xs
xsm
sm
md
lg

ADB ลดคาดการณ์ “ศก.เอเชียตะวันออก” ปีหน้า หลังปัญหายูโรโซนส่อเค้าลุกลาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี)
เอเอฟพี - ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2012 ของประเทศเอเชียตะวันออกรวมถึงจีน หลังวิกฤตหนี้ยูโรโซนมีแนวโน้มฉุดเศรษฐกิจโลกกลับสู่ภาวะตกต่ำอีกครั้ง วันนี้(6)

เอดีบี ลดคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ เหลือไม่เกิน 7.2 เปอร์เซ็นต์ในปีหน้า รวมไปถึงจีน, ฮ่องกง, เกาหลีใต้ และไต้หวัน จากเดิมที่ประเมินไว้ 7.5 เปอร์เซ็นต์เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังมีการประเมิน “สถานการณ์ขั้นเลวร้าย” ในกรณีที่เศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐฯประสบภาวะล้มละลาย (meltdown) ซึ่งจะส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกรวมถึงญี่ปุ่น ลดลงอีก 1.2 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะเติบโตราว 4.2 ถึง 5.4 เปอร์เซ็นต์ เจ้าหน้าที่ เอดีบี ระบุ

ปัญหาหนี้สินยุโรปที่เริ่มส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ ทำให้คาดการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเป็นบวกสำหรับเอเชียตะวันออก ยกเว้นญี่ปุ่น เริ่มส่อเค้ามืดมนเมื่อเทียบกับเดือนกันยายน

“ภาพรวมเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเป็นบวกสำหรับเอชียตะวันออก เริ่มมีปัจจัยเสี่ยงเข้ามามากขึ้นกว่าเมื่อช่วง 2-3 เดือนที่แล้ว” เอดีบี เผย

“การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอาจหยุดชะงัก หากเศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐฯตกต่ำลง ซึ่งจะก่อให้เกิดวิกฤตการเงินโลกครั้งใหม่”

เอดีบี ชี้ว่า ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐฯ, มาตรการกีดกันทางการค้าที่รุนแรงขึ้น และภาวะเงินเฟ้อเรื้อรัง

หากปัญหาหนี้สินในยุโรปขยายตัวเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลกเต็มขั้น เอเชียตะวันออกจะได้รับผลกระทบ “รุนแรง แต่ยังจัดารได้” หากรัฐบาลในภูมิภาคนี้ตอบสนองปัญหาอย่างแน่วแน่และสอดคล้องเป็นหนึ่งเดียว

“ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียตะวันออกต้องเตรียมรับมือวิกฤตที่ยืดเยื้อและการฟื้นตัวหลังผ่านพ้นวิกฤต โดยใช้การตอบสนองเชิงเศรษฐกิจมหภาคที่เหมาะสมในระยะสั้น และดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างที่จำเป็นในระยะยาว” รายงานจาก เอดีบี ระบุ

การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐจะช่วยพยุงการเติบโตของเศรษฐกิจไว้ได้ ขณะที่ธนาคารกลางต่างๆต้องบริหารจัดการค่าเงินอย่างชาญฉลาด เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อคงที่

เอดีบี ระบุว่า วิธีป้องกันปัญหาสำหรับตลาดเงินตะวันตก อยู่ที่การ “เพิ่มพูนการค้าภายในภูมิภาคและเชื่อมโยงระบบการเงิน ตลอดจนสานสัมพันธ์กับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่นๆ”

จีนซึ่งแม้จะมีเศรษฐกิจแข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาค แต่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจเบอร์ 2 ของโลกก็ยังต้องเผชิญแรงกดดัน ทำให้เศรษฐกิจในไตรมาส 3 เติบโตเพียง 9.1 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับ 9.6 เปอร์เซ็นต์ในช่วงครึ่งปีแรก

4 ประเทศอาเซียนซึ่งมีเศรษฐกิจขนาดกลาง ได้แก่ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และไทย คาดว่าจะเติบโตราว 4.5 เปอร์เซ็นต์ในช่วงครึ่งปีหลัง เมื่อเทียบกับอัตราเฉลี่ย 4.9 เปอร์เซ็นต์ในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา

การค้าภายในภูมิภาคและการบริโภคภายในประเทศจะช่วยป้องกันเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้จากผลกระทบขั้นเลวร้ายของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก เอดีบี ชี้

“การส่งออกและภาคอุตสาหกรรมแม้จะชะลอตัว แต่ก็ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง การจะฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้นส่วนหนึ่งต้องสร้างภาวะสมดุลระหว่างปัจจัยเติบโตภายนอก กับอุปสงค์ภายในประเทศ” เอดีบี เผย

ระบบการเงินในภูมิภาคนี้ได้รับผลกระทบ “เพียงเล็กน้อย” จากความไม่แน่นอนของตลาดสินเชื่อ และการลงทุนยังคงมีสภาพคล่อง

“การปล่อยสินเชื่อของธนาคารแม้จะชะลอตัวลงบ้าง แต่ก็นับว่ายังคึกคัก” รายงานจาก เอดีบี ชี้

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจตกต่ำในยุโรปและผลกระทบที่ต่อเนื่องไปยังสหรัฐฯ จะส่งผลถึงธนาคารในเอเชียตะวันออกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะศูนย์กลางทางการเงินอย่าง ฮ่องกง, จีน และสิงคโปร์

การไหลออกของเงินทุนจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และทำคนหันมาจับจ่ายใช้สอยน้อยลง นอกจากนี้ สภาวะสินเชื่อตึงตัวยังเป็นอันตรายต่อสภาพคล่องของธนาคาร และนักลงทุนอาจต้องแบกรับต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น