(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
China’s inflation eases
By Robert M Cutler
15/09/2011
ความพยายามของจีนที่จะรั้งบังเหียนอัตราเงินเฟ้อเอาไว้ ดูเหมือนกำลังประสบผลบ้างแล้ว จากการที่ตัวเลขของเดือนสิงหาคมที่เพิ่งประกาศออกมา ได้ลดต่ำลงจากเดือนกรกฎาคม กระนั้นก็ตาม การที่ราคาสินค้าด้านอาหารยังคงพุ่งพรวดด้วยอัตราเท่ากับกว่าสองเท่าตัวของภาวะเงินเฟ้อโดยรวม ทำให้เป้าหมายตลอดทั้งปีที่วางเอาไว้ ยังคงดูยากเย็นยิ่งที่จะทำได้สำเร็จ
มอนทรีล, แคนาดา - ความพยายามของปักกิ่งที่จะผลักดันอัตราเงินเฟ้อให้ถอยหลังกลับไป ดูเหมือนกำลังประสบความสำเร็จบ้างแล้ว ดังที่เห็นได้จากการที่อัตราเงินเฟ้อต่อปีในเดือนสิงหาคมของแดนมังกร กำลังลดต่ำลงเล็กน้อย ถึงแม้ว่าราคาในหมวดอาหารยังคงพุ่งพรวดพราด ด้วยอัตราเท่ากับกว่าสองเท่าตัวของอัตราเงินเฟ้อโดยรวม
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของจีนในเดือนสิงหาคมได้ชะลอลงมาอยู่ที่ 6.2% จากระดับ 6.5% ของช่วง 1 เดือนก่อนหน้านั้น รวมทั้งยังต่ำลงมาจากอัตรา 6.4% ของเดือนมิถุนายนอีกด้วย ทั้งนี้ตัวเลขของเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมนี้ ต่างก็เป็นการทำสถิติสูงสุดในรอบ 3 ปีกันทั้งคู่ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารของเดือนที่แล้วอยู่ที่ 13.4% เปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายนซึ่งอยู่ที่ 14.8% โดยที่ไม่มีแนวโน้มว่าจะเกิดการลดต่ำลงมาอย่างฮวบฮาบ [1]
นายกรัฐมนตรี เวิน เจี่ยเป่า ออกมายอมรับว่า เมื่อดูจากสภาพการณ์จนถึงตอนนี้ เป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดเอาไว้ว่าจะคุมอัตราเงินเฟ้อในปีปฏิทิน 2011 ให้อยู่ในระดับ 4% นั้น คงจะไม่สำเร็จเสียแล้ว แต่ถึงกระนั้นเขาก็ยังยืนกรานว่า อัตราเงินเฟ้อยังคง “ถูกสกัดหยุดยั้งเอาไว้ได้” อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากแง่มุมของผู้บริโภคแล้ว ปัญหาสินค้าขึ้นราคาที่พวกเขาต้องเผชิญอยู่ทุกวี่ทุกวัน อันดับหนึ่งเลยย่อมเป็นเรื่องของราคาอาหาร ดังนั้นจึงยังคงมีความกังวลสนใจกันอยู่ว่า ประชาชนจะแสดงปฏิกิริยาต่อภาวะเช่นนี้กันอย่างไร ตลอดจนจะเกิดความไม่สงบทางสังคมขึ้นในลักษณะไหนบ้าง
สำหรับด้านอื่นๆ ปรากฏว่าราคาของที่ดินและที่อยู่อาศัยก็กำลังขยับสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เช่นกัน ผู้คนชนชั้นกลางที่กำลังก่อตัวขึ้นมาหมาดๆ ของแดนมังกร ต่างกำลังเที่ยวหาซื้ออสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัยเอาไว้ให้เมื่อเห็นว่าสามารถกระทำได้ ถึงแม้เรื่องเช่นนี้กลับกำลังกลายเป็นสิ่งที่สุดปัญญาไขว่คว้ายิ่งขึ้นทุกที สำหรับประชากรผู้พำนักอาศัยในเขตเมืองที่อยู่ในรุ่นหนุ่มสาว ทั้งที่คนเหล่านี้เป็นพวกที่วาดหวังจะได้ไต่บันไดเลื่อนชั้นทางสังคมมากที่สุด
ตามรายงานของสำนักข่าวดาวโจนส์ในสัปดาห์นี้ ราคาเฉลี่ยของอสังหาริมทรัพย์ก่อสร้างใหม่ในเดือนสิงหาคม ได้เพิ่มขึ้นไปอีก 6.9% หลังจากที่ในเดือนกรกฎาคมก็กระโดดขึ้นไปแล้ว 6.8% สำหรับราคาอสังหาริมทรัพย์เฉพาะส่วนที่เป็นที่อยู่อาศัยนั้น ในเดือนสิงหาคมส่วนใหญ่ทีเดียวยืนอยู่นิ่งๆ ที่เดิม เปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคมซึ่งขยับขึ้นจากเดือนก่อน 0.21% รายงานของดาวโจนส์นี้อ้างอิงตัวเลขข้อมูลของ ไชน่า เรียล เอสเตท อินเด็กซ์ ซิสเต็ม (China Real Estate Index System) ซึ่งเป็นผู้จัดทำข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ในเมืองใหญ่ๆ 100 แห่งในประเทศจีน
การก่อสร้างที่อยู่อาศัยนั้น เป็นตัวที่สร้างอุปสงค์ความต้องการใช้เหล็กกล้าของจีนถึงประมาณครึ่งหนึ่ง ตลอดจนเป็นตัวที่สร้างอุปสงค์อลูมิเนียมราวหนึ่งในสาม และเป็นส่วนที่สำคัญมากของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์แดนมังกร ถ้าหากฟองสบู่ภาคที่อยู่อาศัยเกิดระเบิดแตกยับเสียแล้ว ย่อมจะทำให้ความต้องการใช้วัสดุพื้นฐานเหล่านี้ทั้งหมดลดต่ำลงฮวบฮาบ นอกจากนั้นยังจะส่งผลกระทบกระเทือนไปถึงอุปสงค์ของโลกและราคาตลาดโลกของวัตถุดิบชนิดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกโลหะและแร่ธาตุต่างๆ ที่ได้จากการทำเหมือง ตัวอย่างเช่น ทองแดง ซึ่งส่วนใหญ่ใช้กันในการเดินสายไฟฟ้าและในอุปกรณ์เครื่องใช้ประจำครัวเรือน
ในความรู้สึกของพวกนักลงทุนรายย่อยชาวจีนแล้ว การได้เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์สามารถสร้างความรู้สึกทางจิตวิทยาว่า พวกเขามั่งคั่งร่ำรวยแล้ว ถึงแม้ทรัพย์สินเหล่านี้ของพวกเขาไม่มีสภาพคล่อง ไม่สามารถปล่อยขายปล่อยเช่าออกไปได้อย่างง่ายดายก็ตามที หรือกระทั่งว่า เป็นการเข้าไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ใน “เมืองร้าง” นั่นก็คือเขตเมืองใหม่ที่มีอาคารที่อยู่อาศัยเรียงรายเป็นตับ ทว่าแทบไม่มีผู้ที่เข้าอยู่อาศัยจริงๆ
อันที่จริง พื้นที่ประเภทนี้จำนวนมากทีเดียว รัฐบาลกลางก็ปรารถนาที่จะให้มีคนเข้าไปพำนักอาศัย เพื่อเป็นการกระจายประชากรออกจากตัวเมืองใหญ่ที่มีผู้คนแออัดแน่นหนา ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังกำลังหาทางโยกย้ายฐานการผลิตทางอุตสาหกรรมให้ไปอยู่ตามเมืองที่สร้างใหม่เหล่านี้ด้วย สำหรับรัฐบาลในระดับท้องถิ่นนั้น ก็ไม่มีความปรารถนาที่จะไปสกัดกั้นหยุดยั้งฟองสบู่ราคาที่อยู่อาศัย สืบเนื่องจากพวกเขาสามารถทำรายได้จากค่าธรรมเนียมในการโอนอสังหาริมทรัพย์ได้เป็นกอบเป็นกำนั่นเอง
การที่ผู้บริโภคชาวจีนมีทรัพย์สมบัติความมั่งคั่งกันจนกระทั่งในระดับ “รายย่อย” จนทำให้เกิดกำลังซื้ออสังหาริมทรัพย์ต่างๆ เป็นจำนวนมากนั้น สาเหตุสำคัญมากประการหนึ่งก็คือการที่ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของจีนพุ่งทะยานแรง ภายหลังจากที่ทั่วโลกเผชิญกับวิกฤตภาคการเงินในช่วงปี 2007-2008 ทั้งนี้ดัชนีราคาตลาดรวมของตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ (Shanghai Stock Exchange Composite index หรือ ดัชนี SSEC) เคยกระโจนขึ้นมาเป็นกว่าสองเท่าตัวทีเดียว โดยจากที่อยู่ในระดับ 1,664 จุดในตอนสิ้นเดือนตุลาคม 2008 ซึ่งเป็นช่วงหลังผ่านวิกฤตภาคการเงินทั่วโลกไปหมาดๆ ก็วิ่งไปจนถึงขีด 3,455 จุดในอีก 9 เดือนต่อมา ถึงแม้ว่าภายหลังจากเดือนกรกฎาคม 2009 ดัชนีนี้ได้ดำดิ่งลง จนกระทั่งยืนอยู่ต่ำกว่าระดับ 2,500 จุดนิดๆ ในสัปดาห์นี้
ในส่วนความพยายามของ ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน ซึ่งก็คือแบงก์ชาติแดนมังกร ที่จะฉุดรั้งภาวะเงินเฟ้อให้อยู่หมัดนั้น ปรากฏว่าได้ใช้มาตรการประกาศให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเพิ่มทุนสำรองที่ฝากไว้กับแบงก์ชาติ และมาตรการขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน โดยที่ได้มีการทะยอยเพิ่มสัดส่วนเงินกองทุนซึ่งแบงก์พาณิชย์ต้องนำมาฝากมาไม่น้อยกว่า 9 ครั้งแล้ว ขณะที่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวมแล้ว 1.25% / ภายในเวลาไม่ถึงปี เป็นที่คาดหมายกันว่า ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีนยังจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีก ในความพยายามที่จะทำให้พวกแบงก์พาณิชย์หยุดยั้งการปล่อยกู้แบบไม่บันยะบันยัง ทั้งนี้ การสั่งให้ธนาคารพาณิชย์จีนต้องเพิ่มสัดส่วนเงินกองทุน นับเป็นมาตรการที่ใช้ไม่ค่อยได้ผล เหตุผลประการหนึ่งในจำนวนหลายๆ ประการก็คือ การที่มีพวกสถาบันที่ตั้งฐานอยู่ในฮ่องกง คอยปล่อยเงินกู้ให้แบงก์พาณิชย์จีนเหล่านี้ในอัตราดอกเบี้ยถูกๆ
อย่างไรก็ดี ราคาอสังหาริมทรัพย์ในแดนมังกรมีสิทธิ์ที่จะทรุดตัวลงมาภายในระยะเวลา 12 ถึง 18 เดือนข้างหน้า สืบเนื่องจากการที่แบงก์พาณิชย์ทั้งหลายลดการปล่อยกู้ให้แก่พวกบริษัทเรียลเอสเตท ทั้งนี้เป็นความเห็นของ วินเซนต์ โล (Vincent Lo) อภิมหาเศรษฐกิจพันล้านดอลลาร์ที่เป็นนักพัฒนาที่ดินมือฉมัง ซึ่งกล่าวไว้ในฮ่องกงในสัปดาห์นี้ และรายงานข่าวโดยหนังสือพิมพ์ไชน่า เดลี่ (China Daily) โล ซึ่งเป็นประธานของบริษัท สุย ออน แลนด์ (Shui On Land) บอกว่า กิจการพัฒนาที่ดินของเขาที่ตั้งฐานอยู่ในเซี่ยงไฮ้ ทีแรกได้รับอนุมัติเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ของจีนแห่งหนึ่งไปเรียบร้อยแล้ว ทว่าต่อมากลับถูกปฏิเสธ โดยธนาคารบอกว่ามีการเปลี่ยนนโยบาย
ประเด็นเรื่องอัตราเงินเฟ้อในจีน ยังมีความเกี่ยวโยงพัวพันกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของประเทศอีกด้วย ทั้งนี้ค่าเงินสกุลหยวนของแดนมังกรยังคงผันแปรไปตามค่าเงินดอลลาร์อย่างค่อนข้างใกล้ชิด ถึงแม้รัฐบาลจะค่อยๆ ผ่อนผันให้เงินหยวนปรับตัวแข็งขึ้นอย่างช้าๆ ภายหลังที่ได้ยุติการตรึงค่าเอาไว้กับดอลลาร์ในปี 2005 ในฤดูร้อนปีที่แล้ว ก่อนที่จะมีการประชุมกลุ่ม จี-20 ในเมืองโทรอนโต ประเทศแคนาดา เมื่อเดือนมิถุนายน 2010 จีนได้ประกาศว่าจะให้อัตราแลกเปลี่ยนของเงินหยวนมีความยืดหยุ่นเพิ่มมากขึ้นอีก และหลังจากนั้นเงินหยวนก็ปรับแข็งค่าขึ้นมาร่วมๆ 6% หากแลกเปลี่ยนกับดอลลาร์สหรัฐฯ ทว่ากลับยังคงอ่อนค่าลงอีกเมื่อแลกเปลี่ยนกับสกุลเงินตราสำคัญอื่นๆ คำถามที่ยังคงอยู่ที่ว่า แนวโน้มเช่นนี้จะยังดำเนินต่อไปหรือไม่ และในปริมาณมากน้อยเพียงใด
ถ้าหากนโยบายอื่นๆ ที่นำมาใช้ต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอแล้ว การปล่อยให้เงินหยวนปรับค่าขึ้นไปอีกก็อาจจะเป็นมาตรการที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เรื่องนี้อาจจะกระทำแบบปล่อยให้พุ่งโด่งแรงครั้งเดียวจบ (ซึ่งนี่ย่อมสร้างความเสียหายหนักให้แก่พวกผู้ส่งออก) หรือไม่ก็ใช้วิธีค่อยๆ ปรับขึ้น ด้วยการขยายและปรับเปลี่ยนแถบช่วงที่อนุญาตให้ค่าเงินหยวนขึ้นลงกันเสียใหม่ ทั้งนี้เพื่อให้เวลาผู้ส่งออกในการปรับตัว
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีการกำหนดเอาไว้แล้วว่าจีนจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงคณะผู้นำในปี 2012 โดยที่ในช่วงระยะดังกล่าวย่อมเรียกร้องต้องการเสถียรภาพในประเทศเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ ในระหว่างเวลานั้น จึงไม่น่าที่จะมีความเคลื่อนไหวอย่างสำคัญอะไรในเรื่องค่าเงินตรา
หมายเหตุ
[1] ข้อมูลสถิติของจีนนั้นจัดทำขึ้นในลักษณะเปรียบเทียบ “ปีต่อปี” (year-on-year) อัตราเงินเฟ้อที่ประกาศออกมานี้ ไม่ได้คำนวณขึ้นจากการแปลงอัตรารายเดือนให้กลายเป็นอัตรารายปี แต่เป็นการเปรียบเทียบระดับราคาของเดือนสิงหาคม 2011 กับเดือนสิงหคม 2010, เดือนกรกฎาคม 2011 กับเดือนกรกฎาคม 2010
ดร. โรเบิร์ต เอ็ม คัตเลอร์ http://www.robertcutler.org) สำเร็จการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) และมหาวิทยามิชิแกน และได้ทำงานวิจัยกับเป็นผู้บรรยายให้แก่มหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และรัสเซีย ปัจจุบันเป็นนักวิจัยอาวุโสของสถาบันยุโรป รัสเซีย และ ยูเรเชียศึกษา (Institute of European, Russian and Eurasian Studies) ซึ่งสังกัดอยู่ในมหาวิทยาลัยคาร์ลตัน ( Carleton University) ประเทศแคนาดา พร้อมกับนี้เขายังให้คำปรึกษาเป็นการส่วนตัวในหลายสาขา
China’s inflation eases
By Robert M Cutler
15/09/2011
ความพยายามของจีนที่จะรั้งบังเหียนอัตราเงินเฟ้อเอาไว้ ดูเหมือนกำลังประสบผลบ้างแล้ว จากการที่ตัวเลขของเดือนสิงหาคมที่เพิ่งประกาศออกมา ได้ลดต่ำลงจากเดือนกรกฎาคม กระนั้นก็ตาม การที่ราคาสินค้าด้านอาหารยังคงพุ่งพรวดด้วยอัตราเท่ากับกว่าสองเท่าตัวของภาวะเงินเฟ้อโดยรวม ทำให้เป้าหมายตลอดทั้งปีที่วางเอาไว้ ยังคงดูยากเย็นยิ่งที่จะทำได้สำเร็จ
มอนทรีล, แคนาดา - ความพยายามของปักกิ่งที่จะผลักดันอัตราเงินเฟ้อให้ถอยหลังกลับไป ดูเหมือนกำลังประสบความสำเร็จบ้างแล้ว ดังที่เห็นได้จากการที่อัตราเงินเฟ้อต่อปีในเดือนสิงหาคมของแดนมังกร กำลังลดต่ำลงเล็กน้อย ถึงแม้ว่าราคาในหมวดอาหารยังคงพุ่งพรวดพราด ด้วยอัตราเท่ากับกว่าสองเท่าตัวของอัตราเงินเฟ้อโดยรวม
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของจีนในเดือนสิงหาคมได้ชะลอลงมาอยู่ที่ 6.2% จากระดับ 6.5% ของช่วง 1 เดือนก่อนหน้านั้น รวมทั้งยังต่ำลงมาจากอัตรา 6.4% ของเดือนมิถุนายนอีกด้วย ทั้งนี้ตัวเลขของเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมนี้ ต่างก็เป็นการทำสถิติสูงสุดในรอบ 3 ปีกันทั้งคู่ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารของเดือนที่แล้วอยู่ที่ 13.4% เปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายนซึ่งอยู่ที่ 14.8% โดยที่ไม่มีแนวโน้มว่าจะเกิดการลดต่ำลงมาอย่างฮวบฮาบ [1]
นายกรัฐมนตรี เวิน เจี่ยเป่า ออกมายอมรับว่า เมื่อดูจากสภาพการณ์จนถึงตอนนี้ เป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดเอาไว้ว่าจะคุมอัตราเงินเฟ้อในปีปฏิทิน 2011 ให้อยู่ในระดับ 4% นั้น คงจะไม่สำเร็จเสียแล้ว แต่ถึงกระนั้นเขาก็ยังยืนกรานว่า อัตราเงินเฟ้อยังคง “ถูกสกัดหยุดยั้งเอาไว้ได้” อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากแง่มุมของผู้บริโภคแล้ว ปัญหาสินค้าขึ้นราคาที่พวกเขาต้องเผชิญอยู่ทุกวี่ทุกวัน อันดับหนึ่งเลยย่อมเป็นเรื่องของราคาอาหาร ดังนั้นจึงยังคงมีความกังวลสนใจกันอยู่ว่า ประชาชนจะแสดงปฏิกิริยาต่อภาวะเช่นนี้กันอย่างไร ตลอดจนจะเกิดความไม่สงบทางสังคมขึ้นในลักษณะไหนบ้าง
สำหรับด้านอื่นๆ ปรากฏว่าราคาของที่ดินและที่อยู่อาศัยก็กำลังขยับสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เช่นกัน ผู้คนชนชั้นกลางที่กำลังก่อตัวขึ้นมาหมาดๆ ของแดนมังกร ต่างกำลังเที่ยวหาซื้ออสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัยเอาไว้ให้เมื่อเห็นว่าสามารถกระทำได้ ถึงแม้เรื่องเช่นนี้กลับกำลังกลายเป็นสิ่งที่สุดปัญญาไขว่คว้ายิ่งขึ้นทุกที สำหรับประชากรผู้พำนักอาศัยในเขตเมืองที่อยู่ในรุ่นหนุ่มสาว ทั้งที่คนเหล่านี้เป็นพวกที่วาดหวังจะได้ไต่บันไดเลื่อนชั้นทางสังคมมากที่สุด
ตามรายงานของสำนักข่าวดาวโจนส์ในสัปดาห์นี้ ราคาเฉลี่ยของอสังหาริมทรัพย์ก่อสร้างใหม่ในเดือนสิงหาคม ได้เพิ่มขึ้นไปอีก 6.9% หลังจากที่ในเดือนกรกฎาคมก็กระโดดขึ้นไปแล้ว 6.8% สำหรับราคาอสังหาริมทรัพย์เฉพาะส่วนที่เป็นที่อยู่อาศัยนั้น ในเดือนสิงหาคมส่วนใหญ่ทีเดียวยืนอยู่นิ่งๆ ที่เดิม เปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคมซึ่งขยับขึ้นจากเดือนก่อน 0.21% รายงานของดาวโจนส์นี้อ้างอิงตัวเลขข้อมูลของ ไชน่า เรียล เอสเตท อินเด็กซ์ ซิสเต็ม (China Real Estate Index System) ซึ่งเป็นผู้จัดทำข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ในเมืองใหญ่ๆ 100 แห่งในประเทศจีน
การก่อสร้างที่อยู่อาศัยนั้น เป็นตัวที่สร้างอุปสงค์ความต้องการใช้เหล็กกล้าของจีนถึงประมาณครึ่งหนึ่ง ตลอดจนเป็นตัวที่สร้างอุปสงค์อลูมิเนียมราวหนึ่งในสาม และเป็นส่วนที่สำคัญมากของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์แดนมังกร ถ้าหากฟองสบู่ภาคที่อยู่อาศัยเกิดระเบิดแตกยับเสียแล้ว ย่อมจะทำให้ความต้องการใช้วัสดุพื้นฐานเหล่านี้ทั้งหมดลดต่ำลงฮวบฮาบ นอกจากนั้นยังจะส่งผลกระทบกระเทือนไปถึงอุปสงค์ของโลกและราคาตลาดโลกของวัตถุดิบชนิดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกโลหะและแร่ธาตุต่างๆ ที่ได้จากการทำเหมือง ตัวอย่างเช่น ทองแดง ซึ่งส่วนใหญ่ใช้กันในการเดินสายไฟฟ้าและในอุปกรณ์เครื่องใช้ประจำครัวเรือน
ในความรู้สึกของพวกนักลงทุนรายย่อยชาวจีนแล้ว การได้เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์สามารถสร้างความรู้สึกทางจิตวิทยาว่า พวกเขามั่งคั่งร่ำรวยแล้ว ถึงแม้ทรัพย์สินเหล่านี้ของพวกเขาไม่มีสภาพคล่อง ไม่สามารถปล่อยขายปล่อยเช่าออกไปได้อย่างง่ายดายก็ตามที หรือกระทั่งว่า เป็นการเข้าไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ใน “เมืองร้าง” นั่นก็คือเขตเมืองใหม่ที่มีอาคารที่อยู่อาศัยเรียงรายเป็นตับ ทว่าแทบไม่มีผู้ที่เข้าอยู่อาศัยจริงๆ
อันที่จริง พื้นที่ประเภทนี้จำนวนมากทีเดียว รัฐบาลกลางก็ปรารถนาที่จะให้มีคนเข้าไปพำนักอาศัย เพื่อเป็นการกระจายประชากรออกจากตัวเมืองใหญ่ที่มีผู้คนแออัดแน่นหนา ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังกำลังหาทางโยกย้ายฐานการผลิตทางอุตสาหกรรมให้ไปอยู่ตามเมืองที่สร้างใหม่เหล่านี้ด้วย สำหรับรัฐบาลในระดับท้องถิ่นนั้น ก็ไม่มีความปรารถนาที่จะไปสกัดกั้นหยุดยั้งฟองสบู่ราคาที่อยู่อาศัย สืบเนื่องจากพวกเขาสามารถทำรายได้จากค่าธรรมเนียมในการโอนอสังหาริมทรัพย์ได้เป็นกอบเป็นกำนั่นเอง
การที่ผู้บริโภคชาวจีนมีทรัพย์สมบัติความมั่งคั่งกันจนกระทั่งในระดับ “รายย่อย” จนทำให้เกิดกำลังซื้ออสังหาริมทรัพย์ต่างๆ เป็นจำนวนมากนั้น สาเหตุสำคัญมากประการหนึ่งก็คือการที่ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของจีนพุ่งทะยานแรง ภายหลังจากที่ทั่วโลกเผชิญกับวิกฤตภาคการเงินในช่วงปี 2007-2008 ทั้งนี้ดัชนีราคาตลาดรวมของตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ (Shanghai Stock Exchange Composite index หรือ ดัชนี SSEC) เคยกระโจนขึ้นมาเป็นกว่าสองเท่าตัวทีเดียว โดยจากที่อยู่ในระดับ 1,664 จุดในตอนสิ้นเดือนตุลาคม 2008 ซึ่งเป็นช่วงหลังผ่านวิกฤตภาคการเงินทั่วโลกไปหมาดๆ ก็วิ่งไปจนถึงขีด 3,455 จุดในอีก 9 เดือนต่อมา ถึงแม้ว่าภายหลังจากเดือนกรกฎาคม 2009 ดัชนีนี้ได้ดำดิ่งลง จนกระทั่งยืนอยู่ต่ำกว่าระดับ 2,500 จุดนิดๆ ในสัปดาห์นี้
ในส่วนความพยายามของ ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน ซึ่งก็คือแบงก์ชาติแดนมังกร ที่จะฉุดรั้งภาวะเงินเฟ้อให้อยู่หมัดนั้น ปรากฏว่าได้ใช้มาตรการประกาศให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเพิ่มทุนสำรองที่ฝากไว้กับแบงก์ชาติ และมาตรการขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน โดยที่ได้มีการทะยอยเพิ่มสัดส่วนเงินกองทุนซึ่งแบงก์พาณิชย์ต้องนำมาฝากมาไม่น้อยกว่า 9 ครั้งแล้ว ขณะที่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวมแล้ว 1.25% / ภายในเวลาไม่ถึงปี เป็นที่คาดหมายกันว่า ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีนยังจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีก ในความพยายามที่จะทำให้พวกแบงก์พาณิชย์หยุดยั้งการปล่อยกู้แบบไม่บันยะบันยัง ทั้งนี้ การสั่งให้ธนาคารพาณิชย์จีนต้องเพิ่มสัดส่วนเงินกองทุน นับเป็นมาตรการที่ใช้ไม่ค่อยได้ผล เหตุผลประการหนึ่งในจำนวนหลายๆ ประการก็คือ การที่มีพวกสถาบันที่ตั้งฐานอยู่ในฮ่องกง คอยปล่อยเงินกู้ให้แบงก์พาณิชย์จีนเหล่านี้ในอัตราดอกเบี้ยถูกๆ
อย่างไรก็ดี ราคาอสังหาริมทรัพย์ในแดนมังกรมีสิทธิ์ที่จะทรุดตัวลงมาภายในระยะเวลา 12 ถึง 18 เดือนข้างหน้า สืบเนื่องจากการที่แบงก์พาณิชย์ทั้งหลายลดการปล่อยกู้ให้แก่พวกบริษัทเรียลเอสเตท ทั้งนี้เป็นความเห็นของ วินเซนต์ โล (Vincent Lo) อภิมหาเศรษฐกิจพันล้านดอลลาร์ที่เป็นนักพัฒนาที่ดินมือฉมัง ซึ่งกล่าวไว้ในฮ่องกงในสัปดาห์นี้ และรายงานข่าวโดยหนังสือพิมพ์ไชน่า เดลี่ (China Daily) โล ซึ่งเป็นประธานของบริษัท สุย ออน แลนด์ (Shui On Land) บอกว่า กิจการพัฒนาที่ดินของเขาที่ตั้งฐานอยู่ในเซี่ยงไฮ้ ทีแรกได้รับอนุมัติเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ของจีนแห่งหนึ่งไปเรียบร้อยแล้ว ทว่าต่อมากลับถูกปฏิเสธ โดยธนาคารบอกว่ามีการเปลี่ยนนโยบาย
ประเด็นเรื่องอัตราเงินเฟ้อในจีน ยังมีความเกี่ยวโยงพัวพันกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของประเทศอีกด้วย ทั้งนี้ค่าเงินสกุลหยวนของแดนมังกรยังคงผันแปรไปตามค่าเงินดอลลาร์อย่างค่อนข้างใกล้ชิด ถึงแม้รัฐบาลจะค่อยๆ ผ่อนผันให้เงินหยวนปรับตัวแข็งขึ้นอย่างช้าๆ ภายหลังที่ได้ยุติการตรึงค่าเอาไว้กับดอลลาร์ในปี 2005 ในฤดูร้อนปีที่แล้ว ก่อนที่จะมีการประชุมกลุ่ม จี-20 ในเมืองโทรอนโต ประเทศแคนาดา เมื่อเดือนมิถุนายน 2010 จีนได้ประกาศว่าจะให้อัตราแลกเปลี่ยนของเงินหยวนมีความยืดหยุ่นเพิ่มมากขึ้นอีก และหลังจากนั้นเงินหยวนก็ปรับแข็งค่าขึ้นมาร่วมๆ 6% หากแลกเปลี่ยนกับดอลลาร์สหรัฐฯ ทว่ากลับยังคงอ่อนค่าลงอีกเมื่อแลกเปลี่ยนกับสกุลเงินตราสำคัญอื่นๆ คำถามที่ยังคงอยู่ที่ว่า แนวโน้มเช่นนี้จะยังดำเนินต่อไปหรือไม่ และในปริมาณมากน้อยเพียงใด
ถ้าหากนโยบายอื่นๆ ที่นำมาใช้ต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอแล้ว การปล่อยให้เงินหยวนปรับค่าขึ้นไปอีกก็อาจจะเป็นมาตรการที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เรื่องนี้อาจจะกระทำแบบปล่อยให้พุ่งโด่งแรงครั้งเดียวจบ (ซึ่งนี่ย่อมสร้างความเสียหายหนักให้แก่พวกผู้ส่งออก) หรือไม่ก็ใช้วิธีค่อยๆ ปรับขึ้น ด้วยการขยายและปรับเปลี่ยนแถบช่วงที่อนุญาตให้ค่าเงินหยวนขึ้นลงกันเสียใหม่ ทั้งนี้เพื่อให้เวลาผู้ส่งออกในการปรับตัว
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีการกำหนดเอาไว้แล้วว่าจีนจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงคณะผู้นำในปี 2012 โดยที่ในช่วงระยะดังกล่าวย่อมเรียกร้องต้องการเสถียรภาพในประเทศเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ ในระหว่างเวลานั้น จึงไม่น่าที่จะมีความเคลื่อนไหวอย่างสำคัญอะไรในเรื่องค่าเงินตรา
หมายเหตุ
[1] ข้อมูลสถิติของจีนนั้นจัดทำขึ้นในลักษณะเปรียบเทียบ “ปีต่อปี” (year-on-year) อัตราเงินเฟ้อที่ประกาศออกมานี้ ไม่ได้คำนวณขึ้นจากการแปลงอัตรารายเดือนให้กลายเป็นอัตรารายปี แต่เป็นการเปรียบเทียบระดับราคาของเดือนสิงหาคม 2011 กับเดือนสิงหคม 2010, เดือนกรกฎาคม 2011 กับเดือนกรกฎาคม 2010
ดร. โรเบิร์ต เอ็ม คัตเลอร์ http://www.robertcutler.org) สำเร็จการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) และมหาวิทยามิชิแกน และได้ทำงานวิจัยกับเป็นผู้บรรยายให้แก่มหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และรัสเซีย ปัจจุบันเป็นนักวิจัยอาวุโสของสถาบันยุโรป รัสเซีย และ ยูเรเชียศึกษา (Institute of European, Russian and Eurasian Studies) ซึ่งสังกัดอยู่ในมหาวิทยาลัยคาร์ลตัน ( Carleton University) ประเทศแคนาดา พร้อมกับนี้เขายังให้คำปรึกษาเป็นการส่วนตัวในหลายสาขา