xs
xsm
sm
md
lg

วิกิลีกส์-พายุไซเบอร์ที่น่ากลัว

เผยแพร่:   โดย: ว.ร. ฤทธาคนี

เมื่อ วิน ชวาตู (Winn Schwartau) นักวิชาการสงครามสารสนเทศระดับมหากาฬ ได้เขียนหนังสือเรื่อง Information Warfare ซึ่งเป็นหนังสือวิชาการ ว่าด้วยสงครามสารสนเทศ มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการสงครามในอาณาจักรไซเบอร์ประกอบด้วยเรื่อง กลยุทธ์ เครื่องมือ และเป้าหมาย โดยที่ วิน ชวาตู ได้รวบรวมบทความจากมืออาชีพในสงครามไซเบอร์ ที่มีการจัดสัมมนา โดยมีการพิมพ์หนังสือนี้อย่างน้อย 2 ครั้ง ในปี ค.ศ.1994 และ 1996

นัยสำคัญของมนุษย์ ซึ่งองค์ศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเรียกมนุษย์ว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ ตรงที่ว่ามีความสามารถทางปัญญาเหนือสัตว์โลกทุกชนิด เพราะมนุษย์คิดได้ จำได้ วิเคราะห์ได้ พิจารณาได้ สื่อสารได้ เรียนรู้ได้ คิดสร้างสรรค์ต่อยอดความรู้ต่างๆ ได้ มีสัญชาตญาณรับรู้ทุกข์ของคนอื่นได้ แต่มีกิเลสตัณหาเป็นธรรมชาติ

ด้วยลักษณะพิเศษสูงสุดนี้ ทำให้มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีความอยากรู้อยากเห็นสูง และมีกิเลสที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเพื่อความอยู่รอดและเหนือผู้อื่น ทำให้มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องบริโภคข่าวสาร พฤติกรรมนี้ทำให้กิจการขนส่งทุกมิติเจริญก้าวหน้าเพื่อการแสวงหาข้อมูล และด้วยความพิเศษของมนุษย์ ทำให้มนุษย์ต้องเดินทางไปที่ใหม่ๆ ตามสัญชาตญาณอยากรู้อยากเห็น ต้องการอาณาเขตใหม่ที่ดีกว่า ปลอดภัยกว่า และมีชีวิตที่ดีกว่า รวมทั้งมนุษย์ต้องการสื่อสารบอกกันถึงเรื่องราวต่างๆ ที่ประสบมา เพื่อให้ผู้ที่เป็นพวกเดียวกันได้รับรู้ การไปรษณีย์จึงเป็นงานบริการที่สร้างความเจริญทางคมนาคมในทุกด้านมาแต่โบราณกาล

ศิลาจารึกสมัยสุโขทัยเป็นตัวอย่างหนึ่งของการสื่อสารที่บรรพบุรุษไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระมหากษัตริย์ ทรงต้องการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้เป็นเรื่องราว เกี่ยวข้องกับพระราชอาณาจักรของพระองค์ให้คนทั้งหลายได้รับรู้

ข้อจำกัดของมนุษย์คือความสามารถในการจำ เพราะมีพื้นที่สมองจำกัด ทำให้สมองจะขีดฆ่าข้อมูลที่ไม่สำคัญหรือไม่ต้องการจำทิ้งไปตามกาลเวลา และหากจะต้องบันทึกความจำแล้วก็ต้องใช้แผ่นหิน แผ่นโลหะ หนังสัตว์ กระดาษ หรือแผ่นไม้ใบลานจำนวนมหาศาลถึงจะบันทึกข้อมูลทั้งหมด

ครั้นเมื่อมนุษย์สามารถประดิษฐ์คอมพิวเตอร์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้สามารถเก็บข้อมูลและประมวลผลของข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เอลวิน ทอฟเฟลอร์ ศาสตราจารย์แห่งสังคมศาสตร์ จึงเรียกยุคศตวรรษที่ 21 ว่าเป็นยุคข้อมูลข่าวสาร เขียนหนังสือหลายเล่มแต่เรื่อง Warand Antiwar; Survival at the Dawn of the Twenty-First Century มีส่วนทำให้สหรัฐฯ ชนะสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรกได้อย่างรวดเร็ว เมื่อทำลายระบบการสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ในกองทัพของอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน จนใช้งานไม่ได้ และโดยมีข้อมูลที่บิดเบือนความจริงในระบบข้อมูลสารสนเทศซึ่งสร้างความวุ่นวายในกองทัพอิรักจนกองทัพรบไม่ได้

วิน ชวาตู พูดถึงการปฏิวัติในระบบสารสนเทศ เมื่อสาระแปลว่าเรื่องราวต่าง ๆ ส่วนสนเทศเป็นศัพท์โบราณแปลว่าใบบอกหรือรายงาน โดยกล่าวว่า”การปฏิวัตินี้เปลี่ยนสภาพสังคมไม่ง่ายนัก แต่เป็นเรื่องที่รัฐจะต้องสร้างพื้นฐานโลกไซเบอร์ เพื่อเป็นเครื่องมือส่องสว่างให้กับความฝันของคนอเมริกันยุคที่ 3 ที่อยู่ในโลกแห่งความสับสนวุ่นวายให้ได้” อินเตอร์เน็ทเป็นโครงสร้างพื้นฐานนี้อย่างชัดเจน เมื่อรัฐลงทุนในการวิจัยระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์สำเร็จในยุค 1960 นำสู่โลกยุค facebook ที่คนสื่อสารกันเป็นเคลื่อข่ายมหาศาลทั้งโลก

นอกจากนั้นแล้ว วิน ชวาตู พูดถึงข้อมูลข่าวสารเป็นตัวกระตุ้นและผลักดันสังคมทุกมิติ ทำให้ข้อมูลข่าวสารเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่ามหาศาล ทำให้สงครามสารสนเทศมีสถานะเป็นอาวุธยุทธศาสตร์ที่มีมูลค่ามหาศาลเพื่อชัยชนะและการทำลายล้าง ทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดระเบียบโลกทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองโดยใครจะใช้ก็ได้ทั้งนั้น เช่น จูเลียน แอสแซงจ์ แห่งวิกิลีกส์

ตามนัยนี้สงครามสารสนเทศเป็นอะไรที่เกี่ยวกับอำนาจ ใครครอบครองข้อมูลข่าวสารก็ครองครองอำนาจ โดยเฉพาะอำนาจเงิน แต่ที่สำคัญยิ่ง สงครามสารสนเทศยังเป็นอะไรที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความหวาดกลัว ใครควบคุมข้อมูลข่าวสารก็สามารถสร้างความหวาดกลัวให้กับคนที่มีความลับและกลัวความลับนั้นจะรั่วไหล

สิ่งหนึ่งที่วิน ชวาตู พูดถึงคนที่ใช้กลยุทธ์สงครามสารสนเทศได้อย่างดีมักเป็นพฤติกรรมของคนหยิ่งผยอง ก็เพราะคนคนนั้นเชื่อว่าเขาได้กระทำการอันใดอันหนึ่งที่เป็นอาชญากรรมสมบูรณ์แบบยากที่เอาผิดได้

จูเลียน แอสแซงจ์ ผู้ก่อตั้งคนหนึ่งของวิกิลีกส์ และเป็นตัวออกโรงให้วิกิลีกส์ เป็นชาวออสเตรเลีย ที่มีความชำนาญในเรื่องอำนาจของไซเบอร์มาก เป็นนักเจาะข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตมืออาชีพ แต่มีจิตสำนึกเป็นพวกอนาธิปไตยต่อต้านระบบรัฐ และเขาเลือกที่จะสยบรัฐบาลสหรัฐฯ

วิกิลีกส์เปิดทำการในโลกไซเบอร์ในปี ค.ศ. 2006 โดยกลุ่มเดอะ ซันชายน์ เพรซส์ และในเดือนเมษายน 2010 วิกิลีกส์แพร่คลิปพฤติกรรมทหารสหรัฐฯ ทำทารุณพลเรือนอิรักและนักข่าวตั้งแต่ปี 2007 รวมทั้งบันทึกประจำวันของทหารคนหนึ่งในสงครามอัฟกานิสถาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีเอกสารลับกว่า 76,900 ชิ้น แพร่กระจายในโลกไซเบอร์ผ่านเว็บไซต์วิกิลีกส์

วิกิลีกส์เกี่ยวข้องกับไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2010 โดยได้เผยแพร่เอกสารของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ที่ประจำอยู่ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย โดยมีข่าวการสนทนาการเมืองระหว่างบุคคลสำคัญของไทย 3 คน กับเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย หรือการแพร่ข้อมูลของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลทักษิณกับรัสเซียว่าเบ่งบานสุดๆ ในยุคนั้น หรือการเปิดเผยการเจรจาระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับรัฐบาลไทย กรณีนายวิกเตอร์ บูท นักค้าอาวุธชาวรัสเซียให้ไปขึ้นศาลสหรัฐฯ

วิกิลีกส์เป็นจุดบอดของความร่วมมือระหว่างชาติและจิตสำนึกของคนในชาติ ในการบริโภคข้อมูลข่าวสาร หากเราไม่ให้ความสนใจกับข่าวสารส่วนนั้นๆ ข่าวสารนั้นก็จะหมดคุณค่าไปเอง

วิกิลีกส์เป็นบทเรียนที่สำคัญของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการทำสงครามสารสนเทศ โดยเฉพาะในการป้องกันข้อมูลสำคัญของหน่วยงานรัฐ

แต่วิกิลีกส์ก็เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความสมดุลทางการเมือง เพราะข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมเชิงรุกทางการเมืองของสหรัฐฯ ที่ก้าวร้าวไม่เฉพาะกับประเทศที่ไม่เป็นมิตรนัก เช่น อิหร่าน เยเมน เกาหลีใต้ และจีน แต่สหประชาชาติเองก็ถูกสหรัฐฯ คุกคาม เมื่อนางฮิลลารี คลินตัน สั่งให้นักการทูตสหรัฐฯ ทำจารกรรมพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่บริหารสหประชาชาติ รวมทั้งตัวเลขาธิการสหประชาชาติด้วย เราจึงรู้กำพืดความก้าวร้าวของสหรัฐฯด้วยเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น