xs
xsm
sm
md
lg

การเติบโตของเศรษฐกิจ‘อินเดีย’ลดวูบลงผิดคาด

เผยแพร่:   โดย: โรเบิร์ต เอ็ม คัตเลอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Indian growth figures surprises on downside
By Robert M Cutler
05/06/2012

ทิศทางแนวโน้มของเศรษฐกิจอินเดียกำลังมืดมัวลง โดยที่ฝีก้าวของการเจริญเติบโตกำลังลดวูบลงสู่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 9 ปี ขณะที่แวดวงการเมืองของแดนภารตะขาดไร้ฉันทามติที่จะเอื้ออำนวยให้เข้าไปจัดการแก้ไขสภาพการณ์เช่นนี้ ส่วนอุตสาหกรรมของภาคเอกชนก็ถูกหน่วงรั้งด้วยภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงสูงลิ่ว จนกระทั่งไม่สามารถที่จะออกมาแสดงตนเป็นผู้นำในการผลักดันเศรษฐกิจได้

มอนทรีออล, แคนาดา
พวกที่เที่ยวมองหาสัญญาณเครื่องบ่งชี้ในทางบวกท่ามกลางเมฆดำทะมึน สามารถที่จะหยิบยกอ้างอิงรายงาน เดลี่ เบรกฟาสต์ สเปรด (Daily Breakfast Spread) ของธนาคารดีบีเอส (DBS Bank) ซึ่งระบุว่า ถึงอย่างไร อัตราเติบโตของช่วงเดือนมกราคม-มีนาคมปีนี้ เมื่อคำนวณแบบเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสก่อนหน้านั้น ก็ยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าของไตรมาสสุดท้ายของปี 2011 อีกทั้งยังสูงขึ้นมากทีเดียวจากระดับ “เพียงแค่” 3-4% ของช่วง 6 เดือนหลังของปี 2011

สภาพเช่นนี้ส่อแสดงให้เห็นว่า อัตราการเติบโตอยู่ในอาการเร่งตัวตั้งแต่ปีที่แล้ว ตอนที่เศรษฐกิจอินเดียคงจะกำลังเพิ่งจะหลุดพ้นจากจุดต่ำสุด อย่างไรก็ตาม “อัตราการเติบโตแบบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ของรอบ 3 ไตรมาสสุดท้ายที่ผ่านมา เฉลี่ยแล้วอยู่ในระดับเพียงแค่ 4.5%” ซึ่ง “อ่อนปวกเปียกกว่าตัวเลขของอัตราการเติบโตแบบเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านั้นเป็นอย่างมาก”

ในรายงานชิ้นหนึ่งของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank หรือ ADB) ได้จาระไนปัจจัยต่างๆ ที่คอยกดอัตราเติบโตของเศรษฐกิจอินเดียเอาไว้ ซึ่งได้แก่ การใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวเพื่อสกัดอัตราเงินเฟ้อที่สูงลิ่วอย่างต่อเนื่อง, ความอ่อนแออย่างต่อเนื่องในเศรษฐกิจโลก ซึ่งรวมถึงมิติต่างๆ ทางด้านการเงินด้วย, การขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มสูงขึ้นทุกทีสืบเนื่องจากรายจ่ายของมาตรการอุดหนุนต่างๆ ซึ่งเพิ่มมากขึ้น, และ “การขาดไร้ฉันทามติในทางการเมือง ในการแก้ไขคลี่คลายนโยบายต่างๆ ที่กำลังขัดขวางการเจริญเติบโต”

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross domestic product หรือ GDP) ของปีงบประมาณ 2011 ซึ่งในอินเดียนับจากเดือนเมษายน 2011 ไปจนถึงเดือนมีนาคม 2012 นั้น อยู่ในระดับเพิ่มสูงขึ้น 6.5% ต่ำกว่าอัตราเติบโต 8.4% ที่ทำได้ในช่วงปีงบประมาณ 2010 (เมษายน 2010-มีนาคม 2011) สำหรับการเจริญเติบโตของปีงบประมาณ 2012 (เมษายน 2012-มีนาคม 2013) ตัวเลขที่เห็นพ้องกันอยู่ในเวลานี้อยู่ที่ 7.3% พวกผู้สังเกตการณ์ชาวต่างชาติ เป็นต้นว่า เอดีบี ต่างคาดการณ์ว่าการฟื้นตัวกระเตื้องขึ้นของเศรษฐกิจแดนภารตะในช่วงปีงบประมาณ 2012 จะมีการลงทุนเป็นตัวนำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณรายจ่ายด้านการลงทุนที่เพิ่มขึ้นมาภายใต้แผนเศรษฐกิจระยะ 5 ปีฉบับใหม่ของรัฐบาล ขณะที่ทางภาคเอกชน สืบเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังสูงมาก ทำให้ต้นทุนของเงินทุนยังไม่เอื้ออำนวยให้แก่การลงทุนของฝ่ายนี้

ถึงแม้อัตราเงินเฟ้อได้ลดต่ำลงมาแล้วจากระดับเท่ากับปีละ 9-10% ที่เกิดขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี 2011 แต่ภาวะค่าครองชีพก็ยังคงเป็นปัญหาน่าปวดหัวไม่ว่าจะพิจารณาในแง่มุมทางการเมืองหรือทางเศรษฐกิจ สภาพเช่นนี้เองมีผลอย่างสำคัญทีเดียวที่ทำให้พรรคคองเกรส (Congress party) ซึ่งเป็นแกนนำคณะรัฐบาลชุดปัจจุบัน ทำผลงานการเลือกตั้งในช่วงต้นปีนี้ได้อย่างย่ำแย่ โดยที่พ่ายแพ้ในการแข่งขันชิงเก้าอี้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ ทั้งในรัฐ ปัญจาบ, อุตตรประเทศ, และ กัว

เดือนที่แล้ว กระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขเงินเฟ้อในรูปของดัชนีราคาขายส่งของเดือนเมษายน ซึ่งปรากฏว่าไต่ขึ้นสู่ระดับ 7.2% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน จากที่ยังอยู่ในระดับ 6.9% ในเดือนมีนาคม และตามหลังตัวเลขของเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งมีการปรับแก้ตัวเลขให้มาอยู่ที่ 7.4% การที่อัตราเงินเฟ้อยังคงสูงโด่งเช่นนี้ เมื่อบวกกับภาวการณ์ชะลอตัวของเศรษฐกิจ ก็ทำให้ภารกิจของธนาคารกลางของอินเดียที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า รีเสิร์ฟ แบงก์ ออฟ อินเดีย (Reserve Bank of India หรือ RBI) ลำบากยุ่งยากขึ้นมาก เนื่องจากไม่สามารถที่จะลดอัตราดอกเบี้ยลงได้อย่างง่ายๆ แล้วเลยทำให้เกิดความหวาดผวากันมากขึ้นว่า เศรษฐกิจแดนภารตะกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะ stagflation ที่ทั้งอัตราเติบโตของเศรษฐกิจก็ชะลอตัวและอัตราเงินเฟ้อก็สูงปริ๊ดไปพร้อมๆ กัน

กระนั้นก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งดัชนีของผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคการผลิตที่จัดทำโดย เอชเอสบีซีมาร์กิต (HSBC/Markit manufacturing Purchasing Managers' Index หรือ PMI) ยังคงส่งสัญญาณถึงการเติบโตขยายตัวในระดับที่น่าพอใจ โดยตัวเลขนี้ลดลงนิดเดียวมาอยู่ที่ 54.8 ในเดือนพฤษภาคม จากระดับ 54.9 ในเดือนเมษายน ทั้งนี้ ถือกันว่าถ้าหากตัวเลขของดัชนี PMI อยู่สูงกว่าระดับ 50 คือเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจกำลังขยายตัว แต่ถ้าต่ำกว่า 50 ก็คือสัญญาณของการหดตัว ถึงแม้ระดับของ PMI ในปัจจุบัน ได้ตกลงมาจากที่เคยอยู่ในระดับ 56.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ และ 57.5 ในเดือนมกราคม

ดร. โรเบิร์ต เอ็ม คัตเลอร์ http://www.robertcutler.org) สำเร็จการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) และมหาวิทยามิชิแกน และได้ทำงานวิจัยกับเป็นผู้บรรยายให้แก่มหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และรัสเซีย ปัจจุบันเป็นนักวิจัยอาวุโสของสถาบันยุโรป รัสเซีย และ ยูเรเชียศึกษา (Institute of European, Russian and Eurasian Studies) ซึ่งสังกัดอยู่ในมหาวิทยาลัยคาร์ลตัน ( Carleton University) ประเทศแคนาดา พร้อมกับนี้เขายังให้คำปรึกษาเป็นการส่วนตัวในหลายสาขา
กำลังโหลดความคิดเห็น