xs
xsm
sm
md
lg

Good Morning News by บลจ.บัวหลวง วันที่ 5 มิถุนายน 2555

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย วรวรรณ ธาราภูมิ
และทีมจัดการกองทุน บลจ.บัวหลวง

เศรษฐกิจโลก

• ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของยูโรโซนอยู่ที่ 45.1 จุดในเดือน พ.ค.ลดลงจาก 45.9 จุด ในเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี แสดงถึงผลกระทบจากวิกฤตการเงินและการเมืองในยูโรโซนกำลังลุกลามไปทั่วภูมิภาค โดยดัชนี PMI ของเยอรมนี ฝรั่งเศส และสเปน ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าค่อนข้างมาก ในขณะที่ของอิตาลีปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

• Raoul Pal อดีต Hedge Fund Manager ของกองทุน GLG Global Macro Fund และเคยทำงานให้ Goldman Sachs ซึ่งปัจจุบันนี้เขียนบทวิเคราะห์ให้ผู้ลงทุนสถาบันขนาดใหญ่ใน The Global Macro Investor เตือนว่า ขณะนี้เป็น “The End Game” สำหรับโลกแล้ว เพราะไม่เหลือเครื่องจักรในการเติบโตอีกต่อไป เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ในกลุ่ม G20 แทบจะไม่เติบโตในเวลาเดียวกัน

Raoul เตือนว่า โลกตะวันตกกำลังเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจถดถอย (Recession) อีกครั้ง โดยยังอยู่ใน Wave ของเศรษฐกิจตกต่ำแบบ Depression ต่อเนื่องจากยุค 1930s อยู่ และเป็นครั้งแรกนับจาก 1930s ที่โลกเข้าสู่ Recession ก่อนที่การผลิตภาคอุตสาหกรรม การสั่งซื้อสินค้าคงทน การจ้างงาน การบริโภคภาคครัวเรือน และ GDP จะกลับเข้าไปสู่วงจรเศรษฐกิจในระดับสูงสุดแล้วถึงจะตกลงมา

ทั้งนี้ เขาสรุปว่านี่คือวัฏจักรที่ GDP เติบโตต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ของกลุ่ม G7 อันเป็นฐานรองรับที่อ่อนแอที่สุดเท่าที่เคยมีก่อนที่จะเข้าสู่ Recession โดย 10 ประเทศที่เป็นหนี้มากที่สุดมีหนี้รวมกันเกิน 300% ของ GDP ทั้งโลก

• ดัชนี ISM-manufacturing ซึ่งเป็นดัชนีธุรกิจในภาคการผลิตของสหรัฐฯ เดือน พ.ค. อยู่ที่ 53.5 จุด ลดลงจาก 54.8 จุดในเดือน เม.ย. แต่ตัวเลขที่อยู่เหนือระดับ 50 จุด แสดงถึงกิจกรรมที่ยังขยายตัว

ทั้งนี้ ดัชนีลดลงเนื่องจากปริมาณการผลิตและการสะสมสินค้าคงคลังลดลง แต่การที่ยอดสั่งซื้อสินค้าใหม่เพิ่มขึ้นแสดงว่าภาคการผลิตของสหรัฐฯ นั้นไม่ได้ชะลอตัวลงมากนัก

• กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานว่า อัตราว่างงานในเดือน พ.ค.ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยสู่ 8.2% จาก 8.1% ในเดือน เม.ย. โดยการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 69,000 ตำแหน่งในเดือน พ.ค. ต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 150,000 ตำแหน่ง อีกทั้งยังลดตัวเลขเดือน เม.ย.ลงเหลือ 77,000 ตำแหน่งด้วย ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ลดลงมากในวันศุกร์ที่ผ่านมา

• ยอดคำสั่งซื้อโรงงานของสหรัฐฯ เดือน เม.ย.ปรับลดลง 0.6% จากเดือนก่อนหน้า แย่กว่าที่ตลาดคาดว่าจะฟื้นตัวขึ้น 0.2% โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าประเภท Non-defense capital goods ex. Aircraft ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายลงทุนของภาคธุรกิจซึ่งลดลง 2.1%

• John Ryding อดีตนักวิเคราะห์ของธนาคารกลางสหรัฐฯ แสดงความเห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงบ้าง แต่โอกาสจะเกิดภาวะถดถอยค่อนข้างต่ำ เนื่องจากมีสัญญาณที่ดีขึ้นกว่าปีก่อนหลายประการ เช่น การใช้จ่ายของประชาชนยังขยายตัวได้ การเติบโตของยอดขายสาขาเดิมของธุรกิจค้าปลีกยังมีแนวโน้มที่ดี กำไรของภาคธนาคารสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องถึง 11 ไตรมาสติดต่อกัน หรือแม้แต่ภาคอสังหาฯ ที่ว่าย่ำแย่นั้นก็ยังมีสัญญาณฟื้นตัวขึ้นบ้างเล็กน้อย

เศรษฐกิจเอเชีย

• ดร.ไมเคิล ไฮส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์อาวุโส กลุ่มอลิอันซ์ คาดว่า ภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชียจะมีการเติบโตในระดับปานกลางแต่สมดุลมากขึ้น โดยประเมินว่า GDP ของประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียจะขยายตัวได้ 7.2% ในปีนี้ และน่าจะรักษาระดับการเติบโตนี้ได้อย่างน้อยจนถึงปีหน้า เนื่องจากมีการบริโภคที่ดีในประเทศและมีการหาตลาดส่งออกไปยังภูมิภาคต่างๆ นอกเหนือจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

นอกจากนี้หลายประเทศในเอเชียก็เริ่มหันไปใช้นโยบายเศรษฐกิจที่เน้นการขยายตัวมากขึ้น ซึ่งน่าจะเริ่มส่งผลดีในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า

• ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของจีนในเดือน พ.ค.อยู่ที่ 55.2 จุด ลดลงจากเดือน เม.ย.ที่เป็น 56.1 จุด ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2

• เจ้าหน้าที่ประจำสำนักคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นคาดว่า เศรษฐกิจโลกอาจขยายตัว 2.5-3.0% ในปีนี้ ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3% โดยประเมินว่าเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และจะเห็นการปรับตัวที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

ในปีนี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจขยายตัวได้ 2-2.5% จีนอาจขยายตัวที่ 8% และอินเดียอาจขยายตัวได้ 7% แต่ทางด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคยุโรปนั้นอาจหดตัวลงในช่วงระหว่าง 0-2%

• อองซาน ซูจี เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าและนักลงทุนต่างชาติดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในประเทศพม่าอย่างโปร่งใส และต้องมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับประชาชน

ทั้งนี้ พม่าต้องการการลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่จ้างงานได้เร็วเพื่อช่วยสร้างงานให้ชาวพม่า และการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาประเทศ

• ซูซูกิ มอเตอร์ คอร์ป เตรียมก่อตั้งโรงงานประกอบรถยนต์นั่งส่วนบุคคลแห่งใหม่ในอินเดีย โดยจะมีกำลังผลิต 250,000 คันต่อปี ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตรถยนต์ในอินเดียของบริษัทอยู่ที่ 2 ล้านคันต่อปี และคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ภายในเดือน มี.ค. ปีหน้า

ทั้งนี้ ซูซูกิซึ่งเป็นแบรนด์รถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่มียอดขายสูงสุดในอินเดียด้วยส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 40%

• กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน พ.ค. 55 ที่ 2.53% ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 5 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 3.03% ทั้งนี้ ราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มมีการปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากถึง 5.18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 1.41% จากเดือน เม.ย. 55

• ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวได้ 3.1-4.1% ในช่วงไตรมาส 2 จากการใช้จ่ายในประเทศที่ได้รับผลดีจากการปรับเพิ่มรายได้ รวมทั้งการฟื้นตัวของการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งน่าจะส่งผลต่อเนื่องไปจนถึงช่วงครึ่งปีหลังให้มีอัตราการขยายตัวสูงกว่าครึ่งปีแรก

(ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฐานมูลค่าเศรษฐกิจที่ระดับต่ำในช่วงครึ่งหลังของปีก่อน)

ส่วนความเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ เศรษฐกิจของยูโรโซนที่มีความไม่แน่นอนสูง และอาจจะส่งผลต่อการส่งออกของไทย

• ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้จะปรับเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้จะอยู่ที่ 3.5-4.0% เนื่องจากจะมีปัจจัยที่ส่งผลให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นหลายประการในครึ่งปีหลัง เช่น การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และการปรับขึ้นราคาสินค้าที่ถูกตรึงราคาไว้ในช่วงครึ่งปีแรก

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงจะช่วยลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อได้บ้าง

Guru Corner

• Marc Faber “เมื่อความวุ่นวายทางเศรษฐกิจในยุโรปยุติลง เงินร้อนจะไหลกลับเข้าตลาดเกิดใหม่ในเอเชียแทน ซึ่งคล้ายคลึงกับในปี 2551 และหลังจากความวุ่นวายจบลง คุณจะได้เห็นผู้คนหันกลับมายังตลาดเกิดใหม่อีก ทั้งยังมีหลายคนที่ยังไม่จากไปและจะมีคนเข้ามากขึ้น”
กำลังโหลดความคิดเห็น