ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การประท้วงต่อต้านอำนาจเผด็จการในโลกอาหรับ หรือ “อาหรับสปริง” (Arab Spring) เดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้ง เมื่อพันเอก มูอัมมาร์ กัดดาฟี ถูกสังหารในบ้านเกิดที่กลายเป็นเมืองตายของเขา ความตายเหมือน “หนูสกปรก” ของกัดดาฟี ผู้เคยด่ากราดกลุ่มกบฏที่กลายเป็นรัฐบาลรักษาการ อาจเป็นสัญญาณเตือนชั้นดีที่ผู้นำจอมเผด็จการในโลกอาหรับต้องเหลียวมองและฉุกคิด เพราะขนาดมูอัมมาร์ อัล-กัดดาฟี ผู้ที่ทุกคนในแอฟริกาต้องเกรงใจ ยังตายอย่างน่าอเนจอนาถ อย่างไรก็ตาม อนาคตลิเบียเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น เมื่อสภาถ่ายโอนอำนาจแห่งชาติ (เอ็นทีซี) ประกาศแผนแนวทางพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศออกมา
ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนถ่ายอำนาจหลัง “การปฏิวัติดอกมะลิ” ของประชาชนตูนิเซียซึ่งเป็นจุดกำเนิดอาหรับสปริง ก็เบ่งบานเต็มที่ ตูนิเซียได้จัดการเลือกตั้งครั้งแรกที่ประชาชนมีเสรีภาพโดยสมบูรณ์ เป็นต้นแบบที่นักปฏิวัติในประเทศอาหรับอื่นๆ หวังเจริญรอยตาม ทว่า สถานการณ์การประท้วงในซีเรียและเยเมนยังคงรุนแรง มีผู้เสียชีวิตจากน้ำมือของรัฐบาลรายวัน ความตายของมูอัมมาร์ กัดดาฟี ยิ่งผลักดันให้ผู้ประท้วงฮึกเหิม แต่ดูเหมือนจุดจบของอดีตผู้นำลิเบียไม่ได้สร้างความพรั่นพรึงแก่ผู้นำเยเมนและซีเรีย เมื่อยังปรากฏรายงานว่า รัฐบาลของทั้งสองยังคงเดินหน้าปราบปรามประชาชนด้วยกระสุนปืนไม่เปลี่ยน ในประเด็นนี้ รัฐบาลรักษาการลิเบียก็อวยพรให้ผู้ต่อต้านอำนาจเผด็จการในประเทศอื่นประสบความสำเร็จเหมือนกับลิเบีย
**ลิเบียใหม่**
ความตายของนักรบมากมายอาจไม่มีความหมายต่อชาวลิเบียเท่ากับความตายของ มูอัมมาร์ อัล-กัดดาฟี อดีตผู้นำที่กบดานในเมืองเซิร์ต บ้านเกิดของเขา ช่วงเวลาที่กัดดาฟีเริ่มปกครองลิเบีย สหรัฐฯ มีประธานาธิบดีชื่อ ริชาร์ด นิกสัน ไทยก็มีจอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี เวลาผ่านไป ผู้นำยุคนั่นต่างหมดอำนาจ แต่กัดดาฟีกลับสามารถปกครองประเทศต่อเนื่องยาวนาน 42 ปี จนกลายเป็นผู้นำที่ไม่ใช่กษัตริย์ที่ปกครองประเทศยาวนานที่สุดในโลก แต่ในที่สุด การประท้วงเลียนแบบตูนิเซียและอียิปต์ที่สามารถโค่นบัลลังก์ผู้นำก็อุบัติขึ้นที่ลิเบีย ก่อนกลายเป็นสงครามกบฏเต็มรูปแบบ หลังจากกัดดาฟีตอบโต้เสียงเรียกร้องของประชาชนด้วยความรุนแรง เลวร้ายถึงขั้นใช้เครื่องบินรบปราบผู้ประท้วง สถานการณ์เดินมาถึงเดือนสิงหาคม กลุ่มกบฏที่มีกองกำลังนาโตสนับสนุนก็สามารถยึดกรุงตริโปลี ส่งผลให้กัดดาฟีและครอบครัวหนีกันไปคนละทิศละทาง ตลอดเวลาที่ถูกไล่ล่าจับตัว กัดดาฟีส่งสารผ่านสถานีโทรทัศน์อัล-อาร์ไรของซีเรียโดยตลอดว่า “ยอมตาย ไม่ยอมแพ้” และเรียกร้องให้ประชาชนลุกฮือขึ้นต่อต้านกบฏที่เขาเหยียดหยามว่า “หนูสกปรก” แต่หนูสกปรกฝูงนี้กลับได้รับการยอมรับจากนานาชาติ
กว่าทหารสหรัฐฯ จะแกะรอยพบตัวซัดดัม ฮุสเซน อดีตผู้นำอิรัก ในห้องลับใต้ดิน ต้องใช้เวลากว่าครึ่งปี หลังกรุงแบกแดดล่มสลาย ทว่า กัดดาฟีถูกจับได้ภายใน 2 เดือน หลังหลบหนีออกจากตริโปลี สภาพขณะถูกจับตัว เขาสะบักสะบอมไม่เหลือชิ้นดี ช่วงลมหายใจสุดท้ายของเขายังถูกบันทึกเป็นภาพวิดีโอและรูปถ่ายอีกจำนวนมาก เผด็จการผู้เคยเรืองอำนาจสูงสุด ขนาดประชาชนไม่กล้าเดินผ่านหน้าที่พำนัก กลับถูกรุมทำร้ายและหยามเกียรติโดยไม่ปราณี แม้มาห์มูด จิบริล นายกรัฐมนตรีรักษาการลิเบีย ยืนยันว่า กัดดาฟีถูกกระสุนลูกหลงที่บริเวณศีรษะ ขณะกลุ่มนักรบผู้ภักดีพยายามช่วยชีวิต “เจ้านาย” จากเงื้อมมือของรัฐบาลใหม่ ทว่าภาพวิดีโอต่างๆ ก็เป็นหลักฐานชัดเจนว่า กัดดาฟียังมีลมหายใจในสภาพใบหน้าเปื้อนเลือด เขาถูกรุมทำร้าย กระชากผมลากไปตามถนน มีแต่คนโห่ร้องสะใจ และมีเสียงปืนปริศนาดังขึ้น ก่อนที่รัฐบาลรักษาการลิเบียจะประกาศว่า กัดดาฟีเสียชีวิตระหว่างถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลจากเมืองเซิร์ตไปยังเมืองมิสราตา
ทั้งๆ ที่เสียชีวิตไปแล้ว ดูเหมือนนักรบสภาถ่ายโอนอำนาจแห่งชาติยังไม่สาแก่ใจ ศพของกัดดาฟี และมูตัสซิม บุตรชายคนที่ 4 ของกัดดาฟี ถูกตั้งในห้องเย็นกลางตลาดผัก ย่านชานเมืองมิสราตา โดยเปิดให้ประชาชนเข้าชมและบันทึกภาพได้ตามใจชอบ กรณีศพของกัดดาฟี รัฐบาลรักษาการลิเบียเปิดเผยว่า ได้จัดการฝังในสถานที่ลับกลางทะเลทรายแล้ว ตั้งแต่เช้าตรู่วันอังคาร (25) หลังจากอนุญาตให้ญาติและชนเผ่าของกัดดาฟีได้พิธีอย่างเรียบง่าย
หลังกัดดาฟีถูกสังหาร อับเดล จาลิล ประธานสภาถ่ายโอนอำนาจแห่งชาติ ก็เป็นผู้ประกาศปลดปล่อยลิเบียสู่อิสรภาพ พร้อมทั้งมีการแถลงว่า ลิเบียกำลังจัดตั้งรัฐบาลรักษาการชุดใหม่ เพื่อเตรียมการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญภายใน 8 เดือน ซึ่งจะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 42 ปี ของคนลิเบีย เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศร่างเสร็จ (ที่ผ่านมา ลิเบียมีเพียงสมุดปกเขียว (The Green Book) บันทึกอุดมการณ์ของกัดดาฟี เป็นหลักปกครอง) รัฐบาลรักษาการจะจัดเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาและประธานาธิบดีภายในอีก 1 ปี นำไปสู่ประชาธิปไตยที่ประชาชนถวิลหา ส่วนกองกำลังนาโต ผู้ยึดครองน่านฟ้าลิเบียและทิ้งระเบิดถล่มทหารของกัดดาฟีรายวัน ก็ประกาศยุติภารกิจสงครามลิเบียลงในวันที่ 31 ตุลาคม
**พัฒนาการของอาหรับสปริง**
เมื่อวัน 23 ตุลาคม ตูนิเซีย ผู้จุดไฟอาหรับสปริง ได้จัดการเลือกตั้ง “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังขับไล่ประธานาธิบดีซีเน เอล อาบีดีน เบน อาลี สำเร็จ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียงเกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ องค์การระหว่างประเทศต่างชื่นชมในความสำเร็จของตูนิเซีย ขณะที่มีผู้ลงสมัครเลือกตั้งเกินกว่า 800 ราย จากพรรคการเมืองและองค์กรอิสระนับร้อยองค์กร พรรคที่ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ได้แก่ พรรคอิสลามิสต์ เอ็นนาห์ดา ซึ่งถูกปิดกั้นบทบาททางการเมืองระหว่างประธานาธิบดีเบน อาลี ครองอำนาจ โดยหน้าที่สำคัญของสภาร่างรัฐธรรมนูญ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อรับรองเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน และปูทางไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปหลังจากนี้อีกประมาณ 1 ปี
ขณะที่สถานการณ์การประท้วงในเยเมนและซีเรียยังคงไร้ทางออก ซีเรียถูกประณามจากความโหดเหี้ยมในการปราบปรามประชาชน ภาพรถถังนำทัพทหารเข้าปราบปรามผู้ประท้วงถูกตีแผ่ออกมาบ่อยครั้ง โดยยูเอ็นเปิดเผยรายงานว่า ประชาชนซีเรียเสียชีวิตแล้วมากกว่า 3,000 ราย ส่วนเยเมนก็มีประชาชนสังเวยชีวิตแล้วราว 1,700 ราย ทั้งนี้ สื่อต่างประเทศมองว่า เยเมนอาจเป็นสถานีต่อไปที่ประชาชนจะประสบความสำเร็จในการปฏิวัติ เนื่องจากประธานาธิบดีอาลี อับดุลเลาะห์ ซาเลห์ แห่งเยเมน เคยรับประกันว่าจะสละเก้าอี้ แม้ยังไม่ลงมือทำตามปากพูดก็ตาม ผิดกับประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรีย ผู้ทะนงในอำนาจ และประกาศกร้าวว่า ผู้ประท้วง คือ กลุ่มก่อการร้ายที่ต้องปราบปราม
ตูนิเซีย: อดีตประธานาธิบดีซีเน เอล อาบีดีน เบน อาลี สิ้นอำนาจ หลังปกครองประเทศยาวนาน 23 ปี เขาและภรรยาลี้ภัยไปยังซาอุดีอาระเบีย ก่อนทั้งคู่ถูกพิพากษาลับหลัง ลงโทษจำคุก 35 ปี ข้อหาคอร์รัปชัน
อียิปต์: อดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ประกาศลาออกจากบัลลังก์ที่ครองมานาน 30 ปี ปัจจุบัน เขากำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีคอร์รัปชันและสั่งการสังหารประชาชน
ซีเรีย : ตระกูลของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ครองประเทศมาตั้งแต่ปี 1970 แรกเริ่มประชาชนต้องการเห็นการปฏิรูปการเมือง หลังการปราบปรามที่โหดเหี้ยม เสียงเรียกร้องของประชาชนจึงกลายเป็นการโค่นล้มระบอบอัสซาด
เยเมน : ประธานาธิบดีอาลี อับดุลเลาะห์ ซาเลห์ ครองเยเมนมายาวนาน 33 ปี เขาให้สัญญาบ่อยครั้งว่า จะสละอำนาจ หลังประชาชนลุกฮือขับไล่ แต่ทหารเยเมนยังคงเดินหน้าปราบปรามประชาชน
บันทึกภาพขณะกัดดาฟีถูกนำตัวออกจากท่อระบายน้ำ
นาทีที่กัดดาฟีถูกรุมทำร้าย ไม่นานก่อนเสียชีวิต