xs
xsm
sm
md
lg

Analysis: สหรัฐฯถอนทหารจากอิรักก่อ “สุญญากาศทางการเมือง” เปิดทาง “อิหร่าน” แผ่อิทธิพล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี มะห์มูด อาห์มาดิเนจัด แห่งอิหร่าน
เอเอฟพี - การที่สหรัฐฯถอนทหารออกจากอิรักจะก่อให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองในอ่าวอาหรับ เปิดทางให้อิหร่านแผ่ขยายอิทธิพลในภูมิภาคดังกล่าวซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง นักวิเคราะห์เตือน

“ทันทีที่สหรัฐฯถอนกำลังออกจากอิรัก จะเกิดสุญญากาศทางการเมืองขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย” อับดุลอาซิส ซาเกอร์ ประธานสถาบันวิจัยแห่งอ่าวอาหรับ เผย พร้อมอธิบายว่า การที่สหรัฐฯส่งทหารเข้ามาประจำในภูมิภาคนี้ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่รัฐอ่าวอาหรับ “ซึ่งมีผลประโยชน์ร่วม และมีพันธะสัญญาด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯ”

“การเข้ามาของสหรัฐฯทำให้รัฐอ่าวอาหรับรู้สึกปลอดภัยและมีเสถียรภาพ เพราะมั่นใจในแสนยานุภาพทางทหารของอเมริกา” ซาเกอร์ เผย และยังเตือนว่า การถอนทหารจะ “ทำให้อิหร่านกลับมามีอิทธิพลด้านกองทัพและข่าวกรองในอิรักมากขึ้น”

หลังปฏิบัติภารกิจด้านความมั่นคงในอิรักมานานถึง 9 ปี สหรัฐฯมีแผนจะถอนทหารชุดสุดท้ายกลับมาตุภูมิภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในโลกอาหรับ ผู้นำเผด็จการของตูนิเซีย, อียิปต์ และลิเบีย ถูกประชาชนลุกฮือโค่นอำนาจที่ครอบครองมานานหลายสิบปี ทว่ากระแสปฏิวัติก็กระตุ้นให้สงครามแบ่งแยกและความขัดแย้งระหว่างศาสนารุนแรงขึ้นด้วย

สิ่งที่รัฐอ่าวอาหรับกังวลมากที่สุดก็คือ แผนการต่อไปที่อิหร่านจะกระทำต่ออิรักซึ่งปกครองด้วยผู้นำชีอะห์ และเป้าหมายของเตหะรานในระดับภูมิภาค หลังรัฐบาลซุนนีในซาอุดีอาระเบียและบาห์เรนทำการปราบปรามผู้ประท้วงชีอะห์อย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา

ซาเกอร์ มองว่า การแผ่อิทธิพลของอิหร่านจะไม่เป็นภัยโดยตรงสำหรับอิรัก แต่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือท้าทายรัฐอ่าวอาหรับส่วนใหญ่ซึ่งปกครองด้วยมุสลิมซุนนี และเพื่อชดเชยความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับพันธมิตรของอิหร่านอย่างซีเรีย ซึ่งเกิดการประท้วงรัฐบาลครั้งใหญ่อยู่ในขณะนี้

นอกจากสายสัมพันธ์ด้านศาสนาแล้ว อิรักและอิหร่านยังแสดงจุดยืนที่คล้ายคลึงกันต่อการที่นานาชาติและประเทศเพื่อนบ้านพยายามกดดันให้ประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรียลาออก

“ในแง่การเมือง การจากไปของสหรัฐฯอาจกระตุ้นให้อิรักกลับไปสานสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอิหร่านอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปราศจากอิทธิพลของซาอุดีอาระเบียและตุรกี” ซาเกอร์ กล่าว

ด้านสหรัฐฯซึ่งพยายามบรรเทาความกังวลที่เกิดขึ้นในภูมิภาค โต้แย้งว่า อิหร่านไม่ประสบความสำเร็จในการดึงอิรักเข้าเป็น “รัฐบริวาร” และกำลังถูกโดดเดี่ยวมากยิ่งขึ้น

ทอม โดนิลอน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงภายในสหรัฐฯ กล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า “ดุลอำนาจในโลกอาหรับหันไปในทางตรงข้ามกับอิหร่าน” และอิรักกับอิหร่าน “มีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับอนาคตที่แตกต่างกันมาก”

ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและประเทศอาหรับทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เมื่อราชวงศ์ซุนนีในซาอุดีอาระเบียและบาห์เรนกล่าวหาว่าเตหะรานปลุกปั่นชนกลุ่มน้อยชีอะห์ให้ก่อความไม่สงบ

หลายฝ่ายยังกังวลด้วยว่า กองทัพอิรักอาจยังไม่พร้อมที่จะดูแลความสงบในประเทศของตนเอง ซึ่งเกิดการต่อสู้ระหว่างกลุ่มแบ่งแยกต่างๆและการเมืองที่ไร้เสถียรภาพ นับตั้งแต่ถูกสหรัฐฯบุกยึดเมื่อปี 2003 เป็นต้นมา

พันโท โรเบิร์ต แคสเลน หัวหน้าสำนักงานความร่วมมือด้านความมั่นคงอิรัก (OSC-I) ให้สัมภาษณ์เมื่อไม่นานนี้ว่า “กองกำลังความมั่นคงอิรักแข็งแกร่งพอที่จะควบคุมสถานการณ์ในประเทศได้ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีศักยภาพพอจะรับมือภัยคุกคามนอกประเทศ”

บาบัก เซบารี ผู้บัญชาการทหารอิรัก ยอมรับเช่นกันว่า อิรักอาจยังไม่สามารถปกป้องชายแดนได้อย่างเต็มที่ และยังต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่กองทัพจะสามารถ “ปฏิบัติหน้าที่ป้องกันภัยจากนอกประเทศได้อย่างสมบูรณ์”

ด้าน ซามิ อัล-ฟาราจ นักวิเคราะห์ชาวอิหร่านจากสถาบันเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ในคูเวต โต้แย้งว่า แสนยานุภาพทางทหารของเตหะรานยังเทียบไม่ได้กับรัฐอ่าวอาหรับอื่นๆ และประเทศเหล่านี้ยังสามารถรับมือกับความก้าวร้าวรุนแรงของอิหร่านที่อาจจะเกิดขึ้น

“อาวุธของอิหร่านเป็นของเก่าที่เสื่อมสภาพแล้ว” ฟาราจ เผย พร้อมระบุว่า อิรักและประเทศเพื่อนบ้านจะสามารถป้องกันการโจมตีจากอิหร่านได้แน่นอน

ซามี อัล-นิสฟ์ นักวิเคราะห์การเมืองอีกรายหนึ่ง กล่าวว่า สหรัฐฯเลือกถอนทหารในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม ซึ่งจะยิ่งทำให้ปัญหาการเมืองและการแบ่งแยกในโลกอาหรับยุ่งยากมากขึ้น

“ทหารอเมริกันควรอยู่ในอิรักต่อไปก่อน อย่างที่เคยทำกับเยอรมนีและญี่ปุ่นมาแล้ว เพื่อไม่ให้อิรักตกอยู่ใต้การควบคุมของเตหะรานอย่างเบ็ดเสร็จ” นิสฟ์ เผย


กำลังโหลดความคิดเห็น