xs
xsm
sm
md
lg

ไอเอ็มเอฟแนะจีน “ลอยตัวหยวนปฏิรูปเศรษฐกิจ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเยนซี - กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ เรียกร้องให้จีนดำเนินการยกเครื่องปฏิรูประบบการเงิน เพื่อค้ำยันการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว แนะจีน เริ่มจากการปล่อยค่าเงินหยวนให้เป็นไปตามกลไกเสรี

ไอเอ็มเอฟแถลงเมื่อวันพุธ (20 ก.ค.) ว่า จีนกำลังเริ่มเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจแบบมุ่งการตลาด (market-oriented changes) แล้ว แต่จีนก็ต้องเดินตามแผนปรับสมดุลอย่างระมัดระวัง ซึ่งจะทำให้จีนจากเดิมที่เน้นการผลิตเพื่อส่งออก มาเน้นการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น

แนวคิดมุ่งการตลาดหมายถึง การผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในระยะสั้น ตลาดต้องการสิ่งใดก็ผลิตสิ่งนั้น จะเรียกว่าผลิตแบบตามกระแสก็ได้ การผลิตเช่นนี้ทำให้ขายสินค้าในระยะสั้นได้ แต่ไม่ยั่งยืนในระยะยาว

การปฏิรูปการเงินของจีนจะช่วยเพิ่มพูนรายได้ครัวเรือน ช่วยสร้างอุตสาหกรรมด้านบริการ และทำให้บทบาทของจีนมั่นคงขึ้นในเวทีการเงินโลก

ไอเอ็มเอฟ เผยรายงานเศรษฐกิจจีนฉบับใหม่ว่า “ในฐานะที่จีนเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจโลก จีนสามารถสร้างและกระจายภาวะช็อกทางเศรษฐกิจได้ หากจีนไม่ปฏิรูปฯ ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมทั้งหมด”

ในระยะยาวนั้น การผลิตสินค้าแบบมุ่งการตลาดจะสร้างภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ การปรับสมดุลทางเศรษฐกิจจึงมีความสำคัญมาก

นิเกล ชอล์ก หัวหน้าฝ่ายจีนของไอเอ็มเอฟสรุปว่า “สิ่งที่ต้องทำอย่างแรกในการปฏิรูปการเงินก็คือ การขึ้นค่าเงินหยวนมากกว่านี้”

ก่อนหน้านี้ ไอเอ็มเอฟชี้ว่าเงินหยวนหรือเหรินหมินปี้ของจีน อ่อนค่ากว่าความเป็นจริงอย่างมาก แม้ว่าปีที่ผ่านมาจีนจะปล่อยขึ้นค่าเงินหยวน 5.5 เปอร์เซ็นต์ต่อดอลลาร์ แต่ในความจริงแล้วจีนยังคงตรึงค่าเงินให้อ่อนค่าทั้งในอัตราขยายตัวที่แท้จริงและมูลค่าที่เป็นตัวเงิน (real and nominal terms) ต่อตะกร้าสกุลเงินหลัก (ดอลลาร์) อยู่

ไอเอ็มเอฟแสดงรายละเอียดว่า การปฎิรูปฯ จะส่งผลให้จีนเกิดความเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงาน สามารถรับมือปัญหาฟองสบู่แตกทางการเงินได้อย่างมั่นใจ และทำให้รัฐบาลมีเครื่องมือที่ดีกว่าในการจัดการเศรษฐกิจ ทำให้จีนครองตำแหน่งอันดับสองรองแชมป์เศรษฐกิจโลกต่อไปได้

รายงานฯระบุ การปล่อยให้ขึ้นค่าเงินหยวนแบบเสรีจะเปิดประตู่สู่การสร้างเครื่องมือทางเศรษฐกิจสำคัญอื่น ๆ เช่น การพัฒนาการออมและการลงทุน การปรับสู่กลไกเสรี อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาด เพิ่มการปันส่วนสินเชื่อ และท้ายที่สุดจะช่วยปลดภาระการคุมเข้มการเงินจีน ซึ่งจะช่วยปกป้องเงินหยวนเมื่อ “หยวน” กลายเป็นสกุลเงินสากลในการค้าระหว่างประเทศ

ชอล์กชี้ว่า “เงินหยวนที่แข็งค่าขึ้นจะเพิ่มรายได้ต่อครัวเรือน ฟื้นการบริโภค ทำให้การผลิตสินค้าของจีนไม่มีปัญหา และช่วยสร้างภาคบริการให้เข้มแข็งขึ้นด้วย”

หากจีนไม่ยอมยกเครื่องสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจดังที่ไอเอ็มเอฟแนะแล้วไซร้ จีนก็จะมีสัดส่วนในตลาดการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน (ลดการพึ่งพิงการส่งออกไม่ได้) ผลิตได้เกินความต้องการของตลาด ท้ายที่สุดก็จะมีปัญหาการผลิตล้นเกิน ปัญหาความร่วมมือ และปัญหาบัญชีงบดุลด้วย

“ผมคิดว่าเราต้องรำลึกเสมอ การปรับเปลี่ยนย่อมมีความเสี่ยง ต้องจัดการอย่างระมัดระวังและถูกต้อง” ชอล์กย้ำว่า เป้าหมายและวิธีการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเหล่านี้ได้บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 ปีของจีนฉบับ 12 แล้ว

“ผมคิดว่าคงใช้เวลาอย่างน้อย 3-5 ปี เดินหน้าเปลี่ยนแปลงจากระบบการเงินแบบปัจจุบันไปสู่ระบบการเงินที่พึ่งตลาดเป็นฐานมากขึ้น” ชอล์กกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น