TISCO WEALTH ชี้ 12 เดือนข้างหน้า ยังไม่เกิด Global Recession โดยมีปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะของยุโรปเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ระบุยังมีมุมมองเป็นบวก ต่อการลงทุนทั่วโลก เหตุนักลงทุนถือเงินสดรอเข้าลงทุนปริมาณมาก ให้น้ำหนักการลงทุน Emerging market เป็นหลัก รวมถึง Asia Pacific ex Japan ด้วย แนะตลาดหุ้นยุโรป ยังคงต้องหลีกเลี่ยง จนกว่าสัญญาณฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะชัดเจน
รายงานข่าวจากธนาคารทิสโก้ โดย TISCO WEALTH เปิดเผยมุมมองการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกว่า ขณะนี้ TISCO WEALTH ไม่มีมุมมองว่าจะเกิด Global Recession อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกประเทศที่กระทบต่อการลงทุนในช่วงนี้ คือ ปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะของยุโรป ที่ยังไม่สามารถข้อสรุปสำหรับแนวทางการแก้ไขที่ชัดเจนได้ แต่ TISCO WEALTH คาดสุดท้ายแล้ว EU จะต้องมีมาตรการรับมือกับปัญหา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการลุกลาม หากสุดท้ายแล้วกรีซจะต้องผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งแนวทางที่ทางกลุ่มประเทศยุโรปกำลังพยายามอยู่ในปัจจุบัน คือการให้สถาบันการเงินต่าง ๆ เพิ่มเงินทุนสำรองของตัวเองให้เพียงพอ (Recapitalization) เพื่อรองรับการปรับลดหนี้ของกรีซ และการด้อยค่าของพันธบัตรของประเทศในกลุ่มยูโร
อีกปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ แนวทางการดำเนินนโยบายการคลังของสหรัฐฯ ที่รัฐบาลจะต้องทำแผนลดงบประมาณการใช้จ่ายให้ได้ USD 1.5 แสนล้าน ภายในเดือนธันวาคมนี้ ไม่เช่นนั้นงบประมาณ USD1.2แสนล้าน จะถูกตัดออกโดยอัตโนมัติ โดยครึ่งหนึ่งจะเป็นงบประมาณทางด้านทหาร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยรวม
อย่างไรก็ตาม สำหรับภาพการลงทุนในตลาดหุ้นระยะ 1 ปี TISCO WEALTH ยังคงมีมุมมองเป็นบวกเนื่องจากนักลงทุนถือเงินสดรอเข้าลงทุนปริมาณมาก จากการสำรวจสัดส่วนการถือเงินสดของผู้จัดการกองทุนทั่วโลกในเดือนตุลาคม พบว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้น คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยประมาณ 5% ของมูลค่าสินทรัพย์โดยรวม จากความกังวลต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง อย่างไรก็ตาม 35% ของผู้จัดการกองทุน ระบุว่าเงินสดที่ถือไว้นั้น เตรียมพร้อมที่จะเข้าลงทุน (Buy territory) เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย และยังคงสถานะลงทุน (Overweight) ในตลาดโซน Emerging market เป็นหลัก ซึ่งรวมถึง Asia Pacific ex Japan ด้วย
ทั้งนี้ สำหรับจุดเด่นของตลาดหุ้นเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) คือ ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในภูมิภาคเอเชียจะยังคงขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง หรือขยายตัว 10% และ 12% ในปี 2011-2012 ตามลำดับ ประกอบกับราคาหุ้นค่อนข้างถูกซึ่งปรับตัวลดลงต่ำใกล้เคียงกับช่วง Global Crisis ในขณะที่ปัจจัยพื้นฐานที่ดีของหุ้นตลาดเอเชีย ซึ่งยังแข็งแกร่ง เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจของประเทศ Developed markets ที่มีแนวโน้มชะลอตัว และมูลค่าหุ้นที่ถูกของหุ้นตลาดเอเชีย โดยปกติค่าเฉลี่ย P/E ratio ของภูมิภาคเท่ากับ 14 เท่า แต่ในปัจจุบัน P/E ratio ของตลาด Asia Pacific ex Japan อยู่ที่ 9.8x นอกจากนี้ เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียยังเป็นภูมิภาคที่แข็งแรงสุดในโลก โดยคาดว่าในปี 2011-2012 มี GDP Growth เฉลี่ยที่ 8% รวมทั้ง มีฐานะทางการเงินที่แข็ง โดยมีสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ต่ำ โดยเฉลี่ยไม่ถึง 50% ของ GDP
TISCO WEALTH ระบุว่า สำหรับตลาดหุ้นที่น่าสนใจในการลงทุนมากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย คือ ตลาดหุ้นจีน (HSCEI) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งป็นผลจากหมวดราคาอาหารที่ทรงตัวและหมวดไม่ไม่ใช่อาหารปรับตัวลดลง ส่งผลให้ความกังวลต่อปัญหาเงินเฟ้อของจีนเริ่มบรรเทาลง นอกจากนี้ จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ทำให้คาดว่าความเป็นไปได้ที่จีนจะออกมาตรการเพื่อควบคุมความร้อนแรงทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้น้อย
นอกจากนี้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนยังเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ และไม่เกิด Hard Landing ซึ่งแม้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลง แต่ส่วนประกอบของการเติบโตของ GDP จะพบว่า การส่งออกของจีนลดลง ขณะที่การบริโภคและการค้าในประเทศขยายตัวดีขึ้น เป็นไปตามที่ทางการจีนต้องการที่ต้องการให้เน้นการพึ่งพึงในประเทศแทนการพึ่งพิงต่างประเทศ นอกจากนี้ คาดว่าเศรษฐกิจของจีนในปี 2011-2012 จะขยายตัวได้ที่ 9.1% และ 8.6% ตามลำดับ
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นของจีนในปัจจุบัน พบว่าราคาค่อนข้างถูก เมื่อพิจารณาจากระดับ P/E และ P/BV ของจีน พบว่า ณ ระดับปัจจุบันราคาหุ้นจีนอยู่ในระดับต่ำสุด ในรอบ 5 ปี หรือ มีระดับ P/E และ P/BV ที่ 7.9x และ 1.3x ตามลำดับ
ส่วนตลาดหุ้นในภูมิภาคอื่น ๆ นั้น TISCO WEALTH มองว่า ประเทศที่ปลอดภัยในการลงทุนรองจากประเทศในภูมิภาคเอเชีย คือ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เนื่องจากกำไรบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ 3Q11 ออกมาดีกว่าคาด และนักลงทุนเริ่มคลายความกังวลหลังจากตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เช่น ISM , PMI ดีขึ้น ส่งผลให้ดัชนีชี้วัดผันผวน (VIX INDEX) ของตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกัน องค์ประกอบของดัชนี S&P500 มีสัดส่วนของบริษัทที่อิงกับธุรกิจนอกสหรัฐฯและการใช้จ่ายภาคธุรกิจ เช่น กลุ่มเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมมากถึง 32% มากกว่ากลุ่มที่อิงกับการบริโภคในสหรัฐฯ ที่น้ำหนักเพียง 20% เท่านั้น
สำหรับตลาดหุ้นที่ยังคงแนะนำ หลีกเลี่ยงการลงทุน คือ ตลาดหุ้นยุโรป เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงหลักยังหนีไม่พ้นปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศยูโรโซน ที่ยังต้องแสวงหามาตรการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม ทั้งปัญหาหนี้สาธารณะที่ลุกลามของกรีซ การเพิ่มเงินทุนสำรองของสถาบันการเงินในประเทศต่าง ๆ และการระดมทุนเพิ่มเติมเข้ากองทุน ESFS เพื่อให้เพียงพอหากสเปนและอิตาลีต้องเผชิญกับปัญหาผิดนัดชำระหนี้ ทั้งนี้ ต้องติดตามผลการประชุม European Council summit ที่จะแล้วเสร็จในช่วงต้นเดือน พ.ย. คาดที่ประชุมน่าจะมีแนวทางชัดเจนที่จะเพิ่มเงินทุนสำรองของสถาบันการเงิน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของสถาบันการเงินต่าง ๆ ในยุโรป ว่าจะไม่เกิดภาวะสถาบันการเงินล้ม หากประเทศใดประเทศหนึ่งต้องผิดนัดชำระหนี้ โดยวงเงินสำรองที่นักวิเคราะห์คาดว่าควรจะได้รับอนุมัติ อยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านยูโร รวมถึงผลการขยายวงเงินกองทุนช่วยเหลือ ESFS ซึ่งหากได้รับการอนุมัติ จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบการเงินของยุโรป และสร้างความมั่นใจว่าสุดท้ายแล้ว ECB จะเป็นแหล่งพึ่งพิงของประเทศในยูโรโซนที่ประสบปัญหาทางการเงินได้
และอีกปัจจัยเสี่ยงของยุโรป คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้น เห็นได้จากตัวเลขดัชนี PMI ของเดือน ต.ค. 2554 ที่ระดับ 47.2 จุด (ลดลงจากเดือน ก.ย. ที่ 49.1 จุด) ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาด และถือเป็นตัวเลขต่ำสุดในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา เป็นผลจากการปรับลดลงทั้งในส่วนภาคการผลิตและการบริการ