เอเอฟพี - กองทัพสหรัฐฯ ในอิรักจะเชิญธงชาติลงจากยอดเสา วันนี้ (15) ในพิธีถอนทัพอย่างเป็นทางการ หลังจากยกกำลังพลเข้าทำสงครามโค่นล้มซัดดัม ฮุสเซน เมื่อเกือบ 9 ปีที่แล้ว ขณะที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้กล่าวสุนทรพจน์เชิดชูความสำเร็จของสงครามอิรักในพิธีต้อนรับทหารกลับบ้าน
พิธีปิดกองบัญชาการทหารสหรัฐฯ ในอิรักอย่างเป็นทางการจะมีขึ้น หลังจากการกล่าวสุนทรพจน์ต้อนรับทหารอเมริกันกลับมาตุภูมิของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ณ โรงเก็บเครื่องบินของฐานทัพฟอร์ต แบรกก์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา ต่อหน้าทหารประจำกองพลส่งกำลังทางอากาศที่ 82
ทหารสหรัฐฯ ที่เหลืออยู่อีกหลายพันนายจะถอนกำลังกลับประเทศภายในอีกไม่กี่วัน กระทั่งแทบไม่เหลือทหารต่างชาติอยู่ในอิรัก หลังจากครั้งหนึ่ง อิรักเคยเต็มไปด้วยค่ายทหารสหรัฐฯ มากกว่า 500 แห่ง และทหารอเมริกันเกือบ 170,000 นาย
การถอนกำลังภายในสิ้นปีนี้จะเป็นการยุติสงคราม ซึ่งคร่าชาวอิรักไปหลายหมื่นชีวิต สังหารทหารสหรัฐฯ เกือบ 4,500 นาย และส่งผลให้ชาวอิรักประมาณ 1.75 ล้านคน ต้องอพยพทิ้งถิ่นฐาน หลังการรุกรานของทัพสหรัฐฯ กลายเป็นชนวนความรุนแรงระหว่างมุสลิมต่างนิกาย
ประธานาธิบดีโอบามากล่าวเริ่มการสิ้นสุดเวลาเกือบ 9 ปี แห่ง “การนองเลือดและการสร้างเมือง” ด้วยการแสดงความยินดีที่ทหารส่วนหนึ่งได้กลับบ้าน ก่อนที่ทหารกองสุดท้ายจะถอนทัพออกจากอิรักภายในเดือนนี้
“การยุติสงครามยากยิ่งกว่าการเริ่มสงคราม … ทุกสิ่งที่ทหารอเมริกันทำในอิรัก ทุกการต่อสู้และการสูญเสีย การหลั่งเลือดและการสร้างเมือง การฝึกสอนและการร่วมรบ นำเรามาสู่ความสำเร็จ ณ เวลานี้” โอบามากล่าว “สิ่งที่เราหลงเหลือไว้ คือ รัฐเอกราชที่มั่นคงและยืนได้ด้วยตัวเอง โดยมีตัวแทนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน”
โอบามาประกาศอย่างเป็นทางการว่า วันพฤหัสบดีจะมีพิธีถอนทัพอย่างเป็นทางการ ณ กรุงแบกแดด
“หนึ่งในความสำเร็จสุดยอดในประวัติศาสตร์ทหารอเมริกันกำลังเดินมาถึงปลายทาง ต่อไป อนาคตของอิรักจะอยู่ในมือคนอิรัก สงครามของอเมริกันในอิรักจะยุติลง”
ด้านลีออน พาเนตตา รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวต่อหน้ากองทหารในอัฟกานิสถาน ว่า เขาจะเดินทางร่วมพิธีถอนทัพในอิรัก “ร่วมพิธียุติสงครามที่เราต่อสู้เพื่อสร้างประเทศอิรักขึ้นมาใหม่”
ทั้งนี้ สงครามโค่นล้มซัดดัม ฮุสเซน อุบัติขึ้นในเดือนมีนาคม 2003 ด้วยปฏิบัติการที่เฉียบขาดและดุดัน ก่อนตามด้วยการส่งกำลังเข้ายึดครองยาวนาน 8 ปี โดยมีเป้าหมายสำคัญในการสร้างกองทัพ และสถาปนาระบอบการเมืองให้อิรัก
ปัจจุบัน อิรักมีรัฐสภาและระบบการเลือกตั้ง ซึ่งควบคุมโดยรัฐบาลมุสลิมชีอะห์ที่เข้ามาแทนระบอบของซัดดัมที่เป็นมุสลิมซุนนี อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหรัฐฯ ยังคงหวั่นเกรงว่า แม้ได้รับการฝึกจากทหารอเมริกันมานานหลายปี แต่อิรักอาจยังไร้ความสามารถในการป้องกันชายแดน และอาจถูกคุกคามจากอิหร่าน ศัตรูตัวฉกาจของสหรัฐฯ ได้ทุกเมื่อ