xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจสิงคโปร์‘สะดุด’ในไตรมาส2

เผยแพร่:   โดย: รอเบิร์ต เอ็ม คัตเลอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Singapore stalls
By Robert M Cutler
14/07/2011

การใช้จ่ายอย่างเป็นกอบเป็นกำของพวกที่มาเยือนสถานกาสิโนใหม่ทั้ง 2 แห่ง ตลอดจนสถานที่ดึงดูดใจอื่นๆ ของสิงคโปร์ ยังคงไม่เพียงพอที่จะชดเชยการทรุดตัวลงของภาคอุตสาหกรรมการผลิต และทำให้สิงคโปร์ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเติบโตขยายตัวรวดเร็วที่สุดในโลกนับตั้งแต่ปี 2007-08 เป็นต้นมา ต้องอยู่ในอาการสะดุดในรอบไตรมาสที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ความเข้มแข็งของชาติต่างๆ ภายในภูมิภาคแถบนี้ อาจช่วยให้สภาพชะงักงันเช่นนี้เป็นเพียงการติดขัดช่วงสั้นๆ แต่ในเวลาเดียวกัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุโรปก็ทำให้น่าเป็นห่วงว่า สิงคโปร์อาจจะต้องย่ำแย่กันนานกว่าที่ประเมินกัน

มอนทรีล, แคนาดา – ช่วงไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ เศรษฐกิจสิงคโปร์เจริญเติบโตด้วยอัตราที่รวดเร็วยิ่งเรื่อยมา โดยที่ในไตรมาสแรกปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.) สามารถขยายตัวได้ในอัตรา 9.3% ทว่าในรอบไตรมาสที่เพิ่งผ่านพ้นไป (เม.ย.-มิ.ย.) สิงคโปร์กลับมีอาการสะดุด โดยที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้นเพียง 0.5% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ตามการรายงานของกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของนครรัฐแห่งนี้ในวันพฤหัสบดี(14)

ยิ่งถ้าหากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าโดยที่แปลงเป็นอัตราต่อปี (seasonally-adjusted annualised basis) ด้วยแล้ว ปรากฏว่าตามตัวเลขที่มีการปรับปรุงให้ทันสมัยยิ่งขึ้นในคราวนี้ เศรษฐกิจสิงคโปร์ในไตรมาสแรกปีนี้เติบโตสูงลิ่วถึงระดับ 27.2% ทีเดียว ขณะที่ในไตรมาส 2 หดตัวลงมา 7.8% ตามข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) นั้น สิงคโปร์เป็นชาติที่เศรษฐกิจขยายตัวรวดเร็วที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกในปีที่แล้ว เป็นรองก็แต่กาตาร์ที่อุดมรุ่มรวยด้วยน้ำมัน และปารากวัย

เมื่อแยกแยกเป็นรายภาคส่วนอุตสาหกรรม ในภาคบริการ ซึ่งได้ตัวหนุนจากการพุ่งทะยานในด้านจำนวนนักท่องเที่ยวที่แห่กันมาเยือนสถานท่องเที่ยว 2 แห่งอันมีบ่อนกาสิโนเป็นแม่เหล็กดึงดูดตัวโตนั้น สามารถขยายตัวได้ 3.3% ในไตรมาสที่ผ่านมา แต่นั่นไม่เพียงพอจะชดเชยกับการหดตัว 5.5% ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ทางการสิงคโปร์คาดว่ารายได้ที่ภาคการท่องเที่ยวจะสร้างให้แก่ประเทศชาติภายในปี 2011 น่าจะเกินกว่าเมื่อปีที่แล้วราว 21% ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สิงคโปร์เดินนโยบายเร่งพัฒนาภาคการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มโอกาสให้แก่ระบบเศรษฐกิจของตน

สำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิต รายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์กที่ออกมาก่อนการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจข้างต้น ได้อ้างการวิเคราะห์ของ โจว เพนน์ นี (Chow Penn Nee) นักเศรษฐศาสตร์แห่งกลุ่มยูโอบี ที่คาดการณ์ว่า เหตุแผ่นดินไหวในญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคม กับปัญหาสืบเนื่องที่ทำให้ซัปพลายที่เข้าสู่สิงคโปร์มีภาวะสะดุดชะงัก เป็นปัจจัยที่ถูกจับตาว่าจะลากให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตในสิงคโปร์ทรุดตัว ขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตยา อัตราการทำกำไรกำลังลดลงมา สาเหตุใหญ่คือมีการปรับโครงสร้างโดยปรับจากการเน้นผลิตจากยาที่มีสิทธิบัตร ไปเป็นการเน้นยาชื่อสามัญ (Generic) โดยที่เรื่องนี้ส่งผลกระทบไปทั่วทั้งภาคอุตสาหกรรมการผลิตทีเดียว

สำหรับอนาคตข้างหน้า คาดกันว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคอุตสาหกรรมการผลิต จะกระเตื้องขึ้นในครึ่งปีหลัง ด้วยอานิสงส์จากการฟื้นตัวของอุปสงค์โลก และด้วยเหตุที่ว่าการผลิตกระแสไฟฟ้าในญี่ปุ่นจะสามารถฟื้นตัวขึ้นจากความเสียหายในกรณีแผ่นดินไหวกับสึนามิที่ทำลายอุตสาหกรรมไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น พร้อมกับกระทบไปยังการผลิตทางอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม ระดับของการกระเตื้องตัวคงจะต่ำกว่าคาดการณ์ เพราะสินค้าคงคลังยังมีอยู่ไม่ใช่น้อย

ในช่วงสัปดาห์นี้ บรรดาบริษัทธุรกิจต่างๆ ของสิงคโปร์จะทยอยกันประกาศผลประกอบการประจำไตรมาสสอง นักวิเคราะห์คาดว่าจะต่ำกว่าช่วงไตรมาสแรก เพราะประเทศเกาะแห่งนี้ ซึ่งต้องพึ่งพิงภาคส่งออกในระดับที่สูงมาก ได้รับผลกระทบหนักหนาจากเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะไม่สู้ดีในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา ในการนี้ บลูมเบิร์กให้ประมาณการโดยอ้างการวิเคราะห์ของหว่อง สุ่ย เจา (Wong Sui Jau) ผู้จัดการทั่วไปของฟันด์ซูเปอร์มาร์ท (Fundsupermart) ว่าตัวเลขส่วนใหญ่จะออกมาแบบแบนๆ แทบไม่มีการเติบโต หรือถ้ามีบ้างก็จะอยู่ในเกณฑ์ 1%

ทางด้านแนวโน้มผลประกอบการสำหรับไตรมาส 3 นั้น ยังคลุมเครืออย่างยิ่ง กล่าวคือ การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานคาดว่าจะมีอัตราโตให้ได้เห็นกันที่ระดับ 5% จากเมื่อไตรมาส 2 แต่การวิเคราะห์เชิงเทคนิคชี้ว่าคาบเดือนกรกฎาคม-กันยายน จะยังไม่ใช่ช่วงเวลาดีสำหรับหุ้นโดยองค์รวม ทั้งนี้ เซ็กเตอร์ที่จัดว่ามีปัจจัยพื้นฐานดีของระบบเศรษฐกิจสิงคโปร์นั้น ได้แก่ ภาคการเงินการธนาคาร กับภาคการท่องเที่ยว ขณะที่กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ยังไม่พ้นออกจากฐานอันสั่นคลอน

ดัชนีหลักทรัพย์สเตรทไทมส์ของตลาดสิงคโปร์ (ณ วันที่เขียนรายงานข่าวนี้) กำลังเคลื่อนไหวที่ 3,080 ต่ำกว่าช่วงแนวต้านสำคัญที่ระดับ 3,130 กับ 3,181 ทั้งนี้ เมื่อหนึ่งเดือนที่แล้ว ดัชนีต้วนี้เกือบหลุดแนวรับระดับ 3,000 ทำให้พอที่จะรักษาพื้นที่หายใจเหนือสถิติเดิมบริเวณ 2,650-2,950 ที่เคยจ่อมจมอยู่เป็นนานในปี 2010 อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในระยะยาว ดัชน๊สเตรทไทมส์กำลังมุ่งหน้าสู่จุดสูงสุดของสามเหลี่ยมสมมาตรซึ่งสามารถกลับสู่สถิติสูงสุดตลอดกาลที่ทำไว้เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2007 ทั้งนี้ สามเหลี่ยมสมมาตรแบบนี้ที่เคยเป็นสถิติเก่าอีกตัวหนึ่งคือเมื่อเดือนพฤศจิกายน 1988

เมื่อ 10 สัปดาห์ที่ผ่านมาคราวที่ชาวสิงคโปร์ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ออกมาเล่นงานพรรคพีเพิลส์ แอคชั่น ปาร์ตี้ (พีเอพี) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลต่อเนื่องยาวนาน 45 ปี โดยการให้คะแนนสนับสนุนแก่พรรคนี้แค่ 60% (ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ต่ำที่สุดเท่าที่พรรคได้ครองอำนาจมา) รัฐบาลรู้ตัวว่าได้เผชิญกับบทเรียนสั่งสอนที่สำคัญแม้ว่าพรรคจะชนะคว้าเก้าอี้มาครองได้สูงถึง 81 เก้าอี้ และแม้ว่ารัฐบาลได้เร่งตอบสนองแก้ไขความไม่พึงพอใจของประชาชนด้วยมาตรการระยะสั้น มันก็ยังไม่แน่ว่าแนวนโยบายในระยะยาวจะส่งผลดีเพียงใด ในการนี้ ความไม่พึงพอใจของคนสิงคโปร์ต่อผลงานของพรรครัฐบาลในระยะที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะพุ่งไปยังประเด็นค่าครองชีพและปัญหาคนอพยพย้ายถิ่นเข้าแย่งงานและที่อยู่อาศัยของคนสิงคโปร์

ปัจจุบัน สัดส่วนของคนอพยพย้ายถิ่นอยู่ที่ระดับสูงถึง 25% ของจำนวนประชากร 5 ล้านคนในประเทศเกาะแห่งนี้ ดังนั้น รัฐบาลสิงคโปร์ออกโรงสร้างมาตรการเพื่อบรรเทาความไม่พึงพอใจของผู้คน ด้วยการเพิ่มความเข้มงวดของนโยบายด้านคนอพยพย้ายถิ่น แม้มันจะเป็นนโยบายที่ไม่ช่วยผ่อนเพลาปัญหาแรงงานขาดแคลนภายในประเทศ นอกจากนั้น เพื่อที่จะหันมาเอาใจผู้มีสิทธิเลือกตั้ง รัฐบาลนำกฎหมายการยกเว้นภาษีชั่วคราวมาใช้ โดยกฎหมายนี้ออกแบบมาเพื่อช่วยให้ชาวบ้านที่ยากจนมีความคล่องตัวดีขึ้นในยามที่ค่าครองชีพพุ่งทะยาน

นอกจากนั้น เมื่อคำนึงถึงสภาพการณ์ที่ชาติเอเชียที่เป็นตลาดเปิดใหม่มีปัจจัยที่สามารถต้านทานกภาวะกระตุกแรงสูงหลายๆ ตัว อาทิ วิกฤตหนี้ในยุโรปหรือในประเทศต่างๆ ทางทวีปอเมริกานั้น ความเข้มแข็งของสิงคโปร์ในด้านสินค้าทุนและด้านบริการทางการเงิน (อีกทั้งด้านค้าปลีกและท่องเที่ยว) จะประคองตัวไปได้เรื่อยๆ เพราะกิจกรรมเศรษฐกิจเหล่านี้จะได้รับกำไรจากการลงทุนและการบริโภคที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ภายในภูมิภาค แม้ต้องเผชิญกับผลกระทบจากแนวโน้มติดลบของโลกก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยต้านทานโรคชุดเดียวกันนี้ ไม่สามารถส่งอานิสงส์ไปถึงภาคการเงินกับภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่กระนั้น รัฐบาลสิงคโปร์ยังมั่นใจที่จะให้ประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ที่ระดับ 5-7% โดยเป็นการขยายเพิ่มจากที่เคยโตด้วยอัตรา 14.5%ในปี 2010

สำหรับด้านเงินเฟ้อ แนวโน้มคือการลดต่ำลง โดยในไตรมาสสองที่ผ่านมา ลดแตะระดับ 4.2% ต่อปี กระนั้นก็ตาม ยังไม่มีแนวโน้มที่ภาวะเงินเฟ้อจะลดต่ำกว่า 3% ภายในปีนี้ ดังนั้น เงินเฟ้อโดยเฉลี่ยน่าจะชิดไปทางระดับ 4% ที่ผ่านมารัฐบาลสิงคโปร์ได้ยอมปล่อยให้เงินดอลลาร์สิงคโปร์แข็งตัวขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอเมริกา เพื่อบรรเทาความกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ โดยค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์พุ่งแตะระดับสูงชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนคือ 1.2156 ดอลลาร์สิงคโปร์ ต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ ค่าเงินของสิงคโปร์มีความแข็งแกร่งดีกว่าใครในเอเชีย โดยเป็นรองเพียงค่าเงินวอนของเกาหลีใต้

ดร. โรเบิร์ต เอ็ม คัตเลอร์ (http://www.robertcutler.org) สำเร็จการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) และมหาวิทยามิชิแกน และได้ทำงานวิจัยกับเป็นผู้บรรยายให้แก่มหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และรัสเซีย ปัจจุบันเป็นนักวิจัยอาวุโสของสถาบันยุโรป รัสเซีย และ ยูเรเชียศึกษา (Institute of European, Russian and Eurasian Studies) ซึ่งสังกัดอยู่ในมหาวิทยาลัยคาร์ลตัน ( Carleton University) ประเทศแคนาดา พร้อมกับนี้เขายังให้คำปรึกษาเป็นการส่วนตัวในหลายสาขา
กำลังโหลดความคิดเห็น