จากมาตรการล่าสุดที่รัฐบาลจีนได้ประกาศเพิ่มสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารอีกครั้งเมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนต่างเฝ้ามองกันว่าทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจจีนต่อไปจะเป็นอย่างไร... จะขยายตัวร้อนแรง หรือจะหดตัวลง รวมถึงความกังวลในเรื่องของภาวะเงินเฟ้อและภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งความกังวลเหล่านี้จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนในประเทศจีนหรือไม่ และควรจัดสรรเงินลงทุนอย่างไร นักลงทุนควรพิจารณาถึงภาพรวมและปัจจัยต่างๆ รวมถึงผลกระทบที่เกิดจากมาตราการดังนี้
สรุปภาพรวมเศรษฐกิจจีนเศรษฐกิจจีนยังอยู่ในช่วงขาขึ้น อัตราการเติบโตของจีดีพีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นถึง 9.2% ในปี 2009 และ 10.3% ในปี 2010 ซึ่งถือเป็นการเติบโตที่สูงที่สุดในช่วง3ปี และหากดูในรายไตรมาสนั้นพบว่า ใน 1Q11 เพิ่มขึ้น 9.7%YoY ซึ่งแม้จะลดลงจาก 9.8% ใน 4Q10 แต่ก็ยังมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 9.4% แรงผลักดันที่ทำให้เศรษฐกิจโตในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมานั้น มาจาก ภาคการลงทุนในประเทศและการส่งออก ในส่วนของภาคการลงทุน (Fixed asset investment) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 50% ของจีดีพี นั้น ในเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 25.4%YoY มากกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 24.9% ซึ่งการเติบโตนี้มาจากการขยายตัวของยอดสินเชื่อ เพื่อการลงทุนในโครงการอาคารสงเคราะห์ (social housing programs) และการลงทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในปีที่แล้ว ส่วนภาคการส่งออก(Export) ในเดือนเม.ย.เพิ่มขึ้น 29.9% มากกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 29.5% เพราะฉะนั้นจึงมองว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตต่อไปอีกตลอดทั้งปีนี้ คาดว่าอยู่ในช่วง 9-9.5% ซึ่งการเติบโตนี้ยังคงมาจากภาคการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเป็นหลัก โดยเฉพาะความต้องการด้านการลงทุนและการก่อสร้างโครงการอาคารสงเคราะห์ในประเทศ ส่วนการส่งออกนั้น มองว่าสามารถเติบโตได้อีก แต่ต้องระวังในเรื่องของความไม่แน่นอนในประเทศแถบตะวันออกกลางและญี่ปุ่น ซึ่งจะกระทบความต้องการในประเทศเหล่านี้
ปัจจัยบวกปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน คืออุปสงค์ในประเทศ ซึ่งส่งผลให้เกิดการขยายตัวในภาคการลงทุน และการบริโภคในประเทศ จีนต้องการที่จะปรับแผนการพัฒนาเศรษฐกิจโดยเน้นที่การบริโภคเป็นหลัก โดยเพิ่มความสามารถในการบริโภคของประชาชน ด้วยการปรับขึ้นค่าแรง เพื่อให้ประชาชนมีรายได้ที่สอดคล้องกับการเติบโตของประเทศ และมีกำลังซื้อที่เพียงพอ นอกจากนี้จีนยังเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลก เนื่องจากความได้เปรียบด้านปัจจัยการผลิต ทั้งวัตถุดิบ พลังงาน และแรงงาน รวมถึงมีการขยายสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการลงทุนจากภายนอก ทำให้การผลิตและส่งออกของจีนแข็งแกร่ง โดยการลงทุนจากต่างประเทศในปีนี้ ตั้งแต่เดือนม.ค.-เม.ย มากถึง 38,800 ล้านดอลล่าร์ หรือเพิ่มขึ้น 26.03%YoY
ปัจจัยลบอุปสรรคสำคัญที่สุดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจจีนในปีนี้ คือเงินเฟ้อ ซึ่งเงินเฟ้อเดือนเม.ย.เพิ่มขึ้น 5.3%YoY มากกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 5.2% ซึ่งเหตุผลหลักเกิดจากราคาอาหารและสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่ไม่ดี ทำให้ได้ผลผลิตต่ำ รวมถึงยังเกิดจากราคาอสังหาริมทรัพย์ที่สูงขึ้น และเงินเฟ้อจากการนำเข้า โดยมองว่าเงินเฟ้อจะสูงขึ้นในเดือนพ.ค. และน่าจะสูงสุดในเดือนมิ.ย. เนื่องจากจะเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน ภูมิอากาศเหมาะแก่การเพาะปลูก ทำให้ราคาอาหารและสินค้าเกษตรลดลง ในส่วนของภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์นั้น มองว่าไม่น่าจะเกิดภาวะฟองสบู่แตกในอนาคตอันใกล้นี้ เนื่องจากรัฐบาลจีนได้ออกมาตรการที่จะเข้าแทรกแซงการขยายตัวของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อป้องกันการลงทุนที่อาจเสี่ยงต่อทั้งภาคธุรกิจและต่อผู้บริโภค เช่น การควบคุมการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์ การเพิ่มเงินดาวน์ การใช้มาตรการทางภาษี และออกโครงการอาคารสงเคราะห์เพื่อช่วยคนรายได้น้อยที่ได้รับความเดือดร้อนจากราคาบ้านที่สูงขึ้น
แนวทางของรัฐบาลที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้ติดตามและดูแลปัจจัยกดดันต่างๆอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะปัญหาเงินเฟ้อ โดยได้ออกมาตรการเข้มงวดด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งมีการปรับไปแล้วทั้งหมด 4 ครั้งตั้งแต่เดือนต.ค.ที่ผ่านมา โดยปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยพื้นฐานทั้งภาคเงินฝากและเงินกู้ระยะ 1 ปี เป็น 3.25% และ 6.31% ตามลำดับ ควบคู่ไปกับการปรับขึ้นสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งล่าสุดปรับขึ้นอีก 0.5% เป็น 21% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 5 ของปีนี้ เนื่องจากยอดสินเชื่อใหม่มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงธนาคารกลางมีการปล่อยค่าเงินหยวนให้แข็งค่าขึ้น เพื่อให้ราคานำเข้าสินค้าถูกลง สำหรับแนวโน้มต่อไป มองว่ารัฐบาลจะยังใช้มาตรการเข้มงวดต่ออีกระยะหนึ่ง โดยคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย1ครั้งในช่วงพ.ค-มิ.ย.นี้ และขึ้นสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์อีก1-2ครั้ง เพื่อควบคุมเงินเฟ้อและภาวะฟองสบู่
จากปัจจัยข้างต้น เห็นได้ว่า เศรษฐกิจจีนยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยรัฐบาลจีนมีการควบคุมแรงกดดันต่างๆ ทำให้เชื่อว่าจีนจะสามารถรับมือกับภาวะเงินเฟ้อได้ และเศรษฐกิจจีนน่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีในการลงทุนในจีน...
ที่มา : บลจ.วรรณ