xs
xsm
sm
md
lg

‘เศรษฐกิจอินเดีย’ยังพอมีประกายสดใสอยู่บ้าง

เผยแพร่:   โดย: โรเบิร์ต เอ็ม คัตเลอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Rare spark of light in India’s economy
By Robert M Cutler
06/01/2012

ผลผลิตทางอุตสาหกรรมที่เพิ่มสูงขึ้น ถือเป็นประกายแสงแวววาวสดใสที่ค่อนข้างหาได้ยากของเศรษฐกิจอินเดียในเวลานี้ หลังจากที่ค่าเงินรูปีได้ลดลงอย่างฮวบฮาบในปีที่แล้ว และราคาในตลาดหุ้นก็ทรุดตัวหนักในทำนองเดียวกัน อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อของแดนภารตะยังคงสูงลิ่วอยู่แถวๆ 9% ซึ่งกลายเป็นตัวจำกัดบีบรัดการขยายตัวของภาคธุรกิจ

มอนทรีออล, แคนาดา– เศรษฐกิจอินเดียกำลังทำให้พวกนักลงทุนในเอเชียเกิดกำลังใจขึ้นมาบ้าง หลังจากที่ต้องพบข่าวไม่ดีในช่วงสิ้นปีที่แล้วจากสิงคโปร์และเกาหลีใต้ โดยที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของแดนภารตะกำลังกระเตื้องดีขึ้น ส่วนตลาดหุ้นก็กำลังเข้มแข็งกระเตื้องดีขึ้นจากจุดที่ร่วงลงเหวครั้งแล้วครั้งเล่าในปี 2011 กระนั้นก็ตาม ข่าวดีเหล่านี้อาจจะยังไม่เพียงพอที่จะทำให้แนวโน้มด้านลบในช่วงหลังๆ นี้ บังเกิดการเหวี่ยงตัวไปในอีกทิศทางหนึ่ง

ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของอินเดียกำลังดีดตัวขึ้น เนื่องจากมีคำสั่งซื้อใหม่ๆ หลั่งไหลเข้ามา ดังที่เห็นได้จากตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Managers Index หรือ PMI) ของเดือนธันวาคม 2011 ซึ่งมีการขยับขึ้นมามากที่สุดในรอบ 6 เดือน โดยอยู่ที่ 54.2 จากระดับ 51.0 ในเดือนพฤศจิกายน หลังจากที่ก่อนหน้านั้นได้ร่วงหล่นลงไปอยู่ที่ 52.0 ในเดือนตุลาคม ดัชนี PMI ของอินเดียซึ่งรวบรวมจัดทำโดย HSBC/Markit นี้ คำนวณจากการสำรวจความคิดเห็นของพวกผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในบรรดาบริษัทขนาดใหญ่ที่สุด ถ้าหากดัชนีมีค่าสูงกว่าระดับ 50 ก็เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจมีการขยายตัว แต่ถ้าต่ำกว่าก็แสดงถึงการหดตัว

สำหรับดัชนี PMI ตัวที่ครอบคลุมรวมเอาภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคบริการเข้าด้วยกันนั้น ก็ปรากฏว่าขยับเพิ่มขึ้นจากระดับ 52.3 ในเดือนพฤศจิกายน มาอยู่ที่ 54.7 ในเดือนธันวาคม ขณะเดียวกับที่ตัวเลขการจ้างงานก็กระเตื้องดีขึ้น

สภาพเช่นนี้ย่อมถือเป็นข่าวดีสำหรับนักลงทุนในอินเดีย ซึ่งเงินรูปีกลายเป็นสกุลเงินตราที่มีผลประกอบการเลวร้ายที่สุดของเอเชียในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา โดยหล่นฮวบลงมาเกือบๆ 17% ตั้งแต่ยืนอยู่แถวๆ 45.339 รูปต่อ 1 ดอลลาร์เมื่อตอนเริ่มต้นปีใหม่ 2011 จนมาอยู่ที่ 52.985 รูปีแลกได้ 1 ดอลลาร์ในตอนก่อนเช้ามืดวันที่ 30 ธันวาคม 2011 พอย่างเข้าปีใหม่ 2012 นี้ ค่าเงินรูปีได้ไหลลงจนทะลุระดับ 53 รูปีต่อดอลลาร์ในวันที่ 4 มกราคม ก่อนที่จะเด้งขึ้นมาได้เล็กน้อย

เวลานี้พวกผู้สังเกตการณ์จึงต่างจับจ้องไปที่ธนาคารกลางของแดนภารตะ ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า รีเสิร์ฟ แบงก์ ออฟ อินเดีย (Reserve Bank of India หรือ RBI) ว่าจะยังคงเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อสกัดกั้นขัดขวางพวกนักเก็งกำไรต่อไปหรือไม่ หลังจากที่ได้เริ่มกระทำเช่นนั้นนับแต่ที่สกุลเงินตราของอินเดียมีค่าลดต่ำลงกว่าระดับสำคัญยิ่งทางจิตวิทยาที่ 50 รูปีต่อดอลลาร์

ในทางเป็นจริงแล้ว ถึงแม้การเข้าแทรกแซงของ RBI แต่เงินรูปียังคงอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องมิได้หยุด จนทำให้พวกช่างสงสัยตั้งคำถามขึ้นมาว่า การปฏิบัติการของแบงก์ชาติอินเดียจะบังเกิดผลใดๆ หรือไม่ในช่วงระยะสั้นเฉพาะหน้านี้ ในเมื่อสถาบันต่างๆ จำนวนมากยังคง “ทำช็อต” นั่นคือ ปล่อยขายเงินรูปีด้วยความเชื่อว่ามันจะมีค่าลดต่ำลงไปอีกในอนาคต โทรทัศน์ข่าวธุรกิจ ซีเอ็นบีซี ได้อ้างความเห็นของพวกนักวิเคราะห์แห่งค่ายมอร์แกน สแตนลีย์ (Morgan Stanley) ที่บอกว่า เงินรูปีจะยังคงตกอยู่ใต้แรงกดดันบีบคั้นเช่นนี้ต่อไป ตราบเท่าที่ตลาดการเงินโลกเผชิญภัยคุกคามที่ว่า จะต้องประสบปัญหาไร้สภาพคล่อง ถึงแม้ความเคลื่อนไหวเข้าแทรกแซงของ RBI จะช่วยให้อาการวูบวาบขึ้นลงแรงๆ ของเงินรูปี ลดลงมาได้ก็ตามที

ทางด้านตลาดหุ้นแห่งต่างๆ ของอินเดีย ก็มิได้มีผลงานในปี 2011 ที่ดีกว่าเงินรูปีเลย ถึงแม้ดัชนีหุ้น เซนเซกซ์ 30 (Sensex 30) ของตลาด BSE ซึ่งถือเป็นมาตรวัดสำคัญของหุ้นแดนภารตะ ได้ฟื้นตัวขึ้นมาประมาณ 4.5% จากจุดที่ลงไปต่ำสุดในรอบปีที่แล้ว ณ ระดับ 15,175 ในวันที่ 20 ธันวาคม ทั้งนี้ดัชนีนี้ปิดการซื้อขายในวันที่ 5 มกราคม 2011 ที่ระดับ 15,857 เปรียบเทียบกับตอนปิดการซื้อขายในวันแรกทำการซื้อขายของปี 2011 ซึ่งอยู่ที่ 20,561 เท่ากับว่าดัชนีนี้ได้ลบลง 22.8% ในรอบระยะเวลา 12 เดือน ยิ่งถ้ากนำมาคำนวณพ่วงกับการอ่อนตัวของค่าเงินรูปีด้วยแล้ว นี่ก็จะเท่ากับว่ามูลค่าของหุ้นอินเดียลดลงถึงหนึ่งในสามเต็มๆ ทีเดียวเมื่อคิดคำนวณกันเป็นสกุลเงินดอลลาร์

การตกวูบของค่าเงินรูปียังเป็นตัวเติมเชื้อเพลิงให้แก่ภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งจวบจนถึงเวลานี้ยังคงปักหลักอยู่ในระดับที่สูงจนน่าวิตก ณ กว่า 9% นิดๆ เมื่อคำนวณจากราคาขายส่ง ถึงแม้นี่เป็นตัวเลขซึ่งต่ำลงมาจากระดับ 9.73% ในเดือนตุลาคมแล้วก็ตาม ถ้าหากระดับราคาสามารถที่จะลดลงไปได้อย่างต่อเนื่องตามที่คาดการณ์กันไว้ ก็ย่อมเป็นการสร้างเงื่อนไขให้ RBI ลงมือปฏิบัติการลดอัตราดอกเบี้ยลงมาในที่สุด ทว่าเรื่องนี้เห็นทีจะตั้งความหวังอะไรนักไม่ได้ โดยตามรายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg News) สุภีร์ โกคาร์น (Subir Gokarn) รองผู้ว่าการ RBI ได้กล่าวระหว่างเข้าร่วมการประชุมที่สิงคโปร์เมื่อวันที่ 5 มกราคมว่า การที่เงินเฟ้ออยู่ในอัตราที่สูง บวกกับค่าเงินรูปีอ่อนตัว เมื่อรวมกับการที่ราคาพลังงานของโลกอยู่ในระดับสูงลิ่วเข้าไปอีก ทำให้อาจจะเป็นเรื่องลำบากที่ RBI จะกลับหันหลังจากการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแล้วครั้งเล่าในระยะหลังๆ นี้ จนกระทั่งอยู่ในระดับสูงสุดเป็นสถิติ

การที่อัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นต้นทุนของเงินลงทุน ได้พุ่งขึ้นไปจนสูงลิ่วเช่นนี้ ทำให้การขยายธุรกิจเป็นไปด้วยความลำบาก ตามผลการสำรวจที่จัดทำโดยบริษัทวิจัย คริสซิล รีเสิร์ช (Crisil Research) และรายงานเอาไว้ในหนังสือพิมพ์อีโคโนมิก ไทมส์ (Economic Times) ของอินเดีย บริษัทระดับท็อป 500 อันดับแรกของอินเดีย (ไม่รวมพวกธนาคารและสถาบันการเงิน ตลอดจนบริษัททำการตลาดด้านน้ำมันที่เป็นกิจการของรัฐ) ต่างมีความสามารถในการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยลดน้อยลงจนอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี ทั้งนี้ไม่เพียงเพราะอัตราดอกเบี้ยสูงมากเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะผลกำไรจากการดำเนินงานก็ตกลงมาด้วย

รองผู้ว่า โกคาร์น ชี้ว่า ถึงแม้ “วัฏจักรด้านการเงิน” (monetary cycle) ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในเดือนมีนาคม 2010 “ได้ไต่ขึ้นสู่จุดสูงสุดแล้ว” แต่ “นั่นไม่ได้หมายความว่า เป็นเรื่องแน่นอนแล้วที่กำลังจะเกิดการหักเลี้ยวกลับอย่างรวดเร็ว นั่นก็เพราะความเสี่ยงทางด้านเงินเฟ้อยังคงมองเห็นได้อย่างชัดเจน ยังคงอยู่ในระดับที่สูงมาก” บุคคลสำคัญของแบงก์ชาติอินเดียยังคงมีความเห็นเช่นนี้ ถึงแม้มีข่าวพาดหัวตัวโตว่า อัตราเงินเฟ้อจากราคาอาหารกำลังลดต่ำลงแล้วในทางเป็นจริงในระหว่างสัปดาห์ที่สามของเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นการกลับตาลปัตราจากแนวโน้มขยับเพิ่มสูงขึ้นก่อนหน้านั้น สาเหตุเป็นเพราะดัชนีเงินเฟ้อตัวหลักของอินเดีย ยังคงอยู่ในระดับที่สูงถึง 9.1% ในเดือนพฤศจิกายน ถึงแม้จะเป็นตัวเลขต่ำที่สุดในรอบ 1 ปี และลดต่ำลงมาจากระดับ 9.7% ในเดือนตุลาคมก็ตามที สำหรับราคาเชื้อเพลิงในสัปดาห์เดียวกันได้ขยับสูงขึ้นในอัตราเท่ากับ 14.4% ต่อปี

ทางด้านจีน ตัวเลขดัชนี PMI อย่างเป็นทางการของประเทศนั้น ซึ่งรายงานโดยสหพันธ์โลจิสติกส์และการวางแผนแห่งประเทศจีน (China Federation of Logistics and Planning หรือ CFLP) ในสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม ปรากฏว่าได้ขยับสูงขึ้นไปอยู่ที่ 50.3 ในเดือนธันวาคม จากระดับ 49 ในเดือนพฤศจิกายน ขณะดัชนี PMI “อีกตัวหนึ่ง” ซึ่งพวกนักเฝ้าจับตามองจีนต่างให้ความสนใจติดตาม โดยที่ผู้รวบรวมจัดทำก็เป็นรายเดียวกับที่อินเดีย นั่นคือ เอชเอสบีซี/มาร์กิต ก็ไต่ขึ้นมาเช่นเดียวกัน คืออยู่ที่ 48.7 จาก 47.7 ทว่ายังคงบ่งชี้ให้เห็นการหดตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากตัวเลขยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50

อย่างไรก็ดี แม้กระทั่งพวกช่างข้องใจสงสัย ก็ยังคงประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2012 ว่าอยู่ภายในกรอบตัวเลข 8% ซึ่งยึดถือกันมานมนานแล้วว่าคืออัตราเติบโตขั้นต่ำสุดที่จะสามารถสร้างตำแหน่งงานได้มากเพียงพอที่จะดูดซับบรรดาผู้เข้าสู่ตลาดแรงงานในประเทศหน้าใหม่ๆ สำหรับตัวเลขคาดการณ์การเจริญเติบโตของจีดีพีจีนปีนี้ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปนั้น ยืนอยู่ที่เกินกว่า 8% หน่อยๆ

จากการที่เศรษฐกิจของชาติที่ชี้นำด้วยการส่งออกอย่างหนักหน่วงเฉกเช่นสิงคโปร์และเกาหลีใต้ กำลังอยู่ในอาการอ่อนปวกเปียก ทำให้จีนและอินเดียยิ่งต้องมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการผลักดันการเจริญเติบโตของเอเชีย อย่างน้อยที่สุดก็ในช่วงครึ่งแรกของปี 2012 อย่างไรก็ดี จีนดูเหมือนแทบจะไม่ต่างจากอินเดียกี่มากน้อย นั่นคือ เศรษฐกิจอยู่ในฐานะที่เฉียดฉิวจวนเจียนเต็มที

ดร.โรเบิร์ต เอ็ม คัตเลอร์ (www.robertcutler.org) สำเร็จการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) และมหาวิทยาลัยมิชิแกน และได้ทำงานวิจัยตลอดจนสอนอยู่ตามมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ทั้งในสหรัฐฯ, แคนาดา, ฝรั่งเศส, สวิตเซอร์แลนด์, และรัสเซีย เวลานี้เขาเป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ สถาบันเพื่อยุโรป, รัสเซีย, และยูเรเชียศึกษา (Institute of European, Russian and Eurasian Studies) มหาวิทยาลัยคาร์ลตัน (Carleton University) ประเทศแคนาดา เขายังรับเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวในกิจการต่างๆ หลายหลาก
กำลังโหลดความคิดเห็น