xs
xsm
sm
md
lg

‘ความคืบหน้า’จากการหารือทางยุทธศาสตร์‘สหรัฐฯ-จีน’ (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: จินตง หยวน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Hardy perennials block US-China light
By Jingdong Yuan
12/05/2011

มีความคืบหน้าไปพอประมาณในประเด็นเรื่องการเปิดตลาด และสายสัมพันธ์ทางการทหารระหว่างประเทศทั้งสอง จากการที่สหรัฐฯกับจีนเปิดสนทนาหารือทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจประจำปีครั้งที่ 3 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ความก้าวหน้าเช่นนี้ย่อมเพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่การเจรจารูปแบบดังกล่าว ในฐานะของเวทีเพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติที่กำลังขยายตัวกว้างขวางออกไปทุกที ทั้งนี้แม้ปัญหายืดเยื้อเรื้อรังเก่าๆ เดิมๆ อย่างเรื่องสิทธิมนุษยชน และค่าเงินหยวนของจีน จะยังคงเป็นอุปสรรคขัดขวางที่สำคัญ แต่อย่างน้อยที่สุดก็มีบางสิ่งบางอย่างที่ก่อให้เกิดความหวังในทางสดใส

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

อาณาบริเวณหนึ่งในความสัมพันธ์ทวิภาคีในด้านการทหารระหว่างสหรัฐฯกับจีน ซึ่งเป็นที่คาดหมายได้ว่ากำลังได้รับความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ได้แก่อาณาบริเวณในด้านยุทธศาสตร์นิวเคลียร์ ในปัจจุบัน การสนทนาแลกเปลี่ยนระหว่างเจ้าหน้าที่ของทั้งสองประเทศในประเด็นปัญหาทางด้านนี้ ยังมีอยู่น้อยมากหรือกระทั่งไม่มีเอาเลย

นอกจากนั้น สหรัฐฯกับจีนยังควรที่จะเพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์กันในเชิงพิธีการตามหน้าที่ (functional interactions) ให้มากยิ่งขึ้นและบ่อยครั้งขึ้น เป็นต้นว่า การแลกเปลี่ยนทางด้านการศึกษา, การไปเยือนฐานทัพและการส่งกองเรือไปเยี่ยมเยียมกัน, และการฝึกร่วม โดยอาจจะเริ่มต้นจากการฝึกเรื่องการค้นหาและกู้ภัย, การต่อต้านโจรสลัด และการต่อต้านการค้าของเถื่อนผิดกฎหมาย, และการฝึกด้านความปลอดภัยในการเดินเรือทะเล

อีกอาณาบริเวณหนึ่งที่จำเป็นต้องได้รับความใส่ใจ คือเรื่องทัศนะที่สหรัฐฯและจีนมีต่ออีกฝ่ายหนึ่งในเชิงยุทธศาสตร์ระยะยาว ภายในกรอบของการขบคิดคำนึงถึงประเด็นปัญหาใหญ่ๆ ทางด้านความมั่นคงทั้งในระดับระหว่างประเทศ และระดับภูมิภาค ทั้งนี้สำหรับนักวิเคราะห์และเจ้าหน้าที่จำนวนมากในสหรัฐฯแล้ว การที่จีนกำลังมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และมีแผนงานปรับปรุงด้านการทหารให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง ไม่ต่างอะไรกับการส่งสัญญาณอันตราย

จีนที่กำลังก้าวผงาดขึ้นมา คือการท้าทายระบอบปกครองของสหรัฐฯ และระบบระหว่างประเทศที่มีอยู่ในปัจจุบันใช่หรือไม่? การส่งผ่านอำนาจ (จากสหรัฐฯที่กำลังถดถอยไปสู่จีนที่กำลังโดดเด่น) จะดำเนินไปอย่างสันติ หรือจะนำไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหญ่ๆ ในระหว่างทางเข้าจนได้? ความวิตกกังวลดังกล่าวนี้ยิ่งเพิ่มพูนเข้มข้นขึ้นอีก เมื่อภายในจีนเองก็มีการอภิปรายถกเถียงกัน ว่าด้วยบทบาทอันเหมาะสมของแดนมังกรในแวดวงกิจการระหว่างประเทศ โดยที่มีความเห็นเสนอแนะขึ้นมาว่า ปักกิ่งควรที่ใช้ท่าทียืนกรานอ้างสิทธิ์อย่างเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์แห่งชาติของจีน รวมทั้งปักกิ่งควรพรักพร้อมที่จะรายงานข่าวและแสดงการยืนยันรับรองข่าวที่รั่วไหลออกไป เกี่ยวกับแผนงานปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัย และความก้าวหน้าครั้งสำคัญๆ ในด้านการทหาร

ชุดประเด็นปัญหาระหว่างสหรัฐฯกับจีน ที่จะมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในระยะเวลา 2 ปีข้างหน้านี้อีกชุดหนึ่ง ก็คือเรื่องเศรษฐกิจ ทั้งนี้เศรษฐกิจเป็นปัจจัยที่ผูกพันประเทศทั้งสองเข้าด้วยกันอย่างรวดเร็วยิ่งในลักษณะที่ต่างฝ่ายต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันยิ่งกว่าในอดีตมากมายนัก แต่ขณะเดียวกันมันก็มีฐานะเป็นตัวสร้างความโกรธกริ้วขุ่นเคืองในความสัมพันธ์ทวิภาคีนี้ เป็นที่ชัดเจนว่าชุดประเด็นปัญหานี้จำเป็นที่จะต้องได้รับความใส่ใจ

เศรษฐกิจสหรัฐฯนั้นยังไม่ทันได้กระเตื้องฟื้นตัวขึ้นมาดีนักจากวิกฤตการณ์ภาคการเงิน โดยที่ยังต้องหนักอกหนักใจกับปัญหาภาคที่อยู่อาศัย, อัตราการว่างงานที่ยังสูงมาก, และหนี้สินก้อนใหญ่โตมหึมา ในเวลาเดียวกัน จีนกลับกำลังประสบกับความเจ็บปวดจากการที่เศรษฐกิจเติบโตขยายตัวอย่างรวดเร็ว ถึงแม้แดนมังกรสามารถที่จะทนทานต่อวิกฤตการณ์ภาคการเงินที่แผ่ลามไปทั่วโลกได้ อย่างดี และผ่านพ้นมาได้โดยแทบไม่ได้มีบาดแผลรอยขีดข่วนอะไรเท่าใดนัก

ดังนั้นจีนมีความจำเป็นที่จะต้องปรับความสมดุลของเศรษฐกิจตนเองเสียใหม่ เพื่อทำให้อุปสงค์ความต้องการภายในประเทศ และตลาดภายใน เป็นเครื่องยนต์เครื่องสำคัญสำหรับผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจชนิดที่มีความยั่งยืน แทนที่จะมุ่งอาศัยแต่การส่งออกดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนั้น จีนยังต้องเตรียมรับมือกับปัญหาทางเศรษฐกิจระยะยาวอย่างเรื่องความเป็นไปได้ที่จะเกิดการขาดแคลนแรงงานในเวลาหลายๆ ปีหลังจากนี้ ตลอดจนการที่ประชากรในประเทศโดยเฉลี่ยแล้วย่างเข้าสู่วัยชรา ซึ่งจะสร้างแรงกดดันอย่างมหาศาลต่อโครงข่ายความปลอดภัยทางสงคมทั้งหลาย เป็นต้นว่า ระบบบำนาญหลังเกษียณอายุ, ระบบการดูแลรักษาสุขภาพ

ในการประชุมสนทนาประจำปีสหรัฐฯ-จีนครั้งล่าสุดนี้ ได้มีความคืบหน้าไปพอสมควรในการคลี่คลายประเด็นปัญหาทางเศรษฐกิจที่วิตกกังวลกันอยู่ ทั้งนี้จีนให้สัญญาที่จะเพิ่มความโปร่งใสมากขึ้นในเรื่องของการอนุญาตให้พวกบริษัทอเมริกาสามารถเข้าถึงตลาด และการให้บริษัทเหล่านี้ได้เข้าประมูลเพื่อทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างจากภาครัฐโดยได้รับการพิจารณาตัดสินอย่างเป็นธรรม นอกจากนั้นแดนมังกรจะยังคงดำเนินการปรับค่าสกุลเงินตราของตนให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นไปอย่างราบรื่น, รวมทั้งจะเปิดภาคบริการทางการเงินให้กว้างขึ้นอีกในอนาคต

ในอีกด้านหนึ่ง ปักกิ่งก็ผลักดันสหรัฐฯให้สร้างสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างมากขึ้นและมีข้อจำกัดลดน้อยลงสำหรับการเข้าไปลงทุนของจีน, ยกเว้นข้อจำกัดและการควบคุมในเรื่องการส่งออกสินค้าไฮเทคของสหรัฐฯไปยังจีน, รวมทั้งเร่งรัดให้สหรัฐฯรับรองจีนว่ามีฐานะเป็นระบบเศรษฐกิจแบบตลาด (market economy status)

ชุดประเด็นปัญหาระหว่างสหรัฐฯกับจีนอีกชุดหนึ่ง ได้แก่เรื่องสิทธิมนุษยชนและการแลกเปลี่ยนในรับประชาชนต่อประชาชน การที่สหรัฐฯกับจีนมีความเห็นแตกต่างกันมากในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ตลอดจนความจำเป็นที่จะต้องมีการสนทนากันมากกว่านี้ และให้มีการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชนต่อประชาชนเพิ่มขึ้นกว่านี้ ก็ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อความสัมพันธ์ทวิภาคี

แดนมังกรดูเหมือนจะได้เพิ่มมาตรการควบคุมพวกที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ท่ามกลางเหตุการณ์การประท้วงลุกฮือของประชาชนในประเทศมุสลิมทางแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง ที่เรียกกันว่า “Arab Spring” ทั้งนี้ทางการจีนได้จับกุมคุมขังนักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิพลเมืองซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีหลายต่อหลายคนทีเดียว เรื่องนี้ได้จุดชนวนทำให้ปักกิ่งกับวอชิงตันเกิดการต่อว่าต่อขานตอบโต้กัน ซึ่งบางครั้งก็เป็นไปอย่างเอะอะเกรียวกราวมาก

เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า ประเทศทั้งสองมีทัศนะมุมมอง และวิธีดำเนินการเกี่ยวกับประเด็นปัญหาทางด้านสิทธิมนุษยชนที่ผิดแผกแตกต่างกันอย่างมาก โดยที่การประชุม SED ตลอดจนกระบวนการระดับทวิภาคีอื่นๆ ไม่สามารถ (และก็ไม่ควร) ที่จะถูกคาดหมายว่าจะสามารถแก้ไขคลี่คลายความแตกต่างกันเหล่านี้ได้ กระนั้นก็เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ทั้งสองฝ่ายยังควรที่จะผูกพันเข้าร่วมในการสนทนาและแลกเปลี่ยนทัศนะกันอย่างตรงไปตรงมา

รัฐบาลของทั้งสองประเทศยังควรที่จะกระตุ้นส่งเสริม, สนับสนุน, และอำนวยความสะดวก เพื่อให้ประชาชนของทั้งสองฝ่ายมีปฏิสัมพันธ์กันมากยิ่งขึ้นทั้งในด้านวัฒนธรรม, การศึกษา, และสังคม การที่ทั้งปักกิ่งและวอชิงตันต่างให้คำมั่นที่จะธำรงรักษาและขยับขยายโครงการต่างๆ ในด้านนักศึกษา ควรถือเป็นการลงทุนที่ดีสำหรับอนาคต

ระยะเวลา 18 เดือนต่อจากนี้ไปจะเป็นช่วงเวลาอันสำคัญยิ่งยวดสำหรับทั้งจีนและสหรัฐฯ เนื่องจากทั้งสองประเทศต่างก็ย่างเข้าสู่ฤดูกาลทางการเมืองแห่งการเปลี่ยนถ่ายคณะผู้นำ และการเลือกตั้งประธานาธิบดี

ต้องไม่ลืมว่าการประชุม SED คือกรอบโครงอันรอบด้านที่มีลักษณะเป็นสถาบันแล้ว และมีความยั่งยืน เพื่อให้บรรดาผู้นำที่มีความรับผิดชอบอันสำคัญยิ่งในทั้งสองประเทศ ได้อภิปรายถกเถียงกันอย่างลงลึกในประเด็นปัญหาใหญ่ๆ ที่กำลังเผชิญประเทศทั้งสองอยู่ คงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องบอกว่า ในการแก้ไขความผิดแผกแตกต่างกันระหว่างมหาอำนาจยิ่งใหญ่เหล่านี้นั้น การพูดจาทำความเข้าใจกันย่อมดีกว่าการเข้าต่อยตีสู้รบกัน

ดร.จินตง หยวน เป็นรองศาสตราจารย์อยู่ที่ ศูนย์เพื่อการศึกษาด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ (Center for International Security Studies) มหาวิทยาลัยซิดนีย์
กำลังโหลดความคิดเห็น