เอเจนซี - การขายเครื่องบินขับไล่ของสหรัฐฯ ให้ชาติอาหรับมูลค่ามหาศาล จะเป็นแหล่งทุนสำคัญท่ามกลางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะซบเซาในปี 2012 และอาจเป็นทุนสำคัญสำหรับการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ของบารัค โอบามา ในช่วงปลายปีนี้
ล็อกฮีด มาร์ติน และโบอิ้ง เป็นบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากสัญญาขายยุทโธปกรณ์ที่ทางการสหรัฐฯ เปิดเผยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเครื่องบินขับไล่ เอฟ-16 และเอฟ-15 จากทั้งสองบริษัทเป็นสินค้าขายดีที่รัฐบาลโอบามาตกลงขายให้ อิรัก ซาอุดีอาระเบีย และโอมาน เพิ่มเติม ทั้งนี้ เงินจากการขายอาวุธให้ต่างชาติจะชดเชยกับงบประมาณที่กระทรวงกลาโหมถูกตัดอย่างน้อย 450,000 ล้านดอลลาร์ ตามแผนปรับลดการขาดดุลของรัฐบาลอเมริกันภายในปี 2021
นอกจากนี้ การขายเครื่องบินขับไล่ ขีปนาวุธ และยุทโธปกรณ์ล้ำสมัย จะช่วยให้คนอเมริกันจำนวนมากมีงานทำ ขณะประเทศกำลังเดินหน้าสู่เทศกาลหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งทุกพรรคต่างมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ด้านรัฐบาลบารัค โอบามา เพิ่งประกาศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า บรรลุข้อตกลงประวัติศาสตร์ ขายโบอิ้ง เอฟ-15 จำนวน 84 ลำ ให้กองทัพซาอุดีอาระเบีย มูลค่า 29,400 ล้านดอลลาร์ เป็นการขายอาวุธครั้งใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ โดยจะเริ่มทยอยส่งมอบ เอฟ-15 รุ่นล้ำสมัยที่สุดนี้ในปี 2015
จอช เอียร์เนสต์ โฆษกทำเนียบขาว อธิบายว่า ฝูงบินเอฟ-15 จะช่วยปกป้องซาอุดีอาระเบียจากสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่อิหร่านกำลังปลุกปั่น และสัญญาฉบับนี้จะสร้างงานในสหรัฐฯ มากกว่า 50,000 ตำแหน่ง
สัญญาดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับบริษัทซัพพลายเออร์ประมาณ 600 แห่ง ใน 44 รัฐทั่วประเทศ และจะสร้างเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจราว 3.5 ล้านดอลลาร์/ปี แอนดรูว์ ชาพิโร ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศด้านกลาโหม แถลงข่าวสรุปเนื้อหาสาระของสัญญาขายเอฟ-15 ให้ซาอุดีอาระเบีย
คำสั่งซื้อเอฟ-16 งวดใหม่
แรงงานผู้คุมสายพานการผลิต เอฟ-16 ที่โรงงานล็อกฮีด มาร์ติน ในรัฐเทกซัส ก็ได้รับข่าวดีเช่นกัน หลังจากกระทรวงกลาโหม มอบสัมปทานมูลค่า 600 ล้านดอลลาร์ ให้ล็อกฮีด มาร์ติน เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ให้ผลิต เอฟ-16 รุ่นล่าสุด ให้กองทัพโอมาน 12 ลำ นับเป็นคำสั่งซื้อฉบับที่ 2 ในรอบ 2 สัปดาห์
เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ล็อกฮีด มาร์ติน เพิ่งได้สัญญาผลิต เอฟ-16 ซี/ดี จำนวน 18 ลำ ให้กองทัพอิรัก โดยก่อนหน้านี้ ล็อกฮีด มาร์ติน ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์เบอร์หนึ่งของเพนตากอน ประกาศเตือนว่า อาจต้องปิดโรงงาน เอฟ-16 ในสิ้นปีนี้ หากยังไม่มีคำสั่งซื้อเข้ามาใหม่
เครื่องบินขับไล่ไม่ใช่ยุทโธปกรณ์ราคาแพงประเภทเดียวที่รัฐบาลโอบามาบรรลุข้อตกลงขาย ในช่วงที่ประเทศกำลังสลับเข้าฤดูกาลหาเสียง โดยเมื่อวันศุกร์ (30 ธ.ค.) กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เปิดเผยว่า สามารถบรรลุข้อตกลงมูลค่า 3.5 ล้านดอลลาร์ ขายระบบป้องกันมิสไซล์ให้กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ไต้หวันอด เอฟ-16 อเมริกัน
ล็อกฮีด มาร์ติน พยายามผลักดันสัญญาผลิต เอฟ-16 ซี/ดี 66 ลำ มูลค่ากว่า 8,000 ล้านดอลลาร์ ให้ไต้หวัน ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ถูกทางการจีนคัดค้าน
รูเพิร์ต ฮัมมอนด์-แชมเบอร์ส ประธานสภาการค้าไต้หวัน-สหรัฐฯ เขียนอธิบายไว้เมื่อเดือนตุลาคม ว่า การขายเอฟ-16 ครั้งนี้ “จะเป็นผลดีต่อชุมชนท้องถิ่นทั่วสหรัฐฯ โดยเฉพาะรัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐคอนเนตทิคัต รัฐฟลอริดา รัฐโอไฮโอ รัฐเทกซัส และรัฐยูทาห์” ซึ่งล้วนเป็นรัฐที่ยังไม่มีพรรคใดครองเสียงข้างมากชัดเจนในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2012
แต่รัฐบาลโอบามาไม่เห็นชอบกับสัญญาดังกล่าว เหมือนไม่ต้องการสร้างความไม่พอใจแก่จีน โดยเสนอสัญญายกเครื่อง เอฟ-16 ของกองทัพไต้หวัน 145 ลำ มูลค่า 5,300 ล้านดอลลาร์ แทนที่สัญญาขายฝูง เอฟ-16 ที่ล็อกฮีด มาร์ติน เสนอ
ทั้งนี้ เอฟ-16 มีบทบาทสำคัญต่อการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มา เช่น ระหว่างหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 1992 จอร์จ เอช.ดับเบิลยู. บุช (บิดาของจอร์จ ดับเบิลยู. บุช) ประกาศว่า จะขาย เอฟ-16 เอ/บี จำนวน 150 ลำ ให้กับไต้หวัน พร้อมทั้งลงนามเป็นหลักฐานสัญญาประชาคมระหว่างหาเสียงในรัฐเทกซัส ซึ่งกำลังประสบปัญหาว่างงานสูงลิบ