xs
xsm
sm
md
lg

อดีต จนท.อาวุโสไอเออีเอเตือนให้ระวังสต็อกวัตถุผลิตระเบิดกัมมันตรังสีในลิเบีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์วิจัยนิวเคลียร์นอกกรุงตริโปลี ซึ่งเก็บสะสมวัตถุนิวเคลียร์ ที่อาจถูกนำไปผลิตระเบิดกัมมันตรังสีได้
เอเจนซี - อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ของยูเอ็นเตือน ศูนย์วิจัยแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กรุงตริโปลี เป็นแหล่งเก็บสะสมยูเรเนียม และวัตถุที่สามารถใช้ผลิตระเบิดกัมมันตรังสี (dirty bomb) ได้ พร้อมย้ำว่ากลุ่มกบฏลิเบียจำเป็นต้องป้องกันไม่ให้สารเหล่านั้นตกไปอยู่ในมือคนผิด

ออลลี ไฮโนเนน หัวหน้าฝ่ายตรวจสอบความปลอดภัยนิวเคลียร์ของไอเออีเอถึงเมื่อกลางปี 2010 เผยว่า โครงการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมของลิเบียล่มไปแล้ว หลังจากมูอัมมาร์ กัดดาฟี พยายามสานสัมพันธ์กับชาติตะวันตก โดยยอมเลิกล้มความพยายามผลิตอาวุธนิวเคลียร์ เคมี และชีวภาพใดๆ ในปี 2003 ซึ่งทำให้เขาหลุดพ้นจากการถูกโดดเดี่ยว

ไฮโนเนนระบุในบทความออนไลน์ว่า วัตถุดิบ และเอกสาร ที่เป็นประเด็นอ่อนไหว ตั้งแต่ข้อมูลการออกแบบอาวุธนิวเคลียร์ ไปจนถึงส่วนประกอบเครื่องเซนตริฟิวจ์ถูกยึดไปหมด

ยูเรเนียมสมรรถนะสูงของลิเบีย ซึ่งใช้เป็นเชื้อเพลิงของเตาปฏิกรณ์วิจัยเมืองตาจูรา นอกกรุงตริโปลี ใช้เวลานานในการเคลื่อนย้ายออกจากประเทศ โดยเชื้อเพลิงใช้แล้วล็อตสุดท้ายถูกนำออกจากลิเบียไปเมื่อปลายปี 2009

อย่างไรก็ตาม ความกังวลถึงความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ยังคงอยู่ ผู้ช่วยผู้ว่าการไอเออีเอรายนี้ชี้ โดยว่า โรงงานนิวเคลียร์ที่ตาจูรายังคงสะสมไอโซโทปรังสี กากกัมมันตรังสี และเชื้อเพลิงยูเรเนียมสมรรถนะต่ำไว้เป็นจำนวนมาก หลังการวิจัยนิวเคลียร์ และการผลิตไอโซโทปรังสีนานร่วม 30 ปี

"ขณะที่เราสามารถยินดีที่คลังเก็บยูเรเนียมสมรรถนะสูงไม่อยู่ในลิเบียอีกแล้ว แต่วัสดุที่ยังเหลืออยู่ในตาจูราอาจถูกใช้เป็นส่วนประกอบของระเบิดกัมมันตรังสีได้ หากตกไปอยู่ในมือผิดคน สถานการณ์ที่ตาจูราทุกวันนี้ก็ยังไม่ชัดเจน" เขากล่าว

ไฮโนเนนระบุว่า หลังการล่มสลายของซัดดัม ฮุสเซน ในอิรักในปี 2003 เคยเกิดกรณีปล้นคลังเก็บวัตถุกัมมันตรังสี และนิวเคลียร์ที่ศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ตูไวตาใกล้กรุงแบกแดด แต่โชคดีที่หลังจากนั้นไม่มีรายงานว่าเกิดการโจมตีด้วยระเบิดกัมมันตรังสี

ยิ่งไปกว่านั้น เขายังเสริมว่า สภาแห่งชาติช่วงการเปลี่ยนผ่านในลิเบียจำเป็นต้องระวังวัตถุนิวเคลียร์ในตาจูรานั้นไว้ เพื่อให้ชาวโลกมั่นใจในความรับผิดชอบ และดำเนินมาตรการที่จำเป็นทั้งหลายเพื่อป้องกันวัตถุอันตรายด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น