xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจและการค้า‘จีน’เติบโตเชื่องช้าลง

เผยแพร่:   โดย: โรเบิร์ต เอ็ม คัตเลอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Chinese slowdown in the cards
By Robert M Cutler
12/01/2012

อัตราการขยายตัวทางการค้ของาจีนกำลังชะลอเชื่องช้าลง ขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของแดนมังกรก็มีความเป็นไปได้ที่กำลังอยู่ในระดับหงอยเหงาที่สุดในรอบ 2 ปี เหล่านี้กลายเป็นความท้าทายที่ปักกิ่งต้องเผชิญตั้งแต่เนิ่นๆ ในขณะที่ประเทศกำลังเตรียมตัวสำหรับช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลตรุษจีน สิ่งที่ทำให้ปัญหาดูน่าหนักใจยิ่งขึ้นไปอีกก็คือว่า ถ้าหากจะแก้ไขด้วยการผ่อนปรนนโยบายการเงินอันเข้มงวดแล้ว ก็มีแต่จะทำให้ความเสี่ยงด้านภาระหนี้สินของรัฐบาลระดับท้องถิ่น ซึ่งอยู่ในขีดอันตรายอยู่แล้ว ยิ่งทรุดหนักลงไปอีกเท่านั้น

มอนทรีออล, แคนาดา - เศรษฐกิจจีนในไตรมาสแรกของปีนี้กำลังเผชิญกับความยากลำบากหนักหน่วงทีเดียว ในขณะที่การค้าแสดงอาการเติบโตขยายตัวเชื่องช้าลงไป สืบเนื่องจากพวกประเทศพัฒนาแล้วที่ล้วนแต่ประสบปัญหาหนักน่วง ต่างสั่งซื้อสินค้าออกจากแดนมังกรน้อยลง ขณะที่อุปสงค์ความต้องการภายในจีนเองก็อยู่ในสภาพแน่นิ่ง

ตามตัวเลขของทางการจีน ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของการส่งออกได้เชื่องช้าลงมาอยู่ในระดับ 13.4% เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า และลดต่ำลงมา 13.8% หากเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2011 ขณะที่การนำเข้าของจีนเติบโตเพียง 11.8% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2010 และต่ำกว่าตัวเลข 17% ซึ่งเป็นคำพยากรณ์อย่างเป็นฉันทามติในการสำรวจความเห็นของพวกนักเศรษฐศาสตร์ที่ดำเนินการโดยสำนักข่าวรอยเตอร์

จาง จื้อเหว่ย (Zhang Zhiwei) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่เฝ้าติดตามจีนของบริษัทหลักทรัพย์โนมูระ สาขาฮ่องกง ได้บอกกับรอยเตอร์ว่า ตัวเลขใหม่ๆ เหล่านี้ตีความได้ว่า “อุปสงค์ภายในประเทศกำลังชะลอตัวลงอย่างรวดเร็วมาก” ส่วนการส่งออกก็แทบเป็นที่แน่นอนทีเดียวว่าจะต้องทรุดตัวลงอีก “ในช่วงสองสามเดือนข้างหน้านี้” กล่าวโดยสรุปแล้ว “ไตรมาสแรกของปีนี้จะต้องเป็นช่วงเวลาที่หนักหนาสาหัสมาก”

ข้อมูลตัวเลขผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีนประจำไตรมาส 4 ปี 2011 กำหนดจะนำออกมาเผยแพร่ในสัปดาห์หน้า โดยที่เวลานี้เป็นที่คาดหมายกันว่าตัวเลขจะออกมาในระดับย่ำแย่ที่สุด อย่างน้อยก็ภายในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ตามการสำรวจของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg News) อัตราเติบโตของเศรษฐกิจไตรมาสดังกล่าวน่าจะเชื่องช้าลงมาอยู่ในระดับ 8.7% โดยที่บลูมเบิร์กรายงานด้วยว่า ธนาคารยูบีเอส เอจี ประมาณการว่าในไตรมาสนี้จะโตเพียงแค่ 7.7% ด้วยซ้ำ

การที่เศรษฐกิจจีนกำลังอยู่ในสภาพชะลอตัวลง กำลังส่งผลกระทบกระเทือนอุตสาหกรรมต่างๆ ตัวอย่างเช่น พวกโรงงานถลุงอลูมิเนียมของจีนเวลานี้กำลังประสบการขาดทุนในการดำเนินงาน และพวกเขาอาจจะต้องระงับการใช้ความสามารถการผลิตของพวกเขาในทั่วประเทศถึงราวหนึ่งในสามในปี 2012 นี้ ในภาวะที่ราคาค่าพลังงานกำลังเพิ่มสูงทว่าราคาผลผลิตของพวกเขากลับตกต่ำ ทั้งนี้ตามรายงานของบลูมเบิร์ก ขณะเดียวกันพวกผู้ผลิตอลูมิเนียมรายยักษ์ใหญ่ระดับโลก เป็นต้นว่า แอลโค (Alcoa) และ ริโอ ตินโต (Rio Tinto) ต่างก็กำลังลดการผลิตหลังจากที่ราคาทรุดต่ำลงมา 19% ในปีที่แล้ว

ขณะที่เศรษฐกิจโดยรวมและการส่งออกกำลังย่ำแย่ลง แต่ทางด้านภาวะเงินเฟ้อของจีนเมื่อดูจากดัชนีราคาผู้บริโภค ปรากฏว่าในเดือนธันวาคมอยู่ที่ 4.1% ต่ำลงกว่าในปีก่อนๆ ทั้งๆ ที่อัตราเงินเฟ้อจากราคาอาหารได้เพิ่มสูงขึ้นจาก 8.8% เป็น 9.1% จาง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนแห่งโนมูระ ตั้งข้อสังเกตว่า ในสภาพเช่นนี้พวกนักวางแผนเศรษฐกิจในส่วนกลางของแดนมังกร ย่อมต้องปรับเปลี่ยนความวิตกกังวลของพวกเขาออกจากภาวะเงินเฟ้อ ไปอยู่ที่อันตรายที่จะเกิดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ตลอดจนหันไปเพิ่มความเร่งให้แก่วัฏจักรแห่งการผ่อนคลายนโยบายการเงิน

อย่างไรก็ดี ในรอบปีที่ผ่านมา แดนมังกรได้มองเห็นอันตรายซึ่งจะเกิดขึ้นจากการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น ขณะที่มีความรับรู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่าการปล่อยเงินกู้และการให้ความสนับสนุนทางการเงินในระดับท้องถิ่นนั้นเต็มไปด้วยความบกพร่องและขาดความโปร่งใสยากแก่การตรวจสอบ แม้กระทั่งการเน้นหนักมุ่งวิเคราะห์เจาะจงไปที่ภาคการเงิน ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะพลาดท่ามองไม่เห็นปัญหาต่างๆ ซึ่งเวลานี้ถูกระบุออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน ทว่ายังไม่เป็นที่ทราบกันว่ารัฐบาลในระดับมณฑลและระดับเทศบาลของแดนมังกรบังเกิดความเสียหายร้ายแรงขนาดไหน

ปัญหาสำคัญที่สุดอยู่ตรงที่ว่า พวกวิสาหกิจที่รัฐบาลระดับท้องถิ่นเป็นเจ้าของ และยังเป็นเครื่องมือในการหาความสนับสนุนทางการเงินของรัฐบาลท้องถิ่นเหล่านี้ด้วยนั้น กำลังประสบความยากลำบากในการระดมหาเงินเงินสดเข้ามาให้ได้ในระดับเพียงพอที่จะจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการดำรงรักษาเงินสดดังกล่าว เป็นต้นว่า ค่าเบี้ยประกันภัย และดอกเบี้ย เมื่อเป็นเช่นนี้ วิสาหกิจเหล่านี้จึงกำลังหมดความสามารถที่จะชำระคืนเงินต้นที่พวกเขากู้ยืมจากธนาคารต่างๆ และทำให้พวกธนาคารพบว่าตนเองจำเป็นที่จะเพิ่มวงเงินกู้แก่วิสาหกิจเหล่านี้มากขึ้นอีก สำหรับกิจการที่มีขนาดเล็กๆ ลงมา ต่างกำลังเริ่มเข้าสู่ภาวะผิดนัดชำระหนี้ หรือกระทั่งไม่อาจชำระคืนเงินกู้ได้เลย

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา การนำเอาที่ดินออกมาขาย ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญมากในการหารายได้ของพวกรัฐบาลระดับท้องถิ่น ปรากฏว่าเรื่องนี้ได้ชะลอตัวลงอย่างแรงในปีที่แล้ว จากการที่รัฐบาลกลางดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อบังคับใช้นโยบายที่มุ่งกวดขันจำกัดการซื้อบ้านพักอาศัย เวลานี้มีรายงานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับเรื่องที่รัฐบาลระดับท้องถิ่นขอยืดเวลาชำระดอกเบี้ยออกไปจนถึงสิ้นปี 2011 โดยที่มีหวังว่าพวกเขายังจะต้องขอขยายเวลาต่อไปอีกในปีถัดๆ ไป ในปัจจุบันปัญหายังเน้นหนักอยู่ที่การพยายามขีดเส้นควบคุมให้ปัญหาอยู่ในวงจำกัด แต่ถ้ายังไร้หนทางแก้ไขอย่างจริงจังในระยะยาวแล้ว มันก็ย่อมจะนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่โตยิ่งขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

ผู้คนจำนวนมากมีความเชื่อว่า ธนาคารกลางของจีนจะใช้วิธีการง่ายๆ โดยเพียงแค่พิมพ์เงินออกมาเพิ่มขึ้น และปล่อยกู้เงินเหล่านี้จำนวนมากให้แก่ประดากิจการที่ติดหนี้สินรุงรังอยู่แล้วกันต่อไปเรื่อยๆ อันที่จริงแล้ว สภาพเช่นนี้ก็ดูจะเป็นสิ่งธนาคารกลางในหลายๆ ที่กำลังกระทำกันอยู่ ( “การพิมพ์เงิน” ที่กล่าวนี้เป็นเพียงสำนวนโวหาร มิใช่หมายถึงการพิมพ์ธนบัตรกันจริงๆ เนื่องจากในทางปฏิบัติแล้ว การปล่อยกู้มักอยู่ในรูปของการโอนตัวเลขทางบัญชีการเงิน จากบัญชีธนาคารบัญชีหนึ่งไปยังบัญชีธนาคารอีกบัญชีหนึ่ง โดยที่ไม่ได้มีการนำเอาเงินสดจริงๆ ออกมากระจายไปถึงมือประชาชน เพื่อใช้ซื้อสินค้าและบริการต่างๆ)

มีรายงานว่าธนาคารกลางของจีนยังคงพิมพ์เงินออกมาอย่างต่อเนื่องในปี 2011 ถึงแม้ด้วยอัตราที่เชื่องช้าลงกว่าในปี 2010 หรือ 2009 กระนั้น เศรษฐกิจแห่งชาติของแดนมังกรก็ดูเหมือนว่ามีอาการเสพติดสภาพคล่อง การใช้หนทางแก้ไขดังกล่าวนี้จึงกำลังมีอันตรายที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจจมถลำลงสู่ “กับดักสภาพคล่อง” (liquidity trap) ซึ่งหมายถึงสถานการณ์ที่แม้จะมีการอัดฉีดเงินสดสภาพคล่องเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ ทว่ากลับล้มเหลวไม่สามารถทำให้อัตราดอกเบี้ยลดต่ำลงมาได้ และดังนั้นจึงไม่บังเกิดผลในการกระตุ้นส่งเสริมอัตราเติบโตของเศรษฐกิจ

ในภาวะกับดักสภาพคล่อง ผู้คนจะพยายามกักตุนเงินสด เพราะพวกเขาคาดหมายว่าจะต้องประสบความลำบากเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ และ/หรือ ความยุ่งยากลำบากทางการเมือง, ขณะที่มูลค่าของอสังหาริมทรัพย์และระดับราคาของสินค้าและบริการต่างๆ กลับลดต่ำลง, การเก็งกำไรในสินค้าโภคภัณฑ์ที่รู้ข้อมูลกันในแวดวงคนเพียงไม่กี่คนจะมีเพิ่มขึ้น, พวกที่สามารถโยกย้ายเงินทองของพวกตนไปยังต่างแดนก็จะกระทำการดังกล่าว

ในขณะที่กิจการซึ่งติดหนี้ติดรุงรัง ตกอยู่ในสภาพไม่สามารถชำระเงินตามใบเสร็จเรียกเก็บค่าสินค้า หรือจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นสำหรับเงินกู้ที่พวกเขากู้ยืมมา ธนาคารกลางก็อาจจะรู้สึกไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการพิมพ์เงินออกมาให้มากขึ้น จริงๆ แล้ว ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณเงิน M2 ของจีนประจำเดือนธันวาคม ที่มีการเผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์ (8) ระบุว่ามันอยู่ในระดับสูงที่สุดในรอบ 4 เดือนทีเดียว ทั้งนี้ ตามคำจำกัดความ ปริมาณเงิน M2 ประกอบด้วยเหรียญกษาปณ์และธนบัตรทั้งหมด บวกด้วยเงินฝากเผื่อเรียก, เงินฝากประจำ, เงินฝากออมทรัพย์, ตลอดจนกองทุนตลาดเงินประเภทที่มิใช่สถาบัน (non-institutional money market funds)

ดร.โรเบิร์ต เอ็ม คัตเลอร์ (www.robertcutler.org) สำเร็จการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) และมหาวิทยาลัยมิชิแกน และได้ทำงานวิจัยตลอดจนสอนอยู่ตามมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ทั้งในสหรัฐฯ, แคนาดา, ฝรั่งเศส, สวิตเซอร์แลนด์, และรัสเซีย เวลานี้เขาเป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ สถาบันเพื่อยุโรป, รัสเซีย, และยูเรเชียศึกษา (Institute of European, Russian and Eurasian Studies) มหาวิทยาลัยคาร์ลตัน (Carleton University) ประเทศแคนาดา เขายังรับเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวในกิจการต่างๆ หลายหลาก
กำลังโหลดความคิดเห็น