ดัชนีตัวนี้สูงขึ้น ก็คือราคาอาหาร (โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกผัก) เคียงคู่ไปกับราคาของน้ำมันดีเซล ที่เป็นตัวเพิ่มต้นทุนค่าขนส่ง และยังไม่ได้ถูกโอนถ่ายไปจนถึงผู้บริโภคอย่างทั่วถ้วน ดัชนี CPI ประจำเดือนมีนาคมนี้ สูงขึ้นมาจากเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งตัวเลขแบบที่เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน (year-on-year) อยู่ที่ระดับ 3.2% นับเป็นตัวเลขดัชนีผู้บริโภคที่ต่ำที่สุดในรอบ 20 เดือนทีเดียว

เหล่าเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบของแดนมังกร ประกาศในระหว่างการประชุมเต็มคณะประจำปีของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ (รัฐสภา) ของจีนเมื่อเดือนที่แล้วว่า เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อจะยังคงเอาไว้ที่ประมาณ 4% เปรียบเทียบกับอัตราเงินเฟ้อจริงๆ ของปี 2011 ซึ่งอยู่ที่ 5.4% อย่างไรก็ตาม สำนักงานวิจัย แดนสเก รีเสิร์ช (Danske Research) ให้ความเห็นว่า ภาวะการเพิ่มสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ CPI ในปัจจุบัน น่าจะ “เป็นภาวะชั่วคราว” เท่านั้น และ “เส้นทางการผ่อนคลายทางการเงินในอนาคตจะเป็นอย่างไร ที่สำคัญแล้วน่าจะขึ้นอยู่กับข้อมูลตัวเลขกิจกรรมของเดือนต่อๆ ไปจากนี้มากกว่า” และจะไม่ถูกครอบงำด้วยอิทธิพลแห่งความหวาดผวาอัตราเงินเฟ้อ

ทางด้านดัชนีของผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (purchasing managers' indexes หรือ PMI) ที่เป็นมาตรวัดสำคัญเกี่ยวกับกิจกรรมของพวกผู้ผลิตในประเทศจีน โดยที่มีผู้รวบรวมจัดทำออกมา 2 สำนักนั้น ปรากฏว่าข้อมูลตัวเลขล่าสุดที่ถูกนำออกเผยแพร่ก่อนหน้านี้ ก็อยู่ในลักษณะที่ขัดแย้งกันไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน

ดัชนี PMI ของทางการ ซึ่งรวบรวมจัดทำโดยสหพันธ์โลจิสติกส์และการจัดซื้อแห่งประเทศจีน (China Federation of Logistics and Purchasing หรือ CFLP) พุ่งพรวดขึ้นมาอย่างไม่คาดหมาย 2.1 จุด มาอยู่ที่ 53.1 จุด อันเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 1 ปี และเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกันมาเป็นเดือนที่ 4 ทั้งนี้ตัวเลขดัชนี PMI หากสูงเกิน 50 คือการบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังขยายตัว แต่ถ้าต่ำกว่า 50 คือสัญญาณแสดงว่าเศรษฐกิจกำลังหดตัว ก่อนหน้านี้พวกนักเศรษฐศาสตร์ต่างคาดหมายว่า PMI เดือนมีนาคมนี้คงลำบากที่จะสามารถยืนอยู่เหนือระดับ 51 ได้

ตรงกันข้าม ดัชนี PMI ที่รวบรวมจัดทำโดยธนาคาร เอชเอสบีซี กลับยังคงตกลงมาเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน โดยลงมาอยู่ที่ 48.2 ทั้งนี้ดัชนีของเอชเอสบีซีนี้ครอบคลุมความเห็นของผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในกิจการ 400 แห่งที่ส่วนใหญ่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ผิดแผกจากดัชนีของ CFLP ซึ่งรวบรวมจากความเห็นของผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในกิจการรัฐวิสาหกิจและกิจการขนาดใหญ่ประมาณ 800 แห่ง

อเลสแตร์ ชาน (Alaistair Chan) แห่ง มูดี้ส์ อะนาลิติกส์ (Moody's Analytics) บอกกับสำนักข่าวซินหวาว่า ความแตกต่างกันอย่างมากของดัชนี PMI ทั้งสองตัวนี้ สืบเนื่องจากการที่ดัชนีของเอชเอสบีซี เน้นหนักมากกว่าที่ “พวกผู้ผลิตขนาดเล็กกว่า ตลอดจนเป็นพวกที่มุ่งส่งออก ผู้ผลิตเหล่านี้จำนวนมากกำลังรู้สึกถึงผลกระทบจากภาวะอุปสงค์อ่อนตัวลงทั่วโลก ตลอดจนการที่ตลาดสินเชื่อตึงตัวมาก”

ในภาวะตลาดสินเชื่อในปัจจุบัน วิสาหกิจขนาดใหญ่ๆ สามารถที่จะเข้าถึงเงินกู้ของธนาคารต่างๆ ได้ง่ายกว่า และดังนั้นจึงยังคงสามารถที่จะขยายกิจการได้ดีกว่าพวก SMEs

มีความเป็นไปได้ว่า การเปิดทางให้มีการกู้ยืมในภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้น จะช่วยแก้ปัญหาความตึงตัวนี้ได้ การทดลองทางเศรษฐกิจในทิศทางดังกล่าวนี้กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยที่หวังกันว่าถ้าหากประสบความสำเร็จ และมีการขยายกิจกรรมในเรื่องนี้ออกไปอย่างกว้างขวางมากขึ้นแล้ว ก็จะเป็นการลดบทบาทของพวกเอกชนที่ปล่อยกู้แบบใต้ดิน ตลอดจนการทุจริตคอร์รัปชั่นที่พ่วงมากับกิจกรรมประเภทนี้

ดร. โรเบิร์ต เอ็ม คัตเลอร์ (http://www.robertcutler.org) สำเร็จการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) และมหาวิทยามิชิแกน และได้ทำงานวิจัยกับเป็นผู้บรรยายให้แก่มหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และรัสเซีย ปัจจุบันเป็นนักวิจัยอาวุโสของสถาบันยุโรป รัสเซีย และ ยูเรเชียศึกษา (Institute of European, Russian and Eurasian Studies) ซึ่งสังกัดอยู่ในมหาวิทยาลัยคาร์ลตัน ( Carleton University) ประเทศแคนาดา พร้อมกับนี้เขายังให้คำปรึกษาเป็นการส่วนตัวในหลายสาขา
กำลังโหลดความคิดเห็น