xs
xsm
sm
md
lg

อเมริกายุคนี้ไม่มีกระทั่งเสรีภาพ

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

ผู้อ่านประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาย่อมผ่านประโยคที่มีใจความว่า “ตายเสียดีกว่าถ้าไม่มีเสรีภาพ” ของแพทริก เฮนรี่ และทราบว่าการปกปักรักษาเสรีภาพของประชาชนเป็นปัจจัยพื้นฐานของการก่อตั้งและการบริหารประเทศ แต่ผู้ที่รู้จักสหรัฐฯ มาเป็นเวลานานหลายสิบปีจะบอกได้ทันทีว่า สหรัฐฯ ได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญในด้านเสรีภาพของประชาชนโดยเฉพาะหลังจากถูกผู้ก่อการร้ายโจมตีเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544

คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า วิกิพีเดียและผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ตปิดเว็บไซต์ไปนับพันเมื่อวันที่ 18 มกราคม เพื่อประท้วงร่างกฎหมายที่จะลิดรอนเสรีภาพของประชาชนเพิ่มขึ้น อีกทั้งที่ตอนนี้สหรัฐฯ แทบไม่แตกต่างกับประเทศเผด็จการโดยทั่วไปแล้ว ศาสตราจารย์ทางกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตันชื่อโจนาธาน เทอร์ลีย์ เพิ่งนำผลการวิเคราะห์ว่าเพราะอะไรมาเสนอไว้ในหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ เมื่อวันที่ 15 มกราคม ขอนำมาเล่าคร่าวๆ สำหรับผู้ที่ไม่มีโอกาสอ่านผลการวิเคราะห์นั้นซึ่งเขาแยกออกเป็น 10 ข้อด้วยกันดังนี้

ประธานาธิบดีมีอำนาจสั่งสังหารประชาชน อำนาจนี้เริ่มใช้ในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช เพื่อสังหารผู้ที่รัฐบาลอ้างว่าเป็นผู้ก่อการร้ายหรือสนับสนุนผู้ก่อการร้ายหลังเกิดเหตุการณ์วันที่ 11 กันยายน 2544 เมื่อปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดี บารัค โอบามา อนุญาตให้ตามล่าและฆ่าอันวาร์ อัลอาลาคี และชาวอเมริกันอีกหนึ่งคนทั้งที่สหรัฐฯ ตำหนิติเตียนประเทศอื่นในเรื่องนี้รวมทั้งไนจีเรีย ซีเรียและอิหร่าน

ประธานาธิบดีมีอำนาจสั่งคุมขังผู้ต้องสงสัยฐานก่อการร้ายโดยไม่มีกำหนด เมื่อเดือนธันวาคม 2554 รัฐบาลออกกฎหมายเพิ่มเข้มข้นให้แก่อำนาจนี้โดยอนุญาตให้ทหารคุมขังผู้ต้องสงสัยในด้านก่อการร้ายได้ ทั้งที่สหรัฐฯ ตำหนิติเตียนการกระทำอย่างเดียวกันของเขมร แม้แต่จีนซึ่งเพิ่งออกกฎหมายคล้ายกันก็ยังไม่ให้อำนาจรัฐบาลมากถึงขนาดของสหรัฐฯ

ประธานาธิบดีมีอำนาจใช้กระบวนการยุติธรรมแบบตามใจฉันเนื่องจากเขาสามารถสั่งว่าจะส่งใครไปขึ้นศาลของรัฐบาลกลางหรือศาลทหารก็ได้ ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นทหารหรือพลเรือน อำนาจนี้ใช้มาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ทั้งที่สหรัฐฯ ประณามการใช้กฎหมายในแนวเดียวกันของอียิปต์และจีน

ประธานาธิบดีมีอำนาจสั่งให้ติดตามความเคลื่อนไหวของประชาชนได้โดยไม่ต้องขออำนาจจากศาล นอกจากนั้น รัฐบาลยังสามารถบังคับบริษัทห้างร้านและองค์กรต่างๆ ส่งข้อมูลของประชาชนให้รัฐบาลได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการเงิน การสื่อสารหรือการรวมกลุ่มกัน อำนาจนี้เริ่มมีมาตั้งแต่การออกกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายปี 2544 ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมา ได้ขยายออกไปให้ครอบคลุมกระทั่งเอกสารการทำธุรกิจและการใช้ห้องสมุด นอกจากนั้น รัฐบาลยังมีอำนาจสั่งผู้มอบข้อมูลแก่รัฐบาลให้ปกปิดเรื่องนี้มิให้เจ้าตัวรู้อีกด้วย กฎหมายแนวนี้มีใช้อยู่ในซาอุดีอาระเบียและปากีสถาน

รัฐบาลสามารถใช้หลักฐานลับเพื่อกักขังผู้ต้องหาและในกระบวนการศาล ทั้งศาลของรัฐบาลกลางและศาลทหาร รัฐบาลสามารถล้มคดีได้โดยไม่ต้องใช้หลักฐานอะไรมากไปกว่าการอ้างว่าการแสดงหลักฐานจะเป็นการทำลายความปลอดภัยของประเทศ แม้แต่ความเห็นของนักกฎหมายที่รัฐบาลใช้ในการล้มคดีก็ถือว่าเป็นความลับที่เปิดเผยไม่ได้ ร้ายยิ่งกว่านั้น รัฐบาลยังสามารถอ้างเรื่องความปลอดภัยเพื่อยับยั้งคดีก่อนที่มันจะไปถึงศาลได้อีกด้วย ผู้พิพากษาโดยทั่วไปมักไม่คัดค้านการใช้ข้ออ้างดังกล่าว รัฐบาลจึงใช้เป็นประจำ

รัฐบาลปกป้องพนักงานของหน่วยสืบราชการลับมิให้ต้องถูกสอบสวนหรือขึ้นศาลแม้คนพวกนั้นจะทรมานผู้ต้องหาก่อการร้ายให้คายความลับออกมาก็ตาม การกระทำเช่นนั้นละเมิดทั้งสนธิสัญญาและหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศ เมื่อศาลในประเทศอื่นจะพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับการกระทำดังกล่าวซึ่งชาวอเมริกันเป็นผู้ต้องหา รัฐบาลอเมริกันก็กดดันให้รัฐบาลนั้นระงับเสีย ทั้งที่สหรัฐฯ เองสงวนสิทธิ์ที่จะฟ้องผู้ต้องหาว่าก่ออาชญากรรมสงครามในประเทศอื่น หลายประเทศปฏิบัติแบบนี้เช่นกันรวมทั้งอิหร่าน ซีเรีย และจีน แต่บางประเทศที่เคยปฏิบัติได้ยอมทำตามกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว เช่น เซอร์เบีย และชิลี

รัฐบาลใช้ศาลลับชื่อว่า “ศาลเพื่อการติดตามความเคลื่อนไหวในด้านการจารกรรมของต่างประเทศ” มากขึ้น ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้ขยายการใช้อำนาจนี้ให้ครอบคลุมไปถึงการตรวจค้นผู้คนทั่วไปอย่างลับๆ ทั้งที่ไม่มีหลักฐานว่าเขาผู้นั้นมีความเกี่ยวข้องอะไรกับองค์การก่อการร้ายและรัฐบาลที่ตั้งตัวเป็นศัตรูกับสหรัฐฯ แม้รัฐสภาจะพยายามจำกัดอำนาจนี้ แต่ฝ่ายบริหารก็เอาหูทวนลม กฎหมายทำนองนี้มีใช้อยู่ในปากีสถานซึ่งรัฐบาลให้อำนาจในการติดตามความเคลื่อนไหวในด้านการทำจารกรรมอย่างไม่จำกัดแก่ทหารและหน่วยสืบราชการลับ

รัฐบาลให้การคุ้มครองจากการถูกฟ้องแก่บริษัทห้างร้านที่ช่วยรัฐบาลในการติดตามความเคลื่อนไหวของบุคคลโดยปราศจากอำนาจของศาล จีนปฏิบัติในแนวเดียวกันอย่างกว้าง

รัฐบาลอาจติดตามความเคลื่อนไหวของประชาชนอย่างต่อเนื่องได้ด้วยการใช้เทคโนโลยีบ่งบอกตำแหน่งแหล่งที่บนผิวโลกโดยปราศจากอำนาจศาลและปราศจากการตรวจสอบ วิธีนี้ถูกใช้อย่างกว้างขวางในซาอุดีอาระเบียและคิวบา

รัฐบาลสามารถส่งผู้ต้องหาไปทรมานยังต่างประเทศเพื่อล้วงข้อมูลได้ ประเทศที่ถูกอ้างถึงว่าให้ความร่วมมือคือ ซีเรีย ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ และปากีสถาน จริงอยู่วิธีนี้ถูกใช้ในสมัยประธานาธิบดีจอร์ ดับเบิลยู. บุช เท่านั้น แต่รัฐบาลปัจจุบันก็ยังอ้างว่ามีสิทธิที่จะทำ รวมทั้งการส่งชาวอเมริกันออกไปยังต่างประเทศเพื่อจุดมุ่งหมายดังกล่าวด้วย

กฎหมายที่ให้อำนาจดังกล่าวนั้นตามมาด้วยการขยายองค์กรด้านการไล่ล่าผู้ก่อการร้ายอย่างมีนัยสำคัญทั้งในด้านการใช้เงินจำนวนมหาศาล ในด้านการจ้างบุคลากรนับหมื่น และในด้านการใช้เครื่องไม้เครื่องมือ เช่น กล้องถ่ายรูปที่ติดไว้ในสถานที่ต่างๆ อย่างทั่วถึง

อนึ่ง คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ติดตามความเป็นไปในด้านการให้เสรีภาพแก่ประชาชนของประเทศต่างๆ อย่างใกล้ชิด และแต่ละปีจะมีการให้คะแนนประเทศเหล่านั้นว่าสอบผ่านหรือไม่ หลายประเทศมักสอบไม่ผ่าน เช่น อิหร่าน และเกาหลีเหนือ บางประเทศถูกตำหนิติเตียนเมื่อรัฐบาลดำเนินการบางอย่างที่สหรัฐฯ มองว่าลิดรอนเสรีภาพของประชาชน จากมุมมองของศาสตราจารย์เทอร์ลีย์ตามข้อมูลที่อ้างถึงคงสรุปได้โดยไม่ต้องคิดนานว่า สหรัฐอเมริกาตกอยู่ในสภาพ “ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง”
กำลังโหลดความคิดเห็น