xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจอ่อนตัวลงแต่‘จีน’ไม่เจอ‘ฟองสบู่’อสังหาริมทรัพย์‘แตก’

เผยแพร่:   โดย: โรเบิร์ต เอ็ม คัตเลอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Cooling economy leaves air in China s homes market
By Robert M Cutler
07/12/2011

ความเคลื่อนไหวหลายอย่างหลายประการในช่วงหลังๆ มานี้ของธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน บ่งชี้ให้เห็นว่า ธนาคารซึ่งมีฐานะเป็นแบงก์ชาติของแดนมังกรแห่งนี้ กำลังยุติการดำเนินนโยบายชุดใหญ่ในการเพิ่มความเข้มงวดทางการเงิน ขณะเดียวกันนั้น ดัชนีอุตสาหกรรมการผลิตที่แสดงถึงการทรุดตัว ก็กำลังส่งสัญญาณว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของแดนมังกรเวลานี้อยู่ในอาการเชื่องช้าลง สำหรับทางด้านราคาอสังหาริมทรัพย์นั้นยังคงลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ทว่าไม่ได้มีเสียงระเบิดโป้งป้างของฟองสบู่แตก

มอนทรีออล, แคนาดา – ราคาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีนยังคงลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ทว่ามิได้มีเสียงระเบิดโป้งป้างของฟองสบู่แตก สถาบันดัชนีจีน (China Index Academy) ซึ่งเป็นสถาบันที่เน้นหนักไปที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ รายงานว่า ราคาอสังหาริมทรัพย์ในเดือนพฤศจิกายนยังคงไหลลงอีก นับเป็นเดือนที่สามติดต่อกันแล้ว โดยถอยลงมา 0.3% จากเดือนตุลาคม หลังจากที่เดือนตุลาคมก็ต่ำลง 0.2% จากเดือนกันยายน ทั้งนี้ราคาลดต่ำลงมาในทั้ง 10 นครใหญ่ที่สุด และใน 57 เมืองใหญ่จาก 100 เมืองใหญ่ที่สถาบันแห่งนี้เฝ้าติดตามสำรวจ

แนวโน้มเช่นนี้สอดคล้องกับรายงานที่ออกเผยแพร่ในเดือนที่แล้วโดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ (National Bureau of Statistics) ของจีน ซึ่งระบุว่า ราคาอสังหาริมทรัพย์ด้านที่อยู่อาศัยของเดือนตุลาคมได้ลดลงมาใน 33 เมืองใหญ่จาก 70 เมืองใหญ่ที่เฝ้าติดตามสำรวจ จำนวนดังกล่าวคิดเป็น 2 เท่าตัวของเดือนกันยายนทีเดียว นอกจากนั้นในรายงานอีกฉบับหนึ่งที่เผยแพร่ในวันที่ 5 ธันวาคม ธนาคารเครดิต สวิส (Credit Suisse) ได้พยากรณ์ว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ด้านที่อยู่อาศัยในจีน จะลดต่ำไปจนถึงสิ้นปี 2012 โดยจะหดหายไป 20% จากระดับที่เคยขึ้นไปสูงสุดในปี 2011

สำหรับราคาที่อยู่อาศัยในเมืองใหญ่ระดับสองและระดับสามจำนวนมาก ยังคงขยับเพิ่มสูงขึ้นอย่างแข็งแรง ทั้งๆ ที่รัฐบาลส่วนกลางในปักกิ่งดำเนินการอย่างไม่หยุดหย่อน เพื่อบังคับใช้นโยบายต่างๆ ซึ่งมุ่งทำให้รัฐบาลระดับท้องถิ่นทั้งหลายต้องออกมาตรการจำกัดการซื้อที่อยู่อาศัย เหตุผลเบื้องลึกของเรื่องนี้ ก็คือการที่รัฐบาลท้องถิ่นได้ผลประโยชน์จากการเปิดให้ซื้อบ้านได้อย่างเสรีนั่นเอง พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของส่วนท้องถิ่นนั้น สามารถทำรายรับเป็นกองเป็นกำจากการขายที่ดิน รายรับเช่นนี้ย่อมหาได้ง่ายดายยิ่งกว่าการที่ต้องจัดทำนโยบายต่างๆ เพื่อส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และเมื่อเป็นเช่นนั้น จึงทำให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทั้งหลายตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ และไม่สามารถเป็นตัวขับดันให้เกิดการสร้างงานอย่างแข็งขันได้อย่างที่ควรจะเป็น

ในอีกด้านหนึ่ง ข้อมูลสถิติอื่นๆ ที่เผยแพร่ออกมาในช่วงต้นเดือนนี้ต่างแสดงให้เห็นว่า การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีนกำลังอยู่ในภาวะชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยที่มีสาเหตุมาจากปัจจัยภายในประเทศมากกว่าปัจจัยระหว่างประเทศ ทั้งนี้พวกนักเศรษฐศาสตร์จับตามองดู ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Managers Indexe หรือ PMI) 2 ตัว ซึ่งต่างก็วัดคำนวณกิจกรรมทางอุตสาหกรรมการผลิตโดยกำหนดค่าเป็นกลาง (neutral value) อยู่ที่ระดับ 50 ถ้าตัวเลขเกินกว่า 50 เท่ากับบ่งชี้ว่าเศรฐกิจกำลังขยายตัว แต่หากต่ำกว่า 50 คือเศรษฐกิจกำลังหดตัว ปรากฏว่า ดัชนี PMI ของทางการจีนซึ่งนำออกเผยแพร่โดย สหพันธ์โลจิสติกส์และการจัดซื้อแห่งประเทศจีน (China Federation of Logistics and Purchasing) ได้ตกลงจากระดับ 50.4 ในเดือนตุลาคม มาอยู่ที่ 49 ในเดือนที่แล้ว ขณะที่ดัชนี PMI ที่รวบรวมจัดทำโดยธนาคาร เอชเอสบีซี ก็ถอยลงมาจาก 51 เหลือ 47.7

ข่าวเกี่ยวกับดัชนี PMI เหล่านี้ ออกมาภายหลังธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน (People's Bank of China เป็นชื่อแบงก์ชาติของแดนมังกร) ออกประกาศเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ลดอัตราเงินสดสำรองที่กำหนดให้บรรดาธนาคารภายในประเทศต้องฝากเอาไว้กับแบงก์ชาติ ลงมาครึ่งเปอร์เซ็นต์ เหลือ 21% ในกรณีของพวกธนาคารประเภทขนาดใหญ่ที่สุด ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ได้ส่งผลทำให้เพิ่มปริมาณเงินทุนเพื่อการโอนย้ายในระหว่างธนาคารต่างๆ ด้วยกัน ตลอดจนเพื่อการปล่อยกู้ ดังนั้นจึงถูกมองว่าเป็นเครื่องบ่งชี้การสิ้นสุดแห่งการใช้นโยบายชุดใหม่เพื่อเพิ่มความเข้มงวดทางการเงิน

การที่ราคาอสังหาริมทรัพย์กำลังลดต่ำลง และการที่ธนาคารกลางคลายความเข้มงวดในนโยบายการเงิน ทำให้เกิดความประทับใจ หรืออย่างน้อยที่สุดก็เกิดความวาดหวังกันมากขึ้นว่า จีนอาจจะสามารถทำ “ซอฟต์ แลนดิ้ง” (soft landing การนำพาเศรษฐกิจที่เติบโตร้อนแรงเกินไปให้ลดถอยลงมาได้อย่างนุ่มนวล ) ได้สำเร็จแล้ว อย่างไรก็ดี การผ่อนปรนของแบงก์ชาติจีน เมื่อบวกกับการที่คาดการณ์กันว่าน่าจะต้องมีการผ่อนคลายมาตรการของส่วนกลางในเรื่องการจำกัดการขายอสังหาริมทรัพย์ในท้องถิ่นต่างๆ ไปด้วย ทำให้มีเสียงหวั่นวิตกว่า จะเกิดความเสี่ยงในเรื่องที่ภาวะฟองสบู่ของภาคอสังหาริมทรัพย์จะเกิดฟูฟ่องขึ้นมาอีกคำรบหนึ่ง

กระนั้นก็ตาม สตีเฟน โรช (Stephen Roach) แห่ง มอร์แกน สแตนลีย์ (Morgan Stanley) ได้ออกมาแสดงความสงสัยข้องใจต่อพวกที่ยังคงสงสัยข้องใจความสามารถในการรับมือของจีน โดยเขาบอกกับข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg News) ว่า ในขณะที่ยุโรปซึ่งมีฐานะเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของจีน กำลังแสดงให้เห็นว่าอุปสงค์ที่อ่อนตัวลงนั้น เรายังคงสามารถคาดหมายได้ว่า จีน “จะสามารถดำเนินการปรับเปลี่ยนนโยบายไปตามแบบแผนที่พึงปฏิบัติ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของพวกเขา” ขณะที่หลายๆ ประเทศเป็นต้นว่าสหรัฐฯ ไม่มีความสามารถที่จะทำเช่นนี้ได้แล้ว ด้วยเหตุนี้ โรชจึงคาดหมายว่า อัตราเงินเฟ้อในจีนจะยังลดต่ำลงต่อไป

ถ้าหากมีการตัดสินใจกันในส่วนกลางที่ปักกิ่งว่า ไม่ควรปล่อยให้เกิดฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ต่อไปอีกแล้ว มันก็น่าจะส่งผลต่อเนื่องในทางลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในปีหน้า เนื่องจากเมื่อการก่อสร้างที่อยู่อาศัยลดต่ำลงมา ย่อมส่งผลกระทบกระเทือนทำให้พวกอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเกิดการชะลอตัว อีกทั้งอุปสงค์สำหรับผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบต่างๆ ไม่ว่าจะผลิตอยู่ภายในจีนเองหรือนำเข้าจากต่างประเทศ ล้วนแต่จะต้องลดต่ำลงเช่นเดียวกัน การชะลอตัวดังกล่าวนี้อาจจะเป็นที่รู้สึกกันไปทั่วทั้งโลกทีเดียว เป็นต้นว่า ราคาของทองแดงที่ลดฮวบลงมา ทั้งนี้ทองแดงใช้กันอย่างกว้างขวางทั้งในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและในอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้านทั้งหลาย

พวกที่ไปซื้อบ้านและห้องชุดเอาไว้ในช่วงไม่นานมานี้ ต่างก็แสดงความไม่พอใจเมื่อได้เห็นราคาร่วงหล่นลงมาโดยในบางกรณีอาจจะถึง 20% ทีเดียว พวกนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งหลายจึงจำเป็นจะต้องลดราคาลงไปอีก ถ้าหากต้องการปล่อยที่อยู่อาศัยที่ยังค้างคาอยู่ในสต็อก ทั้งนี้เพื่อจะได้ลดภาระดอกเบี้ยของพวกตนลงไปบ้าง ทั้งนี้ตัวเลขการสร้างบ้านใหม่ของเดือนสิงหาคมปีนี้ อยู่ในระดับสูงกว่าของเดือนสิงหาคมปี 2010 ถึงร่วมๆ หนึ่งในสาม แต่พอถึงเดือนตุลาคม ตัวเลขโดยพื้นฐานก็อยู่ในระดับเดียวกันกับในเดือนเดียวกันของ 1 ปีที่แล้ว

ถึงแม้เกิดสภาพดังกล่าวมานี้ รวมทั้งยังมีปัญหาทางสังคมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับราคาในภาคที่อยู่อาศัยทรุดตัว (ตัวอย่างเช่น พวกที่นำเอาเงินออมทั้งชีวิตของพวกตนมาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และจะต้องรับผลกระทบกระเทือนจากราคาที่ตกลงมา มักจะเป็นคนจีนสูงวัยเป็นส่วนใหญ่) แต่พวกผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายก็ดูกำลังมีฉันทามติร่วมกันว่า ภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในจีนตามที่พูดกันนั้น เป็นการมองปัญหาอย่างขยายใหญ่โตเกินความเป็นจริง ที่กล่าวเช่นนี้มิใช่หมายความว่าไม่ได้มีปัญหานี้ หรือมันจะไม่ดำรงอยู่ต่อไปอีก อย่างไรก็ตาม กระทั่งถ้าหากว่าราคาที่อยู่อาศัยเกิดหล่นฮวบลงมาทั่วหน้า มันก็จะไม่ก่อให้เกิด “วิกฤตเชิงระบบ” ขึ้นมา เนื่องจากแดนมังกรมีระเบียบกฎเกณฑ์ด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยอันเข้มงวด อีกทั้งมีข้อกำหนดให้ต้องวางเงินดาวน์ก้อนโต

ดร.รอเบิร์ต เอ็ม คัตเลอร์ (www.robertcutler.org) สำเร็จการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) และมหาวิทยาลัยมิชิแกน และได้ทำงานวิจัยตลอดจนสอนอยู่ตามมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ทั้งในสหรัฐฯ, แคนาดา, ฝรั่งเศส, สวิตเซอร์แลนด์, และรัสเซีย เวลานี้เขาเป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ สถาบันเพื่อยุโรป, รัสเซีย, และยูเรเชียศึกษา (Institute of European, Russian and Eurasian Studies) มหาวิทยาลัยคาร์ลตัน (Carleton University) ประเทศแคนาดา เขายังรับเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวในกิจการต่างๆ หลายหลาก
กำลังโหลดความคิดเห็น