เอเอฟพี - ทหารสหรัฐฯ กองสุดท้ายถอนทัพออกจากอิรัก เข้าสู่เขตแดนคูเวตแล้วในวันนี้ (18) สิ้นสุดสงครามโค่นล้มซัดดัม ฮุสเซน ที่ดำเนินมายาวนานเกือบ 9 ปี โดยเหลือทหารอเมริกันสำหรับภารกิจฝึกฝนกองกำลังความมั่นคงอิรักไม่ถึง 200 นาย
ขบวนทัพทหารสหรัฐฯ ชุดท้ายสุดนี้ประกอบไปด้วยยานพาหนะประมาณ 110 คัน บรรทุกเจ้าหน้าที่ราว 500 นาย ส่วนใหญ่เป็นทหารสังกัดกองพันทหารม้าที่ 1 และกองพลน้อยที่ 3 ซึ่งเดินทางข้ามพรมแดนถึงคูเวต เวลา 7.38 น. (ตรงกับ 11.38 น. เวลาประเทศไทย) 5 ชั่วโมงหลังเคลื่อนพลออกจากค่ายอิหม่าม อาลี ในเมืองนาซิริยะห์ ทางตอนใต้ของอิรัก เวลา 2.30 น.
สหรัฐฯ เหลือทหารประจำการในสถานทูตประจำกรุงแบกแดดเพียงไม่กี่ร้อยนาย ขณะที่ก่อนหน้านี้ ทหารอเมริกันถูกส่งเข้าสมรภูมิอิรักเกือบ 170,000 นาย ในค่ายทหาร 505 แห่ง เพื่อรบในสงครามที่จบลงด้วยการสูญเสียชีวิตของประชาชนอิรักหลายหมื่นคน ชีวิตทหารสหรัฐฯ เกือบ 4,500 นาย และผู้บาดเจ็บอีกจำนวนนับไม่ถ้วน
การถอนทหารที่เสร็จสิ้นในวันนี้นับเป็นการปิดฉากสงครามอิรักโดยสมบูรณ์ หลังการบุกถล่มของเครื่องบินรบสหรัฐฯ เมื่อปี 2003 เพื่อล้มล้างระบอบของซัดดัม ฮุสเซน ซึ่งทางการสหรัฐฯ ในเวลานั้นเชื่อมั่นว่า สามารถเผด็จศึกอิรักภายในเวลาไม่กี่เดือน
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจหลายๆ ประเด็นของสหรัฐฯ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการปลดปล่อยกลุ่มหัวรุนแรงสุหนี่ให้ออกมาทำสงครามระหว่างนิกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสั่งยุบกองทัพอิรัก และกวาดล้างข้าราชการพลเรือนจากพรรคบาธของซัดดัม ไม่เว้นแม้แต่เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย
จากสงครามที่สหรัฐฯ วางแผนพิชิตในไม่กี่เดือน ยืดเยื้อเป็นเหตุนองเลือดรายวัน โดยเฉพาะหลังเหตุระเบิดศาสนสถานของชาวชีอะห์จากน้ำมือกลุ่มอัลกออิดะห์ เมื่อปี 2006 ในเมืองซามาร์รา ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวสุหนี่
นอกจากนั้น โครงการ “นับศพชาวอิรัก” ขององค์กรอิสระจากอังกฤษ รายงานว่า ตั้งแต่สหรัฐฯ รุกราน ชาวอิรักเสียชีวิตมากกว่า 100,000 คน กระนั้นก็ดี เหตุร้ายเริ่มบรรเทาลง เมื่อจอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น ตัดสินใจส่งทหารเสริมกำลังรบในอิรักจำนวนมาก ขณะเดียวกัน กลุ่มสุหนี่ติดอาวุธก็หันมาช่วยสหรัฐฯ ต่อต้านอัลกออิดะห์
ทั้งนี้ อิรัก-สหรัฐฯ ลงนามสนธิสัญญาถอนทัพเมื่อปี 2008 ต่อมาในปี 2010 สหรัฐฯ ประกาศยุติภารกิจสู้รบในอิรักอย่างเป็นทางการ ขณะที่เหลือทหารประจำการไม่ถึง 50,000 นาย
ปัจจุบัน ทหารสหรัฐฯ ประจำอยู่ในสถานทูตประจำกรุงแบกแดด เพียง 157 นาย สำหรับการฝึกทหารอิรักรุ่นใหม่ และมีหน่วยนาวิกโยธินอีกชุดหนึ่ง ทำหน้าที่คุ้มกันคณะนักการทูตสหรัฐฯ ด้านอิรักมีกำลังทหาร 900,000 นาย คอยรักษาความมั่นคงภายใน แต่สำหรับภารกิจปกป้องชายแดน น่านฟ้า และผืนน้ำ หลายฝ่ายยังคงกังวลว่า ทหารอิรักมีความสามารถเพียงพอหรือไม่