xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจสิงคโปร์เหมือนดีขึ้นแต่ยังคงอ่อนแอ

เผยแพร่:   โดย: โรเบิร์ต เอ็ม คัตเลอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Singapore’s gains look fragile
By Robert M Cutler
01/02/2012

เศรษฐกิจของสิงคโปร์ส่อให้เห็นวี่แววอันสดใสแข็งแรงในช่วงสิ้นสุดปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณการที่ผลผลิตทางอุตสาหกรรมพุ่งทะยานขึ้นไปได้อย่างผิดคาด อย่างไรก็ตาม ตัวเลขข้อมูลของดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อล่าสุดที่เพิ่งประกาศออกมาในสัปดาห์นี้ กลับชี้ให้เห็นอนาคตที่วาววับน้อยลงมาก

มอนทรีออล, แคนาดา – ช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีการประกาศตัวเลขสถิติทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์จำนวนหนึ่งซึ่งเป็นไปในทางสดสวยน่าชื่นใจ แต่แล้วก็มีข้อมูลตัวล่าสุดซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่กิจกรรมด้านอุตสาหกรรมการผลิตจะชะลอตัวลง

มาพูดกันถึงตัวเลขสถิติที่สดใสก่อน ตัวที่เด่นที่สุดคือ ผลผลิตอุตสาหกรรมของเดือนธันวาคม 2011 ซึ่งเติบโตได้ดีเกินคาดหมาย กล่าวคือขยายตัวได้ 12.6% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2010 และโตสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้านี้ด้วยอัตรา 7.8% ภายหลังการปรับตัวแปรทางฤดูกาลแล้ว นี่คือการดีดตัวขึ้นมาอย่างสำคัญทีเดียว หลังจากที่ในเดือนพฤศจิกายน 2011 อยู่ในอาการหดตัว 9.6% ในการเปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน และติดลบถึง 25.2% หากวัดกันกับเดือนก่อนหน้า การเติบโตในเดือนธันวาคมนี้รวมศูนย์อยู่ในภาควิศวกรรมชีวการแพทย์ และภาคการขนส่ง ขณะที่การผลิตในภาคอิเล็กทรอนิกส์ยังคงย่ำแย่ลงอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Managers' Index หรือ PMI) ที่เพิ่งนำออกเผยแพร่ในสัปดาห์นี้ บ่งชี้ถึงทิศทางอนาคตที่ดูสดใสน้อยลงไปมาก กล่าวคือ ดัชนี PMI ของเดือนมกราคม 2012 อยู่ในระดับ 48.7 ลดลงมา 0.8 จุดจากระดับ 49.5 ของเดือนธันวาคม 2011 โดยที่ในเดือนดังกล่าวสามารถก้าวขยับขึ้นจากระดับ 48.7 ของเดือนพฤศจิกายน ดัชนี PMI เป็นตัวเลขสะท้อนการคาดการณ์คำสั่งซื้อที่โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ จะได้รับ โดยที่หากตัวเลขต่ำกว่า 50 ก็คือสัญญาณบ่งบอกว่าคำสั่งซื้อจะน้อยลงหรือเกิดการหดตัว ขณะที่ถ้าเกิน 50 แปลว่าจะมีการขยายตัว

เมื่อวันจันทร์ (30ม.ค.) ที่ผ่านมา ก็มีการเปิดเผยการสำรวจความคาดหมายของภาคธุรกิจ (Business Expectations Survey) ครั้งล่าสุด ผลการสำรวจซึ่งจัดทำโดยรัฐบาลสิงคโปร์นี้พบว่า ทุกๆ ภาคส่วนในภาคบริการต่างมองทิศทางอนาคตในแง่ลบ สำหรับช่วงระยะเวลาที่เหลืออยู่ของครึ่งปีแรกนี้ โดยที่ภาคค้าปลีกมองการณ์ในแง่เลวร้ายมากที่สุด ติดตามด้วยพวกบริษัทในภาคการเงินและภาคประกันภัย

กระนั้นก็ตามที จากความสำเร็จอันโดดเด่นของสถานรีสอร์ตกาสิโนทั้ง 2 แห่งของสิงคโปร์ ย่อมหมายความว่าภาคเศรษฐกิจที่ยังมีความสดใสอย่างยิ่งอีกภาคหนึ่ง ได้แก่ ภาคนันทนาการ และการบริการชุมชนและบุคคล ธุรกิจเหล่านี้โดยรวมแล้วได้ระบุในการสำรวจของรัฐบาลคราวนี้ว่า คาดหมายว่าธุรกิจของพวกเขาจะดีขึ้นอีกในเวลา 5 เดือนข้างหน้านี้

พวกนักวิเคราะห์มองกันว่า สิงคโปร์ได้แซงหน้าลาสเวกัส กลายเป็นตลาดเกมการพนันรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกไปตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยยังเป็นรองอยู่ก็แต่เพียงมาเก๊าเท่านั้น ทั้งๆ ที่รีสอร์ตกาสิโนทั้ง 2 แห่งของนครรัฐแห่งนี้ คือ มารินา เบย์ แซนด์ส (Marina Bay Sands) และ รีสอร์ตส์ เวิลด์ เซนโทซา (Resorts World Sentosa) เปิดทำการมายังไม่ถึง 2 ปี อาคันตุกะผู้มาเยือนจากจีนและดินแดนอื่นๆ ต่างพากันหลั่งไหลเข้าไปใช้บริการ ซึ่งมีทั้งภัตตาคารห้องอาหาร, กิจการค้าปลีก, และอื่นๆ อย่างหลากหลายให้เลือกสรรด้วย นอกเหนือจากโต๊ะเล่นการพนัน

สำหรับการส่งออกโดยรวมของสิงคโปร์ ในเดือนธันวาคม 2011 มีอัตราเติบโตอยู่ที่ 9% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า (การส่งออกเฉพาะสินค้าที่มิใช่น้ำมัน) ถึงแม้ตัวเลขนี้ยังอยู่ภายในแถบช่วงที่พวกนักวิเคราะห์คาดการณ์กัน แต่ก็อยู่ในระดับบนๆ ของแถบจนน่าประหลาดใจ โดยที่ภาคเวชภัณฑ์เป็นตัวนำการขยับขึ้นไป (นอกจากนั้นก็เป็นกิจการจำพวกการต่อเรือขนาดเล็กและเรือขนาดใหญ่ราคาแพง) ขณะที่การส่งออกในภาคอิเล็กทรอนิกส์ตกลงมา 4.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การที่การส่งออกของสิงคโปร์มีการกระจายตัวไปยังชาติต่างๆ ในเอเชีย ซึ่งเศรษฐกิจยังคงขยายตัวต่อไปถึงแม้ด้วยอัตราที่ลดต่ำลงโดยทั่วหน้า นี่แหละคือตัวช่วยในการต้านทานแนวโน้มของการที่ตลาดทั้งในสหรัฐฯและในประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วอื่นๆ ต่างอยู่ในภาวะถดถอย

ทางด้านผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประมาณการกันว่าในรอบไตรมาส 4 (ตุลาคม-ธันวาคม) ของปี 2011 ระดับการเติบโตอยู่ในช่วงระหว่าง 3.5% ถึง 4% ต่ำลงมาจากอัตรา 6.1% ของไตรมาส 3 (กรกฎาคม-กันยายน) โดยที่ในช่วงไตรมาส 3 นั้น เศรษฐกิจสิงคโปร์ได้ประโยชน์จากการพุ่งพรวดของการส่งออกด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ เช่นเดียวกับที่ไตรมาส 4 ได้ประโยชน์จากการทะยานของการส่งออกด้านเวชภัณฑ์ สำหรับจีดีพีของปี 2012 การคาดการณ์ของรัฐบาลที่มีการตีพิมพ์เผยแพร่ล่าสุดบอกว่าจะเติบโตเพียงแค่ระหว่าง 1% ถึง 3% เท่านั้น

ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อ เมื่อวัดจากดัชนีราคาผู้บริโภค (consumer price index หรือ CPI) ปรากฏว่าในเดือนธันวาคม 2011 อยู่ในระดับเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน 5.5% ตัวเลขนี้เท่ากับลดต่ำลงกว่าของเดือนพฤศจิกายน ซึ่งอยู่ที่ 5.7% และก็เป็นไปตามความคาดหมายของพวกนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ เมื่อรวมตลอดทั้งปีที่แล้ว ดัชนี CPI ขยายตัวในอัตรา 5.2% ปัจจัยสำคัญที่ขับดันอัตราเงินเฟ้อตัวนี้ได้แก่ ค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัย, อาหาร, และรถยนต์ ขณะที่ตัวเลข “อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน” ของหน่วยงานทำหน้าที่ธนาคารกลางของสิงคโปร์ ซึ่งจะรวมราคาอาหารแต่ตัดค่าใช้จ่ายอีก 2 ตัวข้างต้นออกจากการคำนวณ ปรากฏว่าอยู่ในระดับเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนเพียงแค่ 2.6% เท่านั้น ทางด้านอัตราการว่างงานของปี 2011 ได้ลดลงสู่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 14 ปี เนื่องจากยังมีการสร้างงานใหม่ๆ อย่างเข้มแข็งมาก โดยที่อัตราการว่างงานในไตรมาส 4 ของปี 2011 อยู่ในระดับ 2% ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากช่วงสามเดือนก่อนหน้า

ผลงานทางเศรษฐกิจโดยรวมของสิงคโปร์ทั้งเฉพาะในเดือนธันวาคม และทั้งตลอดปี 2011 เช่นนี้ พรรคพีเพิลส์ แอคชั่น ปาร์ตี้ (People's Action Party หรือ PAP) ซึ่งปกครองนครรัฐแห่งนี้มาโดยตลอดนับตั้งแต่ที่ได้เป็นประเทศเอกราช จะต้องมองเห็นว่าเป็นข่าวที่ค่อนข้างดีทีเดียว ภายหลังที่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งท้ายสุดในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ผู้ออกเสียงชาวสิงคโปร์ได้สร้างความตื่นตะลึง ด้วยการหย่อนบัตรเลือกพรรคพีเอพีเพียงแค่ 60% ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ต่ำที่สุดในตลอดระยะเวลา 45 ปีที่พรรคเข้าบริหารประเทศ ถึงแม้ถ้านับเป็นจำนวนที่นั่งในรัฐสภา พีเอพียังคงยึดเก้าอี้มาได้ 81 ที่นั่งจากจำนวนที่มีให้เลือกตั้งกันทั้งสภา 87 ที่นั่ง

ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของประเทศเมื่อเดือนสิงหาคม 2011 ถึงแม้ตำแหน่งประธานาธิบดีนี้ถือเป็นตำแหน่งเกียรติยศในทางพิธีการมากกว่าจะมีอำนาจหน้าที่อันแท้จริงใดๆ แต่การที่ โทนี ตัน เคง ยัม (Tony Tan Keng Yam) เป็นผู้ชนะด้วยการเฉือนคู่แข่ง 0.34% (เขาได้คะแนนมากกว่าผู้ได้อันดับสองเพียงแค่ 7,269 เสียงจากจำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้นราว 2.1 ล้านคน) ก็ได้รับการตีความว่าเป็นการตำหนิติเตียนอย่างสุภาพต่อพรรคพีเอพีเช่นกัน เนื่องจากการรณรงค์หาเสียงของโทนี ตัน เขาพยายามเน้นย้ำนโยบายบางอย่างบางเรื่องของตัวเขาเองซึ่งแตกต่างไปจากของรัฐบาลพรรคพีเอพี

ข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจของเดือนธันวาคมเหล่านี้ อาจจะทำหน้าที่เป็นตัวหันเหความสนใจของประชาชนทั่วไปได้บ้าง ทั้งนี้ในช่วงเทศกาลตรุษจีนตอนปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีการขุดคุ้ยตีแผ่กรณีอื้อฉาว เกี่ยวกับการปลด ปีเตอร์ ลิม ซิน เปง (Peter Lim Sin Peng)ออกจากตำแหน่งผู้ตรวจการณ์ (commissioner) กองกำลังป้องกันฝ่ายพลเรือนแห่งสิงคโปร์ (Singapore Civil Defense Force) และปลด อึ้ง บุน กาย (Ng Boon Gay) ออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการ (director ) สำนักงานปราบปรามยาเสพติดส่วนกลาง (Central Narcotics Bureau) เนื่องจาก “ความประพฤติส่วนตัวอันไม่เหมาะสมอย่างร้ายแรง”

ตามรายงานที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ จาการ์ตา โกลบ (Jakarta Globe) ซึ่งเป็นการนำข่าวที่เขียนให้แก่ สเตรทส์ไทมส์ อินโดนีเซีย (Straits Times Indonesia) มาตีพิมพ์ซ้ำ ได้ระบุว่า เป็นที่เชื่อกันว่าสตรีผู้บริหารด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่แต่งงานแล้วผู้หนึ่ง ในขณะที่ยังทำงานอยู่ที่เก่ากับบริษัทระหว่างประเทศของญี่ปุ่นแห่งหนึ่งนั้น เธอมีสัมพันธ์ทางเพศกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งสองคนนี้ โดยที่พวกเขาแต่ละคนไม่ได้ทราบเรื่องของอีกคนหนึ่ง มีรายงานว่าเวลานี้ ผู้บริหารสตรีผู้นี้กำลังให้ความร่วมมือกับ สำนักงานสอบสวนความประพฤติมิชอบ (the Corrupt Practices Investigation Bureau ) ของสิงคโปร์ ในการสืบสวนสอบสวนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งสอง โดยที่การดำเนินการดังกล่าวนี้ได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เมื่อ 4 ถึง 6 เดือนก่อนหน้านี้แล้วด้วยซ้ำ

ดร.โรเบิร์ต เอ็ม คัตเลอร์ (www.robertcutler.org) สำเร็จการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) และมหาวิทยาลัยมิชิแกน และได้ทำงานวิจัยตลอดจนสอนอยู่ตามมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ทั้งในสหรัฐฯ, แคนาดา, ฝรั่งเศส, สวิตเซอร์แลนด์, และรัสเซีย เวลานี้เขาเป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ สถาบันเพื่อยุโรป, รัสเซีย, และยูเรเชียศึกษา (Institute of European, Russian and Eurasian Studies) มหาวิทยาลัยคาร์ลตัน (Carleton University) ประเทศแคนาดา เขายังรับเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวในกิจการต่างๆ หลายหลาก
กำลังโหลดความคิดเห็น