xs
xsm
sm
md
lg

ADBลดตัวเลขศก.‘เอเชียตะวันออก’เตือนรับมือ‘ยูโรโซน’ฉุดโลกสู่วิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี)
ASTVผู้จัดการออนไลน์/เอเอฟพี - ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เผยแพร่รายงานฉบับล่าสุดวันอังคาร (6) ปรับลดคาดการณ์อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2012 ของประเทศเอเชียตะวันออกรวมถึงจีน หลังวิกฤตหนี้ยูโรโซนทำท่าจะฉุดเศรษฐกิจโลกกลับเข้าสู่ภาวะวิกฤตอีกครั้ง

ในรายงาน“เอเชีย อีโคโนมิก มอนิเตอร์” (Asia Economic Monitor) ฉบับล่าสุด เอดีบี ลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีของกลุ่ม10 ประเทศอาเซียน รวมไปถึงจีน, ฮ่องกง, เกาหลีใต้ และไต้หวัน ในปีหน้า ลงมาเหลือ 7.2 เปอร์เซ็นต์ จากที่เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ในรายงาน เอเชียน ดีเวลอปเมนต์ เอาต์ลุค 2011 อัปเดต (Asian Development Outlook 2011 Update) ได้ประมาณการไว้ที่ 7.5 เปอร์เซ็นต์ และสำหรับของปีนี้ก็หั่นลงเหลือ 7.5% จากที่เดือนกันยายนไว้ให้ที่ 7.6%

รายงาน “เอเชีย อีโคโนมิก มอนิเตอร์” ฉบับนี้ ยังมีส่วนพิเศษ ที่ใช้ชื่อว่า “เอเชียตะวันออกสามารถทนต่อวิกฤตเศรษฐกิจระดับโลกอีกครั้งหนึ่งได้หรือไม่?” (Can East Asia weather Another Global Economic Crisis?) โดยที่พูดถึงภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ในยูโรโซน และสหรัฐฯ พร้อมกับตรวจสอบว่าวิกฤตเศรษฐกิจระดับโลกครั้งใหม่จจะส่งผลต่อภูมิภาคแถบนี้อย่างไร โดยที่กำหนดเป็นสถานการณ์จำลองออกมา 3 สถานการณ์

สำหรับภาพจำลองสถานการณ์ขั้นเลวร้ายที่สุด ซึ่งก็คือการที่เศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐฯต่างเกิดการถดถอยอย่างแรง และทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกทรุดตัวอย่างหนักพอๆ กับปี 2009 เอดีบีคาดว่า จะส่งผลให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ในเอเชียตะวันออกในปีหน้าเติบโตเพียง 5.4% หรือต่ำลง 1.8% จากประมาณการปัจจุบันที่ 7.2% ขณะที่ทั่วทั้งเอเชียตะวันออกที่รวมถึงญี่ปุ่นด้วย จะเติบโต 4.2% หรือลดลงจากตัวเลขคาดการณ์ปัจจุบัน 1.2 เปอร์เซ็นต์

เอดีบีบอกว่า ถึงแม้ในสถานการณ์ขั้นเลวร้ายที่สุด เศรษฐกิจในตลาดเกิดใหม่ของเอเชียตะวันออกน่าจะทรุดลงหนักทีเดียว แต่ก็ยังไม่ร้ายแรงเท่ากับผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตโลกปี 2008/09 ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภูมิภาคแถบนี้ได้กระจายตลาดส่งออกเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งได้พึ่งพิงอุปสงค์ภายในมาเป็นปัจจัยแห่งการเจริญเติบโตมากยิ่งขึ้นด้วย

กระนั้นก็ตาม รายงานของเอดีบีเตือนว่า ระบบการเงินของภูมิภาคแถบนี้ยังคงเป็นจุดอ่อนเหมือนกับที่เคยเป็นในปี 2008 โดยที่ถ้าพวกนักลงทุนพากันหลีกหนีความเสี่ยงกันมากขึ้น ก็น่าจะเห็นพวกเขาตัดลดการถือครองสินทรัพย์การเงินของเอเชียลงมา ขณะที่บรรดาแบงก์ยุโรปที่มีภาระหนี้สินมาก ก็จะตัดลดการปล่อยกู้ และนำไปสู่เงื่อนไขด้านสินเชื่อซึ่งตึงตัวยิ่งขึ้น

เพื่อรับมือกับวิกฤตระดับโลกที่มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะดำรงอยู่อย่างยืดเยื้อ แถมการฟื้นตัวในเวลาต่อจากนั้นก็จะดำเนินไปอย่างช้าๆ ด้วย เอดีบีจึงเสนอแนะให้พวกผู้วางนโยบายในเอเชียใช้เครื่องมือทางการเงิน, ทางเงินตรา, และทางการคลัง ซึ่งสามารถจะหยิบมาใช้ได้

ทั้งนี้เครื่องมือทางการเงินนั้น รวมไปถึงพวกกลไกที่จัดเตรียมไว้เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงิน และเป็นหลักประกันว่าจะยังมีสินเชื่ออย่างเพียงพอในภูมิภาค ขณะที่นโยบายด้านเงินตราก็ยังต้องให้มีความยืดหยุ่น และมีการร่วมมือประสานงานกันด้านอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการแข่งขันกันลดค่าเงิน ส่วนนโยบายการคลัง ภูมิภาคนี้ยังคงมีที่ทางในด้านการคลังเพียงพอที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไปและสุขุมรอบคอบเมื่อมีความจำเป็น ขณะเดียวกับที่ต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดภาวะงบประมาณตึงตัวมากเกินไป

สำหรับการคาดการณ์อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นรายประเทศ รายงานของเอดีบีกล่าวว่า จีนน่าที่จะมีอัตราการขยายตัวลดต่ำลง ถึงแม้อุปสงค์ภายในประเทศยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดหมายว่าจะเติบโตได้ 8.8% ในปีหน้า หลังจากขยายตัวได้ 9.3% ในปีนี้ ทั้งนี้เมื่อเดือนกันยายน เอดีบีเคยทำนายว่าแดนมังกรปีหน้าจะโต 9.1%

สำหรับระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมใหม่ในเอเชียตะวันออก อันได้แก่ ฮ่องกง, เกาหลีใต้, สิงคโปร์, และไต้หวัน รายงานเอดีบีมองว่าจะขยายตัวช้าลงทั้งในปีนี้และปีหน้า โดยเหตุผลสำคัญเป็นเพราะต้องพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศมากกว่าระบบเศรษฐกิจอื่นๆ ในภูมิภาค ดังนั้น พวกเขาจึงมีความอ่อนแอสูงกว่าเมื่อเผชิญกับภาวะหดตัวทางเศรษฐกิจในยุโรปและสหรัฐฯ

สำหรับ 4 ประเทศอาเซียนซึ่งมีเศรษฐกิจขนาดกลาง ได้แก่ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และไทย คาดว่าจะเติบโตราว 4.5 เปอร์เซ็นต์ในช่วงครึ่งปีหลัง เมื่อเทียบกับอัตราเฉลี่ย 4.9 เปอร์เซ็นต์ในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ขณะที่ปีหน้าก็จะโตด้วยอัตราช้าลงกว่าที่เคยคาดหมายกันไว้ โดยที่ประเทศไทยซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงจากอุทกภัยเมื่อเร็วๆ นี้ ควรที่จะฟื้นตัวจากภาวะซัปพลายติดขัดได้ในปีหน้า เอดีบีเวลานี้มองว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตน้อยลงเหลือเพียง 2.0% ในปีนี้ แต่ยังคงตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ว่าจะขยายตัวได้ 4.5% ในปีหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น